ชีวิตที่พอเพียง : ๔๙๖. เที่ยวตราด และจันทบุรี


 

          เช้าวันที่ ๖ เม.ย. ๕๑ ภรรยาและผมออกจากโรงแรมปาล์มบีชรีสอร์ทที่หาดจอมเทียน    แวะเติมน้ำมันแล้วขับรถตรงไปจังหวัดตราด   เรากะไปนอนที่ที่พักชายหาด    และคืนรุ่งขึ้นจะไป นอนที่เกาะช้าง   เราเตรียมตัวโดยอ่านจากแผนที่ ๗๖ จังหวัด เที่ยวทั่วไทย โดย “นายรอบรู้” นักเดินทาง  และหนังสือ ตราด โดยนายรอบรู้  และภรรยาเปิด อินเทอร์เน็ต ค้นพบว่าหาดบานชื่นสวยงามมาก และมี บานชื่นรีสอร์ท เป็นที่พักบริเวณนั้น    คำบรรยายในอินเทอร์เน็ตทำให้หมออมราชอบใจมาก เตรียมตัวมาพักที่หาดนี้เต็มที่   เนื่องจากเธอมีเพื่อนร่วมรุ่นศิริราช ๗๓ ชื่อ นพ. ทองแดง บานชื่น   และหาดนี้ตั้งชื่อตามนามสกุลของอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ชื่อทองดำ บานชื่น ผู้ส่งเสริมให้หาดนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยตัดถนนเข้าไป
          เราได้รับการต้อนรับโดยฝนอย่างหนักในช่วงระหว่าง อ. เมือง  จ. ตราด – อ. คลองใหญ่   และจาก อ. คลองใหญ่ – บ้านหาดเล็ก    ทำให้ตอนเราขับรถไปชมหาดบานชื่นเป็นการชมจากรถระหว่างฝนตกหนัก   เราไม่มีโอกาสสัมผัสกับชายหาดตามที่หนังสือนำเที่ยวตราด ที่นายรอบรู้เขียนไว้ว่า หาดบานชื่นสวยที่สุดในแถบนี้ จึงไม่รู้สึกชื่นชอบหาดนี้   ยิ่งเมื่อไปถามราคาและขอดูห้องที่บานชื่นรีสอร์ท เราก็รู้สึกว่าโดนโก่งราคา เพราะเขาเรียกถึง ๑,๒๐๐ บาท   เราจึงขับรถฝ่าฝนหนักลงใต้ไปตามถนน ๓๑๘ จนไปได้ห้องพักที่กู้ดวิลล์ รีสอร์ท บนถนน ๓๑๘ (ห่างจากชายแดนเขมรเพียงประมาณ ๑๐ ก.ม.) ในราคาห้องละ ๔๐๐ บาท    เป็นห้องแอร์มีห้องน้ำ ตู้เย็น และทีวี    มีวิว ของบ้านหาดเล็กที่อยู่ชายทะเลเบื้องล่าง แถม ให้   หมออมราชมว่าห้องสะอาด    ถือว่าเป็นที่พัก สำหรับฝึกฝนปฏิปทาชีวิตที่พอเพียง    เพราะต้องถือว่าไม่สะดวกเท่าที่บ้านของเรา    และยิ่งแตกต่างจากห้องพักที่เขาจัดให้เราที่โรงแรมปาล์มบีชรีสอร์ท ที่เราพักอย่างสุขสบายมา ๒ คืน อย่างเทียบกันไม่ได้เลย
          วันนี้ทั้งวันผมขับรถกว่า ๔๐๐ ก.ม.   โดยเมื่อออกจากถนนเข้าหาดจอมเทียน ก็เลี้ยวขวาเข้าถนนหมายเลข ๓ ไปทางสัตหีบ    ก่อนถึงสัตหีบเราเลี้ยวซ้ายเข้าถนน ๓๓๒ ไปทางเขาชีจรรย์ จนไปทะลุออกถนนหมายเลข ๓ อีก ก็เลี้ยวซ้ายไประยอง   ก่อนถึงระยองเราออกถนนเลี่ยงเมืองและขับไปตามถนนหมายเลข ๓ สู่ อ. แกลง เข้าสู่เขตจังหวัดจันทบุรี   ผ่าน อ. ท่าใหม่  อ. เมือง  อ. ขลุง  เข้าสู่เขตจังหวัดตราด ที่ อ. เขาสมิง  เข้าสู่อำเภอเมือง   ถึงตัวจังหวัดเวลา ๑๑ น. พอเหมาะพอดีที่จะขับรถไปกินอาหารเที่ยงที่ ร้านอาหารสวนปู อยู่ตรงแหลมเกาะปู     หมออมราบอกว่าระยะทางจากตลาดประมาณ ๑๕ ก.ม.   ไปทางเดียวกับแหลมศอก   เราขับรถไป ๒๖ ก.ม. ก็ถึงแหลมศอก เป็นทางตัน กำลังสร้างทาง ไปต่อไม่ได้    ถามคนแถวนั้น เขาบอกว่าต้องขับกลับไป ๑๕ ก.ม. แล้วเลี้ยวขวาตรงโค้งอันตราย    ปรากฎว่าจุดเลี้ยวอยู่ห่างเมืองเพียง ๑๐ ก.ม. และเลี้ยวเข้าไปเพียง ๔ ก.ม. ก็ถึง สวนปูรีสอร์ท   และร้านอาหารสวนปูอยู่ภายในรีสอร์ทนั้นเอง    ทั้งที่พัก และร้านอาหารสร้างยื่นเข้าไปในป่าชายเลน ในลักษณะที่รักษาป่าชายเลนไว้อย่างดี   เป็นร้านอาหารที่สถานที่ร่มรื่นสวยงามมาก   มองออกไปในทะเลเห็นอ่าวงดงาม   แต่ผมก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่า ถ้าเจ้าของไม่มีเส้น จะสามารถสร้างร้านอาหารยื่นเข้าในป่าชายเลนอย่างนี้ได้ไหม   พนักงานเสิร์พ ชี้ให้เราดูภูเขาของเกาะช้างซึ่งเห็นอยู่ไกล
          หมออมราเตรียมมากินปูเต็มที่ สั่งปูทะเลนึ่ง ชนิดปูเนื้อ ๒ ตัว    ผมสั่งปลากุเลาต้มกับกระวาน   น่าเสียดายที่ปูไม่แน่น  ส่วนปลาต้มกระวานรสเหมือนปลาต้มยำและอร่อยใช้ได้สำหรับผม    อาหารไม่ประทับใจ แต่ผมก็ได้เห็นฝักและดอกโกงกาง ที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน
          จากสวนปูรีสอร์ท เราขับรถเลยไปชมแหลมเกาะปู ซึ่งอยู่ห่างเพียงครึ่ง ก.ม.   เป็นพื้นที่ของกองทัพเรือ อนุรักษ์ป่าชายเลน และมีที่นั่งพักผ่อนชมวิว เราเพียงขับรถผ่านเท่านั้น ไม่ได้ลงไปเดิน
          ระหว่างทางที่เราหลงไปแหลมศอก ผมได้มีโอกาสสังเกตเห็นว่ามีพื้นที่ปลูกยางอยู่บ้างในพื้นที่สองข้างทาง    แต่ไม่มีการปลูกปาล์มน้ำมันเลย   ตราดมีชายฝั่งทะเลยาวมาก เราน่าจะได้กิน อาหารทะเลที่ดี   แต่จนบัดนี้เราก็ยังไม่ได้รับอานิสงส์นี้    น่าจะเป็นเพราะเราไม่รู้แหล่ง         
          เรามาแวะซื้อเสบียงที่ตลาด จ. ตราด ผมซื้อเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่มีลักษณะว่าคงจะคั่วเองโดยชาวบ้าน    กินอร่อยมากเพราะเพิ่งทำใหม่ๆ   หมออมราซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้ลูกโตมาก และ รสหวานดีด้วย   มีปูม้าต้มสุกแล้วขาย ทั้งปูไข่และปูเนื้อ ตัวเล็กๆ    เราดูๆ และนึกว่าเป็นสินค้าที่ถูกคัดออกจากของชั้นดีที่เขาส่งภัตตาคารหรือส่งกรุงเทพ จึงไม่ได้ซื้อ   แต่ผมก็ซื้อปูนิ่มมาลองกินดู   แต่ก็ไม่กล้ากินจนหมดเพราะนึกขึ้นได้ว่ามันสุกมานานแล้วก่อนจะถึงมือผม   กลัวท้องเดิน   ซึ่งก็โชคดีที่ตลอดการเดินทางเราไม่พบปัญหานี้   
          จาก อ. เมืองตราด เราขับไปทางตะวันออกเฉียงใต้ตามถนนหมายเลข ๓๑๘ ซึ่งคดเคี้ยวและขึ้นลงเนิน   บางช่วงอยู่ใกล้ชายหาด    เราแวะเข้าไปดูหาดบานชื่น   แล้วขับฝ่าฝนต่อจนเลย อ. คลองใหญ่ ไปตกลงใจพักค้างคืนที่ กู้ดวิลล์ รีสอร์ท เมื่อเวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น.  
          พอฝนหายเราก็ออกไปขับรถชมตลาดตำบลหาดเล็กที่อยู่ใกล้ๆ    ลักษณะเป็นตำบลชุมชนประมง    สถานที่สกปรก ถนนขรุขระ ไม่เป็นระเบียบ   ในตลาดมีรองเท้าและเสือผ้ามือสองขาย แต่เราไม่ได้ลงไปดู    เพราะฝนเริ่มเทมาอีกแล้ว
          จากนั้นเราไปดูบริเวณที่แผ่นดินไทยแคบที่สุด ไม่ถึงครึ่ง ก.ม.   คือด้านหนึ่งเป็นภูเขาติดกับเขตแดนเขมร อีกด้านจดทะเล    จากตรงนี้ไปกรุงเทพระยะทาง ๓๙๕ ก.ม.  ไปจันทบุรีระยะทาง ๑๔๔ ก.ม.
          สรุปว่าวันนี้เรายังไม่ได้เดินที่ชายหาดใดๆ เลย   ใช้เวลาส่วนใหญ่ในรถ ขับฝ่าฝนที่ตกหนัก    แม้เมื่อเข้าโรงแรมแล้วฝนก็ตกหนักจนกลางคืน     
          ช่วงที่ไปร่วมประชุม RGJ PhD Congress IX อยู่ ๒ คืน    ผมได้ซื้อหนังสือ “สยามคือบ้านของเรา” เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นจากบันทึกของ เอ็ดน่า บรูเนอร์ บัลค์ลีย์ ภรรยาของ นพ. ลูเชียส คอนสแตนท์ บัลค์ลีย์   เธอมาเมืองไทยเมื่อ ๑๐๕ ปีก่อนในฐานะมิชชันนารี อายุ ๒๐ ปี อยู่ที่โรงเรียนวังหลัง ๓ ปี   แล้วย้ายไปอยู่เพชรบุรี ๓ ปี    แล้วจึงแต่งงานและไปอยู่กับสามีที่ จ. ตรัง เป็นเวลาสามสิบกว่าปี  จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงหนีกลับอเมริกา   มีคนเลือกแปลหนังสือเล่าชีวิตของเธอในเมืองไทยที่ลูกสาวของเธอเรียบเรียงขึ้นจากบันทึกของแม่ที่เพิ่งค้นพบหลังแม่ตายไป ๓๐ ปี    ผมได้รับคำแนะนำหนังสือนี้จาก ฯพณฯ ชวน หลีกภัย   แล้วมีโอกาสได้หาซื้อที่พัทยา และโชคดี เขามีขาย
          ผมจึงได้อ่านหนังสือเล่มนี้ในห้องพักที่โรงแรมกู้ดวิลล์  ผมยังอ่านจบเมื่อกลับมาถึงบ้าน ได้เปรียบเทียบความยากลำบากในการเดินทางของคนสมัยเกือบ ๑๐๐ ปีก่อน    กับความสะดวกสบายของคนในสมัยนี้    ดังนั้น ห้องพักที่โรงแรมกู้ดวิลล์ ที่แคบขนาดเมื่อวางเตียงคู่ ก็เกือบไม่เหลือที่ว่าง    จึงเป็นที่ที่ผมอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างสบายใจ    พร้อมกับบอกตัวเองว่า ยังดีที่แอร์คุณภาพดีมาก เสียงเงียบและเย็นดี   เตียงนอนก็พอใช้ได้    จากฝีมือเลือกห้องของผม    คือเรามาหาห้องพักตั้งแต่บ่ายสามโมงเศษๆ มีห้องให้เลือกเยอะ   ผมขอดูห้องก่อน แล้วก็พบว่าเตียงนอนมีสภาพที่ตรงกลางบุ๋มลงไปเหมือนเปล   ดูกี่ห้องๆ ก็เหมือนกันหมด   จนมีคนแนะนำว่าห้องชั้นล่างอีกฝั่งหนึ่งเตียงดี เราจึงได้ห้องหมายเลข ๗ นี้    การพักที่ห้องพักแบบไม่มีเครื่องอำนวยความหรูหรา    แต่ก็สะดวกสบายพอประมาณนี้   น่าจะช่วยเป็นอนุสติสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงได้    ยิ่งได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ในบรรยากาศของห้อง    ผมยิ่งได้บอกตัวเองว่า การเดินทางมาตราดของผม สะดวกสบายกว่าการเดินทางจากตรังไปกรุงเทพของแหม่มเอ็ดน่า เมื่อ ๙๗ ปีก่อน อย่างเทียบกันไม่ได้เลย
          คนที่ชอบอ่านเรื่องสภาพความเป็นอยู่สมัยก่อน พลาดหนังสือเล่มนี้ไม่ได้นะครับ

 

๗ เม.ย. ๕๑
          เมื่อคืนฝนตกหนักจนดึก    แต่เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาอากาศปลอดโปร่งแดดจ้าตลอดวัน    เราไปที่ตลาดชายแดนบ้านหาดเล็ก ซึ่งอยู่ห่างโรงแรมเพียงประมาณ ๑๐ ก.ม.   ที่ตลาดกำลังก่อสร้าง ถนน ๖ เลน และกำลังก่อสร้างอาคารร้านค้าอีกมาก   รวมทั้งมีวัดสร้างใหม่อยู่บริเวณนั้นด้วย   แสดงให้เห็นว่าต่อไปการค้าชายแดนกับเขมรจะยิ่งมากขึ้น  
          เราไปถึงก่อน ๗ น. เล็กน้อย เห็นชาวเขมรกำลังออกันที่ประตูกั้นระหว่างประเทศ    ผมชอบมากที่เห็นเขาจัดให้เดินเข้ามาเขตไทยทีละไม่กี่คน อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย    คนเขมรใช้วิธีเทินของบนศีรษะ   มีบ้างที่หิ้วของมาด้วย   ของที่เขาเอามาขายผมเห็นมีปลาสด และหอยนางรม   หมออมราเห็นปลากุเลาก็ชอบใจอยากซื้อ แต่ก็เอามาไม่ได้เพราะเราจะค้างที่จันทบุรีอีกหนึ่งคืน    เมื่อคืนเราเห็นพ้องกันว่าเราเปลี่ยนใจไม่ไปเกาะช้าง    เปลี่ยนเป็นเที่ยวจันทบุรีแทน
          คนเขมรมาซื้อของจากฝั่งไทยไปขายฝั่งเขมรเป็นส่วนใหญ่   ผมเห็นมีคนขับรถ ๖ ล้อมาเปิดท้ายขายของที่เป็นขนมเด็กสารพัดชนิด   ผมเดาว่าคนเขมรคงจะมาซื้อเอาไปขายต่อ  
          เราเดินไปดูบริเวณตลาด ที่ขายนาฬิกาปลอมยี่ห้อดัง  เครื่องใช้ไฟฟ้า กระเป๋า  และของจุกจิก  รวมทั้งปลาเค็ม ปลาแห้ง   คล้ายๆ ที่ตลาดคลองเกลือที่อรัญประเทศ    แต่เล็กกว่าสักร้อยเท่า    และสินค้าก็หลากหลายน้อยกว่ามาก   อากาศหลังฝนเย็นสบายและมีลมพัดอ่อนๆ สบายดีจริงๆ   
          มีคนมาเที่ยวแบบเราหลายคันรถ และที่ขับสวนเข้าไปเมื่อเราขับกลับออกมาก็หลายคัน   ซึ่งก็น้อยกว่าที่ตลาดคลองเกลือเป็นร้อยเท่า
          ผมได้เรียนรู้ภูมิประเทศ และความเป็นอยู่ของผู้คน   ตอนขับรถกลับผ่านบ้านของชาวบ้านที่ปลูกอยู่ริมถนน หลังบ้านเป็นชะง่อนผาเหนือทะเล   ผมคิดว่าครอบครัวนี้ตากอากาศชายทะเลอยู่ตลอดเวลา    ซึ่งเป็นสิ่งที่คนกรุงอย่างผมต้องลงทุนมากมายเพื่อมาสัมผัสเพียงชั่วครู่ชั่วยาม    ชีวิตของคนครอบครัวนี้จึงอาจมองว่าแม้รายได้จะน้อย แต่เขาก็ได้รับประโยชน์จากธรรมชาติคิดเป็นมูลค่ามากมายโดยเขาไม่รู้ตัว    ชีวิตบ้านนอกจึงอาจจะดีกว่าชีวิตในกรุงอย่างมากมาย
          ถนน ๓๑๘ ช่วงใกล้ อ. คลองใหญ่ และช่วงคลองใหญ่ – หาดเล็ก เป็นช่วงที่สวยงามมากในสายตาของผม    ผมชอบขับรถบนถนนที่มีบรรยากาศแบบนี้    คือสองข้างทางเป็นป่า ให้ความร่มรื่นและความสุขสงบ   ผิวถนนเรียบแบบถนนชั้นหนึ่ง    ตัวถนนขึ้นลงเนินเป็นระยะๆ   บางช่วงตรง บางช่วงคดเคี้ยวไปมาตามไหล่เขา    ยิ่งขับในช่วงเช้าที่อากาศดีเช่นนี้ ผมยิ่งมีความสุข
          เราแวะเข้าไปเที่ยวอำเภอคลองใหญ่ ซึ่งสะอาดเรียบร้อยกว่า ต. หาดเล็ก ที่เราเห็นเมื่อวานแบบฟ้ากับดิน   เราหลงไปมาจนไปพบสะพานท่าเรือเก่า ที่สะพานยื่นออกไปในทะเลเกือบ ๑ ก.ม.    สามารถขับรถออกไปได้   มีร่องรอยว่าบางวันอาจมีคนมาเที่ยวบ้าง    แต่สายวันนี้มีเรา ๒ คนเท่านั้น    ตรงทางมาสู่ท่าเทียบเรือ มีป่าชายเลน ที่มีสะพานเดินเที่ยวชมป่าชายเลนด้วย  
          ผมเดาว่าท่าเทียบเรือเก่านี้คงจะเป็น เมกะโปรเจ็ค ของรัฐบาล หรือ สส. คนใดคนหนึ่ง    ที่เมื่อสร้างแล้วก็ไม่มีคนใช้   เหมือนกับท่าเทียบเรืออีกหลายแห่งในประเทศ   ไม่ทราบว่าข้อสันนิษฐานนี้จะผิดหรือถูก
          เรากลับไปที่หาดบานชื่นอีกครั้งหนึ่ง    คราวนี้ทุกอย่างเป็นใจ คืออากาศดี และน้ำลง ทำ ให้เห็นหาดทรายงามมาก   เม็ดทรายละเอียดและสะอาด   หมออมราบอกว่าหนังสือนำเที่ยวว่าเป็นซิลิก้า    มีคนมาเล่นน้ำหลายคน    และระหว่างนั้นมีรถขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตราดมาเก็บขยะ   ผมชื่นใจที่ได้เห็นราชการเอาใจใส่รักษาความสะอาดของชายหาด   หลังจากนั้นเราจะลองไปดูหาดอื่นอีกสักหาด แต่ทางเข้าเป็นถนนลูกรัง เราลองขับ เข้าหาดทรายแก้ว แต่เข้าไปนิดเดียวก็ต้องถอยกลับ เพราะถนนไม่ดี   สรุปว่าหาดบานชื่นน่าไปเที่ยวที่สุด เพราะถนนเข้าสะดวก และชายหาดก็สวยงามจริงตามคำเล่าลือ 
         เมื่อถึงตราด เราก็ขับรถต่อไปตามถนนหมายเลข ๓    จนถึง อ. ขลุง หมออมราไปซื้อสละดองที่ร้านดำน้ำหยด ซึ่งอยู่ตรงสี่แยกไฟแดง อยู่ทางซ้ายหากหันหน้าไปทางตราด    เขาบอกว่า ยัง ไม่มี เพราะสละยังไม่ออกลูก    หมออมราจึงถามหาร้านอาหารทะเลอร่อยๆ เขาแนะนำร้านชื่อ ร้านอาหารฟาร์มปูนิ่ม    บรรยากาศดีเพราะอยู่ในป่าชายเลน ต้องนั่งเรือไป โดยทางร้านเขามีเรือรับส่งที่ท่าเรือขลุง (โทรไปเรียกที่หมายเลข ๐๘๖ ๘๓๔ ๔๕๒๓ หรือ ๐๘๙ ๓๖๙ ๐๓๘๙)  เขาใจดีมาก เขียนแผนที่ให้   แต่ทางมันยอกย้อนและไกลหลายกิโลเมตร เราต้องถามทางไปตลอดทาง    และเมื่อไปถึงก็มีพนักงานขับเรือรออยู่แล้ว   เขาพาเราเพียง 2 คนนั่งเรือหางยาวมีหลังคานั่งสบายไปยังร้าน โดยใช้เวลา 5 นาที    ผ่านป่าชายเลนและฟาร์มหอยนางรมมากมาย   ผมกลับมาดูแผนที่เข้าในว่าเรานั่งเรือไปในแม่น้ำเวฬุ ซึ่งมีลักษณะคล้ายทะเลที่เว้าเข้าไปในแผ่นดิน 
          ตัวร้านบริเวณที่บริการลูกค้าปลูกยื่นเข้าไปในป่าชายเลน   บางส่วนมีหลังคา    แต่เราเลือกบริเวณที่ไม่มีหลังคา แต่อยู่ใต้พุ่มโกงกาง    ช่วงที่เราไปถึง เวลา ๑๑ น. ไม่มีลม   เขาต่อสายไฟเอาพัดลมมาบริการ   ครัวและห้องน้ำอยู่บนบก    โดยถัดไปเป็นบ่อขนาดใหญ่ประมาณ ๓๐๐ – ๔๐๐ ตารางวา    ซึ่งเป็นฟาร์มเลี้ยงปูนิ่ม   เราสั่งอาหาร ๓ อย่างคือ ปูเนื้อผัดผงกระหรี่  ปูนิ่มผัดหระเทียมพริกไทย  และกุ้งต้มยำน้ำข้น   อาหารรสดี ยกเว้นปูนิ่มผัดกระเทียมพริกไทยผมว่าเค็มไปหน่อย   ปูเนื้อเนื้อแน่นช่วยแก้ตัวเมื่อวาน    ทำให้เราได้กินอาหารทะเลที่อร่อยสมใจ   และที่สำคัญ ราคาไม่แพง และบรรยากาศดี    เจ้าของร้านอัธยาศัยดี   เราจ่ายค่าอาหารไปเพียง ๔๐๕ บาท  
          จาก อ. ขลุง เราขับรถไปแหลมสิงห์ทางถนนเลียบชายหาด โดยถามทางไป  ไปนอนเล่นรับลมที่ชายหาดแหลมสิงห์    เป็นครั้งแรกของทริปนี้ ที่เราได้นั่ง-นอนรับลมที่ชายหาด สดชื่นดีจริงๆ    ชายหาดแหลมสิงห์มีร่มไม้เป็นธรรมชาติ    มีเก้าอี้ผ้าใบของร้านอาหารเครื่องดื่มบริการ    หลังจากนั้นเราไปชมคุกขี้ไก่ และตึกแดง    โบราณสถานร่องรอยอัปยศของฝรั่งเศสสมัยรัชกาลที่ ๕     แล้วเราหลงไปออกสะพานจันทบุรี   ถามคนที่ตกปลาอยู่บนสะพาน ได้ความว่าขับไปเรื่อยๆ ออกอ่าวคุ้งกระเบนได้    เราจึงขับตรงไปเรื่อยๆ    กลายเป็นขับไปตามถนนเลียบชายฝั่ง   ผ่านหาดเจ้าหลาว  หาดแหลมเสด็จ  หาดคุ้งวิมาน   เราใช้ความคล่องตัวจากการขับรถมาเอง สำรวจสถานที่อย่างซอกแซก   เราสรุปว่าหาดเจ้าหลาวสวยที่สุด
           เราไปแวะชมป่าชายเลนของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน    ซึ่งมีทางเดินชมยาว ๑.๘ ก.ม.  พร้อมป้ายบอกชื่อต้นไม้   คำอธิบายรายละเอียดของต้นไม้ชายเลนแต่ละชนิด   อธิบายนิเวศวิทยาป่าชายเลน  ได้ความรู้มาก   ผมเพิ่งรู้ว่าอ่าวนี้น้ำขึ้นน้ำลงวันละรอบเดียว ไม่ใช่ ๒ รอบเหมือนชายฝั่งทั่วไป   และได้ความรู้ว่าสมัยนานมาแล้วบริเวณอ่าวคุ้งกระเบนมีตัวพะยูน ที่ชาวบ้านเรียกว่าหมูดุด   และภูเขาที่อยู่หลังอ่าวก็ได้ชื่อว่าเขาหมูดุด   สถานที่แถวนี้หลายแห่งชื่อหมูดุด  
          เราไปพักที่โรงแรมเจ้าหลาวทอแสงบีช หลังจากไปดูหลายแห่ง    และก็ไม่ผิดหวัง    เพราะอากาศตอนพระอาทิตย์ตกดีมาก   มีต้นไม้ร่มรื่น วิวสวย หาดสวย ลมพัดเย็นสบายในตอนพระอาทิตย์ตก และตอนค่ำ    แต่พอค่ำยุงก็มากวน  

 

๘ เม.ย. ๕๑
          พอสว่างผมก็ออกไปวิ่งออกกำลังที่ชายหาด    เป็นช่วงน้ำลง  หาดทรายจึงกว้างมาก ประมาณ ๒๐ – ๔๐ เมตร    ทรายสะอาดและเม็ดละเอียด แต่ไม่ละเอียดเท่าของหาดบานชื่น    ผมวิ่งขึ้นไปทางเหนือ ไปจนถึงหาดแหลมเสด็จ    มีบังกาโลที่พักเป็นหลังๆ ที่คนมาพักมาก สังเกตดูจากรถที่จอดอยู่ เกือบทั้งหมดเป็นรถกระบะ   และคนมาพักเป็นหนุ่มสาว    มีจำนวนหนึ่งลงเล่นน้ำ ทะเล   สถานที่นี้ชื่อ แหลมเสด็จบูรพารีสอร์ท    ตอนหาที่พักเมื่อวานเราหลีกเลี่ยงที่พักที่คาดว่าหนุ่มสาวที่ชอบความครึกครื้นนิยมมาพัก    จึงต้องเลือกที่ราคาสูงหน่อย   เป็นการซื้อความสงบ   เป็นเกณฑ์เลือกคล้ายๆ ตอนเราซื้อบ้าน    อายุปูนนี้แล้วเราอยากได้ความสงบ มากกว่าความครึกครื้น   และโรงแรมเจ้าหลาวทอแสงบีช (www.tosangbeach.com) ก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง   สถานที่นี้อยู่ใน ต. คลองขุด  อ. ท่าใหม่
          เราจ่ายค่าห้องพักในราคาเต็มในฐานะแขกขาจร คือ ๑,๘๐๐ บาท รวมอาหารเช้า ซึ่งมีให้เลือก ๒ อย่าง  อเมริกัน เบรคฟาสต์ หรือข้าวต้มทรงเครื่อง    ยิ่งอายุมากขึ้น ผมก็ยิ่งไม่ชอบอาหารฝรั่ง จึงกินข้าวต้มปลา ซึ่งรสชาติดี และปริมาณแบบบริการแขกฝรั่ง    หมออมรากินอาหารฝรั่ง ซึ่งก็จานใหญ่และตกเป็นหน้าที่ของผมเสียครึ่งหนึ่ง    ทำให้ผมอิ่มจนถึงบ่ายโมง เมื่อกลับมาถึงบ้าน
          หลังอาหารเช้า เราไปนอนรับลมที่เก้าอี้ผ้าใบของโรงแรม ที่มีให้บริการริมชายหาด   ลมเย็นสบายดีจริงๆ จนผมติดใจว่าถ้าผ่านมาจะแวะมารับลมอีก   ยิ่งได้นอนอ่านหนังสือ “สยามคือบ้านของเรา” ยิ่งมีความสุข
          เราขับรถกลับทางถนนเลียบชายหาดไปออกสุขุมวิท (หมายเลข ๓) จนไปถึง อ. แกลง จึงเลี้ยวขวาออกถนน ๓๔๔ ไปชลบุรี   แล้วเข้ามอเตอร์เวย์ (หมายเลข ๗) กลับสู่กรุงเทพ    ใช้เวลา ๓ ชั่วโมงเศษก็ถึงบ้านปากเกร็ด   ทริปนี้ผมขับรถ ๑,๑๒๐ ก.ม.
          ช่วงเวลาพักผ่อน ๓ วันนี้ ส่วนที่ผมชอบมากที่สุดคือช่วงนั่ง-นอนรับลมที่ชายหาดแหลมสิงห์ กับที่ชายหาดเจ้าหลาวที่โรงแรมเจ้าหลาวทอแสงบีช รวม ๓ ช่วง เป็นเวลาประมาณ ๒ – ๓ ชั่วโมง    ติดใจจริงๆ

 

ถนนเข้าสู่ตลาดชายแดนหาดเล็กกำลังก่อสร้าง ชาวเขมรกำลังรอให้ด่านเปิด

ถนนเข้าสู่ตลาดชายแดนหาดเล็กกำลังก่อสร้าง

ชาวเขมรกำลังรอให้ด่านเปิด

ยังเช้าอยู่ ร้านเปิดไม่กี่ร้าน

ชาวเขมรคนแรกเดินผ่านจุดผ่านแดน

ยังเช้าอยู่ ร้านเปิดไม่กี่ร้าน

อีกบรรยากาศหนึ่งของตลาดชายแดนหาดเล็ก หาดบานชื่น

อีกบรรยากาศหนึ่งของตลาดชายแดนหาดเล็ก

หาดบานชื่น

ทรายงามที่หาดบานชื่น กินอาหารเที่ยงที่ภัตตาคารในป่าชายเลน-ร้านฟาร์มปูนิ่ม

ทรายงามที่หาดบานชื่น

กินอาหารเที่ยงที่ภัตตาคารในป่าชายเลน-ร้านฟาร์มปูนิ่ม

ฟาร์มปูนิ่ม ถ่ายจากจุดชมวิวที่อ้าวคุ้งวิมาน

ฟาร์มปูนิ่ม

ถ่ายจากจุดชมวิวที่อ้าวคุ้งวิมาน

พระอาทิตย์ตกที่หาดเจ้าหลาว

พระอาทิตย์ตกที่หาดเจ้าหลาว

 
   
   
 
 
  วิจารณ์ พานิช
  ๗ เม.ย. ๕๑
   
   
   
   
   
   

 

หมายเลขบันทึก: 176194เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2008 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2014 09:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

หยุดยาวผมอยู่เฝ้าบ้าน ภรรยา ลูกสาว ลูกชาย ไปทะเลโดยมีน้องสาวแม่ยาย คือ ยายศุภลักษณ์ พยาบาลเกษียณ ยายคำใบ จทน.ปกครองเกษียน ยายนาย ครูเกษียณ พี่สาวภรรยา ๒ น้องชายภรรยา น้องสะใภ้ หลานสาว ๑ หลานชาย ๑ ว่าจ้างรถยนต์ตู้คุณเหน่ง ทำงานแขวงการทาง โดยยายศุภลักษณ์ออกเงินให้ ๑ หมื่นบาท

อันที่จริงคุณยายศุภลักษณ์ฯ ตั้งใจเดินทางไปกับหลาน ๆ ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยวางเงินจำนวน ๑ หมื่นบาทให้เป็นกองกลาง ปีนี้น้องของท่านและหลาน ๆ ยังบอกว่าน่าจะสัก ๒ หมื่นเพราะสะสมจากปีที่แล้ว การเดินทางเที่ยวนี้จากน่านไปพักที่ บิวตี้รีสอร์ท เป็นเวลา ๒ คืนในช่วงที่อาจารย์และภรรยาพักผ่อนเที่ยวนี้ด้วยล่ะครับ

ขอบพระคุณครับสำหรับความรู้ที่อาจารย์บอกเล่ามา แม้ว่าอยู่เฝ้าบ้าน ยังได้ความรู้จากอ่านบล๊อคของอาจารย์และที่คณะญาติน่านไปเยือนทะเล ผมยังไม่ได้ฟังคณะฯ เล่าเรื่องราวรวม ๆ ว่าไปได้รู้ ได้เห็นอะไรมาแล้วจะขอนำมาเขียนบอกเล่าไว้ที่บล็อค เพื่อสื่อสารบอกเล่าประสบการณ์ของคณะฯ ให้เป็นที่ทราบทั่วกันต่อไป.

ขออภัยลืมบอกไป ที่พัก ๒ คน อยู่ที อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ครับ.

รักชาติไทย และรักและสามัคคี เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี และสงบสุข

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท