ชีวิตที่พอเพียง : 637. เที่ยวคุนหมิง (๑)


มีคนวิจารณ์ว่า ชีวิตที่พอเพียงของผมชักจะไฮโซขึ้นทุกที   ซึ่งก็ทั้งจริงและไม่จริง    จริงตรงที่ยามชราเราพอจะมีกินไม่เดือดร้อน   ไม่จริงตรงที่เราไม่ฟุ่มเฟือย   ใช้จ่ายอย่างประหยัดเสมอ

 

คณะสี่สหายตกลงกันว่าจะพาภรรยาไปเที่ยวคุนหมิงด้วยกัน   นัดวันกันเรียนร้อย เอาเข้าจริงของดไป ๒ คู่ เหลือเพียง ๒ คู่ คือ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ คุณจรรยา นาถสุภา  กับหมออมรา ผม    ไปเที่ยวระหว่างวันที่ ๖ ๑๐ พ.ย. ๕๑   เราถือว่าไปพักผ่อนและเรียนรู้    อ. ฉัตรทิพย์ไปเยี่ยมเพื่อนเก่า คือ ศ. เจีย เยน จอง  หรือ ยรรยง จิระนคร   และเจ้าผู้ครองนครสิบสองปันนาคนสุดท้าย ชื่อ เจ้าหม่อมคำลือ   

 

วันที่ ๔ พ.ย. ๕๑ พบกันในการประชุมเขียนประวิติศาสตร์ความรู้ไทย ที่ สกว.   ศ. ฉัตรทิพย์ เอาเอกสาร และแผนที่ของคุนหมิงมาฝาก รวมทั้งหนังสือประวัติศาสตร์ยูนนานสมัยใหม่ แปลโดย อุษา โลหะจรูญ ด้วย    ผมมัวยุ่งกับการเดินทางไปเบลลาจิโอ และงานอื่นๆ จนไม่มีเวลาเตรียมตัวศึกษาข้อมูลไว้ก่อน  

 

คืนวันที่ ๕ พ.ย. เข้า Google แลdownload เรื่องคุนหมิงจาก วิกิพีเดีย เก็บไว้อ่านระหว่างเดินทาง    มีรายละเอียดดีมาก   ส่วนหมออมราก็ download แผนที่และข้อมูล นำเที่ยวเอาไว้ศึกษา   เราจะเอา Notebook ไปด้วย   คราวนี้ผมกะไปถ่ายรูปเต็มที่ จึงเอากล้อง Canon 30D ไป   ยอมแบกกล้องหนักหน่อย   ซึ่งเอาเข้าจริงก็มีประโยชน์ไม่มาก   ดีตรงถ่ายรัวได้ จึงถ่ายรูปฝูงนกนางนวลได้สวยงามมาก

 

คุนหมิงเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรน่านเจ้า ระหว่าง พ.ศ. ๑๓๐๘ ๑๗๙๖ (เมืองหลวงอยู่ที่ต้าลี่ ห่างออกไปทางตะวันตก ๔๐๐ ก.ม.) ที่เราเคยเข้าใจว่าเป็นอาณาจักรไทยโบราณ   เวลานี้คุนหมิงได้ชื่อว่า นครแห่งคิมหันตฤดู คือเป็นฤดูใบไม้ผลิตลอดกาล   อุณหภูมิเย็นสบาย    แต่ตอนที่เราไปค่อนข้างหนาว อุณหภูมิเฉลี่ย ๑๕ องศาเซลเซียส   เป็นเมืองบนที่ราบสูง พื้นดินสูงกว่าระดับน้ำทะเลเกือบ ๒ ก.ม.   คนที่ปอดหรือหัวใจไม่ดี อาจมีปัญหาสุขภาพ เพราะอากาศบางกว่าบ้านเรา    แต่ไม่อันตรายมากเทาทิเบต

 

ความสำคัญของคุนหมิง อยู่ที่การเป็นชุมทางไปสู่พม่าและเวียดนาม   เป็นอย่างนี้ตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน   สมัยโบราณ คุนหมิงเป็นชุมทางของทางสายไหมเส้นใต้   มีทะเลสาบเตียน เป็นทะเลสาบใหญ่อันดับ ๖ ของจีน

 

ที่จริงผมเคยไปคุนหมิง ๒ ครั้ง   ครั้งแรกไปกับคณะ วปอ. ปี ๒๕๓๖   นั่งเครื่องบิน   C – 130 ของกองทัพอากาศไป   ครั้งที่ ๒ ก็ไปกับคณะ แต่จำไม่ได้ว่าคณะไหน   ความจำของผมมันแย่ถึงขนาดนี้    จำได้ว่าครั้งแรกเขาพาไปเที่ยวป่าหิน (ห่างเมือง ๙๐ ก.ม.) กับวัดบนเขาที่มีพระพุทธรูป ๓ องค์   องค์หนึ่งคือพระไภษัชย์คุรุ    จำได้ว่าหน้าโรงแรมเป็นร้านค้าชั้นเดียว   ตกกลางคืนมีโสเภณีสาวๆ เดินหาลูกค้ากันเกลื่อน   

 

 

๖ พ.ย. ๕๑

 

เราออกจากบ้าน ๙.๐๐ น.   ขึ้นแท้กซี่ไปสนามบินสุวรรณภูมิ   โชเฟอร์เป็นชาว อ. วังทอง  จ. พิษณุโลก คุยสนุก   คุยกันเรื่องชีวิตบ้านนอกกันอย่างถูกคอจนถึงสนามบินไม่รู้ตัว   

เมื่อ check – in เสร็จ เราไปแลกเงินหยวน   ผมลังเลว่าจะแลกไป ๕,๐๐๐ หรือ ๑๐,๐๐๐ บาทดี   พอไปเห็นอัตราแลกเปลี่ยนแล้วก็ตัดสินใจง่าย    เพราะใช้เงินบาทแลกเงินหยวน อัตรา ๕.๖๔ บาทต่อหยวน   แต่แลกเงินหยวนกลับมาเป็นเงินบาท ได้หยวนละเพียง ๔.๑๔ บาท ต่างกันเกือบ ๒๗%   ผมถามเจ้าหน้าที่ว่าทำไมมันต่างกันมหาโหด เช่นนั้น   เขาตอบว่าทางการจีนกำหนดมา    ผมแลกมา ๕,๐๗๖ บาท ได้ ๙๐๐ หยวน

 

ที่จริงที่บ้านผมมี adapter ปลั๊กไฟสำหรับเดินทาง    แต่หาไม่พบ จึงต้องไปซื้อ ใหม่ที่สนามบิน   เป็นชนิดใช้ได้ทั่วโลก ราคา ๑,๑๙๐ บาท (แต่พอไปถึงโรงแรมไม่จำเป็นต้องมีมา เพราะเขามีให้แล้ว  และมีปลั๊กไฟชนิดใช้กับของบ้านเราได้เลย)    เรามีเวลาไปนั่งพักผ่อนที่สนามบินถึง ๒ ชม.   หมออมราเป็นคนชอบออกเดินทางก่อนเวลามากๆ    ผมจึงใช้เป็นเวลาพักผ่อนเสียเลย   เครื่องบินไปลงที่เชียงใหม่ก่อนจะต่อไปคุนหมิง    ระหว่างเดินในสนามบินผมสังเกตเห็นจอ LCD บอกเวลาเครื่องบินออก เสียถึง ๒ จอ   แถมยังติดป้า Out of Order ไว้ด้วย    แสดงว่าเมื่อเสีย แทนที่จะซ่อม ก็ปล่อยให้มันคาไว้อย่างนั้น   สงสัยว่าคงจะรอให้เสียจนหมดก่อนจึงซ่อม    ไม่ทราบว่าผู้ใหญ่ของการท่าอากาศยานแห่ง ประเทศไทยรู้สึกละอายไหม   ผมถ่ายรูปมาให้ดูด้วย   ถือโอกาสทำหน้าที่พลเมืองดีช่วยเป็นนายตรวจสนามบินเสียเลย

 

TG 616 ผู้โดยสารเกือบเต็มลำ   แต่ผู้โดยสารส่วนใหญ่ลงที่เชียงใหม่    ตอนบินจากเชียงใหม่ไปคุนหมิงมีผู้โดยสารไม่ถึงครึ่งลำ    เขาให้ผู้โดยสารลงไปพักที่สนามบินเชียงใหม่ ทำให้ได้เห็นความงามของห้องรอขึ้นเครื่องไปต่างประเทศของสนามบินเชียงใหม่ว่าตกแต่งสวยงาม   ดอกกล้วยไม้ฟาเล็นนอพสิสงามมาก  เครื่องบินบินเพียง ๗๕ นาทีก็ถึงคุนหมิง   ลักษณะเป็นเมืองในหุบเขา    มองจากเครื่องบินเห็นภูเขาเต็มไปหมด

 

การตรวจลงตราหนังสือเดินทางรวดเร็วใช้ได้   กระเป๋าก็มาไม่ช้า    อ. เจีย เอารถตู้ขนาด ๘ ที่นั่งของสำนักพิมพ์ แม่น้ำโขงมารับ   พาไปโรงแรม Green Lake ซึ่งอยู่ห่างประมาณ ๒๐ ก.ม.   แต่รถติดมากเพราะเป็น rush hour   ใช้เวลาประมาณ ๑ ช.ม.    ถนนมีทั้งรถยนต์ จักรยานยนต์ และจักรยาน   อาคารร้านค้าเป็นสมัยใหม่หมด   โรงแรมของเราอยู่นอกเมืองออกมาหน่อย นอกบริเวณย่านการค้า   ที่ดีคืออยู่ติด สวนลุม คือ Green Lake Park   ระหว่างนั่งรถ อ. เจียกับ อ. ฉัตรทิพย์คุยกันอย่างสนิทสนม   อ. ฉัตรทิพย์มีงานมาติดต่อหลายอย่าง เช่น ศ. ดร. ยศ สันตสมบัติ ฝากมาหานักวิจัยร่วมที่คุนหมิงเพื่อทำโครงการวิจัยให้ สกว.   

 

ศ. ฉัตรทิพย์ เอาหนังสือ ประวัติศาสตร์สิบสองปันนา โดย ยรรยง จิระนคร และรัตนาพร เศรษฐกุล ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ ซึ่งเพิ่งออกจากโรงพิมพ์เมื่อวาน มาฝาก อ. เจีย ๑๐ เล่ม และให้ผม ๑ เล่ม   หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกปี ๒๕๔๔  มีคำนำเขียนโดยผมในฐานะผู้อำนวยการ สกว.

 

อ. เจีย เอานิตยสาร แม่น้ำโขง ซึ่งทางการจีนจัดพิมพ์เพื่อสานสัมพันธ์กับไทย   จีนพิมพ์นิตยสารในชื่อต่างๆ ในภาษาของประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ เพื่อสร้างสัมพันธ์   นิตยสารแบบนี้ที่มีสำนักงานอยู่ในคุนหมิงมีถึง ๑๑ นิตยสาร  

 

อ. เจีย ถ่ายบทความจาก นสพ. คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ ๑๒ ก.ย. ๕๑ คอลัมน์ ชุมชนคนท้องถิ่น เขียนโดย เรือนอินทร์ หน้าพระลาน  เรื่อง ขุนนิพัทธจีนนคร ต้นแบบที่ผู้ว่า กทม. ควรจะเป็น   กล่าวถึงขุนนิพัทธจีนนครดังนี้ ขุนนิพัทธจีนนคร (เจียกีซี) ต้นตระกูล จิระนคร เกิดที่มณฑลกวางตุ้ง   อพยพเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘   และต่อมาได้ย้ายลงมาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอหาดใหญ่   เมื่อก่อร่างสร้างฐานะในหาดใหญ่จนมีที่ดินและทรัพย์มากพอแล้ว   ยังเผื่อแผ่ให้บ้านเมืองเพื่อประโยชน์ในภายภาคหน้า   โดยอุทิศที่ดินเพื่อสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์ต่างๆ ในการจัดวางผังเมืองเริ่มแรก   ได้แก่ โรงเรียน สุสานเมืองหาดใหญ่ บ้านสถานสงเคราะห์คนชราหาดใหญ่ โรงพยาบาลหาดใหญ่ สนามกีฬาจิระนคร   และยังได้ตัดถนนในเมืองหาดใหญ่อีกหลายสายอย่างเป็นระเบียบ เช่น ถนนนิพัทธ์อุทิศ ๑   ถนนธรรมนูญวิถี  ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ ๑    ถนนในซอยนิพัทธ์สงเคราะห์ รวม ๒๔ สาย   และถนนจิระนคร …”   อ. เจียบอกว่าบทความนี้ ดร. เตช บุนนาค ถ่ายเอามาฝาก

เราเดินไปกินอาหารเย็นที่ภัตตาคาร He Feng Suan อยู่ใกล้ๆ   ออกจากโรงแรมเลี้ยวซ้าย เดินไปไม่ถึง ๕ นาที   เป็นภัตตาคารที่ อ. ฉัตรทิพย์ชอบ   ระหว่างเดินมีหญิงชรามาขอทานและคุณจรรยาต้องค้นหาเงินปลีกให้ไป  (วันหลังถ้าผ่านทางนี้หญิงชราผู้นี้จะมาขอทานเป็นประจำ)   อ. เจีย เป็นผู้สั่งอาหาร เลือกชนิดที่เป็น อาหารเชิงวัฒนธรรม อร่อยๆ ทั้งนั้น   ได้แก่ ฟักทองเห็ดหูหนูขาวนึ่ง  ยำขนมจีน  แกงวุ้นแป้งถั่วลันเตา   ผัดผักเห็ดตับเต่า  กระดูกหมูเปรี้ยวหวานเซี่ยงไฮ้   ขนมได้แก่แป้งฟักทองทอด กับข้าวแค้ว (ข้าวไร่) นึ่ง จิ้มน้ำผึ้ง   

อาหารที่เรากินเป็นของไม่แพง   อ. เจียบอกว่าพนักงานชอบชวนให้สั่งปูปลาของแพง

ระหว่างกินอาหาร อ. เจีย เล่ากุศโลบายของรัฐบาลจีน ในการผูกใจ ให้เกียรติ ชนกลุ่มน้อย   ให้โอกาสแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง เพื่ออยู่ร่วมกันเป็นประเทศใหญ่   น่าสนใจมาก   ท่านบอกว่า ถ้ารัฐบาลไทยใช้ท่าทีเช่นนี้กับปัตตานีมาตั้งแต่ต้น จะไม่เกิดกรณี ๓ จังหวัดภาคใต้ในปัจจุบัน

 

เรากลับมานั่งคุยที่ ล็อบบี้โรงแรมซึ่งใหญ่โตสวยงาม    จน ๔ ทุ่ม (๓ ทุ่มบ้านเรา) ก็ขึ้นนอน

ผมซื้อกล้องใหม่ หาชนิดที่ถ่ายได้เร็ว ไม่พิถีพิถันความสวยงามแบบโซนี่   ได้พนานาโซนิค รุ่น DMC-FX33 เลนส์มุมกว้าง ๒๘ มม.   ตั้งแต่ก่อนตามเสด็จทัศนศึกษาสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ    มาคราวนี้ถ่ายรูปไม่ยั้ง   เพราะตั้งความละเอียดไว้ที่เพียง 100KB   เพื่อให้ถ่ายได้เร็ว    เป็นการฝึกใช้ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือจดเหตุการณ์หรือเอกสารต่างๆ   ถือเป็นบันทึกสมัยใหม่   

 

วิจารณ์ พานิช

๗ ต.ค. ๕๑   ปรับปรุง ๑๐ พ.ย. ๕๑

โรงแรม Green Lake, คุนหมิง

 

0 ความงามที่สนามบินสุวรรณภูมิ

1.อ.ยรรยง จิระนคร หรือ เจีย เยน จอง

2. ยำขนมจีน ก่อนยำ

2.1 น้ำราดสำหรับยำขนมจีน

3. ยำขนมจีนที่ยำแล้วในจานของผม

4.ผัดเห็ดตับเต่า

5.ฟักทองเห็ดหูหนูขาวนึ่ง

6.วุ้นแป้งถั่วลันเตา

7.ซี่โครงหมูเปรี้ยวหวานเซี่ยงไฮ้

8.ขนมแป้งฟักทองทอดและแป้งข้าวเค้านึ่ง

9.นั่งคุยกันใน lobby ของโรงแรม Green Lake Hotel

หมายเลขบันทึก: 225538เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2008 07:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ ท่านอาจารย์คะ

  • ท่านอาจารย์เล่าได้ละเอียดเหมือนได้ตี๋ตั๋วเดินทางไปกับคณะด้วยเลยค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ ที่พาพวกเราไปเที่ยวคุนหมิงด้วยค่ะ
  • (^_^)

มาอ่านเรื่องเที่ยว  อาจารย์เล่าสนุก และ อาหารน่ารับประทาน

อาจารย์อมรา ดู อ่อนเยาว์กว่าวัย

ระลึกถึงพระคุณอาจารย์ทั้งคู่อยู่เสมอค่ะ

ศิษย์เก่า มอ ออ ค่ะ

อาจารย์ขา

หนูต้องไปเรียนคุนหมิงแต่ไม่มีตังค่ะ

เดือดร้อนมากค่ะ

อาจารย์วิจารย์ พานิช

           ผมชื่อ เดชา ปัทมสิริวัฒน์ เป็นคนอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เคยไปร่วมการสัมมนาที่ "ดิเรก" น้องชายถัดจากผม (ผมแก่กว่าสองปี) จัดที่มหาวิทยาลัยนเรศวร

ก็เพียงได้ฟัง "สปีช" ของอาจารย์ ไม่ได้สัมผัสมากไปกว่านั้น แต่ฟังความข้างเดียวจากดิเรกก็สรุปว่า "คนนี้เป็นคนที่เราต้องตามติด"  เพื่ออ่านสิ่งที่อาจารย์เขียน ............ก็ได้อ่านมาสักสองเล่มเห็นจะได้ พบว่าอาจารย์มิใช่เพียง "หมอคนหนึ่ง" .........แต่มีความรู้กว้างขวางมากหลายด้าน

           ส่วนอาจารย์ บรรยง จิระนคร นั้นผมอ่านงานเขียนจากหนังสือ "แม่น้ำโขง" (หยิบจากแผงที่สถานีรถไฟเชียงใหม่มาดู...........เห็นชื่อก็ซื้อเลย เพราะคือ "แม่น้ำโขง" ที่เคยไปเล่นระหว่าง "ออกค่าย" กับสมาคมนิสิตนักศึกษสัมมนา เมื่อ พ.ศ. 2509 ที่ "เชียงคาน") อ่านงานของท่านมากพอสมควรเพราะตอนหลังเขียนไปสมัครเป็นสมาชิก "ประจำ" เพราะที่พิษณุโลกมีขายบ้างไม่มีบ้าง ไม่มีความแน่นอน

           ผมอยากให้ นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวร (ชาวค่ายรุ่นพี่) จัดนัด "ผู้รู้" ทาง "จีน" และ ผู้รู้ทางไทย (โดยเฉพาะดินแดนเขตแคว้นพระร่วงเจ้า ผมหมายถึง "สุข - โข - ทัย") มา "เจอ" กันที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

           ปัจจุบันที่ ม.น. มีชมรมผู้สนใจทางประวัติศาสตร์ (ไทย) มีคนสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับ "ไทย - สยาม" มากพอสมควร (รวมถึงสถาบันอื่น ๆ ด้วย) มี รองศาสตราจารย์ ดร.จิราภรณ์ สถาปณธนวรรต เป็น "แกน" เราจัดสัมมนากันทุกปี ส่วนใหญ่จะประมาณปลายเดือนกรกฎาคม (ม.น. กำเนิด 29 กรกฎาคม 2533)

           ผมจะลองเสนอ "ไอเดีย" นี้กับ "หมอกระแส" ดู ถ้าท่าน "เอา" ผมจะรีบแจ้งให้ท่านทั้งสองทราบ

           ผมมั่นใจว่า "ผู้รู้" (ที่เป็น "ของจริง" พบกัน)..........ย่อมมี "อะไร ๆ" ที่น่าตื่นเต้นอย่างแน่นอน

                                                        เดชา ปัทมสิริวัฒน์

115 ม.1 ต.ดินทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก 65130

โทร. 081 - 887 - 7980

e - mail:[email protected]

สวัสดีค่ะอาจารย์วิจารณ์

ดิฉัน น.ส.รัญญา กันทะกูล เป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัย East China Normal University ที่เซี่ยงไฮ้ค่ะ

หัวข้อวิทยานิพนธ์ภาษาจีนของดิฉันจะทำเกี่ยวกับอัตชีวประวัติ การทำงานและแนวความคิดในด้านไทศึกษาของอาจารย์ยรรยง จิระนคร รวมถึงทัศนคติที่นักวิชาการไทย-จีนมีต่อท่าน ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนรวบรวมข้อมูลค่ะ

และพอดีดิฉันได้อ่านหนังสือ "นักคิด...ศาสตราจารย์ยรรยง จิระนคร ถอดบทเรียน ความคิด ชีวิตและประสบการณ์" ซึ่งมีข้อมูลที่ดิฉันสนใจอยู่มากพอสมควร และได้อ่านเจอบทความที่อาจารย์วิจารณ์เขียนถึงอาจารย์ยรรยงจากหนังสือเล่มนี้ จึงได้ตามมา comment ในบล็อกนี้ค่ะ

ดิฉันอยากขอความอนุเคราะห์จากอาจารย์วิจารณ์ในการให้ข้อมูลติดต่ออาจารย์ยรรยง เนื่องจากดิฉันเคยทำการค้นหาการติดต่อจากทางเว็บไซต์นิตยสาร"แม่น้ำโขง"จากจีนแล้วไม่สามารถติดต่อได้ค่ะ ดิฉันต้องการติดต่อขอสัมภาษณ์อาจารย์ยรรยงโดยตรง เพื่อให้ได้ข้อมูลชั้นต้นที่เป็นประโยชน์ต่อวิทยานิพนธ์ของดิฉันค่ะ

หากอาจารย์สามารถให้ข้อมูลการติดต่ออาจารย์ยรรยงได้ รบกวนอาจารย์ช่วยติดต่อกลับมาหาดิฉันที่

E-mail: [email protected]

โทร. 088-2520082

ดิฉันจะอยู่ที่ไทยจนถึงต้นเดือนกันยายนนี้ค่ะ เพื่อหาข้อมูลติดต่ออาจารย์ยรรยงและผู้ที่เคยร่วมงานกับท่าน 

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

รัญญา กันทะกูล

7 ก.ค. 2560

คุณรัญญาครับ

ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้กรุณาแจ้งที่อยู่ของ อ. เจีย ทางอีเมล์แล้วนะครับ

วิจารณ์ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท