ประยงค์ รณรงค์ : นักจัดการความรู้


         สองวัน (๒๗ – ๒๘ กพ. ๔๙) ที่วัดผาซ่อนแก้ว  เขาค้อ   ที่คุณสุรเดช เลขาธิการมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร จัดการประชุม ลปรร. ชีวิตผู้นำชุมชน    โดยมีคุณประยงค์ รณรงค์ ชาวบ้าน (จบ ป. ๔  แต่ได้ปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ ๕ ใบแล้ว) นักพัฒนาชุมชนระดับรางวัลแม็กไซไซ เป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์    ปราชญ์ชาวบ้าน และ “คุณอำนวย” จ. พิจิตร, อุทัย, พิษณุโลก, ร่วม ลปรร.    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่วมตีความ    โชคดีที่เรามาคุยกันที่วัด    จึงได้พระมาร่วมตีความด้วย    ทั้งสนุก  ประเทืองปัญญา  ได้บรรยากาศธรรมชาติ   อากาศเย็นสบาย   และเป็นมงคล

     

บรรยากาศที่ประชุม 

ประยงค์ กับสุรเดช 

ล้อมวงกันทำ AAR 


• ลุงยงค์ บอกว่าตนเองเป็น “คุณประสาน”  คอยเชื่อมโยงหลายๆ ฝ่ายเข้าเป็นเครือข่าย    เช่นเครือข่ายโรงงานยาง ๗ โรง ในตำบลไม้เรียง (อ. ฉวาง  จ. นครศรีธรรมราช)    และตอนนี้เชื่อมเครือข่ายการรวมกลุ่มกันดำเนินการเพื่อพึ่งตนเอง ออกไปทั่วทั้งจังหวัด    และขยายเครือข่ายออกไปทั่วประเทศ    เพิ่งไปยุกลุ่มลำไยที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ ๒๔ กพ. นี่เอง 
• ผมมองว่าลุงยงค์ เป็นนัก KM โดยไม่รู้ทฤษฎี KM    คือเป็นนักปฏิบัติจัดการความรู้ และจัดการความเสี่ยง (Risk Management)     เริ่มจากเมื่อจะดำเนินการเรื่องใด จะถามก่อนว่า ปัจจัยหลักของความสำเร็จคืออะไรบ้าง    หรือมองมุมกลับ ถามว่าความเสี่ยงที่จะล้มเหลวมีอะไรบ้าง    แล้วถามต่อว่ามีความรู้เพื่อป้องกันความล้มเหลวหรือไม่    มีความรู้สำหรับใช้ดำเนินการกิจกรรมนั้นๆ หรือไม่    ถ้าไม่มี ก็ต้องหาความรู้นั้นมาใช้    และต้องไม่เชื่อความรู้ที่หามาได้    ต้องทดลองใช้เล็กๆ น้อยๆ ก่อน    โดยลุงยงค์บอกว่าใช้หลัก “ร่วมกันคิด แยกกันทำ”   แล้วเอาประสบการณ์ในการทำของแต่ละคนมา ลปรร. กัน    จนได้วิธีการที่เหมาะสำหรับกลุ่มเรา
• ท่าทีของลุงยงค์ เมื่อทางพิจิตรบอกว่าอยากได้ความรู้ในการสร้างผู้นำชุมชนของพิจิตร    ที่ลุงยงค์บอกว่า “ผมไม่มีความรู้ว่าทางพิจิตรเป็นอย่างไรบ้าง จึงแนะนำโดยตรงไม่ได้    แต่ผมจะเล่าประสบการณ์ของผม    เผื่อจะเป็นประโยชน์ให้เอาไปคิดต่อ”    ทำให้ผมนึกถึงเทคนิค “เพื่อนช่วยเพื่อน” (Peer Assist) ทันที    ลุงยงค์มีความคิดบนฐานของ Peer Assist โดยไม่รู้จัก Peer Assist เลย    ท่านที่ไม่รู้จักเทคนิคนี้ ให้อ่านจากหนังสือ “การจัดการความรู้  ฉบับนักปฏิบัติ” หน้า -157-162
•  มุ่งสร้างคน จากการฝึกปฏิบัติจริง    ฝึกจำนวนมาก หวังผลเกิดผู้นำ (แถว ๒) เพียง ๑๐% ของจำนวนที่ฝึก    
• นักใช้ข้อมูล   ใครฟังลุงยงค์พูด จะมีความประทับใจในความแม่นข้อมูล    และความประณีตในการคิด    คิดอย่างเชื่อมโยง     และคิดแยกแยะชัดเจน    ที่สำคัญที่สุดคิดเพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดในการเอาไปปฏิบัติ    “ข้อมูล” ของลุงยงค์ มีทั้งที่เป็นตัวเลข และที่เป็นเรื่องเล่า
• เป็นนักเล่า “ความรู้ปฏิบัติ” ที่ผ่านการทดสอบดำเนินการจริงๆ มาแล้ว    เมื่อถามความเห็น หลายครั้งลุงยงค์จะบอกว่า “เรื่องนี้ผมไม่มีประสบการณ์”    ในทำนองบอกว่าที่ตนพูดนั้น จะพูดเฉพาะสิ่งที่รู้จริง คือผ่านการปฏิบัติจริงด้วยตนเองมาแล้ว
• ไม่คิดเพื่อให้คนอื่นเอาไปปฏิบัติ    แต่มุ่งคิดเพื่อเอาไปดำเนินการเอง    ไม่มุ่งคิดภาพใหญ่ๆ เชิงหลักการ    แต่มุ่งคิดประเด็นเชิงปฏิบัติเล็กๆ เชิงดำเนินการ    ลุงยงค์บอกว่า คนอื่นเขาก็มีความคิดของเขาเหมือนกัน  เราเอาความคิดของเราไปยัดเยียดเขา  ใครจะทำ     จะให้สำเร็จ เราต้องเป็นผู้ทำเอง
• คิดใหญ่ (และเล็ก) ทำเล็ก    คิดเป้าหมาย – ฝัน ใหญ่ไว้ (แต่ไม่บอกใคร เพราะอาจทำไม่ได้)    แล้วคิดทำเล็กๆ    ทำตามความคิดเล็กๆ นั้นทีละขั้นตอน ไปสู่เป้าหมายใหญ่    ผมนึกถึง CI – Continuous Improvement ระหว่างนั่งฟัง    ระหว่างนั้นแสวงหา ใช้ และหมุนเกลียวความรู้อยู่ตลอดเวลา  
• KM สัญจร เป็นวิธีเรียนรู้โดยใช้กระบวนการ ลปรร. หลายชั้น    สคส. เราภูมิใจมากที่ค้นพบวิธีทำ AAR บนรถบัสหลังดูงานแต่ละจุด ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันที่ทรงพลังมาก    ปรากฎว่าลุงยงค์ได้เคยใช้เทคนิค ลปรร. บนรถบัส (เลือกรถที่มีเครื่องเสียง) มาก่อนเราเป็นสิบปี 


  วิจารณ์ พานิช
   ๑ มีค. ๔๙           


 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17322เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2006 08:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท