KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๕๗๓. การจัดการความรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทย


 

          วันที่ ๒๔ ก.ย. ๕๑ ผมจะไปพูดเรื่อง “การจัดการความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย” ในการประชุม “สร้างความรู้ สานความร่วมมือ...สู่ดุลยภาพการพัฒนาเมืองนคร”   ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช   งานนี้ผมขาดไม่ได้ เพราะเป็นงานแซยิดท่าน “ผู้ว่าฯ นักจัดการความรู้” วิชม ทองสงค์ ไปในตัว   และเป็นการไปช่วยกันตอกย้ำแนวทาง “ชุมชนอินทรีย์ ชุมชนแห่งการเรียนรู้” ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วย


          ที่จริงผมทำงานเป็น ผอ. สคส. มา ๕ ปี (๒๕๔๖ – ๒๕๕๑) ก็ด้วยวัตถุประสงค์ตามหัวข้อที่จะพูดนี่แหละ -- ส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทย   เปลี่ยนไปสู่สังคมอุดมปัญญา   ที่มีการสร้างและใช้ปัญญาในทุกหย่อมหญ้า ทุกซอกทุกมุม ทุกอณู ของสังคมไทย   หรืออาจเรียกว่าสังคมอินทรีย์ ก็ได้
 
          ในเวลา ๓๐ นาที ผมเตรียมไปเสนอว่า การจัดการความรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทย   ใช้หลักสิบประการ (บัญญัติ ๑๐ ประการ)  ได้แก่

 

๑. เปลี่ยนแปลงบทบาทราชการ/ข้าราชการ เป็น “คุณอำนวย”   เปลี่ยนแปลงชาวบ้านเป็นนักวิจัย หรือเป็นนักจัดการความรู้    ชาวบ้านเปลี่ยนจากคนโง่เป็นผู้รู้


๒. เปลี่ยนแปลงชีวิตจากยึดถือหรือยึดมั่นความรู้ทฤษฎี เป็นยึดมั่นความรู้ปฏิบัติ    ใช้ความรู้ทฤษฎีเป็นตัวเสริม หรือใช้อธิบายผลจากการลงมือปฏิบัติ   จึงเป็นการเปลี่ยนจากเน้นเรียนจากตำรา สู่เน้นเรียนจากการลงมือทำ   โดยไม่ปฏิเสธความรู้จากตำราหรือนักวิชาการ   แต่ไม่ยอมให้ความรู้จากตำราหรือนักวิชาการเป็นตัวครอบงำ   หรืออาจกล่าวว่า เปลี่ยนจากเล่น (ใช้) ความรู้มือสอง เป็นเล่นความรู้มือหนึ่ง


๓. เปลี่ยนแปลงจากรู้แล้วเก็บไว้ เป็นรู้แล้วแลกเปลี่ยน (Knowledge Sharing)   เน้นการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) ความรู้ปฏิบัติ   เสริมด้วยการ ลปรร. การตีความด้วยความรู้ทฤษฎี   เปลี่ยนจากอมภูมิเป็นแสดงภูมิด้วยความถ่อมตน ด้วยความอยากเรียนรู้จากเพื่อน   และเคารพเห็นคุณค่าของความรู้ในตัวเพื่อนร่วมงาน หรือร่วมชุมชน   รวมทั้งมีความมั่นใจที่จะแลกเปลี่ยนความรู้จากประสบการณ์ของตน


๔. เปลี่ยนแปลงจากเรียนรู้อยู่กับตน หรือเรียนคนเดียว เป็นเรียนรู้เป็นทีม (Team Learning) หรือเป็นกลุ่ม   เน้นการตั้งกลุ่มเรียนรู้   เน้น ลปรร. ความรู้จากประสบการณ์ หรือจากการลงมือปฏิบัติ   เปลี่ยนจากการเรียนรู้ที่น่าเบื่อ เป็นการเรียนรู้ที่สนุกสนาน


๕. เปลี่ยนจากเน้นสร้างความรู้จากยอด (หัวหน้า)   เป็นเน้นสร้างความรู้จากฐาน (ผู้ปฏิบัติงาน)   เนื่องจากฐานมีขนาดใหญ่กว่า ความรู้ที่สร้างที่ฐานแม้จะเป็นความรู้สะเก็ดเล็กๆ แต่เมื่อรวมกันและต่อยอดกันก็จะกลายเป็นความรู้ที่ยิ่งใหญ่   หัวหน้าทำหน้าที่ “นำจากข้างหลัง” เพื่อสนับสนุนการสร้างความรู้จากฐาน


๖. เปลี่ยนจากการสร้าง/ผู้สร้าง กับการใช้/ผู้ใช้ ความรู้อยู่แยกกัน   เป็นกระบวนการสร้างและใช้ความรู้เป็นกระบวนการเดียวกัน   สร้างและใช้โดยคนคน/กลุ่ม เดียวกัน   ความถูก-ผิด ของความรู้พิสูจน์ ณ จุดใช้งาน   พิสูจน์จากการใช้งานแล้วเกิดผลดี

 
๗. เปลี่ยนจากสร้างใหม่อยู่เรื่อยไป   เป็นสร้างต่อยอดความรู้เดิม   ที่อยู่ในความสำเร็จเล็กๆ ที่มีอยู่ดาดดื่น   ดำเนินการเสาะหา Best Practice เหล่านั้นมาปรับใช้   และสร้าง Best Practice ใหม่ขึ้นมาต่อยอดเป็นวงจรไม่รู้จบ


๘. เปลี่ยนความคิด/ความเชื่อเกี่ยวกับ “โครงสร้างพื้นฐาน” (Infrastructure) ของการพัฒนาที่ยั่งยืน   จากเน้นวัตถุ หรือโครงสร้างทางกายภาพ   ไปสู่โครงสร้างทางปัญญา คือการเรียนรู้ของคนในสังคม/ชุมชน   อปท. เปลี่ยนจุดเน้นการทำงานสู่การสนับสนุน (facilitate) การเรียนรู้ของคนในพื้นที่   โดยเน้นการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์   อปท. ลงทุนจ้าง “คุณอำนวย” ท้องถิ่น   หรือพี่เลี้ยงนักวิจัยท้องถิ่น


๙. เปลี่ยนแนวทางพัฒนาชุมชน จาก Training หรือถ่ายทอดความรู้   เป็น Learning หรือเรียนรู้จากการทำงาน    เรียนรู้โดยการสร้างหรือต่อยอดความรู้ขึ้นใช้งาน 

 
๑๐. เปลี่ยนจากมองชุมชนเป็นอนินทรีย์ หรือไม่มีชีวิต   เป็นคล้ายชุมชนมีชีวิต (อินทรีย์)   เป็นชุมชนเรียนรู้ (Learning Community)   เป็นชุมชนที่ซับซ้อนและปรับตัว (Complex – Adaptive Community)   มีการเปลี่ยน แปลงและปรับตัวร่วมไปกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่น เดียวกัน 
 
 

          ที่จริงที่ผมนำเสนอนั้น ไม่มีอะไรใหม่   หลักการเหล่านี้มีอยู่ในเอกสาร “ชุมชนอินทรีย์ ชุมชนแห่งการเรียนรู้” ของจังหวัดนครศรีธรรมราชนั่นเอง    ผมได้เอาหน้าปกมาลงไว้ให้ดู   ถ้าทางจังหวัดเอาข้อความทั้งหมดในเอกสารขึ้นเว็บไซต์ ก็จะยอดเยี่ยมมาก  

 

วิจารณ์ พานิช
๘ ก.ย. ๕๑

 

หมายเลขบันทึก: 209843เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2008 08:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน พระอาจารย์

  • เข้ามาอ่านบันทึกของท่านคราใด ก็หอบความรู้กับไปคิดและต่อยอดทุกทีไป
  • กราบขอบพระคุณครับ 

คมคิดคมเขียน เข้าใจง่าย ปฏิบัติได้จริง แลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นคำง่ายๆแต่มีความหมายลึกซึ่ง อ่านบทความของท่านเขียนแล้ว น่าจะทำให้สังคมไทยดีขึ้นแต่ก็ยังสงสัยทำไมประเทศไทยถึงยังวุ่นวายเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวประโยชน์ส่วนรวมหายไปใหน วัฒนธรรมดีๆเมื่อก่อน มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันตั้งแต่การใช้แรงงานที่เรียกว่าลงแขก ปัจจุบันนี้ทุกสิ่งทุกอย่างต้องซื้อหามาด้วยเงิน แก่งแย่งแข่งขันจึงยากที่จะให้ทำให้สังคมกลับมาเหมือนเดิมได้ เพราะทุกอย่างมีต้นทุน คนจึงไม่ค่อยจะยอมแบ่งปัน แม้แต่ความรู้ก็ต้องลงทุนซื้อหามา พอได้ก็เลยยากที่จะแบ่งปันให้กันฟรีๆ สิ่งเหล่านี้จะต้องรื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมเก่า เมื่อก่อนขึ้นรถเมล์ก็จะมีคนเอื้อเฟื้อแก่เด็ก สตรี และคนชรา ทุกวันนี้หาดูได้ยากยิ่ง แม้แต่การโฆษณาบางอย่าง ก็ทำให้คนเข้าใจผิดเห็นผิดเป็นถูกเห็นถูกเป็นผิด เพลงก็เช่นกันมองไปที่ใหนก็มีแต่จะทำให้ความดีงามในสังคมมันลดลง ได้อ่านบทความดีๆอย่างนี้แล้วค่อยชื่นใจหน่อยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท