องค์กรเคออร์ดิค ตอนที่ ๓๙ ใช้หลักองค์กรเคออร์ดิค ในระดับประเทศ เพื่อสร้างสังคมที่มีความรู้เป็นฐาน


  

ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
www.kmi.or.th
http://gotoknow.org/thaikm

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่ http://rescom.trf.or.th


          องค์กรเคออร์ดิค คือองค์กรที่ใช้ธรรมชาติของ chaos และ order ในสรรพสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มาสร้างพลังขับเคลื่อน กระทำภารกิจ และดำรงอยู่     โดยหลีกเลี่ยงการตกเข้าไปอยู่ในหลุมพรางของสภาพ control หรือควบคุมและสั่งการ

          ภายใต้หลักการของ องค์กรเคออร์ดิค เราเชื่อว่า chaos และ order เป็นสิ่งเดียวกัน    และมีธรรมชาติคล้ายสิ่งมีชีวิต คือมีการสร้างตัวเองได้ (autopoiesis หรือ self-organization)    แต่จะเกิดสภาพของการสร้างสรรค์เอง ต้องมีสภาพแวดล้อม และสถานการณ์ที่เหมาะสม    โดยที่หัวใจของสภาพแวดล้อมคือความเป็นอิสระ (freedom)  

          ในตอนที่ ๓๙ นี้ จะเสนอเรื่อง การใช้หลักการและยุทธศาสตร์แบบ เคออร์ดิค ในระดับประเทศ     โดยผมมีข้อสังเกตว่า ประเทศที่มีระดับของการพัฒนาสูง มีระดับความเคออร์ดิค สูง     ประเทศที่มีระดับการพัฒนาต่ำ มีระดับความ เคออร์ดิค ต่ำ     คิดอย่างนี้แล้วเกิดความท้าทายว่า ต่อไปไปน่าจะลองคิด chaordic index ขึ้นใช้      ผมเดาว่า ประเทศที่มี chaordic index สูงที่สุดน่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา     ดูจากการที่ผู้คนกล้า และมีอิสระ ที่จะแสดงข้อคิดเห็นของตนเอง โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ตรงกับของคนอื่น หรือของนโยบายประเทศ      และในขณะเดียวกัน ก็ยอมรับ และอดทน ต่อความเห็นหรือพฤติกรรมของคนอื่นที่แตกต่าง

การเรียนรู้เป็นหลัก ความรู้เป็นรอง
          ในตอนที่ ๓๙ นี้ เราจะพิจารณาวิธีการเอา ยุทธศาสตร์ เคออร์ดิค มาใช้ในการพัฒนาสังคมสมัยใหม่    ที่เรียกว่าสังคมที่มีความรู้เป็นฐาน หรือเศรษฐกิจสังคมฐานความรู้     เน้นที่บริบทของสังคมไทย

          ยุทธศาสตร์ เคออร์ดิค เป็นยุทธศาสตร์คนละแนวกับที่สังคมไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ควบคุมและสั่งการ (command and control)   และเครื่องมือของการควบคุมและสั่งการ ก็คือความรู้     ในยุทธศาสตร์ควบคุมและสั่งการ ผู้ควบคุมและสั่งการเป็นผู้ผูกขาดความรู้     ในยุทธศาสตร์ เคออร์ดิค ความรู้ต้องได้รับการปลดปล่อย ให้อิสรภาพ ให้กระจายไปทั่ว

          ความรู้มีธรรมชาติเป็นอำนาจ ควบคุมและสั่งการ     การเรียนรู้มีธรรมชาติปลดปล่อย ให้อิสระ    ยุทธศาสตร์ของการพัฒนาสังคม ให้เป็นเศรษฐกิจสังคมฐานความรู้ จึงต้องเน้นที่การเรียนรู้    

 

การเรียนรู้เป็นธรรมชาติของมนุษย์
          การเรียนรู้เป็นธรรมชาติของความเป็นมนุษย์     การไม่เรียนรู้ต่างหากที่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น (artificial) โดยจารีตประเพณี ข้อห้าม ข้อกำหนด ฯลฯ     ถ้าจะให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติจริงๆ จึงต้องจัดให้มีบรรยากาศของการเรียนรู้อย่างเป็นอิสระ
          เครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ที่ดีที่สุดตามหลักการ Learning Pyramid คือการสอนคนอื่น หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั่นเอง     เครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ที่ดีรองลงมา คือการลงมือทำ หรือปฏิบัติ     จะเห็นว่าเครื่องมือทั้งสองมีธรรมชาติที่เป็นอิสระ    ดังนั้นเครื่องมือที่ดีสำหรับการเรียนรู้อย่างเป็นอิสระ คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ หรือการจัดการความรู้ (KM – Knowledge Management) นั่นเอง
          การเรียนรู้แนวการจัดการความรู้ ที่คนในทุกภาคส่วนของสังคมเป็นผู้ลงมือดำเนินการ คือเครื่องมือขับเคลื่อนสังคม ไปสู่เศรษฐกิจสังคมฐานความรู้     

 

แตกต่างได้โดยไม่ขัดแย้ง ไม่ทะเลาะกัน
          สังคมทุกสังคมมีความซับซ้อนสูงด้วยกันทั้งสิ้น    แต่สังคมที่ใช้ยุทธศาสตร์ควบคุมและสั่งการ จะไม่คำนึงถึงความซับซ้อนนั้น  ไม่ให้คุณค่าและไม่เคารพความซับซ้อน     ในขณะที่ยุทธศาสตร์ เคออร์ดิค ใช้วิธีคิดที่ตรงกันข้าม คือหาทางใช้พลังของความซับซ้อน และแตกต่าง นั้น    เข้าทำนองแยกกันเดิน รวมกันตี    เพราะไม่ว่าสังคมจะซับซ้อนเพียงใด  แตกต่างกันเพียงใด  เป้าหมายสูงสุดของสมาชิกในสังคมคือการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
          หัวใจของยุทธศาสตร์ เคออร์ดิค ในระดับประเทศ คือใช้พลังของความแตกต่างหลากหลายในสังคม ให้เกิดการเสริมพลัง (synergy) กัน    ไม่ใช่ใช้ทำลายล้างกัน

 

อิสระที่จะต่าง   แต่ต้องเคารพผู้อื่นด้วย
          ความแตกต่างหลากหลาย จะมีคุณค่า ไม่เกิดผลร้าย ต่อเมื่อคนในสังคมรู้จักวิธีแตกต่างอย่างสร้างสรรค์    ไม่ใช่แตกต่างอย่างทำลายล้าง    จะเป็นเช่นนี้ได้ ผู้คนต้องรู้สึกมีอิสระที่จะแตกต่าง     และในขณะเดียวกันก็เคารพผู้อื่นที่เขาแตกต่าง และเคารพความแตกต่างนั้นด้วย
          วัฒนธรรมกล้าแตกต่าง และเคารพความแตกต่าง อ่อนแอในสังคมไทย    แต่สร้างได้ ฝึกได้     วิธีฝึกคือกระบวนการจัดการความรู้    ซึ่งเป็นการฝึกในระดับบุคคลและระดับกลุ่มเล็กๆ

 

เปิดเวทีหลายเวทีที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามเป้าหมายเดียวกัน แต่ใช้ยุทธศาสตร์หรือวิธีการต่างกัน
          การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด สำหรับ “ประเทศ เคออร์ดิค” หรือ “สังคม เคออร์ดิค” ก็คือการเรียนรู้คุณค่าของความแตกต่างหลากหลาย    เรียนรู้ที่จะเคารพความแตกต่างหลากหลาย    โดยที่ความแตกต่างหลากหลายนั้นจะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้    ซึ่งในกรณีของประเทศหรือสังคม (และโลก) คือการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
          ดังนั้น “ประเทศ เคออร์ดิค” หรือ “สังคม เคออร์ดิค” จะต้องส่งเสริมให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่หลากหลาย    ที่นำเอาประสบการณ์จากการปฏิบัติในชีวิตหรือการงานของตนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และยกระดับความเข้าใจ ยกระดับทักษะปฏิบัติขึ้นไป เป็นวงจรไม่สิ้นสุด    แต่ละวงจะต้องเคารพวงอื่น และคอยหาช่องทางเรียนรู้จากวงอื่นด้วย    ยิ่งเป็นวงที่คิดต่างทำต่างยิ่งต้องหาทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพราะนั่นคือโอกาส “ผสมพันธุ์ทางความคิด” เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์     นำไปสู่การก่อกำเนิด (emergence) ของสิ่งใหม่ ในระดับ “ภพภูมิใหม่” (new order) 

มีชุดความรู้ที่แตกต่างหลากหลาย เป็นพลวัต
          สังคมมีความแตกต่างกันมาก ความรู้สำหรับใช้งานในแต่ละเรื่องจึงต้องมีหลายชุด ให้เหมาะสมต่อการใช้งานของผู้ใช้     และในหลักการจัดการความรู้ แต่ละคนจะต้องมีชุดความรู้สำหรับการใช้งานของตนเอง     ย้ำคำว่า “แต่ละคน”    ซึ่งหมายความว่า ในการลงมือปฏิบัติเรื่องใดก็ตาม มนุษย์แต่ละคนต่างก็สร้างชุดความรู้ของตนเองขึ้นใช้งาน    และชุดความรู้นั้นจะต้องพัฒนาขึ้นตลอดเวลา ภายใต้กระบวนการ “หมุนเกลียวความรู้”
          การมีความสามารถในการหมุนเกลียวความรู้ ผ่านการใช้ความรู้ สำคัญกว่าการมีความรู้     นี่คือหัวใจสำหรับเศรษฐกิจสังคมฐานความรู้     
          สังคม เคออร์ดิค ต้องมีกระบวนการส่งเสริมให้ตัวบุคคลแต่ละคนหมุนเกลียวความรู้ของตน ของกลุ่ม และขององค์กร     โดยหมุนด้วยตนเอง และทำร่วมกันเป็นกลุ่ม และข้ามกลุ่ม    ยิ่งข้ามกลุ่มที่วิธีคิด ความเชื่อ และประสบการณ์แตกต่าง สังคมจะยิ่งแข็งแรง    เพราะสังคมจะยิ่งมีชุดความรู้ที่แตกต่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น    และผู้คนจะมั่นใจตนเอง ไปพร้อมๆ กับเคารพเห็นคุณค่าผู้อื่น    โดยเฉพาะเห็นคุณค่าของความแตกต่าง

 

หวังผลสร้างสรรค์แบบ self-organized  สู่ new order
          สังคม เคออร์ดิค ไม่ได้หวังผลสร้างสรรค์แบบ เอาความสามารถของสมาชิกในสังคมมาบวกกัน     แต่เป็นการนำมายกกำลังกัน    เพื่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์ไปสู่ “ภพภูมิใหม่” (new order)     ไม่ใช่ไปสู่การปะผุสังคม  ซึ่งรังแต่จะทำให้สังคมหมักหมมไปด้วยปัญหาอันเกิดจากการที่สังคมไม่ยกระดับกระบวนทัศน์ หรืออยู่ผิด order ในโลกยุคใหม่
          การเข้าสู่ “ภพภูมิใหม่” ของสังคม ไม่สามารถเดินตามๆ กันไป    อย่างที่สังคมอื่นประเทศอื่นทำ     ภพภูมิใหม่ของใครก็ของมัน     ไม่สามารถลอกเลียนกันได้     และตามความเชื่อของผม ไม่สามารถทำให้เกิดได้    เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่เกิดเอง (self-organized)    เป็นสิ่งที่ไม่สามารถสร้างขึ้นได้เหมือนสร้างบ้าน แต่เอื้ออำนวยให้เกิดได้

 

สรุป
          การนำหลักการและวิธีการ เคออร์ดิค มาใช้ในระดับสังคม เป็นสิ่งท้าทาย    และเป็นโอกาสเดียวสำหรับโลกยุคปัจจุบัน    เพราะสังคม เคออร์ดิค คือสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง     เป็นสังคมแห่ง อิสรภาพ  ภราดรภาพ  และเสรีภาพอย่างแท้จริง     อุดมการณ์สูงสุดคือเคารพตนเอง และเคารพผู้อื่น     สมาชิกของสังคม เคออร์ดิค มีอิสรภาพและไม่มีอิสรภาพอยู่ในขณะเดียวกัน

                   

 

หมายเลขบันทึก: 209728เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2008 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

ตอนนี้สังคมไทยเราไม่ได้ใช้ "แตกต่างได้โดยไม่ขัดแย้ง ไม่ทะเลาะกัน" ใช่ไหมค่ะ ตอนนี้สลับขั้วยังไงไม่รู้

:)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท