KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๕๖๕. ตลาดนัดการจัดการความรู้...สู่คนไทยสุขภาพดี


 

          เป็นตลาดนัด KM ประจำปีของกรมอนามัย   จัดที่จังหวัดอุบลราชธานี   วันที่ ๒ – ๓ ก.ย. ๕๑   ผมไปร่วมเฉพาะช่วงเช้าวันที่ ๒ ก.ย.

          กรมอนามัยเป็นกรมตัวอย่างจำนวนไม่กี่กรมของประเทศ ที่พัฒนาความชำนาญในการใช้เครื่องมือ KM ขึ้นใช้ในการทำงานประจำ และงานบริหารได้อย่างน่าชื่นชม   ยิ่งภายใต้อธิบดีคนปัจจุบัน นพ. ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา KM กรมอนามัยยิ่งแทรก เป็นเนื้อเดียวกับงาน เป็นเครื่องมือที่สร้างความภาคภูมิใจในผลงาน   และเป็นเครื่องมือสร้าง “บุคคลสำคัญ” ขึ้นมากมายภายในกรม

          ...และตลาดนัดความรู้คือเวทีแห่งความสุข ความภาคภูมิใจนั้น
          อ่านจากเอกสารที่คุณศรีวิภา เลี้ยงพันธุ์สกุล ส่งมาให้ก่อนวันประชุม    ผมชื่นชมที่วันแรกเน้นการ ลปรร. กับครู   จะมีครูมาร่วม ๓๕๐ คนจากจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมด ๗๐๐ คน   ตอนบ่ายจะเป็นรายการ “ซุ้มคุณกิจ...พิชิตความรู้” ๓๕ ซุ้ม    ในจำนวนนี้เป็นซุ้มของโรงเรียนถึง ๒๐ ซุ้ม    ตือซุ้มต้นแบบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ๔ ซุ้ม   ซุ้มโรงเรียนระดับเพชร ๘ ซุ้ม   และซุ้มโรงเรียนคู่หูทันตสุขภาพ ๘ ซุ้ม   สุขภาพดีเป็นเรื่อง For All และ By All   การชักชวนกลุ่มผู้เอาใจใส่สุขภาพและดำเนินการได้ผลดีมา ลปรร. กัน จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยิ่ง   

          เมื่อไปในงานจริงๆ ก็พบว่ามีซุ้มคุณกิจถึง ๔๙ ซุ้ม    แต่สถานที่แคบไปหน่อย การ ลปรร. จึงดูจะอึกทึกไปหน่อย (แต่คิดใหม่อีกที ตลาดก็ต้องจอแจจึงจะเป็นตลาด)   แต่ก็มีผลงานดีๆ มานำเสนอมากมาย    และคุณหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ผอ. สำนักส่งเสริมการจัดการความรู้ ก็ได้แนะนำวิธี ลปรร. ในตลาดนัดให้ได้ความรู้มากอย่างที่ต้องการด้วย  

          เสียดายที่ผู้จัดไม่ได้ชวน อบต. มาร่วมด้วย   ผมคิดว่าเวลานี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญต่อการดูแลส่งเสริม “สุขภาวะ” ของผู้คนในพื้นที่ของตน   แต่ก็น่าชื่นชมที่มีชมรมผู้สูงอายุมาร่วมด้วยหลายชมรม   และมีผู้สูงอายุที่เป็นตัวอย่างผู้มีสุขภาพดี มารับรางวัลและมา ลปรร. วิธีปฏิบัติตัวให้มีสุขภาพดีและอายุยืนยาวด้วย

          มีหนังสือ KM ที่เพิ่งพิมพ์ออกเผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๑ คือ “กรณีตัวอย่างการจัดการความรู้ในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข” พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ และสมชาติ โตรักษา เป็นบรรณาธิการ    บทที่ ๙ ซึ่งเป็นบทสุดท้ายเป็นเรื่อง KM กรมอนามัย เขียนโดย ศรีวิภา เลี้ยงพันธุ์สกุล  ทพญ. นนทลี วีรชัย  และ แพทย์หญิงนันทา อ่วมกุล   เป็นการเขียนแบบเล่าเรื่องสบายๆ ไม่เป็นวิชาการ   และเข้าใจว่าต้นฉบับเขียนในปี ๒๕๕๐ เพราะไม่มีข้อมูลของปี ๒๕๕๑  

          ที่จริงการใช้ KM อย่างมีรูปแบบของกรมอนามัยเพิ่งมีอายุ ๓ ปีเศษเท่านั้น    แต่ผมรู้สึกเหมือนกับทำมานานมาก   ผมมีข้อสังเกตแบบเข้าข้างตนเองว่า KM ได้เข้าไป เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรของกรมอนามัยไม่ใช่น้อย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดประชุม    ได้เปลี่ยนจากให้ “ผู้รู้” มาบอก เป็นกิจกรรมหลัก   เปลี่ยนเป็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง “คุณกิจ” ที่มีผลงานน่าชื่นชม เป็นกิจกรรมหลัก    กรมอนามัยได้สร้างวิทยากร KM ให้แก่ ประเทศไทยหลายท่าน    และได้เปิดโอกาสให้ “ยอดคุณลิขิต” คือทันตแพทย์หญิงนนทลี วีรชัย ได้แสดงฝีมือใน บล็อก Gotoknow   เป็นประโยชน์ต่อการ capture ความรู้ปฏิบัติ เอามารวบรวมไว้และเผยแพร่ในขณะเดียวกัน

          ในช่วงที่ผมไปร่วมแลกเปลี่ยน เป็นการเสวนาเรื่อง “การจัดการความรู้...สู่คนไทยสุขภาพดี” ใช้เวลา ๒ ช.ม. มี นพ. สมศักดิ์ ชุณรัศมิ์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา    ผู้ร่วมเสวนามี ๓ คน คือ ดร. พิธาน พื้นทอง ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต ๑, นพ. โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย, และผม   รายละเอียดรออ่านจาก บล็อกของ “เพื่อนร่วมทาง” หรือคุณหมอนนทลี วีรชัย ได้รสชาติดีกว่านะครับ   ผมเห็นท่านนั่งจดยิกทีเดียว

          ช่วงบ่าย ท่านอธิบดี นพ. ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เลื่อนมาบรรยายพิเศษเรื่อง “บริหารยุทธศาสตร์สุขภาพ : บริหารด้วยหัวใจนักจัดการความรู้”   ครึ่งชั่วโมง    เพราะท่านตัดสินใจกลับกรุงเทพด้วยเที่ยวบินบ่าย ๓ โมงพร้อมผม    เพราะทางกรุงเทพเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อคืน และรัฐบาลประกาศสถานะฉุกเฉิน   ก็แน่นอนอยู่แล้ว ว่าท่านพูดได้ยอดเยี่ยม    จุดสำคัญที่สุดคือท่านย้ำวิธีทำงานแบบใหม่ของเจ้าหน้าที่กรมอนามัย    ที่ไม่ใช่ทำหน้าที่แบบเน้นเป็นผู้รู้    แต่เน้นการเป็น “คุณอำนวย” ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างภาคีสุขภาพที่หลากหลาย 

          ที่จริงงานตลาดนัดแบบนี้ผมว่าเราต้องไปแบบไปตลาดนัดจริงๆ คือรู้ว่าเราต้องการไป “หา” อะไร   เพื่อเอากลับมาทำอะไร   จะทำให้ได้ประโยชน์มากกว่าไปเดินดูไปเรื่อยๆ แบบไร้จุดหมายหรือเข็มมุ่ง    

          หมายเหตุอีกเล็กน้อย ว่าผมไม่คุ้นเคยกับการประชุมของหน่วยราชการแบบนี้   รู้สึกว่าเด็กๆ นักเรียนเขาตื่นเต้นที่จะจัดการแสดงอย่างจริงจังมาก   งานนี้จึงมีการแสดงไปพร้อมๆ กับเวลา ลปรร. หรือการเปิดตลาดนัด   คงจะดูน่าครึกครื้นสำหรับคนทั่วไป   แต่สำหรับผมรู้สึกว่ามันอึกทึกมากไปหน่อย

          หมายเหตุบอกตัวเองว่า ผมไปตลาดนัดคราวนี้แบบฉาบฉวย   มีเวลาน้อย ไม่ได้พินิจพิเคราะห์จริงจัง   ไม่มีเอกสารให้อ่านไปล่วงหน้า    จึง “จับภาพ” KM ได้ไม่ดี    ให้คำแนะนำตัวกระบวนการได้น้อย  

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒ ก.ย. ๕๑

 

ทีมของศูนย์อนามัยที่ ๕  ผู้ชายคนยืนตรงกลางคือ นพ. สุเทพ เพชรมาก ผู้อำนวยการ

 

ความรู้จากชมรมผู้สูงอายุ - ไม้คณฑาสำหรับแคะและขัดฟันผู้กินหมาก

 

Jig Saw ของเด็กไทยฟันดี แสดงวิธีคิดที่มี KM Inside

โปสเตอร์เรื่่องเล่าที่น่าชื่นชม

 

แกนนำ KM ตัวจริง

 

พนักงานขับรถวิทยากร  Talent Management ของศูนย์อนามัยที่ ๕

 

ลายมือของยอดคุณเอื้อ นพ. โสภณ เมฆธน รองอธิบดี ให้ความเห็นต่อเรื่องเล่าเป็นรายเรื่อง

คนขวาคือรองอธิบดีโสภณ เมฆธน  คนกลาง ดร. พิธาน พื้นทอง ผอ. เขตการศึกษาที่ ๑ อุบลฯ

ผู้มีความรู้ฝังลึกเรื่องลดความอ้วน

ตอนไม่มีความรู้

 

 สาวๆ ทูตสุขภาพชวนถ่ายรูป

 

หมายเลขบันทึก: 207044เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2008 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวนกับคุณหมอที่สนามบินครับ
  • เลยไม่ได้คารวะคุณหมอ
  • เสียดายจังเลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท