KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๕๒๗. ความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม


 

          อาจารย์ดวงพร คำนูณวัฒน์ แห่งสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะทีมวิชาการในการยกร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ มาสัมภาษณ์ผม    เพื่อจะทำความเข้าใจการสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาพ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ    ท่านกรุณาส่งข้อสรุปของการพูดคุยกันได้อย่างดีเยี่ยม    เป็นการเขียนผ่านความเข้าใจของท่านเองอีกทอดหนึ่ง    จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่

 

กราบเรียน อาจารย์คุณหมอวิจารณ์ ที่เคารพ

ตามที่อาจารย์กรุณาแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับเนื้อหาสาระของ ประเด็น ๙ และ ๑๐ ของธรรมนูญฯ

จึงขอส่งข้อสรุปจากการพูดคุยมาให้อาจารย์กรุณา approve ด้วยค่ะเผื่อ
อาจารย์มีอะไรจะแก้ไขหรือเพิ่มเติม

และขอเรียนอนุญาตใส่ชื่ออาจารย์ในผู้ทรงคุณวุฒิในรายงานด้วยนะคะ

ขอบพระคุณค่ะ
ดวงพร คำนูณวัฒน์
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล

 

สรุปการสัมภาษณ์ ศจ.น.พ.วิจารณ์ พานิช


องค์ความรู้และการสร้างองค์ความรู้

          ความรู้ ที่เป็นที่เข้าใจในสังคมไทยนับได้ว่าเป็นความรู้เพียงน้อยนิด (ประมาณ ๑๐-๒๐% ของความรู้ทั้งหมด) เปรียบเสมือนมนุษย์เห็นดวงจันทร์เพียงด้านเดียว แท้จริงยังมีความรู้อีกจำนวนมากที่ถูกละเลยหรือไม่เห็น สังคมถูกชักจูงให้เข้าใจว่า “ความรู้”  ต้องสร้างขึ้นโดยนักวิชาการในสถาบันการศึกษา เท่านั้น ในความเป็นจริงความรู้ส่วนใหญ่อยู่ที่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์สร้างความรู้อยู่ตลอดเวลาด้วยเหตุผลของความจำเป็นในการดำรงชีวิต  และมนุษย์มีความสามารถในการสร้างสรรค์ความรู้  
          ความรู้สุขภาพเป็นความรู้ปฏิบัติ เป็น Tacit Knowledge เป็นความรู้เพื่อปฏิบัติที่สามารถทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม  ความรู้จากนักวิชาการเป็นความรู้ที่ค่อนข้างด้านต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม นอกจากนี้ ความรู้สุขภาพเป็นความรู้บูรณาการ ทั้งในแง่ของการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค  สรุปว่า  ในเรื่องขององค์ความรู้ด้านสุขภาพ ควรมองให้ลึกและกว้าง และให้ความสำคัญต่อความรู้ที่สร้างสรรค์จากนักปฏิบัติเช่นเดียวกับนักวิชาการ 

 


            การเผยแพร่องค์ความรู้
          สถานการณ์ปัจจุบัน การเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาพมักมีลักษณะเป็นเอกสารวิชาการภายใต้กรอบการเขียนที่กำหนดรูปแบบและภาษาเฉพาะ ทำให้นักวิชาการผูกขาดการเผยแพร่องค์ความรู้ และเกิดการครอบงำความคิด ภายใต้ความคิดที่ว่า “นักวิชาการมีความรู้จึงเป็นคนสื่อสาร” เช่นนี้ การเผยแพร่ความรู้ในปัจจุบันจึงกลายเป็นข้อจำกัด ทำให้เราเข้าใจความรู้เพียงส่วนเดียว หรือเพียง ๑๐-๒๐ % เท่านั้น นักปฏิบัติไม่มีโอกาสหรือช่องทางเผยแพร่องค์ความรู้ ซึ่งเป็นความรู้เพื่อปฏิบัติ รูปแบบการเผยแพร่ควรจัดตามลักษณะผู้เรียนรู้ โดยผู้ปฏิบัติเป็นผู้จัดการความรู้นั้นเอง ซึ่งตรงกับแนวคิดการจัดการความรู้ (KM=Knowledge Management) ซึ่งการเผยแพร่ในลักษณะนี้มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารเอื้ออำนวยให้ผู้ปฏิบัติมีสื่อที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ได้มากขึ้นและสะดวกขึ้น ดังนั้น นักวิชาการและนักปฏิบัติควรมีบทบาทในการเผยแพร่องค์ความรู้ และมีการเผยแพร่ในรูปแบบที่สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง
 

          ข้อมูลข่าวสารและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ
          โดยธรรมชาติมนุษย์มีข้อมูลข่าวสารที่สื่อสารภายในตนเองและภายในกลุ่ม โดยมีสื่อมวลชนทำหน้าที่หลักในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพในระดับกว้าง ซึ่งอยู่ภายใต้ความคิดที่ว่าสื่อมวลชนมีข้อมูลข่าวสารจึงนำออกเผยแพร่ อย่างไรก็ดี การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารบางครั้งต้องการกระบวนการและมีเทคนิค เช่น ความไม่เป็นทางการ  หรือ การเผยแพร่ซ้ำๆ      จึงจะเกิดผลในทางปฏิบัติ  และด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารมีความทันสมัย ใช้ง่ายและราคาไม่แพง  ดังนั้น การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ จึงควรพยายามให้มีลักษณะ open to all  และเป็น for all by all 

ขอขอบคุณ อ. ดวงพร คำนูณวัฒน์ ไว้ ณ ที่นี้

 

วิจารณ์ พานิช
๑๗ พ.ค. ๕๑

                              

 

 

หมายเลขบันทึก: 183824เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2008 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท