ชีวิตที่พอเพียง : ๖๘๘. ชีวิตที่ทำงานกำกับดูแลระบบไม่เป็น


 

          หลักยึดในชีวิตของผมคือ เรื่องดีๆ ที่มีโอกาสในชีวิต ถ้าทำไม่เป็นก็ต้องฝึก ต้องเรียนรู้  

          ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ผมมาทำหน้าที่ ผอ. สกว. ด้วยความคิดว่าตนเองเคยเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย เป็นนักวิจัย มีผลงานวิจัยระดับมีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์   ดังนั้น ผมน่าจะจัดการงานวิจัยเป็น   แล้วผมก็ได้ตระหนักว่าจริงๆ แล้วผมทำงานจัดการงานวิจัยระดับชาติไม่เป็น   และมองไปรอบๆ ก็พบว่า ไม่มีใครทำเป็น   ต้องช่วยกันคิดไปลองไปจนเกิดระบบจัดการงานวิจัยระดับประเทศขึ้น   เป็นผลงานที่ผมภาคภูมิใจมาก และได้เรียนรู้มาก

          ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ผมโดนจับเป็นประธาน กกอ. โดยไม่รู้ตัว    ผมตีความว่า กกอ. ทำหน้าที่กำกับดูแลระบบอุดมศึกษาของชาติ   และผมประเมินว่าผมทำหน้าที่นี้ไม่เป็น    ลองไปคุยกับคนเก่งๆ หลายคน   ผมตีความว่าเวลานี้สังคมไทยยังไม่มีความรู้ในการกำกับดูแลระบบอุดมศึกษา    ทำให้ผมรู้สึกว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่จะใช้ชีวิตยามแก่ทำหน้าที่ร่วมกับคณะกรรมการ กกอ., ผู้บริหารและข้าราชการใน กกอ., สมาชิกในประชาคมอุดมศึกษา, และคนไทยทั้งมวล ในการพัฒนาวิธีการกำกับดูแลระบบอุดมศึกษา ไว้ใช้ประโยชน์ในสังคมไทย

          ผมคนเดียวไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะพัฒนาระบบการกำกับดูแลระบบอุดมศึกษา 

          ระบบการกำกับดูแลระบบอุดมศึกษา น่าจะใช้หลัก Systems Gevernance 

          Systems Gevernance  น่าจะใช้หลัก stewardship หรือ empowerment 

          ทุกภาคส่วนของอุดมศึกษาควรได้รับการเสริมพลัง (empower) ด้วยคุณค่าที่แท้จริงของอุดมศึกษา   ด้วยการร่วมกันสร้างคุณค่าร่วมกัน (Shared Value)   ร่วมกันทำให้ “คุณค่าร่วม” นี้ มีความชัดเจนระดับรูปธรรม จับต้องได้    และเสาะหาความสำเร็จ (SS – Success Story) เล็กๆ มา ลปรร. กันได้   ร่วมกันทำความเข้าใจว่า SS นั้นเกิดขึ้นได้จากปัจจัยอะไร   มีปัจจัยอะไรอีกบ้างที่จะส่งเสริมให้มี SS ขยายมากขึ้น   และลึกซึ่งยิ่งขึ้น   นำเอาความรู้ที่ได้ไปกำหนดข้อบังคับ หรือกติกาในการจัดสรรทรัพยากร และในการให้ความดีความชิบแก่ผู้ปฏิบัติงาน  

          เท่ากับผมกำลังเอาความรู้ที่ได้จากชีวิตในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๖ – ๒๕๕๐ เป็นเวลา ๕ ปี มาใช้ในปี ๒๕๕๒ เป็นต้นไป   เอาความรู้ด้านการจัดการความรู้ มาสร้างวิธีการกำกับดูแลระบบอุดมศึกษา

          และใช้ความรู้ที่ได้จากชีวิตช่วงปี ๒๕๓๖ – ๒๕๔๔ เป็นเวลา ๘ ปี มาใช้ด้วย   คือเอาความรู้ด้านการจัดการงานวิจัยมาใช้ในการกำกับดูแลระบบอุดมศึกษา ให้เป็นระบบที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้เชิงระบบ   ซึ่งก็คือขับเคลื่อนด้วยผลงานวิจัยเชิงระบบนั่นเอง    ความรู้ในการตั้งโจทย์วิจัยเชิงระบบ และจัดการงานวิจัยเชิงระบบ มีความสำคัญยิ่งต่อการกำกับดูแลระบบอุดมศึกษา แนว research-based systems governance

          ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๖ – ๒๕๕๐ เป็นเวลาถึง ๑๕ ปี ที่ผมแอบเรียนวิชา systems thinking จาก ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต โดยท่านไม่รู้ตัวว่าผมแอบเป็นลูกศิษย์ท่าน   ผมกำลังเอาความรู้ที่ได้มาใช้ในการสร้างระบบ systems governance ของระบบอุดมศึกษา    จะเกิดผลแค่ไหน อนาคตจะเป็นเครื่องพิสูจน์

          ถ้าเกิดผลสำเร็จ บอกได้ล่วงหน้าได้ว่า เป็นเพราะกระบวนการสร้างระบบ systems governance นี้ เป็นกระบวนการที่ inclusive คือมีผู้คนจากทุกภาคส่วนของสังคมไทย เข้ามามีส่วนร่วม   จึงบอกได้ล่วงหน้าว่าความสำเร็จนั้นไม่ได้เกิดจากฝีมือของผม   เช่นเดียวกับความสำเร็จของ สกว. และ สคส.  

 

วิจารณ์ พานิช
๓๑ ม.ค. ๕๒

       
                              
 

หมายเลขบันทึก: 242544เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2009 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท