เยี่ยมประยงค์ รณรงค์ ที่ไม้เรียง


             ผมเคยบันทึกเรื่องของคุณประยงค์ รณรงค์ แมกไซไซ คนที่ ๑๘ ของประเทศไทย ไว้เมื่อวันที่ ๒ มีค. ๔๙ (link)

            วันที่ ๑๑ มีค. ๔๙ ผมมีโอกาสไปเยี่ยมชม ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง  อ. ฉวาง  จ. นครศรีธรรมราช  โดยไปกับคณะสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา นายกสภา  และ ดร. สุพัธน์ พู่ผกา อธิการบดี    นับเป็นครั้งแรกที่ผมได้ไปเห็นกิจกรรมชุมชนเข้มแข็งที่ไม้เรียง   
            คุณประยงค์ รอรับพวกเราที่ อาคารศูนย์เรียนรู้ชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น  เทศบาลตำบลไม้เรียง    อาคารนี้อายุ ๙๕ ปี เดิมเป็นโรงเรียนวัดหาดสูง เมื่อโรงเรียนย้ายไปสร้างอาคารใหม่อีกฟากถนน อาคารไม้นี้จึงถูกทิ้งร้าง    คุณประยงค์ได้ เข้าไปขอใช้ และเทศบาลตำบลไม้เรียงจัดงบประมาณปรับปรุง ติดเครื่องปรับอากาศ สำหรับใช้เป็น อาคารศูนย์เรียนรู้ชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น    โดยมีการติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียมและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง    สำหรับให้ชาวบ้านที่เป็นนักศึกษาในโครงการรัฐศาสตร์บัณฑิต (รัฐศาสตร์) สาขาการเมืองการปกครองท้องถิ่น ตามความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยรามคำแหง  เทศบาลตำบลไม้เรียง  และศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง   ซึ่งเปิดรับนักศึกษามาแล้ว ๓ รุ่น คือรุ่นแรกเข้าเรียนปี ๒๕๔๖   รุ่นที่สอง ปี ๔๗    และรุ่นที่ ๓ ปี ๔๘    ขณะนี้นักศึกษารุ่นที่ ๑ บางคนสอบผ่านแล้ว กำลังรอรับปริญญา
           เรานั่งคุยกันในห้องประชุมปรับอากาศเย็นฉ่ำ    บรรยากาศสดชื่นและน่าสนใจในเรื่องราวที่ผมได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากที่เคยฟังแล้วเมื่อวันที่ ๒๗ – ๒๘ กพ. ที่เขาค้อ ดังเล่าแล้ว    ยิ่งทวีความสดชื่นเพราะมีเสียงนกกรงหัวจุก หรือนกปรอดหัวโขนในกรงร้องโต้ตอบกัน    นกที่ร้องเพราะขนาดนี้ราคาซื้อขายถึง ๘ พันบาท
           เรื่องราวที่คุยกันมีหลากหลาย    เริ่มจากจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้นำชุมชน    ซึ่งคุณประยงค์บอกว่าเป้าหมาย ณ จุดเริ่มต้นไม่ได้อยู่ที่การเป็นผู้นำชุมชน  แต่ต้องการแก้ปัญหาปากท้องของตนเอง    โดยทางราชการแนะนำว่าต้องรวมตัวกัน  ร่วมกันคิด  ร่วมกันทำ  และร่วมกันรับผลประโยชน์   เมื่อดำเนินการตามคำแนะนำก็พบว่ามีปัญหาตรงขั้นตอนร่วมกันทำ เพราะ ๑๐๐ คนก็ทำ ๑๐๐ แบบ    และคนขยันก็รู้สึกว่าถูกคนที่ไม่ขยันเอาเปรียบ    ทำอยู่ช่วงปี  ๒๕๑๘ – ๒๕๒๔ ไม่ประสบผลสำเร็จ  ถือได้ว่านี่คือช่วงที่ ๑ ใช้หลักการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันได้รับผลประโยชน์  สรุปบทเรียนว่าโมเดลนี้ล้มเหลว    จึงร่วมกับสมาชิกกลุ่มที่ยังเหนียวแน่น ทดลองโมเดล ที่ ๒  ร่วมกันคิด  แยกกันทำ  แล้วเอาผลิตภัณฑ์ (ยางแผ่น) มารวมกันขาย ก็ล้มเหลวอีก เพราะคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไม่สม่ำเสมอ    จึงทดลองโมเดลที่ ๓ ร่วมกันคิด รวมตัวลงหุ้นกันสร้างโรงงานจ้างคนมาแปรรูปผลิตภัณฑ์  ร่วมกันจัดการ  ได้ผลดี และนำไปสู่รูปแบบ วิสาหกิจชุมชน  ที่ช่วยให้ชาวบ้านรวมตัวกัน  ลดการถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง    
           ผมมีข้อสังเกตว่าคนนอกที่เข้าไปคุย ตั้งคำถามต่อคุณประยงค์ มักถามจากกระบวนทัศน์แบบแข่งขัน    แต่คุณประยงค์จะตอบจากมุมมองหรือกระบวนทัศน์แบบพอเพียงหรืออยู่รอด
           หลังจากขึ้นไปดูห้องเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตที่ชั้น ๒ แล้ว    คุณประยงค์ขับมอเตอร์ไซคล์นำเราไปยัง ศูนย์วิสาหกิจชุมชนไม้เรียง ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๒ กม.    ระหว่างทางเห็นทิวทัศน์ของ เขาศูนย์ อันโด่งดังในอดีต เสียดายไม่มีโอกาสถ่ายรูปมาฝาก  ที่ศูนย์วิสาหกิจชุมชนไม้เรียงนี้ เราได้เห็นต้นแบบการใช้พื้นที่เพียง ๒ ไร่ ทำอาชีพ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง  ที่น่าทึ่งคือ คอนโดกบ  และการเลี้ยงปลาดุกแบบฝึกให้กินผัก ซึ่งผมอยากตั้งชื่อว่า “ปลาดุกเจ” ซึ่งคุณประยงค์บอกว่ารสชาติดีกว่าปลาดุกที่เลี้ยงแบบธรรมดา 
          เรารับเลี้ยงอาหารเย็นกันที่นี่   ผมติดใจห่อหมกประหลาดุก   เพราะเป็นรสชาติแบบอาหารปักษ์ใต้ที่ผมคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก    แล้วเราต้องรีบลาเพื่อไปขึ้นเครื่องบินเที่ยวสองทุ่มกลับกรุงเทพ
          ผมตั้งใจว่าจะหาทางไปเยี่ยมด้วยตนเองอีกสักครั้ง โดยจะขอให้ได้พบปะ ลปรร. กับสมาชิกศูนย์เรียนรู้ชุมชนไม้เรียงในหลากหลายบทบาท    ผมอยากคุยกับ “คุณกิจ” ตัวจริงเสียงจริง

     

อาคารศูนย์เรียนรู้ชุมชนฯ 

โครงการบัณฑิตชาวบ้าน 

การวิจัยท้องถิ่น 

     

 ป้ายอาคารและสถาปัตยกรรมอายุ ๙๕ ปี

ประชุมกันในห้องเรียนติดแอร์เย็นฉ่ำ 

เล่าเหตุการณ์ในปี ๒๕๒๗ ที่ผู้ว่าเอนก สิทธิประศาสน์ (คนกลาง) ผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้น 
     

นกกรงหัวจุกส่งเสียงไพเราะจับใจ 

ห้องเรียนที่ติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 

ศูนย์วิสาหกิจชุมชนไม้เรียง 

     

ขวามือ คอนโดกบ  ซ้ายมือบ่อปลาดุกเจ 

คอนโดกบ  เลี้ยงกบในที่แคบได้จำนวนมากโดยกบเล็กไม่โดนกบใหญ่กิน 

บ่อปลาดุกเจ 

     

ภายในคอนโดกบ 

 อีกมุมหนึ่งของศูนย์วิสาหกิจชุมชน 

บรรยายด้วยภาพ 

     

 บริการเส้นขนมจีนแบบสดจากเตา 

 ศูนย์รวมกากน้ำตางสำหรับทำปุ๋ยชีวภาพ 

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๒ มีค. ๔๙


 

หมายเลขบันทึก: 18577เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2006 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
จำเนียร ขวบสูงเนิน
สนใจรายละเอียด คอนโดกบ กับ ปลาดุกเจครับ อยากได้รายละเอียดมากกว่านี้ ผมควรต้องทำอย่างไรบ้างครับ 

ดีที่สุดคือไปดูเองนะครับ

การเลี้ยงกบต้องการที่กว้าง  เพราะถ้าเลี้ยงในที่แคบกบตัวโตจะกินตัวเล็ก    คอนโดกบช่วยให้เลี้ยงกบจำนวนมากได้ในที่แคบ    ใช้ท่อน้ำซีเมนต์ (ตามในรูป) เป็นที่เลี้ยง   ครอบด้วยยางรถยนต์เก่าๆ หลายชั้น เพื่อให้กบตัวเล็กมีที่หนีกบตัวโต    แค่นี้เองครับ

ส่วนปลาดุกเจ (ผมตั้งชื่อไปอย่างนั้นเอง) เป็นวิธีเลี้ยงปลาดุกแบบประหยัดอาหาร   แทนที่จะเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดชนิดโปรตีนสูงเท่านั้นอย่างที่เขาเลี้ยงกัน    ก็ทดลองฝึกให้กินผักด้วย   พบว่าปลาดุกกิน  เติบโตดี และเนื้อปลาอร่อยด้วย   เป็นการทดลองครับ   ไม่มีสูตรตายตัว 

วิจารณ์ พานิช

 

อยากจะไปดูงานที่ไม้เรียง แต่ไม่ทราบจะติดต่อใครได้ค่ะ  ขอคำตอบด่วน

 

 

                                                  ขอบคุณค่ะ

                                          พัชรินทร์    คงนาค

                                        PCU กะแดะ อำเภอกาญดิษฐ์

ไปดูสถานที่แล้วรู้สึกคนดูแลเฉย ๆ ไม่ค่อยยิ้มแย้มแลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท