มหกรรมสุขภาพชุมชน ๒๕๕๒


          ผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเตรียมจัดงานช้างนี้แบบไม่รู้ตัว ไม่มีความรู้   เดาว่า สวรส. และ สวสส. แกนนำหลักของหน่วยงานจัดการประชุมคงต้องการผู้อาวุโสไปทำหน้าที่ประสานหลายหน่วยงานร่วมจัด   คล้ายๆ เอาไปเป็นศาลพระภูมิ   มีหน้าที่อย่างเดียวคือไปอ่านคำกล่าวเล่าเป้าหมายที่มาที่ไปของการประชุม   หรือคุณค่าของการประชุม

          หมอลัดดา แม่งาน ยกร่างคำกล่าว แล้วผมเอามาปรับปรุงหลายครั้ง   รวมทั้งปรับปรุงเพิ่มหลังจากอ่านในงานไปแล้วด้วย   เพื่อใส่พลังคุณค่าต่อสังคมไทยเข้าไปมากที่สุดจึงนำมาเผยแพร่เพื่อประโยชน์ต่อสังคม   

 


คำกล่าวของ ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช
ในงานมหกรรมสุขภาพชุมชน  2552
ณ  อิมแพค   คอนเวนขั่นเซ็นเตอร์   เมืองทองธานี  นนทบุรี
วันที่  18  กุมภาพันธ์  2552
***********************************

กราบเรียน  ท่านศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ  วะสี  และท่านผู้เข้าร่วมประชุมที่เคารพ

          กระผมในนามของคณะกรรมการอำนวยการจัดงานมหกรรมสุขภาพชุมชน 2552  ภายใต้คำขวัญว่า “สร้างคุณค่าความเป็นคน  สร้างสุขภาพชุมชนให้เข้มแข็ง”    ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่งานมหกรรมสุขภาพชุมชน ในระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ นี้  

          มองจากมุมของคนทั่วไป ระบบสุขภาพชุมชน เป็นระบบที่สำคัญที่สุดในระบบสุขภาพภาพใหญ่    เพราะเป็นส่วนของระบบสุขภาพที่ใกล้ชิดผูกพันบูรณาการอยู่กับชีวิตของผู้คนอย่างแนบแน่นที่สุด
ในปัจจุบัน ระบบสุขภาพของประเทศไทยได้ชื่อว่าก้าวหน้ามาก    ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำประเทศหนึ่งของโลก ในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพของประเทศ   
          การจัดการประชุม เพื่อตรวจสอบ ทำความชัดเจนในหลักการ ขับเคลื่อน และเติมพลังให้แก่ระบบสุขภาพชุมชนจึงมีความสำคัญยิ่ง    คณะกรรมการจัดประชุมขอกราบขอบพระคุณท่านวิทยากร และท่านผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ที่มาร่วมกันขับเคลื่อนขบวนการสุขภาพชุมชนให้แก่ประเทศไทยในครั้งนี้ 
  
          ระบบสุขภาพชุมชนในโลกนี้มีวิวัฒนาการเรื่อยมา   โดยมีการทดลองระบบสุขภาพชุมชนในประเทศไทยก่อนมีการประชุม Primary Health Care ที่เมือง Alma Ata ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑  ที่นำมาสู่ขบวนการสาธารณสุขมูลฐาน   จึงกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนมาเป็นเวลาช้านาน   และระบบสุขภาพชุมชนของไทยก็มีวิวัฒนาการต่อเนื่องเรื่อยมา    ภายใต้จุดเน้นที่แตกต่างหลากหลาย
 
          คำประกาศที่ Alma Ata เน้นหลัก ๕ ประการของ Primary Health Care ได้แก่ ความเป็นธรรม (Equity), การมีส่วนร่วมของชุมชน, เน้นสร้างเสริมสุขภาพ, การดำเนินการผ่านหลายภาคส่วน, และ การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม 
ในการประชุมนี้ ท่านจะได้พบคำหลักหลายคำ ที่ท่านอาจจะสับสน   ได้แก่ สุขภาพชุมชน (Community Health)   การสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health Care)    บริการปฐมภูมิ (Primary Care)   และ บริการสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งถ้าแปลตรงตัวก็จะได้ Primary Health Care กลายเป็นภาษาอังกฤษคำเดียวกันกับการสาธารณสุขมูลฐาน   โดยที่เป้าหมายร่วมของคำเหล่านี้คือ    ให้คนทั่วทั้งสังคมมีสุขภาพดีในราคาหรือค่าใช้จ่ายไม่แพง   เอกสารและกิจกรรมต่างๆ ในการประชุมนี้ จะช่วยให้ความกระจ่างเกี่ยวกับคำต่างๆ เหล่านี้   และจะช่วยชี้ให้เห็นว่า ระบบสุขภาพชุมชนเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา   การทำความเข้าใจระบบเช่นนี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำความเข้าใจจากมุมมองเดียว
 
          ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้มีการประชุม Prince Mahidol Award Conference 2008 เรื่อง Three Decades of Primary Health Care : Reviewing the Past and Defining the Future.   สาระของการประชุมชี้ชัดเจนว่า Primary Health Care มีความซับซ้อนกว่าที่คิดไว้เมื่อ ๓๐ ปีก่อน   คือมีมิติที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้น เช่นระบบการเงินสุขภาพ (Health Financing), ระบบข้อมูลสุขภาพ, ผลกระทบจากโลกาภิวัตน์, และการที่โลกและสังคมมีช่องว่างทางสังคมกว้างขึ้น หรือความเป็นธรรมในสังคมด้อยลง    มีผลทำให้ความเป็นธรรมทางสุขภาพด้อยลงด้วย   เป็นต้น

          องค์การอนามัยโลกได้จัดพิมพ์หนังสือ The World Health Report 2008. Primary Health Care : Now More Than Ever. และเน้นองค์ประกอบสำคัญของ Primary Health Care สี่ประการที่เชื่อมโยงกัน คือ  (๑) การปฏิรูประบบบริการให้เน้นผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง  (๒) ความครอบคลุมทั่วถึง หรือความเป็นธรรม  (๓) ปฏิรูประบบนโยบายสาธารณะ เน้นสุขภาวะของชุมชน  และ (๔) ปฏิรูปภาวะผู้นำทางสุขภาพ คือทำให้วงการสาธารณสุขเป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้น

          ระบบสุขภาพชุมชนของไทยมีความก้าวหน้า และมีความเป็นพลวัตสูงมาก   ตัวอย่างเช่น เรามี อสม. กว่า ๘ แสนคนกระจายอยู่ทั่วประเทศและทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง    เรามีการดำเนินการของ สสส. ที่เข้าไปสนับสนุนขบวนการสร้างเสริมสุขภาพโดยชุมชน   เรามีกิจกรรมสมัชชาสุขภาพระดับชุมชน จัดโดย สช. และภาคี   เรามีการโอนสถานีอนามัยจำนวนหนึ่งเข้าไปอยู่ใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   มีการริเริ่มพัฒนาสถานีอนามัยไปเป็นโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพประจำตำบล  เป็นต้น
           ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวของ  ภาคีระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในการพัฒนาระดับต่างๆ     ได้แก่      
                    - การร่างนโยบาย “แผนทศวรรษการพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิ” เพื่อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน
                    - การพัฒนาเครื่องมือ และความรู้ในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดย นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และ รศ. นพ. สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
                    - การจัดประชุมเพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนองค์ความรู้ในเรื่องสาธารณสุขมูลฐานในระดับประเทศ   ต่อเนื่องจากการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในเดือนมกราคม ๒๕๕๑   โดยมีการประชุมต่อเนื่องในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๑   
                    - การประชุมที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต  เมื่อ ๑๘-๑๙ กันยายน ๒๕๕๑ โดยสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.)   ซึ่งมีข้อสรุป สำคัญ ๓ ประการ คือ
                   ๑. ผู้เข้าร่วมประชุมยังมีศรัทธาต่องานชุมชน และเห็นเป็นโอกาสดีที่จะสร้างแรงกระตุ้นเรื่องงานสาธารณสุขมูลฐานในงานครบรอบ ๓๐ ปี
                   ๒. มุ่งไปที่การดำเนินกิจกรรมในพื้นที่   การบริการต่างๆนั้นมีอาสาสมัครมาช่วยด้วยจำนวนมาก
                   ๓. มีการริเริ่มสิ่งใหม่ ซึ่งเห็นว่า มีลักษณะสำคัญคือ การค้นหาปัญหาในชุมชน และหาแนวทางแก้ไข      เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนในชุมชนที่หาทางแก้ไขเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างงานรักษาและงานส่งเสริมสุขภาพ 
                    -  การจัดประชุมที่ จ.หนองคาย เมื่อ ๒๕-๒๖ กันยายน ๒๕๕๑ เป็นการประชุมเพื่อระดมสมองจากผู้บริหารระดับจังหวัด ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในระดับนโยบาย และระดับพื้นที่เพื่อมองหาทิศทางในอนาคต 
 
          การจัดการประชุมมหกรรมสุขภาพชุมชน ๒๕๕๒ ในครั้งนี้จึงเป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของประชาคมสาธารณสุขและภาคีที่เกี่ยวข้องในความพยายามพลิกฟื้นวิถีงานสาธารณสุขมูลฐานให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นใหม่   และส่งเสริมคุณค่าของผู้ปฏิบัติงานบริการสุขภาพปฐมภูมิและระบบริการสุขภาพปฐมภูมิให้เข้มแข็ง     โดยสรุปวัตถุประสงค์ได้ ๕ ประการ ดังนี้
                    ๑. เพื่อให้เกิดเวทีการเรียนรู้และนำเสนอรูปธรรมตัวอย่างอันจะเป็น “ตัวนำ” แนวคิด หรือเป็นตัวแบบ (Exemplars) สำหรับการเรียนรู้แนวคิดสำคัญ (Learnable key concept) ของระบบสุขภาพชุมชน 
                    ๒. เพื่อสร้างความเข้าใจปรัชญาการดูแลสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณค่าอันเป็นเอกลักษณ์ และนำเสนอรูปธรรมการแปลแนวคิดสำคัญออกมาเป็นภาคปฏิบัติการ ในกลุ่มผู้บริหาร บุคลากรในวิชาชีพ และสังคมวงกว้าง เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนบนจุดเด่นปรัชญาอันเป็นเอกลักษณ์
                    ๓. เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพชุมชนบนรากฐานทางวิชาการอันจะเป็นพื้นฐานให้เจ้าหน้าที่นำไปใช้คิดค้นโครงการแผนงานพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถชื่นชมและเห็นคุณค่าของงาน
                    ๔. เพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนในเชิงอุดมการณ์ที่ทำให้สังคมไทยเห็นคุณค่าของงานสุขภาพชุมชน   และผู้ที่ทำงานอยู่ในระบบสุขภาพชุมชนเห็นคุณค่าของงานที่ทำ  และมีความภาคภูมิใจ 
                    ๕. เพื่อเกิดการพัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยีด้านการแพทย์ที่เหมาะสมกับระบบบริการสุขภาพชุมชน

          การประชุมนี้มีกิจกรรมมากมายพร้อมๆ กัน สมชื่อมหกรรม   ประกอบด้วยส่วนใหญ่ ๒ ส่วน คือ เวทีวิชาการ ๗ ห้อง   และเวทีกิจกรรมหรือนิทรรศการ ๙ เวที   รายละเอียดอยู่ที่หน้า ๓ ของเอกสารสูจิบัตร    กิจกรรมเหล่านี้เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้    ท่านที่มาร่วมจะเห็นว่า มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากมายเกิดขึ้นในระบบสุขภาพชุมชนอย่างน่าชื่นชมยิ่ง    และท่านจะเห็นโอกาสที่จะกลับไปสร้างสรรค์งานของท่านได้อีกมากมาย   รวมทั้งมีโอกาสที่จะทำให้งานสร้างสรรค์นั้นประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น   เพราะท่านสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้เคล็ดลับในการทำงานสร้างสรรค์นั้น จากคนที่มีประสบการณ์ฟันฝ่ามาก่อนแล้ว

          สิ่งที่เกิดขึ้นในมหกรรมนี้แสดงว่าเรื่องสุขภาพชุมชน บริการปฐมภูมิ และการสาธารณสุขมูลฐานนั้น ไม่ใช่บริการที่ล้าหลัง (Primitive Health Care) อย่างที่ล้อเลียน กันเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว   แต่เป็น Creative Health Care คือสามารถใช้ความริเริ่ม สร้างสรรค์ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด   เช่น ควรจะตีความคำว่า care ในความหมายที่กว้าง    กว้างกว่าการให้บริการ   ผมขอเสนอให้ใช้คำว่า “ดูแล”   Health Care แปลว่าดูแลสุขภาพ    ซึ่งที่ดีที่สุดคือ self care ดูแลสุขภาพของตนเอง    ช่วยเหลือตนเอง  ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน   สุขภาพชุมชนก็จะเป็นสิ่งเดียวกันกับขบวนการสังคมไม่ทอดทิ้งกัน ของท่านอดีตรองนายกฯ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม    ระบบสุขภาพชุมชนจึงเป็นระดับของกิจกรรมสุขภาพที่เต็มไปด้วยมิติของความเป็นมนุษย์ หรือคุณค่าของความเป็นคน   เป็น Holistic Health Care ที่ไม่แยกกันระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ    เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพระบบใหญ่   เป็นส่วนหนึ่งของระบบชุมชน ระบบสังคมในภาพรวม    ผู้ที่ทำงานในระบบสุขภาพชุมชนเป็นผู้ที่มีเกียรติ มีความสำคัญ และมีโอกาสสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ใหเแก่สังคม  ให้แก่วงการสาธารณสุข  และแก่วงวิชาการ  ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด

          ผู้ทำงานในระบบสุขภาพชุมชน สามารถทำงานภายใต้จินตนาการที่ยิ่งใหญ่   คือทำงานขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมที่น่าอยู่ สังคมเอื้ออาทร   ไม่ใช่เพียงแค่ทำงานประจำไปวันๆ    มหกรรมสุขภาพชุมชนนี้ คือกิจกรรมที่ช่วยสานฝันนี้    ขอให้ท่านที่ทำงานในระบบสุขภาพชุมชนทั้งที่มาร่วมงานและที่ไม่ได้มาร่วมงาน   ได้ใช้มหกรรมนี้ในการเสริมโอกาสคุณค่าของงานและชีวิตของท่าน   ที่ท่านสามารถทำให้เกิดได้ด้วยการลงมือทำโดยตัวเอง   ร่วมกันทำเป็นทีม   และรวมตัวร่วมมือช่วยเหลือกันเป็นเครือข่าย

          กระผมหวังว่าท่านผู้เข้าร่วมประชุม และผู้จัดประชุม จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างมีความสุข   ได้หาทางร่วมมือในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชนของไทย   เพื่อสุขภาวะของคนไทยทั้งมวล

 

          ขอขอบพระคุณ

 

หมายเลขบันทึก: 243153เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2009 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 16:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขออนุญาตขยายความเล็กน้อย ดิฉันคงไม่ใช่แม่งานงานนี้ เป็นแค่ฝ่ายเลขาของพ่องาน 2 ท่าน คือนพ.พงษ์พิสุทธิ์ ผอ.สวรส.และนพ.โกมาตร สวสส.

ขอบพระคุณที่อาจารย์ให้เกียรติค่ะ

  • ผมมีโอกาสมาร่วมงานในครั้งนี้ด้วยครับอาจารย์
  • @33106 , @33177  
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท