ชีวิตที่พอเพียง : ๕๓๙. เที่ยวอยุธยา


วันที่ ๒๑ มิ.ย. ๕๑ ผมตามคณะค่ายเยาวชน กล้าใหม่ใฝ่รู้ ระดับมัธยมศึกษา ของมูลนิธิสยามกัมมาจล ไปเที่ยวอยุธยา เพราะทั้งภรรยาและผมอยากไปฟัง รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม ปราชญ์ใหญ่ของเมืองไทย บรรยายเรื่องกรุงศรีอยุธยาให้เด็กระดับมัธยมฟัง
เราขับรถออกจากบ้านเวลา ๖.๐๐ น. ขึ้นทางด่วนอุดรรัถยาที่ด่านเมืองทองไปจนสุดทางที่บางปะอิน แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนกาญจนาภิเษก เพื่อไปออกถนนหมายเลข ๒๓ ตรงถนนวงแหวน แล้วขับไปตามป้ายบอกทางไปอยุธยา คือเลี้ยวออกถนน ๓๐๙ จนไปขึ้นสะพานนเรศวรข้ามแม่น้ำป่าสัก ก็เลี้ยวซ้ายตามป้ายบอกทางไปโรงแรมริเวอร์วิว เพลส ซึ่ง อยู่เลยป้อมเพชรไปนิดเดียว คณะของมูลนิธิฯ เขาไปพักกันอยู่คืนหนึ่งแล้ว


ขึ้นห้องพักก็พบว่าโรงแรมอยู่ตรงข้ามแม่น้ำกับวัดพนัญเชิงพอดี มองไปเห็นหมู่ อาคารหลังคาทรงไทยกระเบื้องหลังคางดงาม ผมเกิดคำถามตัวเองว่า โอ่อ่าหรืออุจาด ก็พอดี อ. ศรีศักร เฉลยตอนท่านอธิบายเกริ่นนำเรื่องอยุธยา ชี้ให้เห็นว่าอุจาด คือเน้นพุทธพาณิชย์เกินไป
คุณเปา (ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร) ผู้จัดการมูลนิธิฯ บอกว่า ในการแข่งขันตอบปัญหาของโครงการกล้าใหม่ใฝ่รู้ เด็กกรุงเทพสู้เด็กต่างจังหวัดไม่ได้ จึงมีแต่เด็กต่างจังหวัดทั้งสิ้น ๓๒ คนมาร่วม และมีครูมาร่วมด้วย ๑๐ คน เมื่อวานไปเรียนรู้เรื่องการทำนาที่อำเภอผักไห่ เด็กๆ ติดใจ แต่ชาวบ้านบอกว่าที่นั่นน้ำท่วมปีละ ๓ เดือน ผมแย้งว่า คนนอกมองว่าน้ำท่วม แต่ในชีวิตจริงของชาวบ้านเขาเรียกน้ำหลาก เพราะเป็นส่วนหนึ่ง ของวัฏจักรในรอบปี และเป็นคุณต่อชีวิตของเขา ไม่ใช่เป็นอุปสรรคอย่างที่เราคิด


อ. ศรีศักร ชี้ให้เห็นว่า ก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีเมืองใหญ่ๆ กระจายอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิอยู่แล้ว ดังหลักฐานวัดพนัญเชิง สร้างก่อนตั้งอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๓) ๒๖ ปี มีพระใหญ่ แสดงว่าต้องมีความเจริญด้านการถลุงแร่โลหะ มีย่านการค้าต่างประเทศ ดังมีตำนานเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
อ. ศรีศักร ชี้ให้เห็นว่าชีวิตของคนอยุธยา เป็นวัฒนธรรมที่ราบลุ่มที่เป็นดินแดนสามเหลี่ยมแม่น้ำก่อนไหลลงทะเล ซึ่งเมื่อ ๑๐๐๐ ปีก่อนมีศูนย์กลางอยู่ที่ลพบุรี และนครปฐม เมื่อ ๕๐๐ ปีก่อนย้ายศูนย์มาที่อยุธยา

อิทธิพลจีนเข้ามา กลางศตวรรษ ๒๐


ป้อมเพชรเป็นป้อมที่สำคัญที่สุด คุมแม่น้ำป่าสักเและจ้าพระยา ตรงจุดบรรจบ บริเวณนี้เป็นน้ำวนเรียกว่า น้ำวนบางกระจะ ในสมัยศตวรรษที่ ๒๓ เป็นตลาดน้ำ มีเรือนแพ ๒ หมื่นหลัง บริเวณนี้อยู่นอกกำแพงเมือง เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของผู้มีฐานะในสมัยนั้น เช่นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ และหลวงพินิจอักษร (ทองดี) พระชนกของรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมัยก่อนมีเขื่อน อยุธยามีวัฏจักรหน้าน้ำ หน้าแล้ง มีประเพณีเกี่ยวกับน้ำ ต้องอ่าน ทวาทศมาสจึงจะเข้าใจ ใช้ทางน้ำในการคมนาคม การป้องกันเมือง การตีเมือง ตอนเสียกรุงครั้งที่ ๒ พม่าตั้งทัพที่สีกุก ผักไห่ ถึงปีครึ่ง เอาชนะฤดูน้ำหลากได้ จึงตีกรุงแตก สมัย พระนารายณ์มีพลเมือง ๑.๕ แสน ใหญ่กว่าลอนดอน
บริเวณกรุงเทพสมัยโบราณชื่อบางเกาะ แล้วเพี้ยนเป็นบางกอก
ที่นี่ผมได้เห็นวิธีใช้เรือยนตร์ ๒ ลำลากโยงขบวนเรือบรรทุกสินค้าผ่านบริเวณคุ้งน้ำและน้ำวน โดยมีเรือดึงหลังขบวน เป็นครั้งแรกในชีวิต


ที่ท่าหน้าวัดพนัญเชิง มีแพมุงหลังคาอย่างดี ให้คนมาเลี้ยงอาหารปลา ตอนกลางวันมีคนมาเลี้ยงคับคั่ง และมีปลามากมาย ถ่ายรูปจากห้องพักของผมไกลประมาณ ๖๐ – ๗๐ เมตรเห็นชัด

เมืองเก่าพระนครศรีอยุธยา
เราไปเริ่มต้นชมเมืองเก่าโดยมุ่งไปที่ถนนเจ้าพรหม จุดตั้งเมือง ที่มีเจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่พระยาอยู่กลางแยก ถนนอู่ทองเป็นกำแพงเมืองเก่า ถูกรื้อสมัย ร. ๕ พระยาโบราณราชธานินทร์ ระหว่างทางรถแล่นผ่านวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร เป็นวัดหลวงที่สร้างโดยต้นวงศ์จักรี เขาว่าสวยงามมาก เราไม่มีเวลาไปชม ผมตั้งใจมาชมวันหลัง เนื่องจากรถบัสของเราเป็นรถ ๒ ชั้น เราจึงแล่นไปทางถนนโรจนะ รถแล่นผ่านคลองมะขามเรียง อ. ศรีศักร บอกว่าสมัยโบราณ มีสะพานข้าม มีห้องแถวเรียงราย มีอยู่ในคำให้การหลวงประดู่ทรงธรรม เป็นบริเวณที่พักแขกเมือง รถผ่านวัดขุนเมืองใจ ซึ่งสร้างก่อนอยุธยาเป็นราชธานี รถเลี้ยวขวาไปตามถนนชีกุน ไปที่วงเวียน ตรงไปสู่บริเวณที่ทางซ้ายมือเป็นบึงพระราม ซึ่งเป็นที่เกิดเมือง เดิมกว้างใหญ่กว่าในปัจจุบันมาก เวลานี้โดนถมไปมาก เลยวัดมหาธาตุ เป็นถนนเจ้าพรหม ที่แผนที่เรียกว่าถนนนเรศวร เริ่มที่เจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่พระยา เป็นจุดที่ ๒ พี่น้อง (เจ้าอ้ายพระยา และเจ้ายี่พระยา) ยกพลมางานศพพ่อ (พระนครินทราธิราช) ฟันกันบนคอช้างที่เชิงสะพานป่าถ่าน คอขาดทั้งคู่ น้องชายคือเจ้าสามพระยาจึงได้เป็นกษัตริย์ และสร้างเจดีย์เป็นอนุสรณ์ตรงจุดนั้น เราเลี้ยวซ้ายเข้าถนนนเรศวร (เจ้าพรหม)
เราผ่านวัดมหาธาตุ ซึ่ง อ. ศรีศักร บอกว่าบอกความเป็นนคร เมื่อถึงยุคพระนครินทราธิราช (พระเจ้านครอินทร์) วงศ์สุพรรณภูมิ บ้านเมืองเจริญมาก คำว่าพระร่วงไปเมืองจีน หมายถึงกษัตริย์องค์นี้ เป็นยุคที่รวมนครศรีธรรมราชเข้ามาอยู่ใต้อยุธยา พอถึงสมัยเจ้าสามพระยา (ลูกชาย) สร้างวัดราชบูรณะ สมัยพระบรมไตรโลกนาถ (ลูกชายเจ้าสามพระยา) อยุธยาพัฒนาเป็นราชอาณาจักร คือมีราชธานีเป็นศูนย์กลางทั้งทางการเมืองและทางศาสนา เปลียนเจดีย์จากทรงปรางค์ เป็นเจดีทรงกลม หรือทรงลังกา ขยายวังเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ แย่งความสำคัญจากวัดมหาธาตุ เป็นที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และย้ายวังมาตั้งด้านทิศเหนือ พร้อมทั้งมีสนามไชยเป็นที่ชุมพลเวลาจะไปทำศึก และเวลารับแขกเมือง เป็นการเลียนแบบเขมร
รถไปจอดสุดทางถนนนเรศวรก่อนเลี้ยวซ้าย เราลงเดินไปชมเมืองเก่าบริเวณพระราชวังโบราณ ผมบอกตัวเองว่าโอกาสได้ฟัง อ. ศรีศักร พาชมเมืองเก่าไม่มีอีกแล้ว ท่านเล่าให้เด็กๆ จินตนาการว่าอยุธยาสมัยยังเป็นราชธานีเป็นอย่างไร
ผมได้เข้าใจว่าวังกำแพง ๓ ชั้น เดิมมีเฉพาะเมืองพระนครของเขมร อยุธยาเลียนแบบเขมร เข้ายุคอยุธยาตอนกลางในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ มีการรวมศูนย์เข้าสู่ราชธานี ยกเลิกเมืองลูกหลวง
การตั้งเมือง จะคำนึงถึงแหล่งน้ำ ตั้งเมืองตรงจุดที่มีแหล่งน้ำ คือบึงพระราม ถือ เป็น แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์สำหรับจัดพิธีกรรม ส่วนน้ำกินใช้สระน้ำในวัด การจำลองแบบเมืองพระนครทำ หลายยุค ในสมัยพระนารายณ์ก็มีการปรับวัง จำลองแบบเขมร (เมืองพระนคร) อีก

ผมได้ลอดประตูช่องกรุด ตอนหมออมราชวนเดินไปเข้าห้องน้ำที่คุ้มขุนแผน เป็นครั้งแรกที่ผมเข้าใจอุบายในการควบคุมคนเข้าออกโดยทำประตูช่องกรุด เราได้เห็นร่องรอยของ สระน้ำ ท่อน้ำ ได้เห็นบ่อน้ำ ที่เป็นแหล่งน้ำกิน ได้เห็น “ถังเก็บน้ำ” ทำเป็นโครงสร้างก่ออิฐอยู่ตรงบริเวณที่เป็นเนิน มีหลุก (ระหัด) ชักน้ำ ขึ้นมาเก็บ แล้วต่อท่อให้ น้ำไหลออกไปตามแรง โน้มถ่วงออกใช้ในวัง ถังเก็บน้ำ นี้ อ. ศรีศักรเรียกอ่างน้ำ ว่าชื่อ อ่างแก้ว น้ำมาจากจากทะเลชุบศร ห้วยซับเหล็ก
วรรณกรรม กำสรวจสมุทร เก่ากว่าศรีปราชญ์ มีคนเข้าใจผิดว่าแต่งโดยศรีปราชญ์ จึงเรียกกำสรวลศรีปราชญ์

พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท สร้างสมัยพระบรมไตรโลกนาถ พื้นตกท้องช้าง หลังคาคลุมดินกันฟ้าผ่า วิหารสมเด็จสร้างสมัยพระเจ้าปราสาททอง พระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ ติดกำแพงชั้นนอก เลยออกไปเป็นท่าวาสุกรี จะเห็นว่าสถานที่ต่างๆ ของกรุงเทพได้ชื่อจากกรุงศรีอยุธยามากมาย เป็นการตั้งชื่อเพื่อยืนยันความยิ่งใหญ่ที่เคยมีในสมัยก่อน เราเรียนอยุธยาเพื่อเข้าใจกรุงเทพ รายละเอียดอ่านได้ทีนี่

พระที่นั่งตรีมุข ปฏิสังขรณ์สมัย ร. ๕
จะเข้าใจอยุธยาตอนปลายต้องอ่านบันทึกต่างประเทศ

เราไปตามรอยประวัติศาสตร์เจ้าฟ้ากุ้ง (ธรรมาธิเบศร์) กวีเอกโอรสพระเจ้าปราสาททอง ผู้แต่งกาพย์ห่อโคลงเห่เรือ ดูพื้นที่ข้างสระข้างพระที่นั่งจตุรมุข ชื่อบรรยงก์รัตนาสน์ พระเจ้าท้ายสระ ประทับที่นี่ สระกั้นชั้นในกับชั้นกลาง มีช่องออกคลองท่อ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ลอบมาพบเจ้าฟ้าสังวาลย์ที่นี่ เมื่อถูกจับได้ก็ถูกลงโทษโบย และตายเพราะถูกโบยทั้งคู่
อยุธยาสมัยปลายเป็นสังคมกฎุมพี จากการค้า และสังคมค่อยๆ แตกแยกคล้ายสมัยนี้


ร้านก๋วยเตี๋ยวผักหวานวัดสุวรรณดาราราม
เรากินอาหารเที่ยงกันที่นี่ ที่จริงอยู่ห่างโรงแรมริเวอร์วิว เพลส นิดเดียว ขับรถบนถนนอู่ทองจากโรงแรมไปทางสะพานนเรศวรจะเห็นป้ายอยู่ทางซ้อยมือ อาหารอร่อยสมคำเล่าลือ เรากินก๋วยเตี๋ยวผัดไทยผักหวาน มีผักหวานทั้งที่ผัดกับก๋วยเตี๋ยว และที่ให้ยอดมากินสดกับก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยวน้ำยอดผักหวาน ผัดยอดผักหวาน เห็ด (นางฟ้า) ทอดกรอบจิ้มน้ำจิ้มแม่ประนอม ยำยอดผักหวาน อร่อยทุกจาน ผมกินจนอิ่มถึง เย็น แถมยังมีขนมหวานลอดช่องแตงไทย

ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา
http://ayutthayastudies.aru.ac.th/content/view/364/56/ เป็นที่น่าไปเที่ยวชมมาก
ญี่ปุ่นสร้างให้ โดยบริษัทโนมูระ สร้างตามที่นักวิชาการไทยกำหนด ใช้เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลเป็นจุดเด่น พระนเรศวรสร้างฉลองชนะศึก
ผมชอบหลักการของศูนย์ศึกษามาก คือเป็นที่ศึกษาของนักวิชาการด้วย และสำหรับให้ประชาชนและนักเรียนมาศึกษาด้วย และถ้าทำเป็นจะหาเงินมาใช้ในการดำเนินกิจการได้สบาย แต่ อ. ศรีศักร บอกว่าพอสร้างเสร็จก็คล้ายโดนทิ้ง ไม่ได้ดำเนินการในฐานะศูนย์ศึกษาเลย และระหว่างการก่อสร้างก็มีความขัดแย้งทางวิชาการกันมาก ท่านบอกว่าส่วนนอกท่านเป็นนักวิชาการผู้ให้หลักการ แต่ก็มีหลายส่วนที่ท่านเถียงไม่ชนะคนอื่น ภาพหรือนิทัศการบางส่วนจึงออกมาแบบผิดๆ ส่วนที่เป็นชีวิตคนธรรมดามี ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เป็นหัวหน้าทีมนักวิชาการ ส่วนใน ศ. ดร. ธิดา สาระยา เป็นหัวหน้าทีมนักวิชาการ
ผมได้เรียนรู้ว่าก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๑๘๙๓ ในดินแดนสุวรรณภูมิมีเมืองใหญ่ผลัดกันรุ่งเรืองหลายเมือง ได้แก่ ศตวรรษ ๑๑ - ๑๒ มีเมืองคูบัว (ราชบุรี) เมืองนครปฐม (ทวาราวดี) เมืองสุพรรณภูมิ (เดิมคืออู่ทอง พุทธศตวรรษที่ ๕ - ๙) เมืองศรีมโหสถ ที่แม่น้ำบางปะกง เมืองละโว้ เมืองนครศรีธรรมราช ล้านนา
มีรูปแผนที่แสดงแม่น้ำเจ้าพระยา มีเกาะแก่งในแม่น้ำ และโค้งน้ำที่มีการขุดคลองลัดมาแต่โบราณ แต่ที่บางกระเจ้า ใกล้ปากแม่น้ำ ไม่ขุดคลองลัด รศ. ศรีศักร อธิบายว่าเพราะถ้าขุดน้ำเค็มจะทะลักขึ้นมาทำลายเรือกสวนสองฝั่งแม่น้ำได้ง่าย การคงโค้งน้ำไว้จึง เท่ากับเป็นปราการธรรมชาติชลอน้ำเค็ม เป็นคำอธิบายที่แสดงภูมิปัญญาของคนสมัยโบราณ


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
นำชมโดย คุณสุบงกช ธงทองทิพย์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ผู้มีความรักงานพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนมัธยม มีความเทอดทูนพระบาทสมเด็นพระเจ้าอยู่หัวเป็นเลิศ และพูดแนะนำปลุกใจให้เด็กๆ รักและหวงแหนประวัติศาสตร์ไทยได้อย่างยอดเยี่ยม ๘๕ % ของโบราณวัตถุที่ตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้มาจากกรุวัดราชบูรณะ http://www.thailandmuseum.com/chawsampraya/history.htm
ศิลปะอู่ทองยุคที่ ๑ คล้ายทวาราวดี ยุคที่ ๒ คล้ายละโว้ ยุคที่ ๓ คล้ายสุโขทัย พระพุทธรูปทรงเครื่อง สะท้อนภาพเทวราชา พุทธราชา ธรรมราชา ธรรมวิชัย ทศพิธราชธรรม พระศรีอารยเมตไตรย์ นารายณ์ทรงสุบรรณสะท้อนภาพพระมหากษัตริย์ว่าเป็นเหมือนพระนารายณ์อวตารมา
ครุฑท่ามุชา เรียกให้มารับคำอำนวยพรแห่งมหาเทพ
ห้องพระบรมสารีริกธาตุ มาจากวัดมหาธาตุ จากอู่ทอง สุพรรณภูมิ
พระบรมสารีริกธาตุกรุวัดราชบูรณะ
ผมได้ซื้อ ดีวีดี เรื่องพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ราคา ๑๐๐ บาท กลับมาชมที่บ้านด้วย
ที่หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ผมได้รู้จักต้นมะกล่ำตาควาย (Adenanthera pavonina L. ชื่อสามัญคือ Red Sandalwood Tree, Coralwood Tree) เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ในวงศ์ Leguminosae หรือตระกูลถั่ว ใต้ต้นมี เมล็ดสีแดงสดสวยงามมากมาย ทำให้ระลึกถึงสมัยเด็ก ผมมีเมล็ดมะกล่ำตาหนูไว้เล่น เมล็ดมะกล่ำตาหนูรูปกลมมีสีดำที่หัวหรือขั้วเมล็ด ดูรูปได้ที่ http://www.siamensis.org/images/Webboard/199200515272.jpg จะเห็นว่ามะกล่ำ ตาหนูเป็นไม้เถา แต่มะกล่ำตาควายเป็นไม้ยืนต้น ต้นที่ผมเห็นเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบฟุต ทั้งสองชนิดเป็นต้นไม้ตระกูลถั่วเหมือนกัน

ศูนย์ปฏิบัติการอนุรักษ์โบราณสถานนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
http://www.panoramaworldwide.com/column/story/story_004.php นักเรียนที่มาค่ายฯ ไปเรียนการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ในงานโบราณคดีที่ศูนย์ปฏิบัติการนี้ เราจึงตามไปเยี่ยม ผมได้มีโอกาสทักทาย ดร. ศิริชัย หวังเจริญตระกูล ผอ. ศูนย์ที่ไม่ได้พบกันนานด้วย นักเรียนได้เห็นคุณค่าของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ตนคาดไม่ถึง ผมก็ได้เรียนรู้ไม่น้อย ยิ่งเอกสารประกอบค่ายฯ ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลแจก มีรายละเอียดเรื่องวิทยาศาสตร์โบราณคดีให้อ่าน ผมยิ่งได้ความรู้ น่าเสียดายที่ศูนย์นี้ได้รับการสนับสนุนจากกรมศิลปากรน้อยไปหน่อย

ห้างทองฝีมือช่างกรุงเก่า
หลังฟัง ผอ. สุบงกช นำชมพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา ผมติดตามสาวๆ คือคุณใหญ่ คุณเปา และหมออมรา ไปชมเครื่องทอง และเครื่องประดับ ที่ร้านทองบนถนนอู่ทองแถวๆ ตลาดหัวรอ ซึ่งตั้งอยู่เรียงรายกว่าสิบร้าน เราได้รับคำแนะนำจาก ผอ. สุบงกชให้ไปที่ห้างทองกอบกุล ซึ่งอยู่หน้าเรือนจำ ฝีมือสวยจริงๆ และผู้ขายมีอัธยาศัยดีมาก
จัดเป็นทัวร์วัฒนธรรมอย่างหนึ่ง คุณใหญ่ผู้มีความรู้และรสนิยมเรื่องเครื่องประดับสูงมาก พยายามใช้โอกาสที่สามีตกหลุมพาภรรยาเข้าร้านทอง ช่วยแนะนำแหวนที่งามมาก วงหนึ่งเป็นเพชรรูปหัวใจคู่กับไพลินน้ำงามลึกรูปหัวใจ ราคา “ห้าแสนกว่า” ผมเกิดมามีบุญที่ภรรยาไม่ลุ่มหลงในเครื่องประดับ


๒๒ มิ.ย. ๕๑
เราออกไปตลาดหัวรอ ซึ่งอยู่บนถนนอู่ทองห่างจากโรงแรมริเวอร์วิว เพลส ๓ ก.ม. ผ่านตลาดเจ้าพรหมไป ไปซื้อปลาแดง ปลาน้ำเงิน ตามคำแนะนำของ อ. ศรีศักร ว่าอร่อยและเป็นปลาที่หากินยาก แต่ช่วงหลังๆ นี้มีเขตอภัยทานในแม่น้ำหน้าวัด จึงมีปลาที่หลุดออกมาจากเขตให้จับมาขาย
ผมได้รู้จักว่าปลาเหล่านี้คือปลาหนังในตระกูลปลาเนื้ออ่อนนั่นเอง ชื่อปลาแดงเพราะหัวแดง ชื่อปลาน้ำเงินเพราะหัวสีน้ำเงิน เป็นปลาที่จับด้วยเบ็ดจากธรรมชาติ ส่วน ปลานิล ปลาทับทิม เป็นปลาเลี้ยงจากฟาร์มซีพี ซึ่งผมเดาว่ามีสารเคมี เราจึงเลือกซื้อปลาแดงกับปลาน้ำเงิน ราคากิโลละ ๒๔๐ และ ๒๒๐ ตามลำดับ
หมออมราได้ซื้อมันกำมะหยี่และมันสีม่วง เอามาต้มหรือเผากิน ผมยุให้ซื้อเผือกเอามาเชื่อมกินด้วย หมออมราชอบกินกุ้งแม่น้ำ แม่ค้ารีบแนะนำร้าน ซึ่งก็คือแม่ของแม่ค้าปลานั่นเอง พอดีคนจับกุ้งเอากุ้งที่เพิ่งจับได้มาส่งพอดี เราจึงได้กุ้งแม่น้ำขนาด ๖ ตัวกิโล ในราคา ๕๕๐ บาท ตอนเดินกลับผมเหลือบไปเห็นขนมเบื้องญวณยังอุ่นๆ อยู่ ชนิดไม่ใส่ไข่ ๒๐ บาท ใส่ไข่ ๒๕ แม่ค้าถามว่าเอาชนิดไหน ผมตอบว่าเอาไม่ใส่ไข่ แม่ค้าหัวเราะชอบใจ และพูดว่าขนมเบื้องใส่ไข่ก็เหมือนใส้ห่อไข่ คือเป็นวิวัฒนาการขนมเบื้องที่ผิดฝาผิดตัว แต่คนสมัยใหม่นิยม เราซื้อมาชิม ซึ่งไม่ผิดหวัง
เช้านี้การเที่ยวตลาดหัวรอถือเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือมาซื้อของกินพื้นเมือง และชมชีวิตยามเช้าในตลาด อยุธยาจึงเป็นเมืองที่น่ามาเที่ยวมาก และมาเที่ยวแล้วยิ่งรักบ้านเมืองของเรา ที่ผู้คนมีอัธยาศัยไมตรี และอุดมสมบูรณ์
แม่ค้าปลาแต่งชุดมุสลิม ถามว่าอยู่ที่อยุธยามากี่ชั่วคนแล้ว เธอตอบไม่ได้ คืออยู่มาจนเป็นคนไทยแท้ๆ แต่ถือศาสนาอิสลามตามบรรพบุรุษ

อาหารเที่ยงที่โรงแรมริเวอร์วิว เพลส
เป็นอาหารบุฟเฟ่ต์ อร่อยทุกอย่างที่เราเลือกกิน ได้แก่ข้าวคลุกกะปิ ก๋วยเตี๋ยวทรงเครื่องเชลล์ชวนชิม ส้มตำ เต้าหู้ทอด ผมลืมถามว่าคนนอกมากินราคาหัวละเท่าไร เป็นอาหารเที่ยงแนะนำสำหรับผม

ขากลับ ผู้จัดการเส้นทางของผมแนะให้กลับไปทางสุพรรณบุรี ออกไปทางถนน ๓๐๙ พอตัดกับถนน ๓๔๗ ก็เลี้ยวซ้ายขับลงใต้ จนไปชนถนนกาญจนาภิเษก ก็ไปตามป้ายสุวรรณภูมิขึ้นสู่ทางด่วนอุดรรัถยากลับบ้าน ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง รวมเดินทางคราวนี้เพียง ๑๓๐ ก.ม. เรากะกันว่าจะหาเวลาไปเที่ยวอยุธยาอีก เริ่มจากทัวร์ตลาดหัวรอตอนเช้ามืด และกะจะไปชมศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาให้ละเอียดอีกสักครั้ง


อาหารเย็นวันนี้ผมได้กินกุ้งเผา และปลาแดงทอดกระเทียมพริกไทย ฝีมือแม่อมราลูกสาวแม่สุพร อร่อยมาก

วัดพนัญเชิง

น้ำวนบางกระจะทางขวามือและตรงไปข้างหน้าคือแม่น้ำเจ้าพระยา

รศ.ศรีศักร กำลังอธิบายอยุธยาในอดีต ในขณะที่ในแม่น้ำเรือโยงกำลังดึงขบวนเรือสินค้าไม่ให้ท้ายขบวนปัดไปทางขวา

วัดมหาธาตุ วัดหลวงวัดแรกของอยุธยา

พญาครุฑทำนิ้วมือท่า I Love You

เมล็ดมะกล่ำตาควาย

เขตอภัยทานเลี้ยงปลาหน้าวัดพนัญเชิง

ปลาแดง

ปลาน้ำเงิน

อ่างแก้ว ถังน้ำประปาโบราณในบริเวณวังโบราณ

วิจารณ์ พานิช
๒๒ มิ.ย. ๕๑

หมายเลขบันทึก: 190545เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2008 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มีนาคม 2015 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะอาจารย์ ครั้งหน้าขอมีโอกาสนำอาจารย์เที่ยวชมอยุธยาแบบที่นักท่องเที่ยวทั่วไปไม่ทำกัน (ผู้นำชมไม่ใช่นุชหรอกค่ะ จะเป็นคนข้างกายที่เป็นคนอยุธยาโดยกำเนิด และเป็นคนบ้าอยุธยาอย่างยิ่ง) และชิมรสชาติอาหารพื้นบ้านที่บ้านนะคะ

ทริปนี้ของอาจารย์เข้มข้นมากเลยนะคะ ได้ทั้งวิชาการและอาหารอร่อย

สวัสดีค่ะ

อ่านบทความเกี่ยวกับอยุธยาของอาจารย์แล้วประทับใจ เพราะทำให้รักบ้านเกิดและทำให้ได้ทบทวนประวัติศาสตร์ที่เรียนผ่านมานานมากแล้วได้เป็นอย่างดี   เป็นคนหัวรอที่อาจารย์ไปเดินเล่นมาค่ะ

แต่ไม่เคยได้ชมตลาดตอนเช้าเหมือนอาจารย์ไปเห็นมา เพราะตื่นสายมาตลอดชีวิต และย้ายไปพักที่อื่นแล้ว อ่านแล้วอยากตื่นเช้าๆ ไปตามเส้นทางที่อาจารย์ไปมาค่ะ

                                           ขอบคุณที่สนุกกลับอยุธยาจะได้กลับมาเยี่ยมอีกค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท