ชีวิตที่พอเพียง : ๖๘๗. เรียนรู้วิธีทำงานในหน้าที่ regulatory


หัวใจของการทำหน้าที่กำกับดูแลโดยเน้นส่งเสริมช่วยเหลือคือต้องสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจระหว่างกัน ระหว่างฝ่ายผู้ปฏิบัติ กับฝ่ายกำกับดูแล

 

          บุญทำกรรมส่งให้ผมเข้าไปทำหน้าที่ regulatory อย่างไม่รู้ตัว   คือทำหน้าที่ประธาน กกอ.   ทำหน้าที่ regulatory ต่อระบบอุดมศึกษาของประเทศ   ตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. ๕๒ เป็นต้นมา

          วันที่ ๓๐ ม.ค. ๕๒ เทวดาดลใจให้ผมไปนั่งฟังห้อง Private Health Sector ของ PMA Conference 2009   เพื่อเรียนรู้เรื่องนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับภาคเอกชนด้านสุขภาพ   ได้เรียนรู้เข้าใจกระบวนทัศน์ใหม่เกี่ยวกับภาคเอกชนด้านสุขภาพมากมาย

          แต่ที่ได้มากกว่านั้น คือได้เรียนรู้วิธีทำงานในหน้าที่ regulatory   ซึ่งมีวิธีมอง/ทำ ได้ ๒ แบบ   คือแบบควบคุมกำกับ (control)  กับแบบกำกับดูแล (governance)   

          แบบแรก เน้นใช้อำนาจควบคุมสั่งการ (command & control)   แบบหลัง เน้นส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือ (stewardship)

          การใช้อำนาจควบคุมสั่งการทำโดยการออกข้อบังคับ กฎระเบียบ    ใครไม่ทำตามก็จะต้องถูกลงโทษ   ซึ่งเราก็จะเห็นการหลีกเลี่ยงหรือทำผิดมากมาย ทั้งทางตรงและทางอ้อม   และไม่ถูกลงโทษ เพราะจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน   หรือเพราะผู้ควบคุมไม่มีปัญญาไปติดตาม

          การทำหน้าที่กำกับดูแล เน้นการส่งเสริมช่วยเหลือ (stewardship)    ช่วยให้เกิดการเรียนรู้จากความสำเร็จที่ก่อประโยชน์ตามที่ต้องการ   ส่งเสริมให้ทำได้สะดวกยิ่งขึ้น   เกิดความสำเร็จที่กว้างขวางหรือลึกซึ้งยิ่งขึ้น   เกิดการยอมรับ ชื่นชม ยกย่อง อย่างกว้างขวาง   ได้รับทรัพยากรเพิ่มขึ้น    ผมกลับมา AAR ที่บ้าน ว่า หลักการสำคัญในการให้ stewardship คือการใช้ SSS – Success Story Sharing   และหยิบวิธีการดีๆ จาก SS เหล่านั้น เอามาใช้เป็นหลักการในการกำหนดข้อบังคับหรือกติกาในการให้ความสะดวกในการทำงาน   หรือในการเอื้อทรัพยากรสนับสนุน  

          หัวใจของการทำหน้าที่กำกับดูแลโดยเน้นส่งเสริมช่วยเหลือคือต้องสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจระหว่างกัน  ระหว่างฝ่ายผู้ปฏิบัติ กับฝ่ายกำกับดูแล   ในเรื่องภาคเอกชนด้านสุขภาพ ฝ่ายกำกับคือฝ่ายภาครัฐ   ที่ประชุมบอกว่าปัญหาหลักคือไม่ไว้วางใจระหว่างกัน   และผลของการวิจัย (ในหลายประเทศทั่วโลก) ให้ผลแปลกมาก   คือความไม่ไว้วางใจของฝ่ายภาคเอกชนต่อฝ่ายภาครัฐรุนแรงกว่าความไม่ไว้วางใจของภาครัฐต่อฝ่ายภาคเอกชน

          ผมได้เรียนรู้ว่า การทำหน้าที่กำกับดูแลต้องเน้นสร้างความไว้วางใจระหว่างกันให้ได้   ผมเกิดความทะเยอทะยานยามแก่ ที่จะเป็นนักสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน (mutual trust) ในระบบอุดมศึกษา    โดยใช้หลักการ (ที่ผมคิดขึ้นเอง) คือ


 ความเสมอกัน หรือร่วมกัน ในอุดมการณ์เป้าหมายเพื่อสังคม   คือทุกฝ่ายในระบบอุดมศึกษามีเป้าหมายสูงสุดอันเดียวกัน   คือทำให้ระบบอุดมศึกษาเป็นประโยชน์ต่อสังคมสูงสุด  ก่ออันตรายต่อสังคมน้อยที่สุด


 ความเสมอกัน หรือร่วมกัน ในข้อมูล/สารสนเทศ/ความรู้ เกี่ยวกับระบบอุดมศึกษา    คือได้มาจากการวิจัยระบบ ที่มีความแม่นยำน่าเชื่อถือ และมีการเผยแพร่แก่สาธารณชน


 ความเสมอกัน หรือร่วมกัน ในข้อมูล/สารสนเทศ/ความรู้ เกี่ยวกับความสำเร็จและไม่สำเร็จ ของระบบอุดมศึกษา    เน้นการเอาความสำเร็จมาทำความเข้าใจ หาเหตุผลหรือปัจจัยส่งเสริม   แล้วร่วมกันกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อเอื้อให้เกิดความสำเร็จที่กว้างขวางขึ้น ยิ่งใหญ่ขึ้น

 

          ทั้งหมดนั้น ผมตีความว่า เป็นการจัดการคุณค่า (Value Management) ของสังคม   ผมมีความเชื่อว่าในทุกสังคมมีคุณค่าสูงส่งอยู่แล้ว   มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป   แต่ยังไม่มีวิธีจัดการให้เข้ามารวมตัวกัน   ผมกำลังสนุกกับการเรียนรู้วิธีควบแน่นไอความดี ให้เป็นหยดความดี เป็นสายธารความดี เป็นทะเลความดี   ในเรื่องอุดมศึกษา

 

          เป็นความสนุกและท้าทายอย่างยิ่ง ต่อชีวิตยามแก่

 

วิจารณ์ พานิช
๓๑ ม.ค. ๕๒


         
                              

หมายเลขบันทึก: 241171เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2009 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท