ตลาดนัดความรู้ต้องพุ่งเป้า


ตลาดนัดความรู้ต้องพุ่งเป้า


          จุดอ่อนที่พบบ่อยอย่างหนึ่งของการจัดตลาดนัดความรู้คือ   ไม่ได้กำหนด “หัวปลา” (เป้าหมายหลัก) ของการจัดตลาดนัดความรู้ให้ชัดเจน   ที่จริงมีการกำหนด “หัวปลา”   แต่กำหนดแบบกว้างเกินไป   ไม่พุ่งเป้า (ไม่ focus)   ตัวอย่างเช่น “ตลาดนัดความรู้เรื่องโรคหวัดนก”   ถ้า “หัวปลา” คือมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเรื่องโรคหวัดนก   อย่างนี้ถือว่ากว้างเกินไป   ที่ผมถือว่าพุ่งเป้าชัดคือ “เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการเลี้ยงสัตว์ปีกระดับชาวบ้านโดยสัตว์ไม่ติดโรคหวัดนก”


          ตลาดนัดความรู้ของโรงเรียนก็เช่นเดียวกัน   ถ้ากำหนดหัวปลาว่า “เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการเรียนการสอนโดยนักเรียนเป็นศูนย์กลาง”   ผมถือว่ายังกว้างไป   ที่น่าจะเหมาะสมกว่าคือ “เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือเด็กวัยรุ่นที่มีปัญหา”,   “เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีป้องกันและช่วยเหลือนักเรียนติดยาเสพติด”,   “เพื่อป้องกันปัญหาทางเพศในเด็กนักเรียน”   อย่างนี้ผมถือว่าพุ่งเป้า


          การจัดตลาดนัดที่พุ่งเป้าจะต้องเลือกผู้เข้าร่วมให้ได้ “ผู้ปฏิบัติตัวจริง” เท่านั้นมาร่วม   ซึ่งจะทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้โดยผู้ปฏิบัติจริง ๆ   ไม่ใช่แลกเปลี่ยนความรู้เชิงทฤษฎี   หาก “หัวปลา” กว้างเกินไปผู้เข้าร่วมก็มีแนวโน้มที่จะไม่ใช่ผู้ปฏิบัติตัวจริง   เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขาดพลัง   ไม่ได้ขุมความรู้และแก่นความรู้ที่คมชัด


          ตลาดนัดความรู้ 1 วันมีเวลาเพียง 6 ชั่วโมง   หากเป้ากว้างเกินไปการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะเบลอไม่คมชัด   ไม่ได้ประเด็น “ขุมความรู้” และ “แก่นความรู้” ที่ชัดเจนเพียงพอที่จะนำไปใช้ต่อ   และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อในชีวิตการทำงาน   ในลักษณะของชุมชนแนวปฏิบัติ (CoP – Community of Practice) 


          ในตลาดนัดความรู้ควรมีการแลกเปลี่ยนกัน 2 ด้าน
1.      การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตาม “หัวปลา”
2.      การประชุมของกลุ่มผู้บริหารวางแผนการพัฒนาชุมชนแนวปฏิบัติ   เพื่อให้เกิด KM ของจริง   ไม่ใช่เพียงแค่มีตลาดนัดไปเรื่อย ๆ


วิจารณ์  พานิช
   9 ส.ค.48

หมายเลขบันทึก: 2294เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2005 08:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อยากชอปปิ้งตลาดนัดความรู้

อาจารย์คะ หนูอยากให้มีการจัดตลาดนัดมีในหลายๆวงการ ทั้งการศึกษา การแพทย์ การเรียนผึ้ง การศึกษากล้วยไม้ การศึกษาเกี่ยวกับผู้สูงอายุ แต่ยังไม่เห็น...

1. องค์ความรู้เรื่องระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เหมือนนักวิชาการส่วนใหญ่ศึกษาเรื่องการบริหารสถาบันอย่างไรให้อยู่รอด ไม่มีใครสนใจเรื่องนักศึกษาบ้างเลย ตั้งแต่การรับ การคัดเลือก การให้โควต้า การจัดค่ายล่วงหน้า การสอบpre การสอบเก็บคะแนน การสอบตรง มาตรฐานของโรงเรียนมัธยมศึกษา .... เรื่องนี้สำคัญกับระบบการศึกษาไทยมาก ขณะที่สถาบันอุดมศึกษากำลังออกนอกระบบ ออกมารับสอบตรงตั้งแต่เทอมที่หนึ่ง มัธยมศึกษาก็รับลูกไม่ค่อยทัน เทอมสองยังต้องไปเรียน เพื่อให้ได้เวลาเรียนเพียงพอที่จะสอบ บางโรงเรียนก็ให้เด็กหยุดเพื่อเตรียมการสอบเข้ามหาวิทยาลัย น่าปวดหัวมาก

2.วงการที่ไม่ใช่การศึกษาต้องการความรู้อีกหลายเรื่อง เช่น เขตการค้าเสรีจะมีผลต่อธุรกิจของไทยในแต่ละขนาดอย่างไร แล้วจะทำอย่างไรจึงจะอยู่รอด ศิลปะมีกี่แขนง เรามีความรู้จากคนเหล่านี้บ้างไหม

3. สมาคมต่างๆในประเทศไทยมีความเป็นมาอย่างไร เพื่อการใดบ้าง จะช่วยคนไทยรุ่นต่อไปในการใช้ชีวิตอย่างไร อยากรู้แนวคิดของคนทำงาน (บางครั้งก็ไม่ได้เป็น NGO)

4. รู้สึกว่าตลาดนัดความรู้ gotoknow ยังต้องการข้อมูลความรู้ของคนเดินดินธรรมดาบางเรื่อง เช่น ความรู้ที่เข้าใจง่ายๆของคนทั่วไป การกิน การอยู่ การนอน การหากิน การใช้ชีวิต การวิจัยหาความรู้อย่างง่าย

ขอบคุณค่ะ

 

ต้องไม่แค่อยาก   ต้องลงมือทำครับ   และรวมตัวกันทำ   นั่นคือ KM   คือต้องเน้น Learning by doing ครับ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท