ถักทอ เสริมพลัง สู่การพัฒนาเด็กและเยาวชน


 

          วันที่ ๒๙ ก.ค. ๕๑ มูลนิธิสยามกัมมาจล,  สสส.,  และคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกันจัดการประชุมปฏิบัติการของ เครือข่ายภาคีพูนพลังเยาวชน เพื่อ ลปรร. ความสำเร็จของการดำเนินการพัฒนาเด็กและเยาวชนของภาคี   และรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ว่าด้วยการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว    สำหรับใช้ในการเดินเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนต่อไป    นอกจากนั้น ยังหวังว่า การประชุมจะสร้างความคุ้นเคยในระหว่างองค์กรและบุคคลที่ทำงานด้านนี้   เป็นโอกาสที่จะแสวงหาความร่วมมือกันทำงานให้เกิด synergy กัน
คณะผู้จัดการประชุมขอให้ผมเป็นผู้กล่าวนำต่อที่ประชุมในหัวข้อ ถักทอ  เสริมพลัง  สู่การพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งผมได้เตรียมตัวไปกล่าวสั้นๆ ดังต่อไปนี้

 

วัยแห่งศักยภาพ
          เด็กและเยาวชนเป็นผู้ที่อยู่ในวัยเจริญงอกงาม   มีชีวิตในช่วงที่เปรียบประดุจนกแขกเต้า    ที่อาจจำเริญวัยไปเป็นบัณฑิตก็ได้ เป็นพาลก็ได้   และที่ดำเนินชีวิตไปในทางดีงาม ก็ยังอาจแตกต่างกันได้อย่างมากมายในด้านความริเริ่มสร้างสรรค์   ตามรูปแบบของการเลี้ยงดูกล่อมเกลาในครอบครัว   การจัดการศึกษาในโรงเรียน    และตามแรงกระตุ้นของสื่อมวลชน

ทรัพย์ของแผ่นดิน
          ทรัพย์สมบัติที่มีค่ายิ่งใหญ่ที่สุดของสังคมไม่ใช่ทรัพย์ในดินสินในน้ำ    ไม่ใช่ ทรัพยากรธรรมชาติ   ไม่ใช่โครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ   แต่เป็นตัวคน คนที่มีคุณภาพสูงเป็นทรัพย์สมบัติที่มีค่าสูงสุดของสังคม   ยิ่งในสังคมยุค Knowledge-Based หรือ Wisdom-Based คนที่มีคุณภาพสูงยิ่งมีความสำคัญ

เจียระไนเพชร 
          สังคมที่มีคนคุณภาพสูง เป็นสังคมที่มีวิธีพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างถูกวิธี  ดำเนินการได้ผลดี  และมีการรวมพลังกันดำเนินการในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายมิติ   เพื่อสร้างให้เด็กและเยาวชนพัฒนาศักยภาพของตนในด้านการเป็นคนดีและคนเก่ง   ได้เต็มศักยภาพของตนเอง    ในเด็กที่เกิดมาในสังคมไทยปีละ ๖ – ๗ แสนคนนั้น    เรามีทั้งหน่ออ่อนของยอดศิลปิน ยอดนักกีฬา ยอดนักวิทยาศาสตร์ ยอดนักรบทางจิตวิญญาณ และอื่นๆ    ทำอย่างไรหน่ออ่อนเหล่านั้นจะได้รับโอกาสที่จะเติบโต

เจียระไนตนเอง
          มูลนิธิสยามกัมมาจลมีความเชื่อในการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยการส่งเสริมให้ตัวเด็กหรือเยาวชนเป็นผู้ลงมือทำ    ทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ เกิดการเรียนรู้ของตนเอง เรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อน   และเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่นหรือต่อส่วนรวม   แล้วเกิดการเรียนรู้ต่อเด็กหรือเยาวชนเอง
          เราคิดว่า ในปัจจุบัน เด็กและเยาวชนมีชีวิตที่เฉื่อย (passive) มากเกินไป    มีการเรียนรู้แบบรับรู้จากตัวอย่างภายนอกมากเกินไป   เรียนรู้จากการลงมือทำด้วยตนเอง และเรียนรู้จากการสังเกตผลของการลงมือทำนั้น น้อยเกินไป   กล่าวคือสังคมจัดให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดจากภายนอกมากเกินไป   จัดให้เรียนรู้โดยการ “ระเบิดจากภายใน” หรือจากการงอกงามจากภายในตน น้อยเกินไป    หรือในเด็กบางคน แทบไม่มีโอกาสได้เรียนรู้แบบหลังเลย   ทำให้ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ (ซึ่งตามปกติมีความสร้างสรรค์สูง) เสื่อมพลังหรือฝ่อไป จากการขาดการใช้งาน ที่เรียกว่า disuse atrophy

สังคมทำลายเด็ก 
          เราคิดว่า เวลานี้เด็กและเยาวชนเรียนรู้จากสื่อที่ไม่สร้างสรรค์มากเกินไป   ที่ว่าไม่สร้างสรรค์คือสื่อมุ่งชักจูงให้เยาวชนเกิดกิเลส ตัณหา และราคะ เพื่อกระตุ้นการบริโภค   เพื่อประโยชน์ต่อการขยายตลาด ขยายการผลิต ขยายเศรษฐกิจ    เยาวชนกลายเป็นเครื่องมือหรือเหยื่อของเศรษฐกิจ    เยาวชนกลับไม่ใช่เป้าหมายของการพัฒนา แต่กลับเป็นเหยื่อของการพัฒนาที่มุ่งการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นหลัก   ผลคือเราจะได้เยาวชนที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมองส่วนของความโลภ โกรธ หลง ได้รับการกระตุ้นให้งอกงาม    และสมองส่วนของความเป็นมนุษย์ที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น เคารพศักดิ์ศรีของผู้อื่นพอๆ กับหวงแหนความเป็นตัวของตัวเองและมีความมั่นคงในความซื่อสัตย์และความเห็นแก่ผู้อื่น กลับได้รับการกดทับหรือทำให้ไม่ได้รับการส่งเสริม 
          จะเห็นว่า เด็กและเยาวชนรุ่นปัจจุบัน (และอนาคต) ยิ่งนับวันจะอยู่ใต้อิทธิพลของสังคมสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนสับสน   จนเยาวชนจำนวนไม่น้อยสับสนระหว่างความดีกับความชั่ว

เด็กมีบาดแผล
          นอกจากนั้น สภาพสังคมปัจจุบัน ยังทำให้เด็กที่เกิดมาจำนวนหนึ่งเกิดมาโดยที่พ่อแม่ไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดู    หรือเกิดมาพร้อมกับบาดแผล   หรือเติบโตขึ้นพร้อมกับบาดแผลทางใจ   ที่ทำให้เขาเป็นคนเปราะบางต่อการชักจูงไปในทางเสื่อม

All for Youth  
          จึงเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่เครือข่ายภาคีพูนพลังเยาวชนมาร่วมประชุมกันในวันนี้   เพื่อหาลู่ทางความร่วมมือ   เพื่อ check stock ว่าใครทำอะไรกันอยู่บ้างในเรื่องเด็ก และเยาวชน   และรวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลจากประสบการณ์การทำงานขึ้นเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในสังคมไทย

Actionable Knowledge
          ผมขออนุญาตให้ความเห็นเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลและสังเคราะห์องค์ความรู้เรื่องเด็กและเยาวชนสักเล็กน้อย    ผมเข้าใจว่าการรวบรวมและสังเคราะห์องค์ความรู้แบบนี้ เราไม่ได้ต้องการองค์ความรู้ที่เน้นความชัดเจนแน่นอนตายตัว    เพื่อจารึกไว้ชั่วกาลนาน    ตรงกันข้าม เราต้องการความรู้เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์    ใช้ดำเนินการพัฒนาเยาวชนในท่ามกลางกระแสสังคมปัจจุบัน    ที่ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อเด็กและเยาวชนไทย    เราต้องการความรู้สำหรับเอาไปใช้งาน   ไม่ใช่ความรู้สำหรับเอาไปจารึก    จึงเป็นความท้าทายต่อคณะทำงานของคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ที่จะสังเคราะห์ความรู้จากการประชุมออกมาให้เหมาะต่อการนำไปใช้งานต่อ   ผมเข้าใจว่า เราไม่ได้ต้องการความรู้ที่เป็นความรู้ลอยๆ ความรู้กลางๆ    แต่เราต้องการความรู้ที่ใช้การได้จริงในบริบทต่างๆ กัน

ความรู้ในการกระตุ้นสมองคน ไม่ใช่กระตุ้นสมองสัตว์
          เราต้องการความรู้สำหรับใช้พัฒนาเด็กและเยาวชนทั้งหมดให้เขาส่งประกายอัจฉริยภาพเฉพาะตัวออกมา    ใช้พัฒนาเด็กและเยาวชนเฉพาะกลุ่มที่มีอัจฉริยภาพพิเศษ หรือมีบาดแผล หรือมีความต้องการพิเศษ    ใช้พัฒนาเด็กและเยาวชนทั้งหมดให้เขาได้กระตุ้นสมองมนุษย์ มากกว่ากระตุ้นสมองสัตว์

เพิ่มภาคี
          นอกจากความเห็นแล้ว    ผมขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ที่ยังไม่ปรากฎชื่อในเว็บไซต์ www.scbfoundation.com    ได้แก่

๑. ศูนย์พัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม www.moralcenter.or.th  
๒. สถาบันส่งเสริมศักยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) www.igil.or.th
๓. อุทยานการเรียนรู้ www.tkpark.or.th
๔. มูลนิธิพูนพลัง www.geocities.com/poonpalang
๕. โครงการเยาวชน มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์   เป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะดำเนินการในปี ๒๕๕๒

 

วิจารณ์ พานิช
๒๙ ก.ค. ๕๑

  
                                       

บรรยากาศของการประชุม

หมายเลขบันทึก: 197608เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2008 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขออนุญาติเพิ่มชื่อของ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยนะคะ เพราะไม่มีปรากฎใน http://www.scbfoundation.com เช่นกันค่ะ สถาบันฯ ทำงานทั้งด้านการศึกษา มีหลักสูตรปริญญาโทด้านการพัฒนามนุษย์ งานวิจัย และบริการวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ภายใต้การนำของหัวเรือใหญ่ รศ.ดร.สายฤดี วรกิจโภคาทรค่ะ ผู้สนใจสามารถเข้าดูได้ที่ http://www.cf.mahidol.ac.th/ ค่ะ

ได้คุยกับคุณเปาแล้วค่ะ คงได้ช่วยกันพรวนดินต่อค่ะ นินทา (ว่าดี) ถึงอาจารย์วิจารณ์ กันด้วยค่ะ ฮิฮิ

ได้คุยกับคุณเปาแล้วค่ะ คงได้ช่วยกันพรวนดินต่อค่ะ นินทา (ว่าดี) ถึงอาจารย์วิจารณ์ กันด้วยค่ะ ฮิฮิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท