KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๖๕๕. KM ศาลยุติธรรม


          ประเทศไทยมีศาล ๓ ประเภท   คือ ศาลยุติธรรม  ศาลปกครอง  และศาลรัฐธรรมนูญ   ศาลยุติธรรมพยายามสร้างระบบความรู้ขึ้นใช้ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมของประเทศ    เป็นการเคลื่อนไหวที่น่าชื่นชม และถือเป็นบุญกิริยา 

          วันที่ ๑๐ ก.พ. ๕๒ ดร. สุนทรียา เหมือนทะวงศ์ ผู้พิพากษาผู้ทำหน้าที่ดูแลสถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ ในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม (ทำหน้าที่เหมือนสำนักงานปลัดกระทรวง) มาคุยกับ สคส. เรื่องการเอา KM ไปใช้หนุนการขับเคลื่อนดังกล่าว 

          เท่ากับหาทางเอา KM ไปขับเคลื่อนให้วงการศาลยุติธรรมเป็นองค์กรเรียนรู้   มีการสร้างและใช้ความรู้ และ ลปรร. ในการทำงานเข้มข้นขึ้น  

          ถือเป็นบุญที่ผมจะได้มีส่วนร่วมขบวนการนี้  

          ร่วมมีส่วนออกแบบระบบเสียด้วย  

          และดูเหมือนว่า เราจะต้องร่วมออกแบบระบบ    และทำหน้าที่จัดฝึกอบรม  ให้คำแนะนำ  และติดตาม ให้ระบบทำงานได้ผลจริง

          ท้าทายยิ่งนัก

          ดร. สุนทรียาอยากให้มีแผนปฏิบัติการ ๓ ปี   แสดงความต้องการพัฒนาในระยะยาว   ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีมาก   แต่ผม ลปรร. ว่า น่าจะให้เป็น “แผนที่ดิ้นได้” คือไม่กำหนดเป็นแผนแม่บทตายตัวหรือ roadmap    แต่ให้เป็นแผนที่มีคุณสมบัติ complex – adaptive

          เราตกลงกันว่า เป้าหมายคือการเอา KM เข้าไปในศาล   ให้ศาลทำงานโดยใช้ ความรู้มากขึ้น   หรือเป็น LO นั่นเอง   โดยขั้นตอนแรกจะเป็นการบรรยาย KM ให้ผู้บริหาร ๑๐๐ – ๒๐๐ คนฟัง    ตามด้วย KM - OM Workshop แก่ “แกนนำรุ่นแรก” ๓๐ คน   โดยที่แกนนำรุ่นแรกมาจากทั่วประเทศหรือมาจากหลายส่วนของศาล   แกนนำรุ่นแรกจะเป็นผู้ไปทำกิจกรรมนำร่อง เอา KM ไปใช้ในการทำงานประจำวัน    แล้วจะมีการจัด Workshop ติดตามผลและปรับปรุงวิธีดำเนินการ   และติดอาวุธเพิ่มเติม

          เราคุยกันเรื่องการจัดเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมให้เกิดความต้องการการเปลี่ยนแปลงวิธีทำงานของศาล    โดยดูตัวอย่าง SCB ในบันทึกเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ ก.พ.  

          งานนี้คุณอ้อมเป็นแม่งาน  ผมเป็นกองเชียร์  ดร. ประพนธ์ เป็นองค์ปาฐก

          ผมประทับใจความเอาจริงเอาจังของ ดร. สุนทรียา มาก    จึงตั้งคำถามว่ามารับหน้าที่นี้นานเท่าไรแล้ว   ได้คำตอบว่า ๔ ปี   ถามว่าจะต้องย้ายไปทำหน้าที่อื่นเมื่อไร    ตอบว่าคงจะปีหน้า   นี่คือข้อจำกัดของความต่อเนื่อง    ที่จะต้องคำนึงถึงและหาทางลดความเสี่ยงในการออกแบบระบบ/กิจกรรม ด้วย

วิจารณ์ พานิช
๑๑ ก.พ. ๕๒


                 

หมายเลขบันทึก: 242564เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2009 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2012 00:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท