เคล็ดลับ “คุณอำนวย” (1)


        เมื่อวันที่ ๑๗ มค. ๔๙ ในการประชุมภาคีจัดการความรู้ในชุมชน คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้เสนอ “ความรู้จากประสบการณ์” เกี่ยวกับการทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ในชุมชน ไว้อย่างน่าสนใจมาก    จึงขอนำมาเผยแพร่บทบาทของคุณอำนวยในชุมชนซึ่งบางครั้งเป็นทั้งคุณกิจและคุณอำนวย สามารถแยกได้เป็น 3 ระยะคือ
         จัดการความรู้ก่อนทำ คุณอำนวยในชุมชน ต้องทราบข้อมูล ทบทวน หาความรู้ในเรื่องราวที่ตนเอง  จะทำการจัดการความรู้ รื้อฟื้นทุนเดิมของตนเองที่ผ่านการศึกษาอบรมพัฒนาศักยภาพมา วิเคราะห์ค้นหากลุ่มคนที่เป็นปัจจัยหลัก (แกนนำ) สร้างความสัมพันธ์ ชี้แจงทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายแห่งการเรียนรู้ และกลุ่ม เป้าหมายที่จะเป็นคุณเอื้อ  
         ตัวอย่างรูปธรรมกรณีนักจัดการความรู้ท้องถิ่น    วลีรัตน์ จำนงค์เวช ซึ่งทำโครงการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาครูศูนย์เด็กเล็กซึ่งในพื้นที่ตำบลจระเข้ร้องที่มีมากถึง 10 ศูนย์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบยังทำได้ไม่ดี  เป้าหมายที่สำคัญคือการพัฒนาครูศูนย์เด็กเล็ก พัฒนาการเรียนรู้ของพ่อแม่ พัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถจัดการความรู้เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการศึกษาได้
         ก่อนจะทำอะไรต้องรู้เขารู้เราก่อน คุณอำนวยจึงจำเป็นต้องเข้าไปศึกษาทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ    ชี้แจงกับเทศบาลตำบล จากนั้นเข้าไปพูดคุยสร้างความสัมพันธ์กับครูศูนย์เด็กเล็กแต่ละศูนย์ เป็นการค้นหาครู  ที่จะเป็นแกนนำร่วมทำงานได้ ทำให้ครูเห็นความสำคัญว่าเป็นการมาช่วยเสริมศักยภาพมิใช่การประเมิน          
         นอกจากเรื่องคนแล้ว ความรู้ความเข้าใจในงานก็มีความจำเป็น เช่น ความรู้เรื่องพัฒนาการเด็ก ความรู้เรื่องการเรียนการสอนศูนย์เด็กเล็กที่ดีควรเป็นอย่างไร ความรู้ก่อนทำเหล่านี้นอกจากได้จากศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่แล้ว สามารถหาได้จากหนังสือ สื่อ และการไปดูโรงเรียนที่จัดการศึกษาแก่เด็กเล็กได้ดี เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ตัวคุณอำนวยเอง ทำให้สามารถออกแบบการเรียนรู้แก่ครูศูนย์เด็กเล็กได้ดียิ่งขึ้น

         จัดการความรู้ระหว่างทำ คุณอำนวยในชุมชนต้องสร้างบรรยากาศให้ทุกคนที่ร่วมเส้นทางเดินมีความสุข มีความพอใจ รู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถมากขึ้น มีความเชื่อมั่นภูมิใจในตัวเอง คุณอำนวยในชุมชนต้องมีทักษะการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น พริ้วไหวไปกับสถานการณ์ ใช้วิธีการ เครื่องมือ และสื่อที่กระแทกใจ ใช้ง่าย และเหมาะกับวัฒนธรรมการเรียนรู้ของชาวบ้าน เช่น ใช้ความสามารถที่ครูแต่ละคนมีให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่น (เพื่อนช่วยเพื่อน) การมีเทคนิควิธีการใหม่ๆ ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูทุกครั้ง ที่สำคัญต้องสามารถจัดการความต่อเนื่องได้ (พาเรียนรู้ครั้งนี้แล้ว ครั้งต่อไปควรทำอะไร) การกำหนดบทบาทหน้าที่และประเด็นการเรียนรู้ในแต่ละครั้งให้ชัดเจน เช่น ทำอย่างไรให้การศึกษาดูงานแต่ละครั้งแตกต่างกัน ครูคนไหนขาดเรื่องไหนและจะได้สิ่งที่ต้องการจากส่วนไหนจากใครในการไปดูงาน  นอกจากเรื่องเนื้อหาการเรียนรู้เหล่านี้แล้วยังมีเรื่องการจัดการอยู่ (ที่พัก) การกิน (อาหาร) จัดการความสัมพันธ์ของคณะขณะเรียนรู้ร่วมกัน จัดการเงื่อนไขปัจจัยของแต่ละคนซึ่งแตกต่างกัน (เช่น ว่างไม่ตรงกัน) และสุดท้ายการสังเกตประเมินการเรียนรู้ของแต่ละคน

         จัดการความรู้หลังทำ มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะความรู้ ความประทับใจที่ได้จะหายไปหากไม่มีการจัดการต่อ ตัวอย่างนักจัดการความรู้     ปราณีต นาคะเสโน หลังจากพาชาวบ้านไปดูงานพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่จังหวัดน่านแล้ว ตอนแรกคิดว่าจะถอดความรู้ (After Action Review) หลังจากกลับมาถึงกรุงเทพฯ แต่พอพิจารณาแล้วคงเป็นไปได้ยาก จึงชวนคุยถอดความรู้ในรถระหว่างเดินทางเสียเลย เนื่องจากไฟฉันทะและแรงบันดาลใจที่ถูกจุดขึ้นระหว่างดูงานยังคงอยู่  นักจัดการความรู้จึงรีบปิดการขายทันทีว่าหลังจากได้อะไรไปแล้วนี้ แต่ละคนอยากจะไปทำอะไรต่อ เมื่อกลับถึงบ้านมีกลุ่มหนึ่งรีบดำเนินการเก็บข้อมูลทันที คนอื่นๆ ก็จะรีบลงมือในส่วนที่ตนทำได้ เช่น ปรับปรุงอาคารเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ ทำข้อมูลโบราณวัตถุที่มีอยู่ เป็นต้น เป็นการเช็คบิลหน้างานที่ได้ผล

       หลังจากจัดการหลังดูงานได้แล้ว ก็วางแผนงานและเสริมการเรียนรู้ของแต่ละคนแต่ละกลุ่มที่มีงานที่ตัวเองต้องรับผิดชอบต่ออีก เช่น ประสานเชื่อมโยงวิทยากรจากสถาบันการศึกษามาพัฒนาต่อยอด

         นอกจากนี้คุณอำนวยยังต้องทำหน้าเป็นคุณสังเกตและคุณบันทึก คอยเก็บร้อยเรียงเรื่องราวการเรียนรู้เป็นคลังความรู้ เป็นข้อมูลเพื่อจัดการต่อ เรียกได้ว่าคุณอำนวยในชุมชนแท้จริงแล้วต้องทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ประสานงาน สันทนาการ วิชาการ เลขานุการ เหรัญญิก

วิจารณ์ พานิช
๓ เมย. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #คุณอำนวย#km#ชุมชน
หมายเลขบันทึก: 22338เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2006 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท