ชีวิตที่พอเพียง : 628. ระบบสุขภาวะ มองระดับโลก (๑)


คำหลักมี ๒ คำ คือ Health Systems กับ Global Health   คือเป็นการมองสุขภาวะในเชิงระบบ และมองระดับโลก

 

วันที่ ๒๖ ต.. ๕๑ ผมลงจากเครื่องบิน บางกอก แอร์เวย์ส ที่สนามบินกองทัพอากาศดอนเมืองตอนบ่าย    พอค่ำก็ไปสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อขึ้นเครื่องบินการบิน ไทยไปมิลาน เพื่อนั่งรถต่อไป เบลลาจิโอ เพื่อร่วมประชุมเรื่อง เสริมพลังความสามารถ และภาวะผู้นำของระบบสุขภาพในประเทศยากจน (Strengthening Health Systems Capacity and Leadership in the Global South)   ระหว่างวันที่ ๒๗๓๑ ต.. ๕๑   จัดโดยมูลนิธิ ร็อกกี้เฟลเล่อร์ และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย 

 

ผมถามตัวเองว่าพลังในเรื่องระบบสุขภาวะ อยู่ที่ไหน    คำตอบของผม (ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด) อยู่ที่ทุกคนในสังคม   ระบบสุขภาวะของสังคมหนึ่งๆ อ่อนแอ เพราะคนในสังคมคิดว่าเป็นหน้าที่ของคนอื่นเป็นผู้ลงมือทำ    ตนเองเป็นผู้รับบริการหรือผู้บริโภค  

ผมตอบว่าภาวะผู้นำต้องไม่ใช่จำกัดอยู่ในคนที่เรียนและ/หรือ ทำงานด้านสาธารณสุข   ภาวะผู้นำต้องกระจายอยู่ในทุกอาชีพ ทุกสาขาวิชาการ    ระบบสุขภาวะจึงจะเข้มแข็ง

 

ระบบสุขภาวะก็เหมือนระบบอื่นๆ   จะดีได้ต้องมีความเข้มแข็งเอาจริงเอาจังของผู้คนในท้องถิ่น (localization) ช่วยกันทำระบบสุขภาวะที่ดี (Local Health Systems)  และในขณะเดียวกัน ประเทศหนึ่งๆ ก็ต้องมีขีดความสามารถในการเข้าไปร่วมจัดทำข้อตกลงต่างๆ ระหว่างประเทศ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะ (Global Health Systems) ให้เป็นคุณต่อประเทศตน

 

ไม่ว่าระบบอะไร ส่วนที่สำคัญที่สุด (และมักจะมองข้ามกันมากที่สุด) คือองค์ประกอบด้านการเรียนรู้ของระบบ (Systems Learning)    ซึ่งในกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุม ๒๕ คน ตอนแนะนำตัว มีคนเอ่ยเรื่องการเรียนรู้ของระบบ   ซึ่งผมก็มีคำถามกับตัวเองว่าเขาหมายถึงอะไร   เพราะผมคิดว่ามันมี ๒ ความหมาย   คือ

  1. การเรียนรู้ของตัวระบบ   มีองค์ประกอบด้านการเรียนรู้ ทำให้ระบบมีการเปลี่ยนแปลง หรือปรับตัว ได้โดยอัตโนมัติ
  2. การเรียนรู้ภายในระบบ   ที่มีอนุระบบ หรือส่วนย่อย สัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน   ตัวส่วนย่อยนั้นเอง มีการเรียนรู้และปรับตัว   เป็นการปรับตัวจากการมีปฏิสัมพันธ์กันเองภายในระบบ  และจากการมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกระบบ

 

ที่จริง เรื่อง global health หรือ international health เป็นส่วนหนึ่งของระบบโลก   ที่ประเทศต่างๆ ต้องมีความรู้และทักษะ ที่จะเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับประชาคมที่ป็นตัวแทนของแต่ละประเทศ   เข้าไปร่วมกันกำหนดกติกา กำหนดระบบโลก   เพราะจริงๆ แล้วระบบสุขภาพโลกไม่ได้เกิดขึ้นเอง   มันเป็นระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น   ใครสร้างคนนั้นก็สร้างเพื่อให้เหมาะกับตนเอง    ถ้าปล่อยให้ประเทศมหาอำนาจสร้าง (เช่น G8) เขาก็กำหนดเพื่อ ประโยชน์ของประเทศรวย   และจะเป็นระบบที่ก่อความไม่ราบรื่นของโลกในระยะยาว    เพราะระบบสุขภาพโลกไม่ได้อยู่ลอยๆ   มันเป็นอนุระบบของประชาคมโลก 

 

มูลนิธิ ร็อกกี้เฟลเล่อร์ ตั้งมาเกือบร้อยปี (เริ่ม ค.. ๑๙๑๓)   และได้ชื่อว่าเป็นองค์กรการกุศลระดับโลก   ที่มุ่งสร้างสุขภาวะของโลกผ่านระบบสุขภาพ   เขามีส่วนสร้างระบบการศึกษาและวิจัยด้านสาธารณสุขของโลก   โดยการให้ทุนตั้ง School of Public Health แยกออกมาจากโรงเรียนแพทย์   ทำให้เกิดวิชาชีพนักการสาธารณสุข   แต่ต่อมาเมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่แล้ว มูลนิธิ ร็อกกี้เฟลเล่อร์ เองก็เห็นว่า ระบบวิชาการสาธารณสุขที่เป็นอยู่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาสุขภาวะของโลกได้   เพราะวิชาชีพที่มีอิทธิพลต่อระบบคือแพทย์ที่ทำงานด้านคลินิก คือดูแลผู้ป่วย   เขาจึงคิดระบบวิชาด้าน Clinical Epidemiology (CE) ขึ้นมา   เกิด INCLEN (International Clinical Epidemiology Network) ชักชวนแพทย์ทางคลินิก เรียนวิชาที่เรียกว่า Clinical Epidemiology (CE)   ซึ่งมี ๓ โรงเรียนแพทย์ไทยอยู่ในเครือข่าย คือจุฬาฯ  ศิริราช  และขอนแก่น   และเวลานี้ ๓ โรงเรียนแพทย์ของไทยก็มีหลักสูตรร่วมกันอบรม CE ให้แก่แพทย์   วิชาการ CE ที่ มูลนิธิ ร็อกกี้เฟลเล่อร์ คิดสร้างและส่งเสริมให้แพร่ไปทั่วโลกได้ก่อคุณูปการต่อระบบสาธารณสุขโลกเป็นอันมาก

 

แต่ก็ยังมีปัญหาที่ท้าทายสุขภาวะของผู้คนในโลก ทั้งโรคอุบัติใหม่  โรคเรื้อรัง ที่เกิดจากลีลาชีวิตไม่เหมาะสม   และปัญหาระบบบริการสุขภาพไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียม และแพงเกินไป   ที่น่ากลัวคือค่าใช้จ่ายดานการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าการเพิ่มรายได้ประชาชาติ  

 

ในที่สุดโลกก็ได้เศรษฐีใหม่ คือ Bill Gates ที่ได้แรงบันดาลใจจากเศรษฐีเก่าที่ ล่วงลับไปนานแล้ว คือ John D Rockefeller   ก็ตั้งมูลนิธิ Bill and Melinda Gates ขึ้นมาทำงานการกุศลแก่โลก   โดยใช้คำหลักว่า Global Health   ระดมคนเก่งระดับรางวัลโนเบล และอัจฉริยะทั้งหลายมาร่วมกันกำหนดวิธีทำงาน   ได้ออกมาแบบ vertical, disease-oriented program เน้น เอดส์, วัณโรค, มาลาเรีย   ทำงานด้วยเงินที่มากกว่ามูลนิธิ ร็อกกี้เฟลเล่อร์ อย่างเทียบกันไม่ได้เลย

 

 มูลนิธิ ร็อกกี้เฟลเล่อร์ เห็นช่องโหว่ ของการสร้างเสริมสุขภาวะโลก ที่เน้น vertical program มากไป   จึงยึดคำ Health Systems เป็นแนวทางทำงาน   เสริมงานด้าน vertical ของ BMF   และในขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก ก็เน้นที่ Health Systems เช่นเดียวกัน

 

สรุปได้ว่า BMF ใช้คำ Global Health และ Grand Chalenges    ส่วน RF ใช้คำ Global Health และ Health Systems    มองมุมหนึ่งเขาทำงานแข่งขันกัน   แต่มองอีกมุมหนึ่งเป็นการทำงานเสริมกัน   และเขาจะติดต่อขอข้อมูลและประสานงานกัน  

 

คิดการใหญ่เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างนี้ผมชอบ   แต่พอไปฟังเขาคุยกันโดยใช้ฐานคิดแบบ Training Mode ผมนั่งค้านตลอดเวลาว่า    ใช้ยุทธศาสตร์ที่ผิดสำหรับประเทศแบบไทย   เพราะเราก็จะตกเป็นเมืองขึ้นทางวิชาการของโลกตะวันตกอยู่เรื่อยไป   เราต้องใช้ Learning Mode เพื่อปลดปล่อยอิสรภาพทางวิชาการของเรา

 

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ต.. ๕๑

ห้อง CA 4  ศูนย์ประชุม มูลนิธิ ร็อกกี้เฟลเล่อร์ เบลลาจิโอ

หมายเลขบันทึก: 222562เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2008 08:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 06:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • จริงด้วยครับ Learning Mode จะทำให้ การ คิด พูด ทำ เป็นไปอย่างอิสระ ไม่ต้องบูชาสิ่งที่คนอื่นเขาว่าดี โดยไม่มีปัญญาไตร่ตรองเอง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท