ชีวิตที่พอเพียง : ๕๔๐. ร่วมขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยขบวนการสุขภาวะ


 

          มีคนขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยการเมือง  ด้วยบรรยากาศขัดแย้ง

          แต่ผมเข้าร่วมขบวนการขับเคลื่อนสังคมด้วยขบวนการสุขภาวะ ในบรรยากาศร่วมมือ    มี สช. (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ http://www.nationalhealth.or.th) เป็นกลไกเชิงองค์กร    มี พรบ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้อำนาจทางกฎหมาย   และใน พรบ. กำหนดให้จัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ   ใช้การจัดทำธรรมนญฯ เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนระบบสุขภาพของประเทศ

          ผมมองว่านี่คือนวัตกรรมของการทำนโยบายชาติ ในเรื่องที่สำคัญยิ่งของบ้านเมือง    มีหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นหน่วยราชการทำหน้าที่ขับเคลื่อน

          วิธีทำนโยบายชาติแบบนี้ผมเคยเสนอกระทรวงวิทย์เมื่อกว่า ๕ ปีมาแล้ว    แต่ผู้บริหารระดับสูงมากแย้งว่า หน่วยงานที่ไม่ใช่ราชการจะทำนโยบายชาติได้อย่างไร    ใครจะทำตาม    ท่านเอาร่าง พรบ. ไปแก้ใหม่หมด    ผมจึงเลิกไปประชุมตั้งแต่นั้นมา    เพราะผมรู้สึกว่าเขามุ่งรักษาอำนาจส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ของชาติ 

          ยิ่งนับวันผมก็ยิ่งมั่นใจ ว่าราชการทำนโยบายชาติไม่ได้   เพราะมีข้อจำกัดในการทำงาน    ไม่เปิดกว้างพอ    ทำได้อย่างมากก็นโยบายกระทรวง ไม่ใช่นโยบายชาติ

          นโยบายชาติด้องมาจากทุกภาคส่วนของสังคม    ต้องเน้นส่วนร่วม    สช. ทำงานแบบเน้นส่วนร่วมในการทำนโยบายชาติด้านระบบสุขภาพ    มีทักษะและเจตคติในการทำหน้าที่นี้   และที่สำคัญ มีการจัดการและวัฒนธรรมองค์กรเพื่อการทำหน้าที่ดังกล่าว

          รศ. พญ นันทนา รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มาแทนเลขาธิการ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์    บอกว่าฟังไม่รู้เรื่อง     ภาษาแปลกหูของท่านที่ทำงานในโรงเรียนแพทย์   เป็นคำพูดที่ตรงไปตรงมาและสะท้อนให้ สช. นำไปวางยุทธศาสตร์การทำงาน    ว่าจะต้องจัดเวทีในกลุ่มอาจารย์แพทย์ เพื่อทำความเข้าใจและสร้างแนวร่วม

          ที่จริงประเด็นย่อย ๑๒ ด้านของธรรมนูญสุขภาพฯ นั้น คนที่อยู่ในกระบวนการมีมุมมองสอดคล้องกัน   แต่วิธีคิดเช่นนี้ยังไม่แพร่หลาย   ไม่เป็นกระแสหลัก    โจทย์ของ สช. คือทำอย่างไรให้เกิดกระแสหลักที่สอดคล้องกับแนวทางใน พรบ.

          เป้าหมายสูงสุดของสังคม/บุคคล คือสุขภาวะ   เป็นการเปลี่ยนแบบสวนทาง จาก เพื่อความมั่งคั่ง/วัตถุนิยม เป็น อยู่ดี/มีสุข   นี่คือหัวใจ   หรือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์    นโยบายสุขภาพของชาติตามแนวของธรรมนูญสุขภาพฯ เดินตามเป้าใหม่นี้

          ประเด็นหนึ่งในธรรมนูญฯ คือ การสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ด้านสุขภาพ ผมมองว่าต้องใช้กระบวนทัศน์ใหม่    ใช้วิธีคิดแบบ KM    คือความรู้อยู่ในผู้ปฏิบัติ    ความรู้เรื่องสุขภาพของปัจเจกอยู่ในการปฏิบัติของปัจเจกบุคคล    จะต้องมีวิธีการ externalize ออกมาทำให้เป็นระบบความรู้ปฏิบัติ    เสริมกันกับความรู้ทฤษฎี 


          ผมพิจารณาว่า ๑๒ ข้อในมาตรา ๔๗ เปลี่ยนกระบวนทัศน์ของระบบสุขภาพ    สช. จะต้องหากลไกทำ change management ที่เป็น positive change   เปลี่ยนกระบวนทัศน์ของผู้คนในสังคม   เกิดระบบสุขภาพ/สุขภาวะแนวใหม่ คือแนวอยู่ดีมีสุข  ไม่ใช่แนวมั่งคั่งวัตถุนิยม

          สช. เขามีคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคม   มีวุฒิสมาชิกสมชาย แสวงการ เป็นประธาน   มี ดร. เจิมศักดิ์ เป็นที่ปรึกษา  จะมีการสื่อสารหลักการข้างต้นทางวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน  นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์   ทีวี  วิทยุ  และเว็บไซต์    จะมีการดำเนินการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ   ทำ citizen dialogue โดยใช้เทคนิคฉากทัศน์    จัดเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่ ๗๕ จังหวัด   เวทีรับฟังความเห็นตามกลุ่มเป้าหมาย ๔๐ กลุ่ม   และรับฟังโดยวิธีการอื่นๆ

          ถนนทุกสายของกิจกรรมหรือกระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพของชาติมุ่งสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในวันที่ ๑๑ – ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๑

          ผมเป็นประธานอนุกรรมการจัดทำธรรมนูญฯ ชุดที่ ๑ ที่ประธานมีบทบาทน้อยมาก   แต่ได้เลขาชั้นยอด คือ รศ. นพ. สุรเกียรติ อาชานานุภาพ  ทำงานร่วมกับคุณอรพรรณคนเก่งของ สช.   ทำให้ผลงานออกมาดี    สิ่งที่ผมภูมิใจคือได้ชักชวนให้ทำงานแบบรับฟังและให้คุณค่าความคิดเห็นที่หลากหลายเอามาสังเคราะห์หาวิธีดำเนินการ   ซึ่งอาจดำเนินการต่างแนว แต่มีเป้าดียวกัน

 

          ข้างบนคือบันทึกของผม ระหว่างนั่งฟังการประชุมเชิงปฏิบัติการ คณะกรรมการและอนุกรรมการการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ   ในช่วงเช้าวันที่ ๒๔ มิ.ย. ๕๑  โดยมี นพ. บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน    เป็นช่วงเวลาที่ผมมีความสุขมาก เพราะได้เห็นนวัตกรรมสังคมก่อตัวอย่างต่อเนื่อง    ผ่านขบวนการปฏิรูประบบสุขภาพที่ขับเคลื่อนโดย สปสช. ในอดีต ที่เปลี่ยนมาเป็น สช. ในปัจจุบัน

          อาจารย์ป๋อง พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร กรรมการสุขภาพแห่งชาติ มาร่วมประชุมด้วย    บอกว่าได้ประชุมเรื่องแบบนี้ค่อยมีความสุขหน่อย   ดีกว่าฟังเรื่องอภิปรายในสภาที่ให้แต่ความเศร้าใจ

 

วิจารณ์ พานิช
๒๔ มิ.ย. ๕๑


                            

หมายเลขบันทึก: 190746เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2008 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท