ชีวิตที่พอเพียง : ๕๗๖. ร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กร มสช. และ มสส.


 

          บันทึกนี้ต่อเนื่องจากบันทึกที่แล้ว    มสช. คือ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ www.thainhf.org   และ มสส. คือมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์    เป็นมูลนิธิคู่แฝด ทำงานวิชาการให้แก่สังคม   โดย มสช. เน้นด้านสุขภาพ   และ มสส. เน้นด้านปัญญาหรือการเรียนรู้

 
          เห็นได้ชัดเจนว่าเมื่อทำงานไปได้สัก ๔ – ๕ ปี ภูมิทัศน์ (landscape) ของสังคมส่วนที่มูลนิธิทั้งสองนี้ทำงานเปลี่ยนไปอย่างมากมาย    จนต้องมาร่วมกัน หาบทบาทที่เหมาะสมขององค์กรกันใหม่    ที่จริงบทบาทหลักไม่น่าจะเปลี่ยน   แต่จุดโฟกัสและจุดยุทธศาสตร์น่าจะต้องเปลี่ยนมากทีเดียว


          ทั้ง ๒ มูลนิธินี้เหมือนกับโรงเรียนของผม

 
          คือผมได้เห็นทั้งสองมูลนิธิตั้งแต่ยัง “เป็นวุ้น” อยู่    แล้วได้เห็นการเติบโต ล้มลุกคลุกคลาน ลุกขึ้นยืนสง่า และทำประโยชน์ให้แก่สังคม เป็นที่ยอมรับกว้างขวางในปัจจุบัน  


          ผมได้ฝึกจิตวิญญาณอาสาสมัคร หรือจิตอาสา    และฝึกทักษะการทำงานอาสาให้แก่สังคม ที่มูลนิธิทั้งสองนี้


          ดังนั้น การประชุม “ร่วมกำหนดวิสัยทัศน์องค์กร” ของมูลนิธิทั้งสอง ในวันที่ ๒๒ – ๒๓ ส.ค. ๕๑ จึงเป็นกิจกรรมที่ผมต้องไปร่วม    เพราะใจสั่ง 

  
          เขากำหนดให้ผมอภิปรายนำ “มุมมองความคาดหวังที่มีต่อ มสช.  มสส.”    ซึ่งผมก็จะพูดจากใจของผม    ที่ไม่รู้ว่าคิดอย่างนี้จะดีหรือไม่ดี ไม่รู้ว่าเหมาะสมหรือไม่


          เมื่อ ๖ – ๗ ปีมาแล้ว ตอนที่ผมเสนอให้ประธาน มสช. คือ อ. หมอประเวศ ดึงตัวหมอสมศักดิ์ มาเป็นเลขาธิการ ทำหน้าที่ CEO หรือผู้นำองค์กร ของ มสช.    ผมฝันให้ อ. หมอประเวศฟังว่า    อยากเห็น มสช. ทำงานวิชาการด้านสุขภาพให้แก่สังคม   โดยที่การทำงานวิชาการนั้นเน้นการจัดการวิชาการ    ในละกษณะของการเชื่อมโยงนักวิชาการและนักปฏิบัติมาร่วมกันทำงานวิชาการให้แก่สังคม    เน้นว่า มสช. จะมีจุดเด่นที่การจัดการ (management) ที่เป็นการจัดการความร่วมมือทางวิชาการ    โดย มสช. จะเป็นมูลนิธิที่ทำงานอย่างมืออาชีพ มีความต่อเนื่อง มีความเป็นสถาบันที่มั่นคง น่าเชื่อถือ    และทำประโยชน์ให้แก่สังคมในลักษณะที่หน่วยงานรัฐทำไม่ได้    แต่ มสช. จะต้องหารายได้เลี้ยงตัวเองจากงานที่ทำนั้นเอง


          กล่าวง่ายๆ ผมฝันเห็น มสช. เป็นองค์กรที่มีฝีมือเป็นที่เชื่อถือ จนใครๆ เอาเงินและงานมาให้ทำ    และ มสช. ก็สร้างชื่อเสียงและคุณประโยชน์จากการทำงานเหล่านั้น 

  
          ฝันนี้เป็นจริงอย่างน่าชื่นใจ    จนประธานมูลนิธิและรองประธาน (ศ. นพ. อารี วัลยะเสวี) เตือนว่า อย่าทำงานแบบกระจัดกระจายเกินไป    ให้เลือกทำเรื่องที่สำคัญไม่กี่เรื่อง

 
          แต่โลกนี้มันผันแปรไปไม่หยุดยั้ง    ความสำเร็จของ มสช. ไม่ได้อยู่แค่สร้างงาน    แต่ได้สร้างคนให้แก่สังคมไทยด้วย    คือเกิดคนที่มีทักษะในการทำงานประสานวิชาการ    ออกไปทำงานในองค์กรอื่น หรือในลักษณะอื่น   ที่มองมุมหนึ่งก็กล่ายเป็นคู่แข่งของ มสช. ไปโดยปริยาย    คล้ายๆ ลูกโตขึ้นมาแข่งและแย่งทรัพยากรกับพ่อ   รวมทั้งเกิดองค์กรด้านสุขภาพขึ้นใหม่หลายองค์กร    เป็นทั้งคู่แข่งในบางมุม และเป็นคู่ร่วมมือหรือพันธมิตร ของ มสช. ในบางมุม

 
          จึงมีความจำเป็นต้องโฟกัสบทบาทของ มสช. กันใหม่    ในท่ามกลางภูมิทัศน์ใหม่ของระบบสังคม และระบบสุขภาพในปัจจุบัน

          ผมเป็นคนที่คลั่งใคล้การจัดการ    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการวิชาการ และการจัดการการเปลี่ยนแปลง   ผมจึงเสนอว่า มสช. ยังควรต้องเน้นการทำงานให้แก่ประเทศด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ  และเน้นจุดเด่นด้านการจัดการ    แต่ต้องยกระดับของการจัดการขึ้นไปให้สูงยิ่งขึ้น   ไปสู่จุดที่สังคมไทยยังขาด

          ผมมองว่าจุดที่สังคมไทยยังขาดทักษะทางวิชาการ คือทักษะการตั้งโจทย์    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งโจทย์ภาพใหญ่ ภาพเชิงระบบ    ให้มีความชัดเจนว่าโจทย์ภาพใหญ่ มีภาพเล็กๆ ซ้อนกันอยู่อย่างไร    มีหน่วยงาน/คน กำลังตอบโจทย์ภาพย่อยอยู่ที่ไหนบ้าง    และช่องโหว่ที่ยังไม่มีทีม/คน ตอบโจทย์ คืออะไร    แล้วดำเนินการจัดการให้เกิดการทำงานวิชาการเพื่อตอบโจทย์นั้น

          มองมุมหนึ่ง ทักษะนี้อาจเรียกว่า ทักษะ Mapping วิชาการ   และทักษะอุดช่องโหว่  

 
          ทักษะที่ยังขาดในสังคมไทยอีกอย่างหนึ่ง อาจเรียกว่า ทักษะประกอบภาพ    หมายถึง การเอาชิ้นส่วนความรู้ย่อยๆ มาประกอบกันเข้าเป็นความรู้เชิงระบบ    มองเห็นภาพใหญ่ชัดเจน    หรือถ้าตรงไหนเห็นไม่ชัด ก็แสดงว่ายังขาดความรู้ส่วนนั้น

   
          ผมฟันธงว่า ภารกิจที่ท้าทาย มสช. ที่จะทำให้แก่สังคมไทย น่าจะเรียกว่าภารกิจวิชาการด้าน Systems Management / Systems Development ของระบบสุขภาพ

 
          ส่วนของ มสส. ก็ในทำนองเดียวกัน   แต่เป็นของระบบปัญญา

          นี่คือฝัน   ฝันคือฝัน    ตื่นจากฝันเพื่อทำให้เกิดขึ้นจริงเป็นสิ่งที่ต้องฟันฝ่า    โดยจุดเริ่มต้นคือการลงมือทำ    และงานแบบนี้ผมคิดยุทธศาสตร์ไว้แล้วว่าต้องใช้ “ยุทธศาสตร์ของคนทำไม่เป็น”    แบบเดียวกับที่ผมทำ สกว. เมื่อ ๑๖ ปีก่อน   และทำ สคส. เมื่อ ๖ ปีก่อน    คือยุทธศาสตร์ เคออร์ดิค   

 

วิจารณ์ พานิช
๒๒ ส.ค. ๕๑

                           
        

หมายเลขบันทึก: 203978เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2008 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท