ชีวิตที่พอเพียง : ๕๖๙. เรียน Systems Thinking


 

          ที่จริงเคยมีคนชมว่าผมเป็นนัก Systems Thinking   ซึ่งก็คงจะมีส่วนถูก    คือผมชอบฝึกคิดแบบกระบวนระบบ   หัดมองสิ่งต่างๆ เชื่อมโยงกันเป็นระบบ   มีระบบหลายระบบโยงถึงกันและซ้อนเหลื่อมกัน    มีระบบย่อยมากมายอยู่ในระบบใหญ่    และระบบใหญ่ก็เป็นระบบย่อยที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบใหญ่ขึ้นไปอีก   ระบบเหล่านี้ไม่หยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตอยู่ตลอดเวลา    ผมชอบฝึกคิดอย่างนี้ เพราะมันสนุก    และช่วยให้เราตระหนักว่าตัวเรานี้เล็กนิดเดียว    เป็นเศษธุลีอยู่ในจักรวาล   บังเกิดขึ้นมาอยู่เพียงเสี้ยววินาทีของ geological time 

          เมื่อวันที่ ๘ ส.ค. ๕๑ หมออำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช. ชวนคนที่เขาคงจะประเมินว่าเป็นนักคิดเชิงระบบ และเชิงยุทธศาสตร์ ไปให้คำแนะนำวิธีทำงานของ สช.   ที่เขารู้สึกตันๆ ชอบกล   เพราะ สช. ทำงานขับเคลื่อนระบบสุขภาพ/สุขภาวะ   เขาเดินเข้าไปในพื้นที่ที่มีหน่วยงานเจ้าของเต็มไปหมด    หมออำพลคงเป็นห่วงว่าจะไปเหยียบหัวแม่เท้าใครเข้า    เขามาขอคำแนะนำว่าเดินอย่างไรจึงจะไม่ซุ่มซ่าม    แต่จริงๆ แล้วผมคิดว่าหมออำพลเองนั่นแหละ เป็นนักยุทธศาสตร์ตัวยง   อย่างน้อยๆ ก็เปรียบเหมือนนักมวยรุ่นมิดเดิลเวท   ในขณะที่ผมอยู่ในรุ่นฟลายเวท หรือ ไลท์ฟลายเวท

         ในเวลา ๒ ชั่วโมงเราคุยกันได้มากมาย    ส่วนหนึ่งคงเพราะมี อ. หมอประเวศ เป็นประธาน   และส่วนหนึ่งเพราะหมออำพลทำการบ้านมาดี    จนหมอวินัย ผอ. สปสช. บอกว่า ขอเวลาคุยแบบนี้ที่ สปสช. บ้าง    แต่สำหรับผมนี่คือการทำแบบฝึกหัด Systems Thinking จากเรื่องจริง    คือระบบสุขภาพ/สุขภาวะ  

          ผมได้ตระหนักว่าองค์กรในระบบสุขภาพของประเทศไทย ได้ค่อยๆ เข้าสู่สภาพ “ระบบองค์กร” (Systems of Organizations) ที่หลากหลาย   เป็นสภาพคล้ายๆ ที่ผมฝันถึงระบบวิจัยเมื่อ ๑๐ ปีมาแล้ว    ระบบวิจัยไม่ไปไหน   แต่ระบบสุขภาพ/สุขภาวะ เคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ จนมีระบบขององค์กรที่ซับซ้อนมาก    น่าชื่นใจจริงๆ    ที่ชื่นใจก็เพราะระบบที่ซับซ้อนเช่นนี้แหละที่จะสร้าง sustainable development ให้แก่สังคม    สร้าง systems learning ขึ้นในสังคม    ผมเองมีความสนใจด้านการจัดการ ทั้งการจัดการองค์กร และจัดการระบบ   ก็ได้ให้ความเห็นไปตามที่มีความเข้าใจ    ผมมองว่าตัวที่สำคัญที่สุดคือ ต้องพัฒนาทักษะในการจัดการระบบที่ซับซ้อนนี้    ต้องจัดการระบบที่ซับซ้อนเป็น    ไม่หลงจัดการแบบใช้อำนาจสั่งการ แบบระบบที่ตื้นเขิน ซึ่งจะไม่ได้ผล 

          ความซับซ้อนของระบบสุขภาพน่าจะเริ่มด้วยการมี สถาบันวิจัยระบบสุขภาพ (สวรส.) www.hsri.or.th   ผลของการวิจัยของ สวรส. ทำให้เกิด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) www.thaihealth.or.th   และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)    และหน่วยงานขับเคลื่อนระบบสุขภาพที่ สวรส. ตั้งขึ้นคือ สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) www.hsro.or.th ก็ได้กลายเป็น สำนักงานคณะกรรมการระบบสุขภาพแห่งชาติ (สช.) www.nationalhealth.or.th   โดยที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรหนึ่งใน “ระบบองค์กรสุขภาพ” นี้  

          โดยสภาพเช่นนี้ ระบบสุขภาพจึงมีลักษณะ distributive ยิ่ง    มีผู้คนจากหลากหลาย sector หลากหลายบทบาทในสังคม เข้ามาขับเคลื่อนระบบสุขภาพ ผ่านกลไกขององค์กรที่หลากหลายนี้  

          ที่จริงระบบประชาธิปไตยไทย ก็มีการวางระบบที่ซับซ้อนเช่นนี้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐   แต่ถูกหัวหน้ารัฐบาลในสมัยหนึ่งทำลายส่วนตรวจสอบคานอำนาจลงไปเกือบหมด   จึงอ่อนแอล้มลุกคลุกคลานอยู่ในปัจจุบัน    ผมหวังว่าจะไม่มีการทำลายระบบที่ซับซ้อนของระบบองค์กรด้านสุขภาพลงได้    โดยประชาชนไทยต้องช่วยกันปกปักรักษาหวงแหน

 

วิจารณ์ พานิช
๑๐ ส.ค. ๕๑

      
         
                    

หมายเลขบันทึก: 201835เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2008 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท