ปุจฉา : สุขภาวะด้านจิตวิญญาณมีหลายระดับหรือไม่


ขั้นที่ ๑ รุ้เท่าทันสภาวะอารมณ์ของตนเอง (mental state คือมีสติ) ขั้นที่ ๒ รู้จักควบคุมตนเอง (mental capacity คือมีศีล) ขั้นที่ ๓ เห็นคุณค่าของตนเอง และของผู้อื่น ขั้นที่ ๔ พัฒนาจิตจากการทำงาน ขั้นที่ ๕ เห็นประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตน - ความเห็นของ นพ. ประเสริฐ

 

          ผมอ่านเอกสารรายงานความก้าวหน้าของแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ระยะที่ ๓  ช่วง พ.ค. – ธ.ค. ๕๑ ของ มสส. แล้วตั้งคำถามว่า

• สุขภาวะด้านจิตวิญญาณมีหลายระดับหรือไม่   ทำไมจึงว่ามี  ทำไมจึงว่าไม่มี


• ถ้ามี  ลองแบ่งง่ายๆ ออกเป็นสัก ๓ ระดับ   และแนะนำให้คนทั่วไปรู้จักแบ่ง   และรู้วิธี “ปีนกระได” หน่อยได้ไหม

          คำถามนี้ ถาม หมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์   และถามผู้รู้หรือผู้อยากแลกเปลี่ยนคนอื่นๆ ด้วยครับ

 

          อย่าลืมว่า เราต้องการให้คนธรรมดาได้เข้าร่วมขบวนการยกระดับความสุขด้านจิตวิญญาณด้วยนะครับ   รวมทั้งผมเชื่อว่า วิสัชนาได้หลายแบบ หลายคำตอบ

วิจารณ์ พานิช
๒๕ ก.พ. ๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 245005เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2009 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 12:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

สวัสดีครับ อาจารย์ครับ

ผมขอแค่แสดงความคิดเห็น ไม่ได้ให้คำตอบอะไรนะครับ

โจทย์ที่ท่านอาจารย์ให้มา ผมว่ายาก ยากทั้งตัวนัยยะโจทย์ที่จะตอบ และยากทั้งบริบทที่จะตอบ

จะตอบอย่างมั่นใจได้ ก็คงจะเป็นคนที่มี "ประสบการณ์ตรง" กับการยกระดับจิตวิญญาณ ซึ่งก็อาจจะไม่ได้ตอบเชิง academic หรือถ้าไม่ได้มีประสบการณ์ตรงไปค้นมา ก็จะเผชิญปัญหาว่า "ภาษาที่ใช้" มันสามารถที่สื่อประสบการณ์ทางจิตวิญญาณได้หรือไม่ หรือได้แค่ไหน

ผมคิดว่าคนทั่วๆไปอาจจะถูกดึงดูดเข้าสู่กิจกรรมการยกระดับสุขภาวะทางจิตวิญญาณได้หลายประตู หลายบริบท แบบนักวิชาการก็ประเภทเห็นข้อมูลแล้วอยากเรียนก็เป็นแบบหนึ่ง หรือประเภทได้ข่าวว่าทำแล้วดี ก็อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง โดยยังไม่ต้องทราบว่าเขามีจัด league จัด division ว่ามีกี่ขัั้น มีกี่ระดับ ที่เข้ามาเพราะอยากอยู่ Premierleague หรือ promote ระดับ ประเด็นอาจจะเป็นว่าอะไรน่าจะเป็น channel ที่จะดึงดูดให้คนส่วนใหญ่ หรือคนจำนวนมากที่สุด มาเข้าสู่วิถีการพัฒนาสุขภาวะทางจิตวิญญาณ นี่ก็ยังไม่ทราบเหมือนกัน

ผมคิดว่าคนที่สนใจ อาจจะพบการเปลี่ยนแปลงดังนี้

  • รู้ตัวมากขึ้น ว่าตนเองรู้สึกอย่างไร ช่วงนี้่อาจจะยังไม่สุขเท่าไหร่ (และอาจจะทำให้เบื่อหน่าย เลิกดีกว่า) เหมือนกับเราติดตั้ง surveillance หรือ screening system พอติดเสร็จ เราจะ "ไวขึ้น" ผลก็คือ incident จะสูงขึ้น ไม่ใช่ลดลง เพราะฉะนั้นเผลอๆตอนนี้บางคนอาจจะทุกข์มากขึ้น เพราะรู้ตัวมากขึ้น
  • เริ่มทุกข์น้อยลง เพราะการรู้ตัวนั้นเอง จัดการปัญหาจิ๊ีบๆจ๊อยๆ ที่เป็นแมลงวันน่ารำคาญ ค่อยๆหายไป
  • เริ่มมี awareness ต่อทุกข์ที่ลึกซึ้งขึ้น มองเห็น blindspot ของตนเอง (บางคนอาจจะไม่เคยเห็นเลย เพราะ blindspot จริงๆ อาจจะต้องพึี่งการภาวนาจริงจัง หรือที่ดีก็คือมีสังฆะที่ดี)
  • เริ่มมี awareness ถึงความสุขที่ที่แท้จริงคือความทุกข์อีกแบบหนึ่ง
  • ดำเนินชีวิตบนวิถีการพ้นทุกข์
  • เข้าสู่วิถี salutogenesis หรือวิถีสุขภาวะกำเนิด เชื่อมโยงตัวตนเข้ากับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ไม่มี references ครับผม อาจจะไม่ใช่เป็น KM ที่ดีเท่าไหร่ ขอ share เฉยๆครับ ขอบพระคุณครับ

ขอร่วมวง share ด้วยคนค่ะ...

ในทัศนะของกะปุ๋ม...ตามเส้นทางแห่งการเรียนรู้ตามภูมิเท่าที่มี มองว่าไม่เป็นระดับที่แบ่งแยกออกจากกันอย่างแน่ชัด หากแต่เป็นการเลื่อนไหลไปสู่กันและกัน...อย่างเนียนๆ จนบางครั้งยากที่จะตามได้ถึงสภาวะแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น แต่เมื่อมารู้ตัวก็ถูกแปลงออกมาเป็นพฤติกรรมหรือการปฏิบัติไปเสียแล้ว...

การเลื่อนไหลแห่งความเชื่อมโยงนี้...จึงยากที่จะกำหนดเป็นเกณฑ์ได้แน่ชัดว่าจะใช้อะไรมาเป็นเส้นแบ่งเขตแดนของความเป็นระดับ... หากแต่ที่พอใช้ได้ในระดับทัศนะส่วนตัวก็คือ...ความลุ่มลึกของความเข้าใจ ...ที่ปรากฏแจ้งออกมา และส่งผลต่อระดับทัศนะคติและความเชื่อ จนกลายมาเป็นพฤติกรรมหรือการกระทำ

หากจะแบ่งหรือจัดระดับเพื่อง่ายต่อการกระทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อสนับสนุนในการส่งเสริมและพัฒนานั้น...อาจแบ่งได้เป็นในระดับหยาบ-กลาง-ละเอียด...ถ้ามากกว่านั้นไม่แน่ใจว่าการไปจัดแบ่งจะนำไปสู่อะไรได้อีกหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วจากระดับหยาบไปละเอียดนั้นมันคือ ความเลื่อนไหลไป...เหมือนดั่งสายน้ำ

การเลื่อนไหล...ไปของระดับจิตวิญญาณที่นำไปสู่ความลุ่มลึกมากขึ้นนั้น ... ตัวหนึ่งที่เป็นญาณนำพาไปก็คือ... สติหรือความระลึกรู้...ที่มีความสั่งสมเพิ่มมากขึ้นจนถึงในดับการเพิ่มเป็นความสามารถในการเกิดปัญญาอันเป็นอัตโนมัติเกิดขึ้น...และการเลื่อนไหลไปในแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนก็สามารถก้าวกระโดดได้ บางคนอาจต้องใช้เวลาอย่างยาวนานกว่าการเลื่อนไหลนั้นจะไปได้ แต่ทุกคนหรือทุกสรรพสิ่งต่างมีความเลื่อนไหลไปกันทุกขณะจิต

ดังนั้น...การที่เราจะโน้มนำในผู้คนได้เปิดการพัฒนาในระดับสุขภาวะด้านจิตวิญญาณนั้น...บุคคลต้องสั่งสมและนำพาตนเองเพื่อพาตนเลื่อนไหลจากในระดับต้นๆ ที่ตนมีอยู่ ณ ขณะปัจจุบันนี้ไปจนถึงในระดับที่ละเอียดลุ่มลึกมากขึ้น...

สิ่งหนึ่งที่พออาจมองและประเมินได้ด้วยประสาทสัมผัส ณ ขณะการมีความเชื่อมสัมพันธ์กันนั้น...ก็น่าจะได้มาจากคำพูด การกระทำที่แสดงปรากฏออกมาในท่ามกลางปฏิสัมพันธ์ที่มีขึ้นที่สะท้อนได้ในระดับเบื้องต้นว่าบุคคลนั้นมีการได้เกิดการเลื่อนไหลไปของสุขภาวะทางด้านจิตวิญญาณ...แล้ว

และ...

ในส่วนปีนกระไดที่อาจารย์...กระทุ้งให้ต่อมเอ๊ะได้ทำงานนั้น กะปุ๋มมองว่าการที่คนเราได้ฝึกฝนให้ตนเองได้มีความระลึกรู้อยู่ทุกขณะจิต...ง่ายๆ ก็คือ มีสติและนำพาสภาวะจิตไปสู่การเกิดเป็นสมาธิในทุกอิริยบท ของการดำรงชีวิตอยู่นี้ก็เป็นเส้นทางก้าวกระโดดที่นำไปสู่การเติบโตทางจิตวิญญาณได้...

เพราะเมื่อไร...คนเรามีสภาวะแห่งการระลึกรู้เกิดขึ้นนั้น "เสียง" ที่เกิดขึ้นจากทั้งเป็นภาษาและไม่เป็นภาษาจะแจ่มชัดขึ้น ... ได้ยินและมีโอกาสได้ฟัง "ความ" ที่คลุกเคล้าทางจิตทั้งด้านบวกและลบ สภาวะแห่งความยับยั้ง (ฉุกคิด หยุด ชั่งใจ ฯลฯ ) เพิ่มขึ้นจนถึงในระดับพร้อมที่จะน้อมนำตนเองก่อเกิดเป็นปัญญาพิจารณาต่อการที่มีเรื่องราวมากระทบ กระบวนการเหล่านี้ดำเนินไปเรื่อยๆ ความเติบโตหรือความลุ่มลึกทางระดับจิตวิญญาณก็มีเพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นอัตโนมัติ...

และนี่ไม่ใช่คำตอบของทั้งหมด หากแต่เป็นการเก็บเกี่ยวตามเส้นทางการเรียนรู้แห่งภายในของตนเองค่ะ และที่บันทึกนี้ก็อาจจะไม่เหมือนเดิมในความเป็นปัจจุบัน

(^___^)

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ ที่ฉุกกระตุ้นต่อมเอ๊ะ...

ถ้าหากแบ่งตามหลักทางพระพุทธศาสนานั้นก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับคือ

1. สุขภาวะด้านจิตวิญญาณ "ไม่ดี"

2. สุขภาวะด้านจิตวิญญาณ "ดี"

3. สุขภาวะด้านจิตวิญยาณ "เป็นกลาง ๆ" คือ อยู่เหนือจากความดีและความไม่ดี

บุคคลที่อยู่ในระดับที่ 3 คือ มีสุขภาวะด้านจิตวิญญาณเป็นกลาง ๆ นั้น คือ บุคคลที่บรรลุมรรคผล เป็นอริยะบุคคลในขั้น "อรหันต์"

สุขภาวะของท่านนั้นจะเป็นกลาง ๆ มีอะไรมกระทบก็เฉย ๆ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรเลว สงบด้วยความเป็นกลางอยู่อย่างนั้น...จนกระทั่งลาละสังขารจากโลกนี้ไป ดับกาย ดับจิตไป สุขภาวะด้านจิตวิญญาณเยี่ยงนี้ไซร้ประเสริฐจริง

บุคคลในระดับที่ 2 คือ จัดว่ามีสุขภาวะด้านจิตวิญญาณ "ดี" นั้นคือ บุคคลที่บรรลุมรรคผล เป็นอริยะบุคคล 3 ขั้น คือ โสดาบัน สกิทาคามี และอนาคามี

อริยะบุคคลทั้ง 3 จำพวก อย่างน้อยที่สุด คือ ระดับโสดาบันจะตั้งมั่นอยู่ในศีล 5 อย่างมั่นคง การตั้งอยู่ในศีลอย่างนั้นมั่นไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนนี้จะเป็นหลักประกันได้ว่า จิตนี้จะไม่มีการไปเบียดเบียนใคร ทั้งกาย วาจา และใจ

ถ้าหากพัฒนาจิตขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็จะตัด กามราคะ ตัณหา อุปาทาน ออกไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ สุขภาวะด้านจิตวิญญาณย่อมประสบกับความสุขบนโลกและในสุขคติภพ

บุคคลในระดับที่ 3 คือ จัดว่ามีสุขภาวะด้านจิตวิญญาณ "ไม่ดี" นั่นคือ "ปุถุชน" ผู้ที่ยังไม่มั่นคงและตั้งมั่นอยู่ใน ศีล 5 อันเป็นหลักการพื้นฐานในความเป็นมนุษย์"

ยังมัวเมา ลุ่มหลงอยู่ใน กิเลส ตัณหา และราคะ

ยังมีมิจฉาทิฏฐิ

ยังรัก โลภ โกรธ หลง อยู่เป็นเนืองนิจ

ปุถุชนสามารถปีนกระไดได้โดยใช้หลักการแห่ง "ทาน ศีล และภาวนา..."

อริยะบุคคล 3 พวก (โสดาบัน สกิทาคามี และอนาคามี) สามารถปีนกระไดได้โดยใช้ "ศีล สมาธิ และปัญญา"

แต่ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานของ "การกระทำ" เป็นสำคัญ

ค่อย ๆ สีไฟไปเรื่อย ๆ

เหนื่อยก็ทำ ไม่เหนื่อยก็ทำ

ขยันก็ทำ ไม่ขยันก็ทำ

วันใดความร้อนที่สะสมได้ถึงพร้อม เมื่อนั้นก็ย่อมจะติดได้ด้วยเหตุแห่งการปฏิบัตินั้นเอง...

บุคคลในระดับที่ 3 คือ จัดว่ามีสุขภาวะด้านจิตวิญญาณ "ไม่ดี" นั่นคือ "ปุถุชน" ผู้ที่ยังไม่มั่นคงและตั้งมั่นอยู่ใน ศีล 5 อันเป็นหลักการพื้นฐานในความเป็นมนุษย์"

ยังมัวเมา ลุ่มหลงอยู่ใน กิเลส ตัณหา และราคะ

ยังมีมิจฉาทิฏฐิ

ยังรัก โลภ โกรธ หลง อยู่เป็นเนืองนิจ

ปุถุชนสามารถปีนกระไดได้โดยใช้หลักการแห่ง "ทาน ศีล และภาวนา..."

อริยะบุคคล 3 พวก (โสดาบัน สกิทาคามี และอนาคามี) สามารถปีนกระไดได้โดยใช้ "ศีล สมาธิ และปัญญา"

แต่ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานของ "การกระทำ" เป็นสำคัญ

เหนื่อยก็ทำ ไม่เหนื่อยก็ทำ

ขยันก็ทำ ไม่ขยันก็ทำ

วันใดความร้อนที่สะสมได้ถึงพร้อม เมื่อนั้นก็ย่อมจะติดได้ด้วยเหตุแห่งการปฏิบัตินั้นเอง...

...................

เนื่องจากกำลังเรียนรู้  เห็นว่าคนส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในระดับที่ 3  ที่คุณคนไม่แสดงตนมีความเห็น 

คิดว่า..ถ้าเราสามารถช่วยคนเหล่านี้ได้ น่าจะมีความสุขด้านจิตวิญญาณมากขึ้นนะคะ

ผมลองเสนอ 3 ระดับง่ายๆเป็นชั้นบันไดอย่างที่อาจารย์ต้องการครับ

บันไดขั้นที่ 3 เห็นประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตน

บันไดขั้นที่ 2 พัฒนาจิตจากการทำงาน

บันไดขั้นที่ 1 เห็นคุณค่าของตนเอง

ก่อนถึงบันไดขั้นที่ 1 อาจจะมีเรื่องที่ต้องทำก่อน ตามที่เขียนไว้ในรางานความก้าวหน้า8เดือน คือ

บันไดขั้นที่ 0 รู้จักควบคุมตนเอง (mental capacity คือมีศีล)

บันไดขั้นที่ -1 รุ้เท่าทันสภาวะอารมณ์ของตนเอง (mental state คือมีสติ)

เชิญวิพากษ์ครับ

ก่อนอื่นผมขอถอดศัพท์ก่อนนะครับ

"สุขภาวะด้านจิตวิญญาณ" คือ ระดับหรือช่วงที่เกิดความสุขทางจิต

1.สุขภาวะด้านจิตวิญญาณมีหลายระดับ เพราะจิตวิญญาณแต่ละดวงย่อมมีฝุ่นละออง(กิเลส)จับต้องหนาเบาต่างกัน การที่จะเข้าถึงสุขภาวะได้นั้นทางพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า

มี ๔ ระดับ หรือที่เรารู้จักในนาม "อริยะ" คือ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์

บุคคลทั้ง ๔ ระดับ ล้วนมีสุขภาวะด้านจิตวิญญาณที่แท้จริง มั่นคง แต่การที่จะก้าวเดินไปสู่ความเป็นอริยะได้นั้นต้องผ่านบันได ๓ ขั้น คือ ศีล สมาธิ และปัญญา

2.แต่หากแบ่งง่ายเข้าไปหน่อยก็แบ่งได้ ๒ แบบคือ สุขแบบโลกียะ(ความสุขทางโลกที่ปนเปมัวเมาด้วยกิเลส)และสุขแบบโลกุตระ(ความสุขทางธรรมที่หลุดพ้นการครอบงำของกิเลศ

ปล.ขอวิสัชนาด้วยความไม่รู้นะครับ

ขอคำนึงคิดต่ออีกนิด

ความท้าทายของโจทย์นี้ โดยส่วนตัวผมคิดว่าคือตอนจะนำไปใช้ จะทำอย่างไรให้ concept หลักการ ปรัชญา หรือ​ "ภาษา" ที่เรากรองและสื่อ เป็น "สากล" ที่สุด

เป็นสากลหมายความว่าอย่างไร

หมายความว่า "ใครๆก็เข้าใจ" มีบริบทเกี่ยวข้องน้อย ซึ่งเป็นความท้าทายเพราะภาษาไทยเองก็ยังไม่สากล อย่างไรก็ดี คำจำนวนมากของภาษาเราก็ไม่ยากเกินไปที่จะเรียกว่าสากล นั่นคือ "แปลได้" (translable)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราถามตนเองว่า พอเราจัดแล้ว ถึงเวลา "ใช้เพื่อประโยชน์เพื่อนมนุษย์" (Success is not in the learning but in its application to the benefit of mankind) นั้น เอ... มันจะนำไปใช้กระบวนท่าเช่นไร อย่างไรหนอ

ขอรำพึงรำพันแค่นี้ก่อนครับ

วันนี้ขออนุญาตแลกเปลี่ยนกับอาจารย์สกลก่อนครับ(เพราะเพิ่งจะมีเวลานั่งอ่านของอาจารย์สกลอย่างละเอียดพินิจพิจารณาทุกตัวอักษร)

สำหรับcommentที่1ของอาจารย์ ผมจับได้3เรื่อง

1.เรื่องประสบการณ์ตรง

2.เรื่องภาษา

3.เรื่องระดับการพัฒนา

เรื่องประสบการณ์ตรง เข้าใจว่าหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าการพัฒนาจิตต้องเกิดจากประสบการณ์ตรง

เรื่องภาษา ตรงนี้เป็นปัญหามาก

เรื่องระดับการพัฒนา ผมคิดว่าเราเห็นตรงกันแต่ใช้คนละภาษา

สำหรับcommentที่2ของอาจารย์ ยังคงเป็นเรื่องภาษา ผมจะรับไว้เป็นความม้ามายหนึ่งของการทำงานด้านนี้ครับ ภาษาต้องง่ายและคนส่วนใหญ่ของสังคมต้องเข้าถึงได้โดยง่าย

ผมเพิ่มเติมเรื่อง บันไดขั้นที่ 1 เห็นคุณค่าของตนเอง

คำถามคือทำอย่างไรเราจึงจะเห็นคุณค่าของตนเอง

ต่อไปขออนุญาตแลกเปลี่ยนกับคุณKa-Poom คุณไม่แสดงตน และคุณแก้ว

ผมเก็บความได้ 3 ข้อ

1.การพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาหรือสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เรียกสั้นๆว่า พัฒนาจิต นั้นไม่น่าจะมีระดับแต่เป็นความต่อเนื่อง ซึ่งสามารถสังเกตได้จากคำพูดและการกระทำ

2.โมเดลหนึ่งของการแบ่งระดับคือ ทาน ศีล ภวนา

3.โมเดลหนึ่งของการแบ่งระดับคือ ศีล สมาธิ ปัญญา

สามประเด็นนี้สอดคล้องกับผู้รู้อีกหลายๆคนที่ผมเคยประชุมด้วยครับ

อย่างไรก็ตาม คำถามของเราคือทำอย่างไรให้ผู้คนรู้วิธีไต่ระดับทาน ศีล ภาวนา หรือศีล สมาธิ ปัญญา โดยเฉาพะอย่างยิ่งให้รู้วิธีจากการทำงานประจำวัน

ส่วนของคุณพิมล เสนอโมเดล 4 ระดับคือ

โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์

คำถามคือจะแปลง่ายๆว่าอย่างไร

และคำถามเดียวกันทำอย่างไรให้ผู้คนรู้วิธีไต่ระดับ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้รู้วิธีจากการทำงานประจำวัน

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ และกัลยาณมิตรทุกท่าน

ผมขออนุญาตแสดงความสงสัยและตั้งข้อสังเกตในบางประเด็นดังนี้ครับ

1. จากประเด็นของอาจารย์หมอวิจารณ์ผมติดใจในข้อความนี้ครับ

"ขบวนการยกระดับความสุขด้านจิตวิญญาณ"

คำว่า "ขบวนการ" น่าจะสื่อถึงภารกิจอะไรสักอย่างที่กลุ่มคนต้องทำร่วมกัน  แต่ในวิถีของเรื่องการพัฒนาทางจิตวิญญาณส่วนใหญ่
มักจะเด่นในแนวทางของปัจเจกชน ที่ต้องปฏิบัติเอง รู้เอง เห็นเอง
ผมสงสัยว่าเมื่อลงไปในวิธีการปฏิบัติ หรือแนวปฏิบัติของคนใน
"ขบวนการ" แล้ว มันคงน่าจะต้องมีอะไรที่ร่วมกัน หรือแลกเปลี่ยนกัน
ที่มากไปกว่าการทำอะไรๆ ที่เป็นรูปแบบเดียวกัน พร้อมเพรียงกัน
แต่ขาดซึ่งการปฏิสัมพันธ์กัน  ซึ่งสุดท้ายหากประเมินที่ผลลัพธ์แล้ว
เราน่าจะ "ยกระดับความสุขด้านจิตวิญญาณ" ของคนทั้งกลุ่มได้

ข้อสงสัยของผมก็คือ รูปธรรมอันใดที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ดังกล่าว?

2. ในส่วนบันใดขั้นที่ 1 ที่อาจารย์หมอประเสริฐได้กล่าวไว้นั้น
ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ แต่ผมกำลังคิดว่า
เราน่าจะต้องสร้างเรื่อง "การเห็นคุณค่าในตัวผู้อื่น"
ไปพร้อมๆ กันหรือไม่

เนื่องจาก ผมเชื่อว่า
การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเห็นคุณค่าในตัวเองนั้น
มันน่าจะมีที่มาจาก 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ

การที่ตัวเราเห็นคุณค่าในตัวเราเอง  กับ  การที่รอบข้างเห็นคุณค่าในตัวเรา

ผมจึงคิดว่า ...
"การเห็นคุณค่าในตัวเอง" จึงน่าจะมีความเกี่ยวพันกับ
"การเห็นคุณค่าในตัวผู้อื่น" อย่างแยกไม่ออก
และควรจะต้องสร้างไปพร้อมๆ กันครับ ???

ขอบคุณโอกาสดีๆ ที่ได้ร่วมแสดงความเห็น
ในประเด็นดีๆ ทีมีความหมายอันลึกซึ้งครับ
คุณูปการอันใด ที่จะเป็นผลอันเกิดจากประเด็นนี้
น่าจะมีประโยชน์ในการเริ่มสร้าง

"ขบวนการยกระดับความสุขทางจิตวิญญาณ" ครับ

สวัสดีครับมิตรรักนักเพลงทุกท่าน

วงชักเริ่มกระเพื่อม ขอเล่นต่อให้กระฉอก (อิ อิ)

คุณณภัทร๙ ได้ยกประเด็นที่น่าสนใจมากขึ้นมา คือ ระดับจิตวิิญญาณปัจเจก และสมุหะ อาจจะเป็นจุดแยกกระแสเถรวาทหรือมหายานรึเปล่า อันนั้นยกให้เป็นเรื่องของ academia ไป แต่ขอสะท้อนความรู้สึกของผมเองในเรื่องนี้ออกมา (ไม่มี references ครับ)

ผมคิดว่าในขณะที่เราอาจจะทำอะไรๆเป็นปัจเจกได้ และได้ดีทีเดียว แต่ "นัยสำคัญ" ของเรื่องนี้ โดยความเห็นส่วนตัวผมแล้ว มันคงจะแห้งแล้งทีเดียว ถ้าที่สุดแล้วเราได้ยกระดับจิตของเราไปเพียงคนเดียว หรือทุ่มเทพลังงานเพื่อสิ่งนี้ "ก่อน"

ตรงนี้อาจจะทำให้ผมเห็นต่อไปอีกว่า บางทีระดับที่ว่านี้ ก่อนหรือหลัง อาจจะไม่สำคัญเท่า impact หรือ outcomes ต่อสังคมว่าเป็นเช่นไร ผมเองค่อนข้างจะเชื่อว่าประโยชน์ของความรู้อะไรก็ตาม มันต้องนำไปใช้ และใช้ต่อสังคมโดยรวมด้วย และ "ระหว่างนั้นเอง" ระดับจิตปัจเจกจะค่อยๆวิวัฒน์ และยังคงมีสายใย (superstring มั้ง) เชื่อมโยงกับสายใยของสมุหะตลอดเวลา เราไม่เคยผละขาดลอย เป็นว่าวสายป่านขาด จากสังคมจริงๆ (อาจจะอุเบกขา แต่นั้นเป็นเพียงการละอารมณ์ ละยึดเหนี่ยว เรายังมีอิทธิพลมากมายต่อระบบอยู่ เหมือนอรหันต์ทุกองค์ เหมือนศาสดาทุกท่าน)

ตัวอย่างมีมากมาย วันนี้ผมพึ่ีงทำ dialogue ระหว่างกลุ่มผู้ทำ palliative care ในซิดนีย์หลายเขต มารวมกัน ทุกคนแลกเปลี่ยนว่าเขตตนเองทำอย่างไร มีอุปสรรคอย่างไร และแก้ไขอย่างไร ผลัดกันพูด เพื่อที่จะหา best practice ของ New South Wales ออกมาให้ได้ เป็นการ sensing ที่สนุก ได้ความรู้ และคืบหน้า น่าสนใจ อย่างยิ่ง และผมอยากจะคิดว่าเพราะหัวข้อเป็น self-less dialogue ที่คิดจะทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทำให้การประชุมหนึ่งวัน มีผลิตผล outcomes ออกมามากมาย เกิดมิตรภาพระหว่างคนที่มาประชุมอย่างแปลกประหลาด ในความเชื่อในความดีสากล

ผมคิดว่าการเริ่มต้นความดีที่ชุมชนและ selfless เป็นกุศโลบายที่น่าสนใจ และน่า promote อย่างยิ่งครับ

เห็นด้วยครับ

อาจจะต้องทำเรื่อง "เห็นคุณค่าของตนเอง" ไปพร้อมๆกับ "เห็นคุณค่าของคนอื่น" หรือเปล่า ไม่สามารถทำเพียงองค์ประกอบเดียวได้???

ประเสริฐ

อืม...

ใจจริงผมอยากจะไปถึงขั้น "เห็นคุณค่าของตนเองจากการสามารถเห็นคุณค่าของคนอื่น" ด้วยซ้ำไป ผมว่านี่เป็นอะไรที่แยกแยะศักยภาพที่แท้ของ species เราจากอื่นๆครับ

แล้วทั้งหมดกลายเป็นกระบวนการเดียว ไร้ตะเข็บ

สวัสดีอีกรอบนะครับ ท่านอาจารย์ทุกท่าน และกัลยาณมิตรทั้งมวล

ผมเคยสนทนาถามตอบกับตัวเองเล่นๆ นะครับว่า...

จริงอยู่...การพัฒนาไปจนถึงขั้นไร้ซึ่งอัตตาตัวตนนั้น อาจดูเหมือนเป็นปลายทางอันเป็นอุดมคติของการพัฒนามนุษย์ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีคนไม่มากนักที่ไปถึงจุดที่ว่าได้ 

และจากเท่าที่ทราบมาหลายๆ ท่าน เมื่อไปถึงจุดนั้นแล้ว ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในโลกที่เต็มไปด้วยภาระอันหนักอึ้งของปุถุชน

การพัฒนามนุษย์ (เพื่อกิจการทางโลก) ในความเชื่อของผม
จึงไม่น่าจะมุ่งพัฒนาไปจนสุดทาง
ผมคิดว่าน่าจะรักษาเจ้า "อัตตา"
ให้มีอยู่บ้าง แต่อาจจะต้องควบคุม
มิให้ใหญ่เกินไปจนไม่เห็นหัวใคร
และทำงานกับคนอื่นไม่ได้
เพราะเห็นใครก็ดีไม่เท่าตัวเอง

ที่ทำงานผม เคยพยายามคิดกันมาก
เรื่องพยายามส่งเสริมให้เกิด
ชุมชนแนวปฏิบัติ (CoP)
แต่ก็ยังไม่สำเร็จครับ

ผมเคยครุ่นคิดหาคำตอบอยู่นาน
จนกระทั่งมาเห็นอะไรลางๆ ใน G2K

ถึงตรงนี้ผมกำลังคิดว่า CoP จะเกิดได้นั้น ฐานของปัจเจกจะต้องแน่น
ดังเช่นใน G2K เป็นต้น

หากเราสามารถทำให้คนเห็นคุณค่าในตัวเอง และมีผู้คนยอมรับ
ดังเช่นแนวทางการเกิดชุมชนบล็อกเกอร์ใน G2K ผมคิดว่ามันง่ายมาก
ที่จะเคลื่อนต่อให้เกิดเป็น "ชุมชนนักปฏิบัติ" หรือ CoP ที่มีพลัง

แต่ผมยังมองว่าการทำให้คนเห็นคุณค่าในตัวเองก็อาจไปสร้างกำแพงอัตตาได้ด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ผมยังคงสงสัยและไม่กระจ่างก็คือ...

หากเราสามารถทำให้คนเห็นคุณค่าในตัวเองได้ แน่นอนว่ามันย่อมเป็นสิ่งที่ดีมากๆ   แต่เราจะมีวิธีการพัฒนาขั้นต่อไปอย่างไร เพื่อไม่ให้มันกลายเป็นการส่งเสริมอัตตาให้แข็งแรงเกินงาม แต่ก็คงไม่ต้องถึงกับขั้น "ไร้อัตตา"  แค่ให้รู้จักเอาอัตตาของตัวเอง ไปร่วมร้อยเรียงกับอัตตาของคนอื่น ให้กลายเป็นอัตตาที่ใหญ่ขึ้น มีขอบเขตกว้างขวางขึ้นกว่าเดิมก็น่าจะเพียงพอ

และผมว่านี่อาจเป็นโจทย์ใหญ่ ที่ชุมชน G2K จะต้องร่วมกันคิดและร่วมทำหากต้องการจะพัฒนาไปเป็น CoP ที่แท้จริง ที่สามารถแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ได้อย่างอิสระเสรี เพื่อสร้างสรรค์ ต่อยอดให้เกิดเป็น "นวัตกรรมกลุ่ม" ที่เกิดจากการ "คิดร่วมกัน"
อันมีรากฐานอยู่บน "ปัญญาปฏิบัติ"
ของเหล่าสมาชิกในชุมชน

และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า
จะมีประเด็นดีๆ แบบนี้มาช่วยทำ
ให้เราได้เกิดการคิดร่วมกัน
อีกเยอะๆ นะครับ

ขออนุญาตแค่นี้นะครับ

เพราะรู้สึกว่าจากที่หลายๆ ท่านได้

"ขยับ" จน "กระเพื่อม" และ "กระฉอก" แต่พองาม
แต่ตอนนี้ชักรู้สึกว่ามันอาจจะ
"ล้น" จน "เลอะเทอะ" ไปหน่อยแล้วครับ

ขอบคุณทุกท่านที่ให้โอกาสในการแสดงความเห็นครับ

:)

ขออนุญาตกลับมาอีกที

หลังจากเตลิดเปิดเปิงไปไกล

เพื่อกลับมาสู่ประเด็นของท่านอาจารย์หมอนะครับ

ในความคิด (ล้วนๆ) นะครับ
ไม่มีประสบการณ์รองรับ

ผมคิดว่า สุขภาวะด้านจิตวิญญาณ (เฉพาะของปุถุชนคนทำงานเท่านั้น)
น่าจะมี 3 ส่วนครับ

  • ความสุขจากการเห็นคุณค่าในงานที่ตัวเองทำ (อาจรวมถึงการเห็นคุณค่าในตัวเอง)
  • ความสุขจากการทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมงาน
  • ความสุขจากการให้บริการกับผู้มารับบริการ

สำหรับผมคิดว่า หากใครสามารถบรรลุทั้งสามข้อได้ก็ถือมีความสุขมากแล้วล่ะครับ

ขอเพิ่มเติมอีกหนึ่งข้อนะครับสำหรับเหล่าครูบาอาจารย์ ซึ่งท่านเหล่านี่น่าจะมีข้อพิเศษ คือ

  • ความสุขจากการให้ความรู้เป็นวิทยาทาน

ยังมีอีกสมมติฐานหนึ่งครับ

ระดับการพัฒนาระดับหนึ่งที่อาจจะเป็นไปได้คือ "ความสามารถในการธำรงตนเองเอาไว้" เราได้สมมติฐานนี้จากวง KM HHC to SHD (from Hu,anized Health Care to Spiritual Health Development) ดังนี้

จากที่ประชุมการจัดการความรู้ภาคใต้ครั้งที่ 1 ที่โรงแรมเจบี หาดใหญ่ สงขลา เรื่องเล่าที่เจ้าหน้าที่ในระบบสุขภาพของภาคใต้เล่าตรงกันคือเรื่องเล่าเกี่ยวกับการทำงานภายใต้สถานการณ์ยากลำบากของภาคใต้

ขณะที่สถานการณ์ยากลำบากของเจ้าหน้าที่บางท่านเป็นเรื่องเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน งานหนัก เงินน้อย สถานการณ์ยากลำบากของเจ้าหน้าที่ในภาคใต้ที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้มักเป็นเรื่องการรักษาพยาบาลคนเจ็บจากการระเบิดที่ไหลมาเทมาจนเกินเวลาเวร การทำงานภายใต้ข่าวลือว่าจะมีการยิงถล่มโรงพยาบาล สภาวะกดดันจากเจ้าหน้าที่ของรัฐให้แพทย์หรือพยาบาลต้องเลือกว่าจะรักษาเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนหรือผู้ก่อความไม่สงบก่อน การเก็บกดความแค้นของครอบครัวเพื่อทำงานตามจริยธรรมวิชาชีพ แม้กระทั่งการที่พยาบาลตัวเล็กๆ ต้องลงมือเย็บศีรษะที่ขาดออกจากลำตัวกลับเข้าที่ร่างกายของศพให้เหมือนเดิม เป็นต้น

เรื่องเล่าจากโรงพยาบาลกะพ้อ

“แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นใคร เพราะก่อนหน้านั้นเค้าทำสถานีตำรวจกับที่ว่าการอำเภอไปแล้ว แล้วเค้าจะมาทำที่โรงพยาบาล พอมาที่โรงพยาบาลก็มีโอกาสเป็นไปได้ มาคุยกับเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า เออเอาไงกันดี จะปิดโรงพยาบาลดีไหม คือมีคนเสนอว่าปิดโรงพยาบาลเอาคนไข้ไปที่อื่น เพราะถ้าเค้าทำจริงเราคงรับมือไม่ได้ คุยไปคุยมา ก็คือ ด้วยความที่ว่าเราก็เป็นห่วงว่าถ้าเค้าไม่ได้ทำโรงพยาบาลเป็นลักษณะลวง แล้วเค้าไปทำถล่มที่โรงพักอีกทีนึงก็จะมีทหารตำรวจบาดเจ็บได้ พวกเราก็คุยกันว่าอย่างนั้นพวกเราไม่ไป อยู่ที่โรงพยาบาล ก็เป็นอะไรที่ผมประทับใจที่จุดนี้ คือทุกคนเอาด้วยกัน คืออยู่ที่โรงพยาบาล แต่ว่าเราก็ไปคุยกับคนไข้ว่า คนที่ไม่เจ็บหนักเนี่ยขอให้เค้ากลับไปก่อน เพราะว่าคืนนี้เค้าโทรมาขู่ แล้วก็คนที่เจ็บหนักก็ส่งไปที่สายบุรี ก็โทรไปประสาน ก็ส่งคนไข้เจ็บหนักไป แล้วก็คืนนั้นทั้งคืนเจ้าหน้าที่ก็จากที่เค้านอนที่บ้านเค้าก็ไม่นอน มานอนโรงพยาบาล”

เรื่องเล่าจากโรงพยาบาลยะหา “ทำเท่าเทียมกันนะคะ แต่ทหารเนี่ยหนักว่า เค้าก็ dead เค้าก็ตาย แล้วก็โจรก็ยังไม่ตายนะคะ ตอนนั้น กำลังช่วยโจรอยู่ ตำรวจก็มากระซิบข้างหูหน่ะคะ ว่านี่โจรนะ เราก็มองหน้ากันทั้งหมอทั้งพยาบาลนะคะ เราก็ โจรหน่ะคะ ก็ไม่เป็นไรหน่ะคะ ก็คือคนไข้ของเราก็เต็มที่หน่ะค่ะ เค้าก็รอด”

“หัวค่ำเอาอีกแล้วค่ะ มีเสียงไซเรนอีกแล้ว ก็ปรากฏว่าเป็นระเบิดอีก ก็มีคนเจ็บประมาณเกือบ 30 ค่ะ กับโรงพยาบาลแค่ 30 เตียง เจ้าหน้าที่มีไม่กี่คนนะคะ กลางคืนนะคะ ขึ้นมาอีกมาช่วยกันอีก”

“ลืมเล่าให้ฟังนะคะ ว่าศพที่มาเนี่ยจะมีโทรศัพท์มือถือเค้าอยู่ในกางเกง ก็มีโทรศัพท์เรียกๆเค้ามาเนี่ย เพื่อนเค้ารุ่นพี่เค้าอีกคนก็ล้วงโทรศัพท์ออกมาเนี่ย เบอร์โชว์เนี่ยพิมพ์ว่าแม่ แสดงว่าแม่เค้าโทรมา น้องเค้าก็ไม่กล้ารับ เค้าบอกไม่รู้จะพูดยังไง เค้าก็ส่งให้พี่ เค้าบอกว่าพี่ครับแม่เค้าโทรมา มัน miss call หลายครั้งแล้วนะคะ พี่ก็ยังไม่รับก็ปล่อยให้ดังก่อน มาคุยกับรัตนาบอกว่าพี่จะพูดกับแม่เค้ายังไงดี ก็เราไม่รู้จะตั้งหลักยังไง ถ้าเกิดแม่เค้าถามว่าลูกเค้าเป็นยังไง”

คำถามคือ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ธำรงความเป็นมนุษย์ (Humanity) ของตัวเองอยู่ได้อย่างไร เจ้าหน้าที่เหล่านี้ใช้กลไกอะไรในการธำรงไว้ซึ่งตัวตน (Self) ของตนเองมิให้เปลี่ยนไปหรือแตกสลายไป

สมมติฐานของเราคือ นี่อาจจะเป็นขั้นที่หนึ่งของการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ

ยังมีอีกโมเดลหนึ่งให้สนทนาครับ

จากหนังสือสุขภาวะองค์รวมแนวพุทธของท่านพระพรหมคุณณาภรณ์ ความตอนหนึ่งว่า

"การพัฒนาสุขภาวะทางจิต จะต้องพัฒนาทั้ง 3 ส่วน คือ คุณภาพจิต สมรรถภาพจิต และสุขภาพจิต

คุณภาพจิต คือ องค์ประกอบหรือสภาพจิตที่เรียกว่า คุณธรรมหรือความดี ได้แก่ เมตตา ไมตรีจิต กรุณา ความสงสาร เห็นใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความรู้จักร่วมใจหรืออุดหนุนส่งเสริม ความสุภาพอ่อนโยน ความกตัญญู ความมีศรัทธา เป็นต้น

สมรรถภาพจิต ได้แก่ ความเพียรพยายาม ความขยัน ความเข้มแข็ง ความอดทน ความใฝ่รู้ใฝ่ทำ ความรับผิดชอบ ความมีสติ ความยับยั้งชั่งใจ ความจริงใจจริงจัง ความมั่นใจ ความแน่วแน่มั่นคง มีสมาธิ เป็นต้น

สุขภาพจิต คือ สภาพจิตหรือภาวะจิตที่ดี ได้แก่ ความอุ่นใจ ความอิ่มใจ ความปลื้มใจ ความซาบซึ้ง ความร่าเริงสดใส ความสงบเย็น ความผ่อนคลาย ความชื่นใจ ความโปร่งโล่ง ความเบิกบานใจ เป็นต้น ตรงข้ามกับสภาพที่เป็นทุกข์ ไม่เกื้อกูล เช่น ความขุ่นมัว ความโศกเศร้า ความหม่นหมอง ความคับแค้น ความเหงา ความว้าเหว่ เป็นต้น"

ซึ่งแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพเคยเขียนรายงานส่ง สสส ว่าระดับการพัฒนาจิตอย่างง่ายควรมี 3 ระดับคือ

3.mental quality การทำประโยชน์ให้ผู้อื่น

2.mental capacity การควบคุมความคิดและอารมณ์ของตนเอง

1.mental state สภาวะจิตหรืออารมณ์ในขณะนั้น

คำถามคือความคล้ายคลึงกันนี้เป็นเรื่องบังเอิญ หรือว่ามาจากพระไตรปิฎกโดยตรงไม่ทราบมีใครพบข้อความแบบนี้ในพระไตรปิฎกมั้ยครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วย

สวัสดีครับ

ข้อดีประการหนึ่ง (ในหลายๆประการ) ของการ dialogue ผ่านการเขียนก็คือ การชะลอความเร็วในการรับรู้ลงอย่างมากมาย และมีสิทธิ์จับอะไรก็ได้ห้อยแขวนแล้วเดินชมไปรอบๆให้ได้หลายมุม และข้อสำคัญคือการได้มีโอกาสขยายความคำบางคำที่ไม่สามารถจุความหมายทั้งหมด ลงไปในศัพท์คำเดียวได้

ผมคิดว่า selfless หรือไร้อัตตานั้น ไม่ใช่เป้าหมาย หรือไม่ควรใช้เป็นเป้าหมาย หากแต่เป็นสภาวะที่เกิด en route คือ "ได้มาระหว่างทาง" อันเนื่องมาจากเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าชีวิตที่มีความหมายของเราเกิดจากการมองเห็นความหมายและคุณค่าของชีวิตผู้อื่น

อาจจะเรียกเป็นความพยายามทำให้เรียบง่าย (แต่สื่อแล้วสับสน อิ อิ) ให้เหลือแค่กระบวนการเดียว no stage ไม่มีขั้น ไม่มีตอน มีแต่ประสบการณ์เก็บไปเรื่อยๆ ไม่มีสอบไล่เลื่อนชั้น จิตสามารถหล่นลงมาได้เป็นครั้ง เป็นคราว no big deal แต่ดูๆไปอาจจะค่อยๆห่างขึ้น รู้ตัวมากขึ้น เท่าทันอารมณ์ตัวเองมากขึ้น แต่ก็ไม่ต้องตั้งเป็นเป้าหมาย เป็น KPI เป็น benchmarking หรือเป็นรางวี่รางวัล label ให้เอิกเกริก เหมือนเล่นกอล์ฟ (เปรียบเทียบทั้งๆที่ตัวเองไม่ได้เล่น) ที่เป็นการเสริมสร้างตัวเองนั่นเอง ไม่ได้เอาไว้โม้ให้ใครฟัง

ในการแสวงหาแล้ว ถ้าเราสามารถย้อนกลับมาที่ "สุขภาวะจิต" ได้ เราไม่ต้องไปหาเครื่องมือ เครื่องไม่้เยอะ สำหรับทุกกิจกรรมให้รุงรัง หลักของอริยสัจสี่นั้น ที่นำเอาทุกข์มาตั้ง ไม่ใช่เพื่อแค่ยกตัวอย่าง แล้วเรานำไป apply กับอย่างอื่นมาแทนที่คำว่า "ทุกข์" แต่เป็นการเน้นที่ประตูการรับรู้ของเราโดยตรง ถึงแม้ว่าเราจะดัดแปลงอริยสัจสี่กับเรื่องอื่นๆเป็น PBL อยากจะแก้ปัญหา ก็ identify ปัญหา สาเหตุ วิธีแก้ และดำเนินอยู่บนทางแก้ จบ แต่เป็นเรื่องน่าสนใจว่าทำไมถึงต้องเป็น "ทุกข์" จึงกลายเป็นความจริงแท้ไป

การพยายามเน้นที่ไร้อัตตา หรือไร้ตัวตน ก็เท่ากับกำลังเอาตัวตนมาตั้งอยู่ดี แล้วพยายามจะทำให้ "ไร้" หรือ "ไม่มี" ผมว่าเป็นกับดักรึเปล่าถ้าเป็นเช่นนั้น เหมือนกับเราพัฒนาสุขภาวะจิตเพื่อ .... จะได้เป็น.... ระดับ.... certified by..... อันนี้ก็จะกลายเป็นกับดักอีกรึเปล่า แต่หากเราฝึกเพียงแค่ทำอย่างไร ชีวิตเราจึง based การกระทำ การคิด ของเราบนความรัก ความเมตตา กรุณา ต่อคน ต่อโลก แล้วเรา "รู้สึกดี" ที่เราทำเช่นนั้น จบ simple แค่นี้ ผมคิดว่าจะเกิด "สภาวะ" ต่างๆมากมาย อาจจะรวมไปถึง selfless หรือ ไร้อัตตา ไประหว่างทาง แต่นั่นก็ OK ครับ ไม่ได้ยินดี ยินร้าย ตราบใดที่เรายัง en route อยู่บนถนนเมตตา สี่แยกกรุณา นี้อยู่ ทุกอย่างยัง OK

สุขภาวะที่สมบูรณ์ : ทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ ควรจะทำแผนที่ความคิด (mind mapping) หาความหมายของแต่ละคำให้แตกแขนงงอกงามออกไป
สุขภาวะทางกาย               = ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ไม่ได้รับอุปัทวันตราย มีเศรษฐกิจพอเพียง 
                                               มีสิ่งแวดล้อมดี
สุขภาวะทางจิต                 = มีจิตใจดี มีเมตตา มีสติ มีสมาธิ มีความหย่อนคลายสบายใจ
สุขภาวะทางสังคม            = มีครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง มีศีล ไม่เบียดเบียนกัน มีความเอื้อเฟื้อ
                                               เผื่อแผ่ มีการงานชอบ มีความยุติธรรมในสังคม
สุขภาวะทางจิตวิญญาณ = จิตวิญญาณหมายถึงมีจิตสูง กล่าวคือมีความดี ลดละความเห็นแก่ตัว 
                                               มีปัญญา มีการเข้าถึงสิ่งสูงสุด
สิ่งสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาคือพระนิพพาน ในศาสนาอื่นหมายถึงพระผู้เป็นเจ้า

ว่างๆมาเล่นเกมส์หรือดูทีวีออนไลน์เพื่อสุขภาพจิตที่ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท