ปุจฉา : วิธีทำให้งานเป็นเครื่องมือยกระดับจิตวิญญาณมีอย่างไรบ้าง


 

          อ่านรายงานความก้าวหน้าของแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ระยะที่ ๓  ช่วง พ.ค. – ธ.ค. ๕๑ ของ มสส. แล้ว ผมรู้สึกว่า ตัวอย่างที่ยกมาในรายงาน   ตัวการทำงานนั้นเองเป็นตัวการให้เกิดการยกระดับจิตใจ หรือสุขภาวะทางจิตวิญญาณ

          แต่เราก็เห็นคนจำนวนมากมาย ที่ทำงานแล้วจิตตก   ยิ่งทำงานยิ่งเครียด   ทำไมคนบางคนทำงานไปสุขไปจิตใจโปร่งโล่งสบาย ถ่ายทอดความสุขให้แก่เพื่อนรอบข้างไป   แต่ทำไมบางคนตรงกันข้าม  ทำงานไประบายทุกข์ใส่คนอื่นไป  

          เราได้เห็นบางหน่วยงาน ผู้คนส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความสุข จิตใจดี   แต่อีกหลายหน่วยงานกลับตรงกันข้าม

          ข้อค้นพบของแผนงานพัฒนาจิตจะช่วยวิสัชนาให้ผมกระจ่างขึ้นได้ไหมครับ

          ถาม นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์   และทีมงานท่านอื่นของแผนงานพัฒนาจิต   หรือท่านผู้อ่านจะร่วมแจมด้วย จะยิ่งดีนะครับ

          เราไม่เน้นถูก-ผิดครับ   เราเน้น ลปรร. กัน

วิจารณ์ พานิช
๒๕ ก.พ. ๕๒

                          

หมายเลขบันทึก: 245258เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2009 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 01:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

จากวงจัดการความรุ้ของแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มีคนถามคำถามนี้ และมีคำตอบ 2 ข้อ

ข้อแรก เป็น participantท่านหนึ่งให้ข้อคิดว่า คนทำงานหนักในระบบสุขภาพมักปะปนคำว่า "เหนื่อย" และ "ทุกข์" โดยไม่รู้ตัว ทั้งที่เหนื่อยและทุกข์นั้นไม่เหมือนกัน เมื่อเราคิดว่ามันเหมือนกันจึงเป็นทุกข์

ข้อสอง เป็นทีมวิจัยทางปรัชญาให้คำตอบว่า คนทำงานหนักในระบบสุขภาพแล้วมีความสุข หรืออย่างน้อยก็ไม่ยอมหนีไปไหน มักได้รับความสุขทางปัญญาหรือทางจิตวิญญาณมากพอที่จะชนะความเหนื่อย กล่าวคือ "ได้รับความสุขจากเสรีภาพที่จะทำงานที่ตนเองเห็นว่ามีคุณค่า"

ส่วนข้อสรุปของแผนงานฯ คือการทำงานหนักเป็นกระบวนการหนึ่งของการ "ตามหา" หรือ "ธำรง" ความหมายของชีวิตครับ

SERIES ปุชฉา-วิสัชนานี่สนุกดีครับ

ขอแจม

ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาจิต อาจจะอยู่ที่ตัว Intention ค่อนข้างเยอะ

Intention แตกต่างจาก attention หรือสมาธิ ตรงที่ Intention มีการใส่ อืม.... ใช้คำว่าไรดี... "อธิษฐาน" ได้ไหม คือ เมื่อเรามีความตั้งใจ ตั้งใจให้เกิด ตั้งใจให้เข้าใจ ตั้งใจมองหา ตั้งใจสังเกต อย่าง active ไม่ด่วนตัดสิน เรียนรู้ กับกิจกรรมใดๆ (ในที่นี้คือ "งาน" แต่จริงๆ สำหรับการภาวนาแล้ว การ "หายใจ" เราก็สามารถใส่ intention และทำให้เป็นการภาวนาได้ กินข้าวก็ได้ เดินจงกรมก็ได้ เลี้ยงลูกก็ได้ ขอเพียงใส่ intention ลงไป)

การใส่ intention ลงไปในอะไรก็ตาม ไม่เชิงเป็นการหาความสุข แต่เป็นการหาความ "สงบ" มากกว่า เป็นปิติชนิดที่ตามมาด้วยปัสสัทธิ ไม่ใช่ปิติลิงโลด จึงเป็นปิติ ปัทสัทธิ สมาธิ อุเบกขา (4 ท่อนหลัง ตามหลัง สติ ธัมมะวิจัย วิริยะ ของโพชฌงค์ 7)

ดังนั้นการผ่าตัด ก็เกิด intention ได้ แต่อาจจะเครียด หรือเหนื่อย ก็ยังบังเกิดความสงบ ความอยู่กับปัจจุบัน มีสมาธิได้ ความเหนื่อย ความตึงเครียด เป็น​ "อาการทางกาย" ซึ่งผมว่าอาจจะคนละเรื่องกับสุขภาวะทางจิต (รึเปล่า???) ดังนั้น แม้เราเหนื่อย เราตึงเครียด เราก็อาจจะมีการพัฒนาสุขภาวะทางจิตอยู่ ผ่านทาง intention ปิติ ปัทสัทธิ and so on

จุดเริ่ม...ของความแตกต่าง

น่าจะมาจาก "เจตนาและความตั้งใจ" ที่ตั้งต้นในใจตนเอง จากการถูกผลักออกมาจากการที่มีความคิด ทัศนะคติต่อการทำงานนั้นของตนเอง... ความคิด ความเห็นหรือทัศนะคติ (สัมมาทิฐิ) ต่อการทำงานของแต่ละคนมีระดับของความลุ่มลึกที่แตกต่างกันออกไป...

บุคคลที่มีความลุ่มลึกที่ละเอียด จะมองงานด้วยใจที่ศรัทธา...มากกว่าการมุ่งไปทางวัตถุหรือลาภยศ สรรเสริญ... คล้ายน้อมนำไปทางจิตอันเป็นกุศลที่มุ่งไปเพียงเพื่อการแบ่งปัน...บุคคลที่มีต้นทุนโน้มมาทางนี้จะทำให้ใคร่ครวญต่อปัญหาและอุปสรรคในการทำงานด้วยปัญญาอัตโนมัติ และทำให้เรียนรู้ต่อการผ่านปัญหาและอุปสรรคนั้นไปได้ หรืออยู่กับปัญหาและอุปสรรคนั้นได้

ดังนั้นในมิติการทำงานนั้นอาจจัดเป็นเครื่องมือที่น้อมนำให้คนทำงานได้ใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาทางด้านจิตใจและฝึกฝนตนเองให้ก้าวผ่านสิ่งอันเป็นอุปสรรคและขัดขวาง (ความโกรธ ความอยากได้อยากมี ความหลงต่างๆ รวมถึงทั้งความชอบใจ และไม่ชอบใจต่างๆ ) ในคนทำงานไม่มีใครที่จะไม่เจอปัญหา(ทุกข์)ในงาน ไม่มีใครที่จะหลีกเลี่ยงไปได้ แต่รูปแบบการเผชิญต่อปัญหานั้นต้นทุนทางจิตใจของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน แต่ก็สามารถที่สั่งสมให้เกิดขึ้นได้ในทุกคน โดยเริ่มจากแรงผลักภายในนั่นก็คือ การน้อมนำไปสู่การเปลี่ยงแปลงมุมมองและทัศนะคติที่เป็นไปตามความเป็นจริงภายใต้เหตุและผลของการเกิดสิ่งต่างๆ

การส่งเสริมให้คนลดการสาดพลังแห่งความทุกข์...ได้นั้นต้องเริ่มจากการชี้ให้บุคคลนั้นได้มองเห็นความทุกข์ของตนเองให้ได้ ไม่เลี่ยง แต่ให้เผชิญและยอมรับและเรียนรู้วิธีการอยู่กับทุกข์นั้น... ในคนทำงานก็เช่นเดียวกัน... ที่เราทุกข์เพราะเราอยากผลักไส สภาวะที่เป็น "ภาระ"...ที่เรารู้สึกนั้นอยากผลักไสออกไปให้ไกลจากชีวิต แต่ในความเป็นจริงของการทำงาน เรายังต้องยังอยู่กับภาระที่เรารู้สึกนั้นอยู่ ดังนั้นแทนที่จะให้บุคคลผลักภาระนั้นออกไป แต่เราเปลี่ยนให้เขาได้เรียนรู้กับการอยู่กับภาระนั้น ได้ตามสภาพแห่งความเป็นจริง ด้วยการดึงและน้อมนำพลังด้านดีที่มีอยู่ในตัวบุคคลมาใช้เพื่อเรียนรู้อยู่กับสภาวะของตน

และการที่บุคคลสาดทุกข์ใส่คนอื่นนั้น เพราะเป็นสภาวะแห่งการผลักไส ... แต่หากให้บุคคลได้เรียนรู้ที่จะไม่ผลักไส นั่นน่าจะเป็นทางออกที่พอเป็นไปได้สำหรับคนหน้างานต่างๆ ขณะเดียวกันเสริมสร้างและกระตุ้นเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่มีอยู่ในตัวบุคคลให้งอกและให้เจริญให้ได้ แต่ในการบ่มเพาะนั้นบุคคลต้องเรียนรู้การบ่มเพาะด้วยตนเอง ด้วยความอดทน ...

ที่สุดหากบุคคลได้ตั้งต้น...ทางความคิด ความเห็น...ที่ถูกต้องตามจริงตามเหตุและปัจจัย จากั้นอาศัยความพากเพียร อดทน อดกลั้น ทำสิ่งที่ต่างๆ ภายใต้แห่งความถูกต้อง ต่อเนื่อง ตั้งมั่น และอย่างรู้ตัว... บุคคลนั้นก็จะได้เรียนรู้การผ่านปัญหาและอุปสรรคแห่งการงานไปได้ หรืออยู่กับปัญหาและอุปสรรคแห่งการงานนั้นได้ด้วยใจที่เบิกบานค่ะ

เชื่อเช่นนั้นค่ะ

(^___^)

ขอบพระคุณอาจารย์ที่สอนอย่างไม่ได้สอนค่ะ

ตัวอย่างเช่น...

หากการทำงานบางอย่างที่หัวหน้าไม่เห็นด้วย แทนที่เราจะโกรธหรือไม่พอใจหัวหน้า เราหยุดอยู่นิ่งๆ กับลมหายใจของเราให้ความโกรธหรือไม่พอใจนั้นเบาบางลงไป จากนั้นค่อยๆ ใคร่ครวญหาทางออกแห่งการงานว่ามีช่องทางใดบ้างที่เราจะได้ทำงานที่เราเชื่อว่าเป็นงานที่ดีมีคุณค่าและก่อเกิดประโยชน์ มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่อยากนำมายกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เช่น การที่หัวหน้าไม่อนุมัติให้ไปทำงานภายนอกองค์กร แต่เมื่อเราพิจารณาแล้วว่างานภายในเราไม่เสีย งานภายนอกเราพอมีประโยชน์อยู่บ้าง เมื่อหัวหน้าไม่ให้ไปเราก็ไม่ตัดโอกาสตนเองในการเรียนรู้แต่ก็ไม่ขัดแย้งกับหัวหน้า...แต่เราอาจใช้เวลาที่อยู่ภายใต้สิทธิที่เราพึงมีตามสถานะโดยไม่เป็นการเบียดเบียนทั้งอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกที่จะก่อเป็นความขัดแย้งใดใดในองค์กร ขณะเดียวกันเราก็ได้ทำงานทีเราปรารถนาอยากจะทำ ...

เมื่อไรที่เราหยุดการใช้อารมณ์ นำพาตนเองสู่สภาวะแห่งความสงบภายในเราจะได้ใช้โอกาสใคร่ครวญเรื่องราวปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้ดีขึ้นจนนำไปสู่เป็นสภาวะแห่งความกระจ่าง โดยที่เราไม่ต้องใช้ความรุนแรงทั้งทางอารมณ์ และความรู้สึกนึกคิด...

ขออนุญาตเพิ่มเติมค่ะ...

ในบุคคลที่กระทำงานอย่างมากมาย แต่ทำไมเกิดปิติเกิดขึ้นจากการงาน ยิ่งทำงานมากยิ่งก่อเกิดเป็นพลังงานมากอย่างมหาศาลนั้น...

นั่นอาจเป็นเพราะการตั้งต้นดั่งที่กะปุ๋มให้ทัศนะในเบื้องต้น..นั่นคือ การเริ่มต้นการมีความคิดเห็นที่มองตามเหตุแห่งความเป็นจริง (สัมมาทิฐิ) และเมื่อเราตั้งมั่น พากเพียรต่อการงาน จิตจ่ออย่างต่อเนื่องและรู้ตัว ทำงานภายใต้สัจจะไม่เป็นการกระทำสิ่งอันเป็นอกุศลเช่น ไม่ขัดกฏ ระเบียบ ไม่ทำสิ่งที่บิดเบือนความจริง(ไม่กระทำใดใดที่โน้มไปทางชั่ว)... จิตที่ผลักให้กระทำสิ่งแสดงออกมาภายนอกผ่านการลงมือทำงาน ณ ขณะนั้นดวงจิตจะเคลื่อนหรือเลื่อนไหลไปสู่สภาวะแห่งความลุ่มลึกที่ละเอียดขึ้น ประสบการณ์ผ่านปัญหาและอปสรรคจะน้อมนำให้คนทำงานเกิดปัญญาและมีมุมมองต่างๆ ลึกซึ้งขึ้น... ใช้ใจใคร่ครวญมากกว่าสมองอย่างเดียว ... สภาวะต่างๆ เหล่านี้กระตุ้นให้สารชีวเคมีด้านดีหลั่งออกมาอย่างมากมาย... ก่อเกิดเป็นพลังงานอย่างมากมายในร่างกายนี้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบุคคลที่ทำงานด้วยพลังแห่งความปิตินี้ส่วนใหญ่ค่อนข้างจะมีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่จำเป็นต้องป่วย...

ร่างกายที่ดำรงอยู่นี้...อิงอาศัยด้วยจิตที่เบิกบาน ก็จะน้อมนำไปสู่สุขภาวะที่ดี การมองสิ่งต่างๆ ตามจริงจะทำให้จิตยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างไม่บิดเบือน ทุกข์ในภาระงานก็รับรู้ตามจริง เมื่อรับรู้ตามจริงความตั้งใจในการกระทำจะก่อเกิดตามมาอย่างเป็นอัตโนมัติ รวมไปถึงความพากเพียร อดทน จอจ่อ ต่อเนื่องอย่างรู้ตัว เหล่านี้... รวมเป็นพลัง

พลังเรามีทั้งทางด้านบวก และด้านลบ การทำงานก็เช่นเดียวกันเราเลือกที่จะน้อมนำตนเองทำงานด้วยพลังด้านบวกหรือด้านลบ ... ไม่ว่าด้านใด บางครั้งอาจเห็นผลสำเร็จของงานได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่เหลือตกค้างจะไม่เหมือนกัน ... บุคคลที่ใช้พลังด้านบวก (ความดีงามจิตอันเป็นกุศล-ความตั้งใจ)จะยิ่งปิติและก่อเกิดเป็นพลังงานอย่างมหาศาล(มนุษย์มีศักยภาพภายในอย่างไม่มีขีดจำกัด) แต่บุคคลที่ใช้พลังด้านลบ(ความโกรธ ความอยากได้อยากมีต่างๆ ความพอใจหรือความไม่พอใจ)ทำงาน เมื่อเสร็จสิ้นงานแล้วแทบจะหมดเรี่ยวแรงเลยทีเดียว...

(^___^)

ขอบพระคุณค่ะ

จากเรื่องเล่าของคุณกิจที่ทางแผนงานฯได้คัดเลือกมาร่วมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

แรงกระตุกที่ได้จากวงสำหรับตัวเองคือ คนเหล่านี้เห็นคุณค่าของตัวเอง เห็นคุณค่าของงานที่ทำ รวมถึงเห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมงาน คนไข้ ซึ่งก็สอดคล้องกับการสังเคราะห์ของทีมปรัชญาที่เห็นว่าผู้คนที่ทำงานเหล่านี้เห็นคุณค่าจึงทำดี และมีความสุข

พอเห็นคุณค่า เราก็มักจะทำสิ่งนั้นๆอย่างเต็มที่ อย่างถนุถนอม อย่างมีความรัก ความเชื่อมั่น ความศรัทธา ถ้าเทียบกับตัวเองก็คือถ้าเราเห็นค่าใครสักคน เราก็อยากทำอะไรดีๆให้คนนั้น เราก็จะมีความอดทนกับคนนั้นมากไปกว่าคนอื่น เราก็จะยอมอภัยให้เค้าได้ง่ายกว่าคนอื่น

ถ้าจะวิสัชนาคำถามของอาจารย์

อยากจะตอบเป็นประเด็นคือ

ประเด็นที่ 1 ทำไมคนทำงานบางคนยิ่งทำ ยิ่งเครียด ยิ่งจิตตก มันคงมาจากเหตุผลอื่นๆมากมาย การไม่เห็นคุณค่าของงานนั้นก็หนึ่งละ การตั้งความหวังกับสิ่งที่ทำลงไปนั้นก็เป็นประการที่สอง ยิ่งถ้าหวังมากแล้วไม่ได้ดังหวังก็จะเครียด จิตตก

ประเด็นที่ 2 ทำไมคนบางคนทำงานไป มีความสุขไป ถ่ายทอดความสุขให้คนรอบข้าง คงต้องย้ำเหตุผลเดิมของตัวเองว่าเค้าเห็นค่าของงาน แถมด้วยเห็นค่าของเพื่อนร่วมงาน คนไข้ ทำให้เค้าอยากทำสิ่งดีๆ ทำให้คนที่เค้าเห็นค่ามีความสุข รวมไปถึงความรู้สึกเท่าเทียมกัน รู้สึกว่างาน เพื่อน คนไข้ เป็นส่วนที่มาเติมเต็มชีวิตเรา

ประเด็นที่ 3 ทำไมคนบางคนทำงานไป ระบายความทุกข์ใส่คนอื่นไป อาจเป็นเพราะเค้ามองไม่เห็นค่าของคนอื่น ไม่เห็นค่าเพื่อนร่วมงาน เห็นแต่คุณค่าของตัวเอง ของงานที่ทำ คิดว่าใครทำงานก็ไม่ดีเท่า ไม่มีคุณค่าเท่าเค้าทำเอง ทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจเค้า เค้าก็เลยอาจจะทำไม่ดีกับคนอื่นไปบ้าง ทำให้คนอื่นทุกข์ไปบ้าง แต่นั่นก็ไม่ได้แสดงว่าเค้าเป็นคนไม่ดี เพียงแต่เค้าอาจจะยังไม่เปิดใจ เปิดโอกาส หรือยังไม่เห็นค่าของคนอื่นเท่านั้นเอง

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์หมอฯ

ขออนุญาตร่วมแสดงความเห็นด้วยนะครับ

"เราก็เห็นคนจำนวนมากมาย ที่ทำงานแล้วจิตตก   ยิ่งทำงานยิ่งเครียด   ทำไมคนบางคนทำงานไปสุขไปจิตใจโปร่งโล่งสบาย ถ่ายทอดความสุขให้แก่เพื่อนรอบข้างไป   แต่ทำไมบางคนตรงกันข้าม  ทำงานไประบายทุกข์ใส่คนอื่นไป"

ในส่วนนี้ผมมองว่าคงเป็นเรื่องของปัจเจกชนแต่ละท่านที่จะต้องพัฒนาด้วยวิถีทางเฉพาะตนครับ

"เราได้เห็นบางหน่วยงาน ผู้คนส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความสุข จิตใจดี   แต่อีกหลายหน่วยงานกลับตรงกันข้าม"

ในส่วนนี้ ผมคิดว่ามันน่าจะเชื่อมโยงกับมิติของความเป็น "ชุมชน" ของหน่วยงานนั้นๆ หากหน่วยงานใด ที่คนในหน่วยมีการปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนกันอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการในระดับที่ลึก ผมคิดว่าน่าจะทำให้คนในหน่วยค้นพบความสุขจากการทำงานร่วมกัน และค้นพบความสุขจากการให้บริการ 

แต่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เราจะทำงานไปตามฟังก์ชัน หน้าที่ โดยขาดการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเท่าที่ควร เลยทำให้เหมือนอยู่โดดเดี่ยว ไร้ชีวิต และทุกข์

ขอร่วมลปรร.ด้วยคนค่ะ

ถือเป็นความโชคดีที่เป็นหนึ่งในทีมงานแผนงานพัฒนาจิตฯ

โชคดีอย่างแรกที่ได้ฟังเรื่องเล่าประสบการณ์ของคนทำงานดูแลรักษาคนไข้ ไม่ใช่ว่าเรื่องเล่านั้นสนุก หรือเรื่องเล่านั้นรันทด แต่ inspire คนฟังให้หวนหรือกลับมาสำรวจความรู้สึกภายในลึกของตนเอง (internal discovery) จนอยากเปลี่ยนหรืออยากทำอะไรบางอย่าง อย่างนั้นบ้าง

โชคดีที่สองได้เรียนรู้ว่า นอกจากหลักยึดและการปฏิบัติทางศาสนา ผู้คนเหล่านี้มีวิธีดูแลตนเอง เพื่อนร่วมงาน คนไข้ คนรอบข้างทั้งทางกาย จิตใจ สิ่งรอบๆตัว โดยเฉพาะความรู้สึกภายในหรือจิตวิญญาณ (ยากจะอธิบายให้เข้าใจว่าคืออะไร แต่เราสัมผัสได้) ไม่ว่าจะเป็น การฟังผู้อื่นด้วยหัวใจไม่ตัดสิน การมี positive thinking สมาธิและใช้สติปัญญาใคร่ครวญเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเป็นอีกหนทางหนึ่งให้ผู้คนที่อยู่บนโลกในยุคไร้พรหมแดนได้อย่างมีความสุข (ตามอัตภาพ)

โชคดีที่สามสิ่งสวยงานมีอยู่เสมอหากรู้จักมอง

คนเหล่านี้มีวิธีมอง มีมุมมอง วิธีคิด ต่อเพื่อนร่วมงาน คนไข้ ได้อย่างลึกซึ้งถึงภายในจนกระทั่งเห็นคุณค่า เห็นความหมายและความสวยงามบนโลกได้ด้วยใจ (mind) ไม่ใช่ด้วยตา ให้ความรักด้วยกรุณา เห็นคุณค่าของตนอยู่ที่การกระทำไม่ผูกกับวัตถุสิ่งของภายนอก

ความเห็นของตัวเองแล้ว ท้ายสุดมนุษย์ไม่ต้องการอะไรมาก ขอแค่ความสงบ (peace)ในชีวิตก็พอ สุขทุกข์เป็นของคู่กันเป็นธรรมดา ขึ้นอยู่กับเส้นแบ่งความเข้าใจแต่ละคน ความสุขของคนเหล่านี้คือได้ทำอะไรให้ผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่สิ่งที่ได้รับยิ่งใหญ่มาก เขาเหล่านั้นได้พัฒนา(จิตปัญญา)ตนเอง (ก่อน) โดยไม่รู้ตัว มีความสุขและเกิดความสงบได้อย่างง่ายๆ ที่สำคัญได้ทำสะสมจนเป็นวิถีของตน ฝึกที่จะดึงเอาด้านดีๆมาใช้ (บ่อยๆจนลืมด้านแย่ๆ)จนเคยตัว มีเป้าหมายในชีวิต บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวช่วยได้ดีทีเดียว หากมีเพื่อนที่มีมิตรจิตก็จะช่วยจับมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไป

อ สกล พูดถึง intention คุณ Ka-Poom พูดถึงเจตนาและความตั้งใจ เหมือนหรือไม่เหมือนกันครับ เป็นความต่างของคำศัพท์อีกกรณีหนึ่ง

คุณ Ka-Poom เสนอเรื่องน่าสนใจ เราควรอยู่กับความทุกข์ฺให่ได้ ไม่พยายามกำจัด จึงจะไม่สาดคนอื่น ถูกมั้ยครับ

คุณเจิมขวัญ พูดเรื่องคุณค่า คุณค่าจะเป็นkeywordของงานนี้แน่ๆ ส่วนประเด็นการไม่เห็นคุณค่าของคนอื่น ผมมีสมมติฐานว่ามาจากที่คุณณภัทร๙ที่เขียนไว้ตามมา นั่นคือ รพต่างๆ ไม่มีความเป็นชุมชน

เสมสิกขาลัยเรียกว่า่ไม่มีสังฆะ คือสังฆะของคนทำความดีที่จะเกื้อหนุนกันและกัน

ผมคิดว่าคุณสมหญิงพูดหลายประเด็น

ผมจะจับประเด็นเดียวก่อนคือเรื่อง "มุมมอง"

ซึ่งตรงกับที่ทีมวิจัยทางปรัชญาของแผนงานฯ ตั้งสมมติฐานไว้

จนท ที่พัฒนาจิตได้ดีเพราะมีมุมมองต่อระบบและงานไม่เหมือนคนอื่น

คำถามคือเขามองอะไร เห็นอะไร

เขาให้อะไรเป็น figure อะไรเป็น ground และเขาใช้ perspective อะไร

แล้วเราจะสร้างมุมมองนั้นให้แก่เพื่อนคนอื่นๆได้อย่างไร

อ.ประเสริฐครับ

อืม.. ผมเจตนาไม่แปล intention หรือแปลก็จะเลียบๆเคียงๆไม่ใช้คำว่า "เจตนา" หรือ "ตั้งใจ" เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่ามันมี "มิติ" ของ intention ที่มากกว่าธรรมดาจึงจะบรรลุสิ่งที่เราพูดถึงกัน อันนี้ไม่ใช่ว่าตามหลักภาษาศาสตร์อะไร แต่เป็นเพียงจงใจให้สะดุดเท่านั้น

เนื่องจากคำ "เจตนา" หรือ "ตั้งใจ" นั้น อาจจะใช้ในความหมายที่ค่อนข้างจะแผ่วๆ บางคนก็อาจจะคุ้นไปในภาษากฏหมายด้วยซ้ำ

ในหนังสือ Intention Experiment ของ Lynne Mactaggart (ที่ผมเคยไปพูดที่จิตวิวัฒน์ครั้งหนึ่ง) ได้ขยายความลึกของ intention ไว้ว่า ไม่เพียงแค่อยากจะให้มีอะไรเกิดหรือเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่คนมี intention จะใคร่ครวญครุ่นคิดถึงกระบวนการและกลไกในการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย จะเรียกว่ามี "จิตตะ วิมังสา" ลงไปด้วยก็ว่าได้กระมัง บางทีผมก็มักง่ายขอใช้คำ "อธิษฐาน" เข้าดื้อๆ (ซึ่งต่อมาคำอธิษฐานนี้ก็น้ำหนักน้อยลงไปอีก ประเภท เจ้าประคู้นนนน... ขออธิษฐานให้......... ก็ไม่ตรงอีก)

ดังนั้น intention เจตนา ตั้งใจ หรืออธิษฐาน ที่จะเกี่ยวข้องกับเครื่องมือการยกระดับจิตวิญญาณ คงต้องมีบริบทพ่วงเข้าไปเป็นกระษัยในกลไกด้วย

มั้งครับ

เรียน อ สกล

ขอบคุณมาก ผมเดาอยู่แล้วว่าคำintentionของอาจารย์ไม่อาจแปลได้ ผมต้องการโยนเรื่องนี้ลงกลางวงว่านี่เป็นอีกกรณีหนึ่งของการใช้ภาษา ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น

โดยส่วนตัวผมเชื่อเรื่องภาษาเป็นพาหนะที่ใช้บรรทุกความคิดและบริบท ดังนั้นถ้าภาษาเดิมใช้ไม่ได้ เราต้องสร้างภาษาใหม่ให้ได้

ประเสริฐ

* ค้นหาสาเหตุของความเครียดให้พบว่ามาจากอะไร ?

          - งาน

          - ตนเอง

         - บุคคลอื่น

* หาทางออกที่จะแก้ปัญหานั้นๆ เพื่อทำให้ผ่อนคลายอย่างเป็นขั้นตอน ด้วยใจเป็นกลางปราศจากอคติ... ไม่ยึดมั่น...ไม่ถือมั่น ไม่ถือตนเองเป็นใหญ่....ปฏิบัติตามแนวอริยมรรค...

  คุณพ่อสอนไว้ว่า...." กินยาหมอเฉย..หมอยิ้ม "...ไม่ต้องซื้อ..ไม่ต้องหา..มีอยู่แล้วในตัวเราเองนะคะ....

                             nongnarts

                        

ขอบพระคุณที่ให้โอกาส...ค่ะ

"เมื่อใดก็ตาม...ที่เราอยู่ ณ สภาวะที่เป็นอยู่" เราก็ยอมรับต่อความเป็นไปนั้นได้ ทางด้านจิตวิทยามีทฤษฎีมากมายที่น้อมนำบุคคลให้ยอมรับต่อตนเองได้... แต่ที่ลึกไปกว่านั้น พระพุทธองค์ท่านได้เจอคำตอบอันยิ่งใหญ่ นั่นคือ อริยสัจทุกข์ ... ชี้ทางสว่างให้สรรพสิ่งได้รู้จักทุกข์และเรียนรู้การดำรงอยู่ท่ามกลางสภาวะทุกข์นั้นได้ แม้ว่ามนุษย์จะพยายามหลีกเร้นนำพาตนเองออกจากทุกข์ แต่ก็ต้องไปเผชิญหน้ากับอีกสภาวะทุกข์หนึ่งอยู่เสมอ ดังนั้นจึงไม่อาจที่จอบอกได้เลยว่าเรานั้นเลี่ยงทุกข์ได้...

หนทางแห่งการพอรอด พอไหว ท่านก็ชี้ทางให้แล้วนั่นคือ "มรรค8" ที่หากน้อมพิจารณาแล้ว...นั่นก็สามารถนำมาสู่วิถีแห่งการใช้ชีวิตได้ในทุกๆ เรื่อง ดังนั้น การทำจะนำทางตนเองให้พออยู่พอได้พอไหวท่ามกลางทุกข์ที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นนั้น ... ด้วยภาษาง่ายๆ คือ ละทำสิ่งที่ไม่ทั้งภายในและภายนอก เมื่อเราละทำสิ่งไม่ดีได้ เราก็จะสามารถทำสิ่งที่ดีได้ง่ายขึ้น เช่น ทำงานเหนื่อยอยากด่าคน เราอดทนที่จะไม่ด่า เมื่อเราไม่ด่า สภาวะบีบคั้นที่ทำให้อยากด่าก็จะหดหายไป สักพักสภาวะใหม่ก็จะเข้ามาแทนที่ เป็นอยู่เช่นนี้เรื่อยๆ ภายใต้กฏไตรลักษณ์... ฝึกดู ฝึกทำ ฝึกอดทนอย่างต่อเนื่อง (สมาธิเกิด) ที่สุดความคิดเราก็จะสว่างขึ้น คิดหาทางออกที่เหมาะสมได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องด่าใครในการทำงานก็ได้...

เมื่อเรารู้ การรู้จะน้อมนำให้เกิดการยอมรับต่อเรื่องที่รู้นั้นได้มากขึ้น แล้วเราก็จะยุติการกระทำที่ไม่ดีไม่เหมะสมได้...

เช่น เรารู้ว่าเราอ้วน เราจึงไปหายาทานลดความอ้วน นั่นน่ะเป็นสภาวะรู้ที่ยังเข้าไม่ถึงการรู้แจ้งชัดในเรื่องอ้วน หากแต่เมื่อฝึกการพิจารณาถึงว่าทำไมถึงอ้วน เหตุแห่งการอ้วนนั้นคืออะไร เมื่อรู้ไปถึงเหตุการรู้ก็เริ่มลึกซึ้งขึ้น ... เมื่อลึกซึ้งขึนก็ตระหนักขึ้น เมื่อตระหนักขึ้น ก็จะทำสิ่งที่เหมาะสมมากขึ้น

ตัวอย่างเรื่องด่า หรือเรื่องอ้วนนี้ ... นั่นก็คือ เรื่องทุกข์นั่นเอง

ผมมีสมมติฐานใหม่

กระบวนการKMนั่นแหละคือกระบวนการพัฒนาจิต

ดังที่พระไพศาลได้เขียนเอกสารส่งแผนงานฯ ว่า

"อีกจุดที่น่าเน้นก็คือ “กระบวนการ”ที่ส่งเสริมพัฒนาการทางจิตปัญญา ซึ่งจากประสบการณ์ของหลายคนที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ชี้ให้เห็นว่ามีประโยชน์ต่อตัวเขามาก กระบวนการเหล่านี้น่าจะมาวิเคราะห์ว่าได้ทำอะไรต่อจิตและปัญญาของผู้เข้าร่วม (เช่น ดึงเอาพลังฝ่ายบวกออกมา หรือทำให้รู้จักตัวเอง เห็นศักยภาพของตัวเองมากขึ้น ทำให้มั่นใจที่จะทำความดี หรือทำให้เห็นด้านดีของคนอื่นมากขึ้น ไม่ด่วนตัดสินจากที่เห็นด้วยตาของตนเท่านั้น)

อันที่จริงกระบวนการที่ใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากที่เล่ามา ก็มีส่วนมากในการพัฒนาจิตปัญญาของผู้เข้าร่วม หากมีการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการดังกล่าวก็จะมีประโยชน์มาก ไม่เฉพาะในระบบสุขภาพของไทย แต่มีคุณค่าสำหรับที่อื่น ๆ ด้วย"

และตัวอย่างเล็กๆเพียง 1 ตัวอย่างจาก link นี้

http://sph.thaissf.org/index.php?module=webboard&pg=show&Category=webboard_sph&No=19

ได้ตามไปอ่านแล้วครับ อาจารย์หมอ ประเสริฐฯ

"...ดีที่สุดทำหรับงานทั้งหมดนี้คือทุกคนที่มาช่วยงานรู้สึกอย่างจริงจังว่างานยาเสพติดซึ่งยาก และไม่มีคนอยากทำนั้น เป็นงานที่มีคุณค่าสูง และคนทำงานรู้สึกดีที่ตนเองได้มามีส่วนร่วมในงานที่มีคุณค่าสูงเช่นนี้  ทั้งที่ทุกคน(รวมทั้งผม)ยอมรับว่าในตอนแรกที่มารับงานนั้นหดหู่ใจด้วยกันทุกฝ่าย"

หรือว่านี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดการยกระดับทางจิตวิญญาณของคนทำงานครับ

 

 

ขอบคุณอจ.ทุกท่านค่ะ เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ แห่งการงานอันเบิกบาน ของ TARTHANG TULKU ที่คุณโสรีช์ โพธิแก้วแปล ตั้งแต่ปี 2535 จนปัจจุบันยังไม่เบื่อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท