คนดีวันละคน : พระภาวนาโพธิคุณ


     พระภาวนาโพธิคุณ หรือท่านอาจารย์โพธิ์ จนฺทสโร เป็นพระดีที่น่ายกย่อง   น่ายกย่องในความเป็นพระของท่าน   คือมีความเรียบง่าย ถ่อมตัว และทำงานเพื่อพระศาสนา ซึ่งก็คือเพื่อช่วยเหลือผู้คนให้พ้นทุกข์นั่นเอง  

 

     ที่น่าสนใจคือท่านเรียนหนังสือจบเพียง ป. ๔ แต่เรียนรู้ฝึกฝนตนเองจนเทศน์เป็นภาษาอังกฤษได้   และท่านได้รับเลือกจากท่านพุทธทาสให้เป็นเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล หรือ สวนโมกข์แทนท่าน ตั้งแต่ตอนที่ท่านพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่    ทั้งๆ ที่ตอนนั้นท่านพุทธทาสมีลูกศิษย์ที่สวนโมกข์เป็นพระปริญญาโทหลายองค์   แต่ท่านพุทธทาสกลับเลือกท่านโพธิ์ที่ตอนนั้นไม่ได้ฉายแววความเป็นปราชญ์อย่างพระที่จบปริญญา

 

     ตอนที่ท่านพุทธทาสสิ้นใหม่ๆ สวนโมกข์รวนเรอยู่ระยะหนึ่ง   เพราะท่านอาจารย์โพธิ์ยึดมั่นตามแนวทางที่ท่านพุทธทาสกำหนดไว้   และเดี๋ยวนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าท่านตัดสินใจถูก   เพราะเวลานี้สวนโมกข์ยังคงทำหน้าที่สอนธรรมะให้แก่ผู้คนได้เท่าหรือมากกว่าตอนที่ท่านพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่   คนที่ไปสวนโมกข์บ่อยๆ จะพบว่าเวลานี้สวนโมกข์สงบกว่าด้วยซ้ำ   เพราะมีการห้ามรถเข้าไปในบริเวณสวนโมกข์  

 

     นอกจากดูแลสวนโมกข์อย่างดี   ท่านอาจารย์โพธิ์ยังไปก่อตั้งทีปภาวันธรรมสถาน  ที่เกาะสมุย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน   เพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรมในอำเภอที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรุนแรงจากการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว   เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างยิ่ง

 

     ผมเคารพและศรัทธาท่านอาจารย์โพธิ์ จากวัตรปฏิบัติที่เรียบง่ายสมกับสมณสารูปของท่าน

 

วิจารณ์ พานิช
๒ ม. ค. ๕๒

            
                   
         

หมายเลขบันทึก: 233441เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2009 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 



คำบอกเล่าของคนใกล้ชิด
อรศรี งามวิทยาพงศ์ เรียบเรียงและบรรณาธิการ
จิรัฐติกาล จิตตวิสุทธิ ภาพประกอบ

 

ภาค ๑ ธรรมะจากมุมมองของผู้ใกล้ชิด

พระครูภาวนาชัยคุณ (โพธิ์ จันทสโร)
พระอธิการวัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม)

 

          พระครูภาวนาชัยคุณหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ท่านอาจารย์โพธิ์ เป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่ง ที่มีความใกล้ชิดกับท่านอาจารย์พุทธทาสมานานถึง ๓๐ ปี เป็นผู้รับใช้สนองงานในหลายด้าน ทั้งงานก่อสร้างโรงมหรสพวิญญาณ สวนโมกข์นานาชาติ ธรรมมาตา การจัดอบรมสมาธิภาวนาแก่ชาวต่างประเทศ จนกระทั่งท่านอาจารย์พุทธทาสมอบหมายหน้าที่ให้เป็นเจ้าอาวาสหรือพระอธิการดูแลสวนโมกข์ ซึ่งที่มีชื่อในทางการว่า วัดธารน้ำไหล และเป็นผู้รับผิดชอบดูแลจัดการสรีระของท่านอาจารย์เมื่อมรณภาพให้เป็นไปตามพินัยกรรมของท่านด้วย

          ในฐานะของผู้ใกล้ชิด ท่านอาจารย์โพธิ์ได้เรียนรู้ธรรมะจากท่านอาจารย์พุทธทาสหลายประการ ซึ่งท่านได้เล่าสรุปไว้เป็นข้อ ๆ อย่างน่าสนใจ

คิดให้ละเอียด ทำให้รอบคอบ

          "ท่านอาจารย์จะสอนเสมอว่า ให้เป็นคนรอบคอบ ท่านบอกว่า ทำอะไรก็ตามต้องรอบคอบ แม้แต่กวาดขยะก็ต้องกวาดให้รอบคอบที่สุด ไม่สะเพร่า โดยบอกว่า ถ้าเราทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ยังสะเพร่า ต่อไปจะสะเพร่ากับสิ่งที่ใหญ่ เราจะกลายเป็นคนประมาท

          ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์ทดลองอาตมา โดยบอกว่า ให้ไปสำรวจเสื่อที่มีอยู่ในวัดให้หมด ตอนนั้นอาตมาเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย จะไปสำรวจทำไม เพราะต้องไปตรวจเสื่อตามกุฏิที่ไหนต่อไหน อาตมาตอนนั้นยังหนุ่มอยู่ ก็ปฏิเสธบอกท่านอาจารย์ว่าทำไม่ได้ ท่านก็บอกเลิก ว่าทำไม่ได้ก็หยุดไว้ก่อน ไม่ต้องทำ จนกระทั่งค่ำลง อาตมาเดินมาหาท่านอาจารย์ ท่านบอกว่า ที่เราให้เธอทำอย่างนี้นั้น ไม่ได้ต้องการให้เธอเพียงสำรวจอย่างนี้ แต่เพื่อต้องการให้เรียนรู้ความรอบคอบ อาตมาจึงเข้าใจ ตอนหลังก็พยายามทำ

          ท่านอาจารย์ยังสอนให้เราใช้ความคิดให้รอบคอบด้วย ยกตัวอย่างว่า ตอนนั้นอาตมาไปรับผิดชอบงานช่างที่สวนโมกข์นานาชาติ ในการไปสร้างธรรมมาตา ซึ่งตั้งอยู่ในที่ปัจจุบันนี้ มันเป็นที่ลุ่มซึ่งน้ำท่วมทุกปี ท่านอาจารย์ก็สั่งว่าจะต้องทำอย่างนั้น ๆ ตรงนั้น ๆ เช่นว่าสร้างส้วมจะต้องทำที่ตรงนั้น ๆ ตอนแรกก่อนที่จะสร้าง อาตมาบอกท่านว่า มันทำยาก ทำไม่ได้ เพราะน้ำท่วม ท่านอาจารย์บอกว่า "ถ้ามีปัญญา ทำได้" ท่านบอกเท่านี้ บอกแค่ว่าถ้ามีปัญญาทำได้ นั่นก็คือต้องใช้ความคิดตลอดเวลา คิดให้หลาย ๆ ครั้ง ท่านอาจารย์บอกว่า เกิดเรื่องอะไรขึ้น ให้คิดอย่างน้อยต้องร้อยครั้ง ถึงคิดว่าถูกแล้ว ถูกแล้ว ก็ให้หยุดไว้ก่อนแล้วคิดใหม่ ถูกแล้ว ถูกแล้ว หยุดไว้ก่อน แล้วคิดใหม่อีก ท่านเป็นผู้ที่คิดละเอียดรอบคอบมาก"

คดสั้น อกตัญญูเสื่อม

          "อาตมาเห็นคุณธรรมของท่านอาจารย์ ก็พยายามเรียนรู้และปฏิบัติตาม เรื่องหนึ่งที่พระเดชพระคุณท่านอาจารย์มีสูงสุดคือเรื่อง ความกตัญญูกตเวที ท่านจะเตือนหลังฉันเช้าที่โรงฉันบ่อย ๆ ว่า คดสั้น อกตัญญูเสื่อม ท่านเองก็ทำให้เราเห็นเป็นตัวอย่างในเรื่องความกตัญญู เช่นว่าสมัยก่อนท่านจะออกมาเดินรอบ ๆ วัด แล้วก็ให้คนตัดต้นไม้บางมุม เพื่อจะได้มองเห็นเขาประสงค์ ซึ่งเป็นที่เก็บอัฐิของโยมพ่อโยมแม่ของท่านอาจารย์ ท่านมักจะมายืนดู และบอกว่าเมื่อเห็นเขาประสงค์ทีไร ก็ทำให้นึกถึงโยมของท่าน จนกระทั่งท่านอาจารย์มรณภาพ ท่านก็ยังสั่งให้เอาเถ้าถ่านกระดูกส่วนหนึ่งของท่านไปเก็บที่เขาประสงค์ด้วย"

ไม่ทอดทิ้งกันในยามยาก

          "ท่านอาจารย์เป็นคนที่เรียกว่า ไม่ทิ้งเราในยามยาก อาตมาเชื่อว่าที่ตนเองอยู่สวนโมกข์ได้ เพราะท่านอาจารย์ไม่ทิ้งกันในยามยากหรือยามเรามีทุกข์ อาตมาเป็นทุกข์หนักครั้งหนึ่งในชีวิตหลังบวชเป็นพระ คือก่อนมาอยู่สวนโมกข์นั้น อาตมาอยู่เกาะสมุยมา ๑๐ ปี เรียกว่าสบายตลอดเวลา ไม่ได้รับผิดชอบอะไร เพราะเป็นพระป่า อยู่ถ้ำอยู่เขาคนเดียวไม่มีปัญหาอะไร มีความสุขมาก มาอยู่สวนโมกข์ตอนแรก ก็ตั้งใจมาช่วยงานท่านเพียง ๓ เดือนเท่านั้น แต่เมื่อมาเห็นความเสียสละ และคุณธรรมอะไร ๆ ทุกอย่างของท่านอาจารย์ ก็เลยอยู่เรื่อย ๆ มา

          ครั้งที่อาตมาเป็นทุกข์มาก คืออิฐที่เอามาก่อสร้างโรงหนังและธรรมนาวานั้น คุณภาพไม่ดี อาตมาบอกท่านอาจารย์ว่าอิฐที่มีคุณภาพดีมีอยู่ที่ขนอม ท่านก็เลยให้อาตมาไปเอามาจากที่นั่น ไปขนเอาอิฐมาทางเรือ ขนทีได้เป็นหมื่นก้อน ตั้งใจว่าจะเอาล่องมาทางคลองพุมเรียง ปกติใช้เวลาเพียงวันเดียวเท่านั้น อาตมาไปติดต่อเรือตังเก บอกเขาให้ช่วยลากจูงเรือลำที่ขนอิฐนี้ให้สักวันเดียวเท่านั้นแล้วก็จะกลับ ทีนี้ระหว่างเดินทางมา เรือบังเอิญเดินผิดร่อง ลำที่บรรทุกอิฐหนักขึ้นไปติดสันดอน ส่วนเรือลำที่จูงผ่านพ้นได้ แทนที่เขาจะได้กลับวันนั้น ก็กลับไม่ได้ อาหารเสบียงอะไรต่าง ๆ ก็ไม่ได้เตรียมมาในเรือเลย มีแต่ข้าว ในที่สุดเรือติด ไม่รู้จะทำอย่างไร ลูกเรือก็โมโห มีคนแก่เป็นคนจีนคนหนึ่ง พวกลูกน้องพวกนี้ก็ด่า ด่าคล้ายกับด่ากระทบเราด้วย อาตมาก็นั่งทน ทนอย่างนั้น จนกระทั่งถึงเวลาหุงข้าวที่จะกิน ก็ไม่มีอะไรเลย มีแต่ข้าวเปล่า ๆ ในที่สุดคนเหล่านั้นก็ลงไปหาปู สมัยนั้นคลองพุมเรียงมีปูเต็มหมดเลย เขาก็ไปจับปูมาต้ม แล้วเอามาถวาย อาตมาไม่ฉันเลย เพราะเราเห็นอยู่ว่าปูคลานเต็มไปหมดแล้วเขาก็ไปจับมาต้ม เราก็ไม่ฉัน ฉันข้าวเปล่า คิดว่าไม่นานคงจะได้ออก

          พอค่ำลงน้ำลด เรือติดอีกออกไม่ได้ ติดอยู่ ๒ คืน อาตมาหนักใจมาก เป็นทุกข์มาก ไม่รู้จะทำอย่างไร เจ้าของเรือเขาก็ต่อว่าว่า ไหนจะพามาเพียงวันเดียวเท่านั้น ทำไมมาติดตั้ง ๒ วัน เขาเสียหายมาก อาตมาก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็มาหาท่านอาจารย์ ท่านพาพระในวัดไปทั้งหมด เอารถไถ รถที่มันวิ่งได้ไปด้วย ไปกันทั้งหมดวัดเลยเพื่อที่จะขนอิฐ ถ่ายจากเรือลำใหญ่มาสู่เรือลำเล็กแล้วก็ล่องขึ้นมา ท่านอาจารย์ไปนอนตากยุงอยู่ที่พลับพลา ซึ่งยุงชุมเหลือเกิน เพราะแถวนั้นพอค่ำลงยุงจะชุมเต็มไปหมดเลย กัดทั้งพระทั้งใครต่อใคร ลำบากกันมาก

          ในเหตุการณ์อย่างนั้น เวลาอย่างนั้น ถ้าท่านอาจารย์จะบ่นว่าโง่ ว่าเราไม่ฉลาดก็ได้ แต่ท่านไม่พูดเลย

          ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนในเวลาปกติ ท่านบอกเสมอว่า เรายังโง่มาก ยังบกพร่อง ยังทำอะไรไม่ดี อยู่กับท่านเป็นปี ๆ อาตมาได้รับแต่คำกล่าวอย่างนี้ คำยอจากท่านอาจารย์ไม่มีเลย ไม่มีเลยที่จะได้ยินท่านบอกว่าคุณทำดีแล้ว ถูกต้องแล้ว ไม่มี ไม่เคยได้ยินเลย แต่ในเวลาอย่างนั้น ไม่มีเลยที่ท่านอาจารย์จะพูดว่า คุณทำผิด ทำสะเพร่า ไม่มีเลย อาตมาจึงเห็นน้ำใจของท่านอาจารย์ ว่ายามยาก ยามเป็นทุกข์อย่างนี้ ท่านอาจารย์จะไม่ทอดทิ้งเราเลย"

อดทนกับคนคิดต่าง

          "อยู่กับท่านอาจารย์เราได้เรียนรู้ความอดทนของท่าน ว่าท่านมีขันติสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ท่านไปพูดที่กรุงเทพฯ ไปอภิปรายกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ (ปราโมช) หรือที่ถูกใครต่อใครรุมกันด่า ชวนกันทั้งด่าและเขียนโจมตีท่านอย่างรุนแรง ทั้งเรื่องพระอภิธรรมหรือเรื่องอะไรต่ออะไรมากมาย แต่ท่านอาจารย์เฉย ท่านเคยพูดให้อาตมาฟังว่า หมาเห่าตีนช้าง หมายความว่า หมาหลายตัวรุมกันเห่าจะกัดตีนช้าง ถ้าช้างเตะทีเดียวก็กระเด็นกันไปหมด ท่านพูดอย่างนั้น

          ท่านใช้ทั้งความอดทนและสติปัญญา โดยบอกว่า เราต้องมีความคิดอิสระ แต่ความคิดอิสระนี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ฟังความคิดของคนอื่น ท่านบอกว่า เราต้องฟังความคิดของทุกคนเสียก่อน ฟังอย่างตั้งใจ อย่างไตร่ตรอง เพราะถ้าเราไม่ตั้งใจฟังที่เขาพูด เราเองจะพูดให้ถูกต้องไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาพระพูดหรือใครพูด ท่านอาจารย์จึงมักจะมานั่งฟังด้วย ฟังว่าเขาพูดผิดหรือพูดถูกอย่างไร"

 ๓ หลักของการทำงาน

          "ท่านอาจารย์พุทธทาสมีหลักการทำงาน ๓ อย่าง คือให้ประหยัดที่สุด เร็วที่สุด แล้วก็ดีที่สุด อาตมาทำงานก็ถือหลักนี้ตามท่าน ตอนแรกคิดว่า ประหยัดที่สุดกับดีที่สุดมันจะขัดกัน คือถ้าเราทำให้ดีที่สุด มันก็ประหยัดไม่ได้ แต่เมื่อดูท่านแล้วก็เห็นว่า ท่านอาจารย์ก็ทำของท่านได้ เราก็เลยถือหลักปฏิบัติตลอดมาว่า ทำอะไรก็แล้วแต่ ให้ประหยัดที่สุด ดีที่สุด แล้วให้เร็วที่สุด"

www.buddhadasa.org/html/articles/in_mem/dhm_tales-1-1.html

อ่านเจอในเล่ม เดินสู่อิสรภาพ เหมือนกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท