อนุทินส่วนตัว ๑๒ เม.ย. ๕๑


อนุทินส่วนตัว  ๑๒ เม.ย. ๕๑

 

วิ่งออกกำลังหน้าร้อน

อากาศร้อน ไม่มีลม ถามตัวเองว่าเป็นทุกขเวทนาหรือไม่    คำตอบคือ เป็นก็ได้ ไม่เป็นก็ได้    ถ้าเราเอาความร้อน ความไม่สบายกาย มาเป็นอารมณ์หรือเป็นเจ้าเรือน เราก็เป็นทุกข์    ผมฝึกฝนตนเอง ให้เอาอากาศร้อนมาเป็นอนุสติ มีสติอยู่กับตัวว่า อากาศร้อนอบอ้าวมากๆ ก็จะมีฝนชุ่มฉ่ำตามมา    หลังฤดูร้อนก็จะเป็นฤดูฝน ที่อากาศเย็นลงและชุ่มฉ่ำ    หลังฤดูฝนก็เป็นฤดูหนาวที่ผมชอบ   การมีฤดูกาลเช่นนี้แหละที่ทำให้โลกเป็นอยู่อย่างนี้    ทำให้ตัวเราเกิดมาและได้มีชีวิตที่ดีถึงขนาดนี้

 

ตำราดูพระ

หนังสือ ตำราดูพระภิกษุ คำพยากรณ์ของพระพุทธเจ้า  ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก ปุ่น จงประเสริฐ เรียบเรียง  สถาบันวิถีทรรศน์ มูลนิธิวิถีทรรศน์ ชุดวิถีธรรม ๒  ชุดภูมิปัญญา ๕๓  กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

เป็นการจัดพิมพ์เพื่อสนับสนุนพระสงฆ์ดีหรืออริยสงฆ์   เป็นคู่มือแยกแยะพระสงฆ์ที่ดี ออกจากนักบวชปลอม

ผมสรุปว่า พระแท้คือพระภิกษุที่บวชเพื่อปฏิบัติฝึกฝนการยกระดับจิตใจ สำหรับนำมาช่วยเหลือโลก    พระปลอมคือพระที่บวชเพื่ออามิส เพื่อสนองกิเลสที่ฟูขึ้นๆ

ท่านที่หาซื้อไม่ได้ ติดต่อที่สถาบันฯ โทรศัพท์และโทรสาร 02 311 0075    

 

ลาวตอนล่าง

หนังสือ โครงการสารคดีลาวตอนล่าง โดย ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ และคณะ  เอกสารวิชาการชุด โครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค (อบศ ๕) ลำดับที่ ๙ ISBN 974-90758-1-1

เป็นเรื่องราวของ ๕ แขวงลาวตอนล่าง คือ สะหวันนะเขต สาละวัน เซอกง จำปาสัก อัตตะปือ   ทำให้ผมระลึกถึงตอนไปเซกองกับคณะนักวิจัยภาษาและวัฒนธรรมของชาวเขา (ลาวสูง) พูดภาษาในกลุ่ม ไท-กะได ที่เซกองเมื่อ ๗ ๘ ปีมาแล้ว   หัวหน้าทีมวิจัยคือ ศ. ดร. ธีระพันธุ์ เหลืองทองคำ ซึ่งเวลานี้เป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ    หลังจากนั้นผมไม่เคยไปอีกเลย   ได้ข่าวว่ามีถนนอย่างดีตัดผ่าน เชื่อมไปยังเวียดนาม   จำได้ว่าเราไปนอนค้างและตั้งสำนักงานที่โรงแรมในตัวเมืองละมาม   ผมออกไปวิ่งตามถนน พอเห็นรูปในหนังสือก็ระลึกได้   จากเมืองละมามเรานั่งรถขับเคลื่อนสี่ล้อทำจากรัสเซียผ่านเมืองกะลึม ไปยังเมืองดากจึง  รถนี้ดูโกโรโกโสมาก แต่แข็งแรงทนทานจริงๆ   วิ่งขึ้นเขาลงห้วย ผ่านที่ขรุขระที่ไม่เป็นถนนเลยได้เก่ง  

เรานอนค้างที่หมู่บ้านชาวเขา ๑ คืน อากาศหนาวมาก   ตกกลางคืนเขามีพิธีต้อนรับ   ผมได้ดูดอุทำจากข้าวฟ่างเป็นครั้งแรกในชีวิต หอมอร่อยดี หลอดดูดทำด้วยฟาง   พอดูดน้ำแห้งเขาก็เติมน้ำลงไป ดูดได้อีก   สาวๆ ชาวเขามาดูดกันจนหน้าแดง และเล่น สนุก กับหนุ่มๆ เจี๊ยวจ๊าว   ที่จำได้อีกอย่างหนึ่งคือ เขาฆ่าลูกหมูตัวสีดำๆ ที่เข้าเลี้ยงไว้ เอามาย่างให้เรากินเป็นการต้อนรับอย่างดี   เนื้อหมูนี้อร่อยจริงๆ   ผมรีบตื่นตั้งแต่ยังมือก่อนคนอื่นๆ หมด   ไปหาที่ถ่ายอุจจาระ (เขาไม่มีส้วม) คิดว่าจะไปหาที่ลับตาคนนั่งถ่ายลงดิน แล้วมั่นใจได้ว่าหมูจะมากินเอง ไม่ปล่อยให้สกปรก    พอผมนั่งลง หมูก็กรูเข้ามา    ผมกลัวมันจะงับอย่างอื่นที่ไม่ใช่ก้อนอุจจาระ   จึงต้องล้มเลิกการถ่าย เก็บเอาไว้กลับไปถ่ายที่โรงแรมที่ละมามในตอนเย็น

เพชรแห่งการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติคือบริเวณ มหานทีสี่พันดอน ที่มีน้ำตกคอนพระเพ็ง และน้ำตกหลี่ผี   และเพชรแห่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมคือการมีหลากหลายชน เผ่า ที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน

ชุดโครงการ อบศ ๕ เป็นชุดโครงการวิจัยขนาดใหญ่    ที่ผมเจรจากับ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มธ. รับเป็นผู้อำนวยการโครงการ    เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับประเทศอื่นๆ และ  เผยแพร่ให้สังคมไทยรับรู้   ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการสร้างสรรค์ปัญญาเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ยุคโลกาภิวัตน์ก็ได้   เป็นโลกาภิวัตน์เชิงรุก ไม่ใช่เชิงตั้งรับ   ต่อมาแม้ชุดโครงการนี้จะยุติ แต่ สกว. ก็มีงานวิจัยที่ร่วมมือกับกระทรวงต่างประเทศ สร้างองค์ความรู้เรื่องประเทศอื่นๆ ที่มีมิติของการค้า ธุรกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น

มหาราชของลาวยุคที่ตรงกับปลายยุคสุโขทัยคือเจ้าฟ้างุ้ม   ที่ตรงกับอยุธยาตอนต้น คือพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ผู้สร้างนครเวียงจันทน์ (ตรงกับสนมัยบุเรงนอง)

 

ประวัติศาสตร์ลาว

โดยเติม วิพาคย์พจนกิจ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์  พิมฑ์ครั้งที่ ๒  ๒๕๔๐  ISBN 974-89784-8-6

เป็นข้อเขียนประวัติศาสตร์โดยวิศวกรโยธา  ที่มีพื้นเพเป็น เจ้า ในดินแดนอีสาน   บิดาคือ พระวิภาคย์พจนกิจ (ท้าวหนูเล็ก สิงหัษฐิต) เมืองอุบลราชธานี

ต้นวงศ์กษัตริย์ลาวคือขุนบรม กว่า ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว   เก่ากว่าสุโขทัยมาก

เป็นเรื่องราวของการตั้งเมืองของลาว   ความสัมพันธ์กับเขมร ไทย พม่า เวียดนาม   และตอนหลังฝรั่งเศส    เรื่องมาจบสมัย รศ. ๑๑๒ ที่ความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับไทย

 

หลวงพระบาง หัวใจของล้านช้าง

ธีรภาพ โลหิตกุล บรรณาธิการคัดสรร  สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน ๒๕๔๒   ISBN 974-87191-6-2  

เป็นหนังสือเชิงนำเที่ยวเมืองมรดกโลก ในสายตาที่แหลมคมของนักเขียนชั้นครู ๑๐ คน   ทำให้ผมระลึกถึงการไปเยือนหลวงพระบาง ๒ ครั้ง ไปชมวัดเชียงทอง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่เดิมเป็นวังหลวง วัดวิชุลสัทธาราม ภูสี   ความงามของพระอาทิตย์ตกที่ภูสี

เชียงดงเชียงทอง ตั้งโดยขุนลอ โอรสขุนบรม   ต่อมาไทยเรียกกรุงศรีสัตนาคนหุต หรือล้านช้าง   แล้วเรียกว่าหลวงพระบาง ตามชื่อพระพุทธรูปประจำเมือง  

 

หลากรสเรื่องเมืองพม่า

เอกสารวิชาการชุด โครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค (อบศ ๕) ลำดับที่ ๑๐  ISBN 974-90758-0-3  แปลโดย หอม คลายานนท์  จาก Colourful Myanmar โดย KhinMyo Chit (ขิ่น เมี้ยว ชิด นักเขียนสตรีอาวุโส และมีชื่อเสียงของพม่า)    

สังคมพุทธ + ผี (ผีนัท) ที่มีทั้งนัทดีและนัทชั่ว

 

เอเชียตะวันออกเฉียงเฉียงใต้ศึกษา : สายไปแล้วหรือยัง

            เอกสารวิชาการชุด โครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค (อบศ ๕) ลำดับที่ ๑  ISBN 974-87763-8-7  กันยายน ๒๕๔๓   อัมพร จิรัฐิกร บรรณาธิการ

อ่านเอกสารชุดนี้หลายๆ เล่ม แล้วผม AAR กับตัวเอง ว่าถ้าตอนนี้ผมกลับไปทำหน้าที่ ผอ. สกว. ผมจะมีวิธีส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศอื่นๆ ในโลก   เพื่อขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ในสังคมไทยอย่างไร   ผมตอบว่า

1.     จะทำให้มีสมดุลระหว่างการสร้างความรู้เชิงประวัติศาสตร์ กับการสร้างความรู้ของสภาพสังคมปัจจุบัน

2.     จะสร้างความรู้ความเข้าใจผ่าน mobility ของคน  ได้แก่ นักวิชาการ  นักศึกษา  นักธุรกิจ  นักข่าว ฯลฯ

3.     จะสร้างความรู้ความเข้าใจจากหลากหลายมุมมอง  หลากหลายมิติ

4.     จะนำเสนอความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณชน ผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบ

5.     จะร่วมมือกับองค์กร/กลไก ที่หลากหลาย ที่สัมผัสกับประเทศอื่นๆ สังคมอื่นๆ อยู่แล้ว   ในการดูดซับ และวิเคราะห์ความรู้ความเข้าใจประเทศอื่น สังคมอื่น

กล่าวอย่างง่ายคือ เราต้องสร้างนวัตกรรมของ อาณาบริเวณศึกษาขึ้นใหม่   ให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน   ผมนึกถึงโครงการ API Fellowship ของ Japan Foundation   http://www.api-fellowships.org/body/   ว่าน่าจะถือเป็นนวัตกรรมในการส่งเสริมอาณาบริเวณศึกษาได้   และถ้าเรามีโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เรก็น่าจะร่วมมือกับ Japan Foundation ในการขอข้อมูลจากรายงานของ fellow ทั้งหลายมาสังเคราะห์ตีความจากมุมมองของไทยได้

คำตอบของผมต่อคำถามในชื่อหนังสือ  คือ ไม่มีวันสาย แต่ต้องดำเนินการแบบมีนวัตกรรม   โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน อยู่ที่การขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมโลกาภิวัตน์   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลกาภิวัตน์เชิงรุก

 

ประวัติศาสตร์สิบสองปันนา

โดย ศ. ยรรยง จิระนคร และ ดร. จิราพร เศรษฐกุล  มูลนิธิวิถีทรรศน์  มีนาคม ๒๕๔๔  ISBN 974-272-319-2

 โครงการประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมชนชาติไท   นำโดย ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา  

¨      ชาวไท นอกประเทศไทย ๓๐ ๔๐ ล้านคน

¨      สมาพันธรัฐเมาหลวง อยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นยูนนานตะวันตก รัฐฉาน และรัฐกะฉิ่นในพม่า เกิดขึ้นกว่า ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว

¨      ชาว เยว่ ใช้ภาษาไทร้องเพลง บันทึกอยู่ในบันทึกของชาวจีนกว่า ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว

¨      คนไทสิบสองปันนาเรียกว่าไทลื้อ  เมืองหลวงคือเชียงรุ่ง หรือจิ่งหง

¨      เจ้าแผ่นดินองค์แรกคือพญาเจื่อง เมื่อกว่า ๘๐๐ ปีมาแล้ว   เจ้าหม่อมคำลือองค์สุดท้าย รวม ๔๑ รัชกาล

 

เชื้อเครือเจ้าแสนหวี สิบสองพันนา

เท่าคว่างแช้ง และ อ้ายคำ เรียบเรียง  เรณู วิชาศิลป์ ปริวรรต-แปล 

Silkworm Books, 2544  ISBN 974-7551-52-7

โครงการประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมชนชาติไท

¨      อาณาจักรสิบสองพันนาอยู่ระหว่างจีนกับพม่า    ต้องยอมรับอิทธิพลของสองอาณาจักรใหญ่นี้

¨      อาณาจักรไท ได้แก่สิบสองพันนา เชียงตุง ล้านนา ล้านช้าง สยาม ไม่คิดรวมตัวร่วมมือช่วยเหลือกัน   ทำให้ต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของจีนหรือพม่า

 

ประวัติศาสตร์สิบสองจุไท

โดยภัททิยา ริมเรวัต  กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔  ISBN 974-87827-8-6

โครงการประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมชนชาติไท

¨      อยู่ในเวียดนามตะวันตกเฉียงเหนือ

¨      เคยอยู่ใต้ปกครองของ จีน ลาว ไทย เวลานี้อยู่ในเวียดนาม

¨      อาจเรียกสิบสองเจ้าไท  คู่กับสิบเก้าเจ้าฟ้า ไทใหญ่ลุ่มน้ำสาละวิน  

¨      ลาวโซ่งเพชรบุรี หรือลาวทรงดำ ในส่วนอื่นของประเทศไทย มาจากที่นี่ และเป็นเชื้อสายเดียวกับไทดำในประเทศลาว

¨      ไม่มีศูนย์กลางการปกครองชัดเจนหรือถาวร   และศาสนาพุทธก็เข้าไปไม่ถึง

¨      เป็นชุมชนที่ยึดถือเครือญาติ ที่เรียกว่า ด้ำ

 

ประวัติศาสตร์กัมพูชา

David Chandler. A History of Cambodia.

พรรณงาม เง่าธรรมสาร บรรณาธิการแปล  จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์  พิมพ์ครั้งที่ ๒  พฤศจิกายน ๒๕๔๓   ISBN 974-89784-8-6

ถือเป็นหนังสือ คลาสสิค ด้านประวัติศาสตร์กัมพูชา    ว่าด้วยเรื่องราวในช่วง ๒ พันปี จนถึง ค.ศ. ๑๙๙๐   เป็นประวัติศาสตร์ที่มีผู้คนจากหลายชาติหลายภาษาเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นระยะๆ   พัฒนาเป็นแคว้นเล็กๆ มากมาย   จนถึงช่วงที่รุ่งโรจน์ที่สุดในยุคเมืองพระนคร ช่วง ค.ศ. ๘๐๒ ๑๔๓๑ ที่เป็นอาณาจักรกว้างขวางมาก มีอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่เมืองหลวงคือเมืองพระนคร    ด้วยอำนาจการรบ และอำนาจความเชื่อในเทวดาในศาสนาพราหมณ์ 

เริ่มจากชัยวรมันที่ ๒   และมีการปฏิวัติแย่งอำนาจกันเรื่อยมาจนถึงสมัยชัยวรมันที่ ๗ (ค.ศ. ๑๑๘๑ ๑๒๒๐?) กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์กัมพูชา   ผู้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธมหายาน (จากฮินดู)   และเป็นผู้สร้างปราสาทสำคัญๆ หลายแห่ง รวมทั้งปราสาทหินพิมาย  แต่หลังรัชสมัยนี้อาณาจักรก็เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว พ้องกับช่วงที่หันไปนับถือพุทธเถรวาท ที่รับมาจากลังกา

ที่จริงผมมีหนังสือเล่มนี้มาหลายปี แต่ไม่ได้เอามาอ่านก่อนไปชมนครวัดเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว http://gotoknow.org/blog/thaikm/25483    ตอนไปเที่ยวจึงขาดความเข้าใจลึกๆ ไปอย่างน่าเสียดาย   ไกด์ชาวเขมรไม่รู้เรื่องที่มาของปราสาทตาพรหม  ปราสาทพระขรรค์

บันทึกที่มีค่าทางประวัติศาสตร์มากคือบันทึกของทูตจีนช่วงปี ค.ศ. ๑๒๙๖ ๑๒๙๗ ชื่อ จู ต้า-กวน ทำให้เรารู้ว่าคนในอาณาจักรพระนครส่วนใหญ่เป็นทาส   และได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ มีการเก็บเกี่ยวพืชผลได้ถึงปีละ ๓ ๔ รอบ เนื่องจากน้ำอุดมสมบูรณ์ และในทะเลสาบก็มีปลามากมาย

ช่วงคริสตศตวรรษที่ ๑๙ กัมพูชาส่งบรรณาการให้แก่ทั้งเวียดนามและสยาม    ต่อมาตกอยู่ใต้ฝรั่งเศส เริ่มจาก ค.ศ. ๑๘๖๓   จนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒   ซึ่งฝรั่งเศสต้องคืนพระตะบองและเสียมราฐให้ไทย   และการที่ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสเลือกเจ้านโรดมสีหนุ ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์หนุ่มน้อยในปี ๑๙๔๑    ด้วยความหวังว่าจะเชื่อฟังฝรั่งเศส   แต่กษัตริย์สีหนุได้ประกาศเอกราชในปี ๑๙๔๕   

หลังจากนั้นจึงเป็นช่วงการเติบโตของฝ่ายซ้าย และการรุกรานอินโดจีนของสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์   การยึดครองของพรรคคอมมูนิสต์กัมพูชาและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคพลพต    จนเวียดนามเข้ายึดครองในปี ๑๙๗๙ เพื่อขับไล่รัฐบาลพลพต    และเกิดสงครามกลางเมืองจนถึงปี ๑๙๙๑   โดยเวียดนามถอนตัวจากการยึดครองในปี ๑๙๘๙

Chandler เป็นนักการทูตอเมริกัน   จึงมีมุมมองต่อประวัติศาสตร์กัมพูชา สมัยสงครามเวียดนามแบบมีอคติ   ปิดบังหรือไม่กล่าวถึงบทบาทชั่วร้ายของสหรัฐอเมริกา

 

 

Tsars of Russia

รายการทีวี History Channel

กษัตริย์องค์แรกที่เป็นมหาราช คือ Ivan III the Great (1462 – 1505)

http://en.wikipedia.org/wiki/History_of_Russia

            กษัตริย์องค์แรกที่เป็น Tsar (มาจากคำว่า Caesar) คือ Ivan IV the Terrible  ครองราชย์ปี 1547 – 1584

http://en.wikipedia.org/wiki/Ivan_the_Terrible

ประวัติช่วงแรกของรัสเซียเต็มไปด้วยสงครามกับพวก Tartar หรือมองโกล   ที่จริงเมือง Kiev ตั้งโดยมองโกล

 

 

 

        

                 

                 

                 

หมายเลขบันทึก: 176706เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2008 07:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • วันสงกรานต์ ชวนให้ สำราญจิต

  •  ชวนลิขิต ให้มวลมิตร คิดสร้างสรรค์

  •   สงกรานต์นี้ ชวนทำดี  ดีทุกวัน

  •    ร่วมสร้างสรรค์ ร่วมกันสร้าง พลังใจ

  •     สุขสันต์วันสงกรานต์ค่ะ

กราบสวัสดีปีใหม่ไทย ท่านอาจารย์ค่ะ ขอบพระคุณสำหรับแรงบันดาลใจที่อาจารย์สรรสร้างให้กับพวกเราเสมอมาค่ะ

กราบสวัสดีปีใหม่ไทยท่านอาจารย์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท