ชีวิตที่พอเพียง : ๕๖๒. เรียนรู้ทางสายกลางจากดอกพญาสัตบรรณ


 

          ต้นพญาสัตบรรณ (ตีนเป็ด) เพิ่งจะมาได้รับความนิยม เป็นไม้ประดับ ให้ร่มเงาริมถนนหรือหน้าบ้านเมื่อสิบกว่าปีมานี้   เดี๋ยวนี้มีปลูกกันทั่วไป   นอกจากให้ร่มเงา รูปทรงสวนงามแล้ว ยามหน้าหนาวก็จะออกดอก ให้กลิ่นหอมอบอวลไปทั่ว

          เข้าใจว่ากลิ่นของมันมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ   ผมชอบ แต่ลูกสาวบอกว่ามันฉุนเกินไปจนเวียนศีรษะ   ในตำราก็ว่าอย่างนั้น   ในบันทึกก่อนหน้านี้ของผม มีคนมาบ่นว่าที่บ้านของเขาดอกดก กลิ่นรุนแรงเกิน ถามว่าแก้ไขอย่างไร   ภรรยาของผมเขาเปรยๆ ว่า ก็โค่นทิ้งเสียซี    ผมเห็นบางบ้านเขาตัดกิ่งล่างๆ ออก   เหลือกิ่งไม่มากและเฉพาะกิ่งสูงๆ กลิ่นน่าจะลอยไปตามลมเสียมาก   ทำให้ไม่ฉุนมากในบริเวณใกล้ๆ 

          ที่หมู่บ้านที่ผมอยู่ มีต้นพญาสัตบรรณปลูกกระจายอยู่ทั่วหมู่บ้าน ประมาณ ๒๐ ต้น    บางต้นดอกดกสะพรั่งทั้งต้นดูสวยงาม   บางต้นไม่มีดอกเลย   ที่บ้านผมมีดอก แต่ไม่ดกมาก   ดอกเริ่มบานและให้กลิ่นหอมตั้งแต่ราวๆ วันที่ ๑๐ ธ.ค. ๕๑   จนถึงวันที่เขียนบันทึก (๑๓ ธ.ค.) ดอกก็ยังบานเพียงบางส่วน   ส่วนใหญ่ยังตูมอยู่  

          โชคดี ที่ผมเป็นคนจมูกไม่ดี ดมกลิ่นไม่เก่ง   จึงรู้สึกว่ากลิ่นของดอกพญาสัตบรรณหอม   ส่วนคนที่จมูกไว กลายเป็นไม่ดี คือเวียนศีรษะเมื่อได้กลิ่นดอกพญาสัตบรรณ

          และโชคดี ที่ต้นพญาสัตบรรณที่บ้านผมออกดอกไม่เก่งมากนัก   จึงมีดอกและให้ความหอมขนาดพอดี   ไม่ฉุนเกินไป     

 

วิจารณ์ พานิช
๑๓ ธ.ค. ๕๑

ต้นพญาสัตบรรณดอกสะพรั่งเต็มต้น

 

ต้นนี้ก็ดอกดกมาก

 

ต้นนี้เจ้าของตัดกิ่งล่างๆ ออกหมด

 

 

 

ดอกนี้ถ่ายจากต้นที่บ้านผม

 

 ภาพถ่าย โคลส อัพ ที่สวยงาม

หมายเลขบันทึก: 233648เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2009 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท