KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 596. KM ที่ กฟผ.


 

ได้เล่าแล้วว่าผมจะไปบรรยายเรื่อง KM เป็นเครื่องมือให้ผู้บริหารได้อย่างไร ที่ กฟผ. บางกรวย   ในวันจริงน่าตื่นตาตื่นใจกว่าที่ผมคาด    งานนี้มีชื่อว่า งานการจัดการความรู้สายงานผลิตไฟฟ้าประจำปี ๒๕๕๑ : การจัดการความรู้..เครื่องมือของ ผู้บริหาร กฟผ. ยุคใหม่ 

สิ่งที่สร้างความประทับใจชิ้นแรก คือแผ่นพับที่แจกในการประชุม   เป็นกระดาษขนาด A4 แผ่นเดียวที่พิมพ์ 4 สีอย่างดี   ที่ผมประทับใจยิ่งกว่าความงดงามของการออกแบบและการพิมพ์ คือสาระในแผ่นพับที่สะท้อนการเตรียมการประชุมอย่างละเอียดประณีตและใช้ความรู้    คือรู้ว่าจะสื่อสารอะไรกับผู้มาร่วมการประชุม และสื่อสารอย่างไร

ต้องเห็นแผ่นพับเอง จึงจะเข้าใจคำชมของผม

เขาเลือกส่วนหนึ่งในหนังสือ การจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ ของผม คัดลอกมาลงอย่างเหมาะเจาะ   ผมจึงได้อ่านข้อเขียนของตนเอง    และรู้สึกว่า ผมเขียนได้อย่างละเอียดประณีตมาก...อย่างไม่น่าเชื่อ (...ฮา)

เมื่อได้เห็นบรรยากาศการจัดการประชุมที่ดี    ผมก็ถูกกระตุ้นให้บรรยายได้ดีขึ้น    และตอบคำถามได้มันอย่างไม่เคยทำได้มาก่อน    นี่คือช่วงของการบรรยายพิเศษ

ช่วงที่ 2 ชื่อว่า ช่วง Lead & Learn มีผู้บริหารระดับสูง คือระดับรองผู้ว่าการ และผู้ช่วยผู้ว่าการ 3 ท่านมาเล่าเรื่อง    โดยมีคุณชรินทร์ กาญจนรัตน์ กับผม ร่วมกันเป็น คุณอำนวย ของเวทีแลกเปลี่ยนเล่าเรื่อง   ถือเป็นความสำเร็จของทีม คุณอำนวย KM ของ กฟผ. ที่สามารถเชิญผู้บริหารระดับนี้มาขึ้นเวทีแบบนี้ได้    คือเป็นเวทีที่ไม่เป็นทางการ    แถมเมื่อเขาขอ (อย่างเกรงใจ) ให้ผมเป็นผู้ดำเนินรายการ    ผมตอบรับทันที   เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่า วิญญาณ KM คือวิญญาณไม่เป็นทางการ    เน้นสาระเหนือฟอร์ม    การที่ผู้ใหญ่เข้า คลุกวงใน ของการ ลปรร. ถือเป็นการ เหยาะยาชูกำลัง ให้ขบวนการ KM    และถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารการเปลี่ยนแปลง    เพื่อการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร   ให้มีวัฒนธรรมของความไม่เป็นทางการ วัฒนธรรมของการสื่อสารแนวราบ ความสัมพันธ์แนวระนาบ  ตีคู่กับวัฒนธรรมแบบเป็นทางการ

ช่วงที่ 3 ชื่อว่า ช่วง Show & Share เป็นตอนบ่าย    เสียดายที่ผมไม่ได้เข้า ร่วมฟัง    เพราะต้องไปงาน R2R ของศิริราช   แผ่นพับบรรยายไว้ว่า เชิญชมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลากหลายประสบการณ์ชั้นเลิศ จาก คุณกิจ หรือคนหน้างาน   เพื่อการเรียนรู้ลัด   ดำเนินรายการโดย คุณพินิจ นิลกัณหะ

 

ผม จับภาพ ได้จากช่วง Lead & Learn   ที่ผู้บริหารระดับสูงมากของ กฟผ. 3 ท่าน คือคุณสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ (รวฟ.)  คุณพิษณุ ทองวีระกุล (ชฟธ.)  และคุณสุรศักดิ์ ศุภวิฑิตพัฒนา (ชฟฟ. 2) มาคุยสบายๆ เรื่อง KM ของ กฟผ.   ว่าผู้บริหาร กฟผ. มี KV ที่ชัดเจนมาก   คือต้องการให้ กฟผ. มีความสามารถในการพึ่งตนเองด้านความรู้สำหรับใช้ในการดำเนินการในระดับแข่งขันในโลกได้   โดยตอนแรกผมก็ไม่เชื่อนะครับ   ผมถามตรงๆ และได้รับคำตอบชัดเจน ผมจึงเชื่อ    ทีมแกนนำ KM ของ กฟผ. อาจถ่ายทอดคำเสวนาตอนนี้ออกสู่กันก็น่าจะดีนะครับ    เพื่อตอกย้ำให้คน กฟผ. เข้าใจภาพใหญ่ของ KM กฟผ.   ว่าเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญต่อ competitiveness ของ กฟผ. จริงๆ    ผมจึงภูมิใจมาก ที่ KM แนว สคส. ได้เข้าไปเป็นเครื่องมือขององค์กรที่ยิ่งใหญ่ขนาด กฟผ.   และเป็นเครื่องมือบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับบ้านเมืองของเรา  

 

ประวัติด้านความรู้ของ กฟผ. ในช่วง ๔๐ ปี น่าสนใจ และน่าภาคภูมิใจมากนะครับ   คือเราเริ่มต้นแบบพึ่งพาต่างชาติเต็มที่   ซื้อโรงไฟฟ้ามาจากสหรัฐอเมริกา และจากญี่ปุ่นแบบ turn key   แล้วยังดูแลโรงไฟฟ้าเองไม่เป็นเสียอีก ต้องจ้างเขามาดูแลและสอนคนของเรา    จนเราดูแลเองได้   นี่คือช่วงของการรับถ่ายทอดความรู้ จากต่างประเทศ   เมื่อดำเนินการได้เอง ก็มีการสั่งสมประสบการณ์   และมีการ จัดการความรู้ แบบพี่สอนน้อง    สืบทอดประสบการณ์กันแบบรุ่นต่อรุ่น   หรือในภาษา KM ก็ว่า แบบ tacit สู่ tacit หรือ socialization ของวงจร SECI นั่นเอง

ยุคแรกของ KM กฟผ. จึงเป็น Socialization-Based KM

เมื่อกระแส KM เข้ามาในประเทศไทย    กฟผ. ก็เห็นได้ชัดเจน ว่า KM แบบพี่สอนน้องยังมีพลังไม่เพียงพอ   เพราะมันไม่นำไปสู่ ความรู้ขององค์กร (Organizational Knowledge)    ไม่เกิดการจารึกความรู้ในคนเข้าไปเป็นคลังความรู้ขององค์กร 

ในช่วงหลายปีก่อน กฟผ. ดำเนินการ KM เพื่อเก็บความรู้จากประสบการณ์   หรือความรู้ในคนเข้าเป็นคลังความรู้ขององค์กร   โดยใช้เครื่องมือ ICT ที่เรียกชื่อว่า Common KADS (Knowledge Acquisition Device System)   เท่ากับว่ายุคที่ 2 ของ KM กฟผ. เน้น ICT-Based KM    ซึ่งก็เห็นผลชัดเจนว่าไม่ได้ผล   หรือเสียเงินมาก ได้ผลน้อย  

พอทีม กฟผ. แม่เมาะหันมาทดลองใช้ People-Based KM หรือ Process-Based KM หรือ Success Story – Based KM ของ สคส. ก็เห็นทันทีว่า พบเครื่องมือที่ต้องการแล้ว    เป็นเครื่องมือที่ไม่ต้องเสียเงินจ้างที่ปรึกษาเลย   ทำกันเองภายใน กฟผ. ได้   เป็นเครื่องมือที่ให้มากกว่าการจัดเก็บทำคลังความรู้ขององค์กร    แต่จะนำไปสู่ความเป็น Learning Organization

ผมตีความอย่างนี้ ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกต้องหรือไม่    ทีมของ กฟผ. กรุณาแก้ไขหรือเพิ่มเติมด้วยนะครับ  

 

ตอนรับประทานอาหารเที่ยง ผมได้เสนอให้จัด workshop ฝึก คุณอำนวยไว้เป็นทีมในทุกโรงไฟฟ้า    ซึ่งก็ตรงกับแผนที่ทีมแกนนำ KM ของ กฟผ. วางแผนไว้แล้ว  

นอกจากนั้น ผมได้เสนอให้ลองศึกษาเครื่องมือ ตารางแห่งอิสรภาพ    ว่าจะเอามาใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อน KM กฟผ. ได้อย่างไร

ท่าน รวฟ. สุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ต้องการให้เชื่อมโยงสู่ HRM    ผมจึงเสนอให้ทีมแกนนำ KM กับฝ่าย Human Resource Management ของ กฟผ. ร่วมกันตีความว่า  กิจกรรม KM ที่เกิดขึ้น มีส่วนทำให้เกิด Human Resource Development แบบที่เกิดการพัฒนาคนด้วย Learning   ซึ่งต่างจากแนวคิด พัฒนาคนด้วย Training   อย่างไรบ้าง    และจะออกแบบกิจกรรม KM เพื่อให้ได้ผล HRD อย่างไร

ผมเล่าเรื่องการไป จับภาพ KM ของการไฟฟ้าแม่เมาะที่นี่   และหมอนนท์เล่าไว้ที่นี่   อ่านจากทีมแกนนำ KM ของแม่เมาะ คือคุณพินิจ นิลกัณหะ ได้ที่นี่

 

ได้เห็น KM แนว สคส. ได้เข้าไปรับใช้ กฟผ. แล้ว คนแก่อย่างผมมีความสุขมากครับ

 

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ต.ค. ๕๑ 

 


1. ประธานคณะกรรมการ KM สายงานผลิตไฟฟ้า คุณนพพร พันแสงดาว กล่าวรายงาน

 2. รองผู้ว่าการสายงานผลิตไฟฟ้า คุณสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ กล่าวเปิด

3. บรรยากาศในห้องประชุม

4. วิทยากรช่วง Lead & Learn จากซ้ายไปขวา

คุณชนินทร์ คุณสุรศักดิ์ คุณสุทัศน์ คุณพิษณุ

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #511008#egat#km กฟผ.#กฟผ.
หมายเลขบันทึก: 218057เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2008 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะอาจารย์ มาหาความรู้เพิ่มเติมค่ะ

  • ขอบพระคุณครับ
  • ขออนุญาตนำไปสื่อต่อ เพื่อเผยแพร่ เรื่องดีๆที่ทำให้ท่านอาจารย์มีความสุขนี้ ให้ผู้คนได้รับรู้ เรียนรู้ให้กว้างออกไปอีกครับ

ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งต่อคำชื่นชมของอาจารย์ค่ะ และรู้สึกปลื้มใจที่งานนี้ ลูกศิษย์สามารถทำให้อาจารย์มีความสุขได้ขนาดนี้ สำหรับการบันทึกเสียงและวีดิโอ เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการให้ในวันงานยังไม่ส่งมาให้ค่ะ หากถึงมือเมื่อไหร่จะถอดความช่วง Lead&Learn ออกมาเผยแพร่ดังที่อาจารย์แนะนำ รวมถึงช่วงบรรยายพิเศษของอาจารย์ซึ่งมีผู้อยากได้เยอะมากเลยค่ะ

เมื่อวันที่ 17ตค.มีการประชุมสรุปผลการจัดงาน และทบทวนการทำงานโดยใช้เครื่องมือ AAR คุณนพพรได้ขอให้ถอดความจากการบันทึกเสียงช่วงที่อาจารย์กล่าวตอนจับภาพและให้ข้อคิดเห็นไว้ด้วย เพราะคุณนพพรให้ความสำคัญว่านั่นคือการบ้านที่คณะกรรมการฯจะต้องนำไปคิดนำไปทำค่ะ วันนี้อิ่งได้รับแจ้งจากพี่ชรินทร์ว่าอาจารย์เขียนบันทึกแล้ว ดีใจมากค่ะหลังจากคอยเปิดดูมาตลอด จึงขอส่งบันทึกฉบับนี้ของอาจารย์ไปให้คุณนพพรเลยนะคะ

ปล.หากดูรูปจะเห็นเพียงหอประชุมเดียวนะคะ แต่เหตุการณ์จริงคนแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนต้องเปิดหอประชุมติดกันเพิ่ม โดยเปิดให้ชมทางโทรทัศน์วงจรปิดค่ะ เท่านั้นยังไม่พอเพราะคนล้นอีกค่ะ ต้องเปิดให้นั่งชมโทรทัศน์ที่ห้องนิทรรศการอีกหนึ่งห้อง เอกสารประกอบการบรรยายและแผ่นพับถูกพิมพ์เพิ่มอย่างเร่งด่วน เพราะทำไว้ 400 ฉบับ (กลัวเหลือค่ะ)

ทีมแกนนำที่ช่วยกันคิดช่วยกันจัดงาน มีความสุขและอิ่มใจจนไม่ต้องทานข้าวกันเลยค่ะ

กราบเรียน ท่าน อ. หมอวิจารณ์

คุณศากุนและทีมงาน ได้ทำการถอดความ ช่วงการเสวนาเสร็จแล้ว ซึ่งผมได้นำมาเก็บไว้ใน gotoknow ที่(http://gotoknow.org/file/victor/Talking_kmForum51.doc) เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่หน่วยงานอื่นบ้างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท