เรียนวิทยาศาสตร์


 

          บทที่ ๘ ของหนังสือ Teach Like Your Hair's on Fire, Penguin Books, 2007 ที่เขียนโดยครู Rafe Esquith เป็นเรื่องการสอนวิทยาศาสตร์

 

  ครู Rafe เริ่มต้นโดยเล่าถึงความเจ็บปวด ที่โดนลูกสาวนักวิทยาศาสตร์ ที่เรียนจบ PhD MD จาก Johns Hopkins และเวลานั้นเป็นนักวิจัยด้าน oncology   มาดูพ่อสอนวิทยาศาสตร์แก่เด็ก ป. ๕ แล้วบอกพ่อตรงๆ ว่าพ่อสอนห่วย    สอนอย่างนี้เด็กไม่มีวันไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้   เพราะ Rafe สอนโดยเปิดหนังสือสอน    ครู Rafe กลับไปทบทวนด้วยความเจ็บปวดก็เห็นจริง ว่าลูกศิษย์ที่จบไปแล้วไม่มีใครไปเป็นนักวิทยาศาสตร์


   ลูกสาวบอกว่าสอนวิทยาศาสตร์ต้องให้เด็กทดลอง สังเกต จดบันทึก และวิเคราะห์ ด้วยตนเอง    ต้องปิดหนังสือเสีย แล้วให้เด็กได้สัมผัสของจริง    เมื่อครู Rafe เปลี่ยนวิธีเรียนเสียใหม่ตามที่ลูกสาวแนะนำ    ไม่ช้าก็มีลูกศิษย์เติบโตเล่าเรียนไปเป็นนักวิทยาศาสตร์  

 
   เน้นว่า วิทยาศาสตร์ต้องเรียนโดยลงมือทำ    แต่ถ้าสังเกตให้ดี ทุกวิชาที่ครู Rafe สอน มีการลงมือทำทั้งสิ้น  อย่างน้อยๆ ก็แบบฝึกหัด หรือเล่นเกม หรือทำโครงงาน 

 
   วิทยาศาสตร์ในระดับประถมเป็นวิชาที่สอนยาก   ครูจึงมักละเลยไม่สอน   แต่จริงๆ แล้วมีชุดทดลองวิทยาศาสตร์ขาย มีหลายบริษัท ที่คุณภาพดี    และถ้าใช้เป็นก็ทนทานพอสมควร   และช่วยให้ครูสอนการทดลองวิทยาศาสตร์ได้อย่างดี   แต่อย่างไรก็ดี ต้องใช้เวลาเตรียมสอนมาก   ครู Rafe มีคำแนะนำสำหรับครูมือใหม่ด้วย 

  
   แต่ปัญหาสำคัญคือไม่มีเงินซื้อชุดทดลองเหล่านั้น   ครู Rafe ใช้วิธี “บอกบุญ” พ่อแม่เด็ก   ซึ่งมักจะได้ผลเกินคาด   แต่มีข้อแนะนำว่าต้องทำเงียบๆ อย่ากระโตกกระตากให้ครูใหญ่รู้ จะโดนเล่นงาน   และที่สำคัญต้องย้ำกับพ่อ แม่เด็กว่าเป็นการบอกบุญจริงๆ ไม่ใช่แกมบังคับ    โดยต้องมีรายชื่อสิ่งที่ต้องการไว้ให้ดู 

 
   ปล่อยให้เด็กทดลอง และทำผิด แล้วแก้ไขเอง    นี่คือวิธีเรียนวิทยาศาสตร์ ที่ให้โอกาสนักเรียนได้ตื่นเต้นกับการทดลองของตน   คือให้ได้เรียนจากความผิดพลาด   ครูอย่าเข้าไปบอกเสียหมด


   ในโรงเรียนมีวัฒนธรรมต่อต้านปัญญา    นักเรียนชั้นมัธยมที่รักการทดลอง    ชอบเข้าห้องทดลองวิทยาศาสตร์ถูกเพื่อนล้อว่า “ไอ้หนูทดลอง”  (Lab Rat)    มีครูดีที่ช่วยจัดสถานที่และคอยปกป้อง ให้กำลังใจเด็กที่หลงใหลวิทยาศาสตร์เหล่านั้น   ครูต้องคอยปกป้องศิษย์จากวัฒนธรรมต่อต้านปัญญา

 

 

วิจารณ์ พานิช
๗ มิ.ย. ๕๑


                                           
       

 

หมายเลขบันทึก: 188353เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2008 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตนเองสอนเคมีค่ะ...พยายามให้นักเรียนทำการทดลอง...เพราะมีความเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า สอนวิทยาศาสตร์ต้องให้เด็กทดลอง สังเกต จดบันทึก และวิเคราะห์ ด้วยตนเอง    ช่วงแรกมีนร.(บางคน)ที่ไม่ชอบทำการทดลองบ่น แต่โดยส่วนใหญ่จะชอบค่ะ...

เคยมีโอกาสได้ไปประเมินโรงเรียนระดับประถมศึกษา หลายโรงเรียนพบว่าอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ ถูกเก็บไว้อย่างดีในตู้เก็บของ ไม่เห็นร่องรอยการใช้งานเลย

สงสัยค่ะว่าครูเขาสอนวิทยาศาสตร์ด้วยอะไร

ขอบคุณ อาจารย์มากคะที่ให้บทเรียนในเรี่องของการสอนวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่นำหลักการต่างๆ ไปใช้กับการจัดกิจกรรมของทุกวิชา จะขอนำบทเรียนนี้ไปใช้ในการพัฒนาเด็กให้เป็นคนที่ชอบเรียนที่รู้ให้ได้มากที่สุดคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท