เรื่องดีวันละเรื่อง : ๔๘. สภาผู้นำชุมชน


 

          วันที่ ๑ พ.ค. ๕๑ ผมได้ฟังเรื่องดีๆ ในบ้านเมือง คือเรื่องสภาผู้นำชุมชนของบ้านหนองกลางดง  หมู่ที่ ๗  ต. ศิลาแลง   อ. สามร้อยยอด  จ. ประจวบฯ   และได้รับแจกหนังสือ “สภาผู้นำ สภาประชาชน ของดี ของชุมชน” ที่จัดพิมพ์โดยวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส. – www.thaiknowledge.org)   
          ผมลองค้นด้วย Google โดยคำค้นว่า “สภาผู้นำชุมชน” ก็ได้ความรู้ฝังลึกมาทันทีว่า   ถ้าไม่ระวัง ความหวังดีระดับชาติ ที่ต้องการสร้างโครงสร้างอย่างเป็นทางการให้แก่สภาผู้นำชุมชน จะกลายเป็นการทำลายสภาผู้นำชุมชนชนิดที่เป็นของแท้อย่างที่บ้านหนองกลางดง    ให้กลายเป็นเครื่องมือครอบงำของพรรคการเมือง  
          ผมมองว่า สภาผู้นำชุมชน เป็นกลไกการเมืองภาคประชาชนในท้องถิ่น   ต้องปล่อยให้มีการพัฒนาและวิวัฒนาการอย่างเป็นอิสระจากการเมืองแบบตัวแทนแนวพรรคการเมือง    คือไม่ใช่การเมืองที่เน้นอำนาจรัฐ แต่เน้นการอยู่ร่วมกันในชุมชน


          กระบวนการสร้างสภาผู้นำ บ้านหนองกลางดง มี ๕ ขั้นตอน

๑. สร้างความเข้าใจ  : ปลุกจิตสำนึก ค้นหาทุกข์ สร้างความสุข
๒. สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง  : เก็บเกี่ยวคนดี คนเก่ง มาเป็นคณะผู้ก่อการ
๓. สรรหารคนดีคนเก่ง  : รวมกันคิด แยกกันทำ ร่วมกันตัดสินใจ
๔. กำหนดสัดส่วน  : แกนนำชุมชน ผู้นำท้องที่ (ผู้ใหญ่บ้าน) ผู้นำท้องถิ่น (อบต.)

 
          ที่บ้านหนองกลางดง (๒๘๑ ครัวเรือน  ๑,๓๘๐ คน) สภาผู้นำบ้านหนองกลางดง ประกอบด้วยคนดีคนเก่ง ๔ คนจากแต่ละกลุ่ม ๑๔ กลุ่ม ได้แก่

 
๑.)  กลุ่ม ผู้ปลูกสับปะรด
๒.)  ร้านค้าชุมชน
๓.)  กลุ่มเยาวชน
๔.)  กลุ่มฌาปนกิจ
๕.)  กลุ่มปลูกผัก
๖.)  กลุ่มไม้ยืนต้น
๗.)  กลุ่มผู้ใช้น้ำประปาหมู่บ้าน
๘.)  กลุ่มผู้สูงอายุ
๙.)  กลุ่มผู้ใช้แรงงาน
๑๐.) กลุ่มเลี้ยงสัตว์
๑๑.) กลุ่มอาสาพัฒนาชุมชน
๑๒.) กลุ่มทำนา
๑๓.) กลุ่มออมทรัพย์
๑๔.) กลุ่มแปรรูปผลไม้

รวมเป็น ๖๔ คน  เพิ่ม ผู้ใหญ่บ้าน ๑ คน   อบต. ๒ คน  รวมเป็น ๖๙ คน 
          สภาผู้นำระดับหมู่บ้านทำหน้าที่

 ยกร่างระเบียบ กติกา นำไประดมความเห็นของคนในชุมชน
 รวบรวมปัญหา รับฟังข้อคิดเห็น และวิเคราะห์หาทางออกร่วมกัน  ทำเป็นแผนยุทธศาตร์ชุมชน
 ตรวจสอบ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่กำหนด
 บริหารจัดการ ผลประโยชน์ในชุมชนอย่างเท่าเทียมกัน   มีการตรวจสอบผลประโยชน์ที่มีการหยิบยื่นจากภายนอก ร่วมกันตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับ
 สร้างสวัสดิการชุมชน

          ผมมองว่าสภาผู้นำชุมชน คือเครื่องมือกระจายอำนาจ กระจายความรับผิดชอบในชุมชน  
          ต้องอย่าให้มีอำนาจภายนอกชุมชนมากำหนดกฎเกณฑ์กติกาในการเลือก และให้อำนาจสภาผู้นำชุมชนเป็นอันขาด   เพราะนั่นคือการทำลาย

 

วิจารณ์ พานิช
๓ พ.ค. ๕๑

 

       
                           

หมายเลขบันทึก: 180833เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2008 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีจังค่ะ จะได้เป็นแบบให้ชุมชนอื่นๆ...ได้มีการเรียนรู้...

ด้วยความหวังว่า...จะมีสภาชุมชน...โดยชุมชน...เพื่อชุมชน...อย่างแท้จริง

และมากขึ้น...มากขึ้น...ไปเรื่อยๆ :)

สิ่งที่คิดว่าสภาผู้นำชุมชนที่บ้านหนองกลางดงแตกต่างจากที่อื่น คือ ความสม่ำเสมอต่อการประชุม จะจัดขึ้นทุกอาทิตย์แรกของเดือน ภาคเช้าเป็นการประชุมสภา ภาคบ่ายเอาเรื่องที่ผ่านการประชุมสภามาแจ้งให้ประชาชนทราบ บางเรื่องก็เป็นการขอฉันทามติ ทำมา ๑๒ ปี เต็ม ไม่มีขาดเลยสักเดือน นอกจากนั้น การประชุมแต่ละครั้งจะถ่ายทอดเสียงผ่านลำโพงที่ต่อสายจากที่ประชุมไปยังมุมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน ทุกจุด (ด้วยลำโพง ๗๔ ตัว)

ผู้ใหญ่โชคชัย วิเคราะห์ไว้อย่างน่าฟังว่า สภาผู้นำชุมชนที่บ้านหนองกลางดง เกิดก่อนสภาองค์กรชุมน และแตกต่างกันที่การมีสมาชิกเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ฟังจากผู้ใหญ่โชคชัยก็น่าคิดนะครับว่าหากปลอดจากนักการเมือง จะเชื่อมโยงกับแผนการพัฒนาท้องถิ่นที่ดูแลโดย อบต. หรือเทศบาลอย่างไร น่าคิดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท