เชื่อมั่นประเทศไทย


เปลี่ยนวิธีทำงานของ ผวจ. และทีมงาน จาก power-intensive เป็น creativity-intensive เน้น creativity ของผู้ปฏิบัติ ซึ่งส่วนใหญ่คือของชาวบ้าน ชุมชน ประชาชน ประชาคม ผู้ประกอบการ นักวิชาการ

เชื่อมั่นประเทศไทย

มีคนส่ง อี-เมล์ มาดังนี้

 

เรียน ศ. นพ. วิจารณ์  พานิช

         ด้วยสำนักงาน ก.พ.ร. ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ" ระหว่างวันที่ 6-7 พ.ค. 2552 ตามรายละเอียดที่แนบมานี้ ทางสำนักงานก.พ.ร. เห็นว่าท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ จึงขอความอนุเคราะห์เข้าสัมภาษณ์ และบันทึกภาพเพื่อเปิดฉายระหว่างการประชุม ในวันและสถานที่ที่ท่านเห็นสมควร

         จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

                                               สุภาภรณ์  นามปรีดา

                                        นักพัฒนาระบบราชการ ชำนาญการ

                                               

รายละเอียดการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ

เพื่อบันทึกภาพเป็นวีดิทัศน์เปิดฉายระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการ

เชื่อมั่นประเทศไทยกับการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ

 

ที่มาและวัตถุประสงค์

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ นโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัด  (ก.น.จ.) ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งสิ้น 800 คน มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 พฤษภาคม 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัด และกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งสาระสำคัญของการประชุมดังกล่าวประกอบด้วย

§  การทำงานแบบบูรณาการ การแสวงหาความร่วมมือ ตลอดจนสร้างเครือข่ายกับฝ่ายต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข็มแข็งให้กับพื้นที่

§  มุมมองจากภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาครัฐในการทำงานร่วมกัน

§  บทบาทของภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัด

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการจัดทำวีดิทัศน์ขึ้น เพื่อรวบรวมความคิดเห็น และมุมมองจากภาคส่วนต่างๆ ในการทำงานร่วมกัน อันจะเป็นการขับเคลื่อนให้การบริหารงานจังหวัด และกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

 

ผู้เข้าร่วมประชุม

            ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานส่วนกลาง หน่วยงานราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และ

อ.ก.น.จ. 6 คณะ จำนวน 900 คน

 

ประเด็นคำถาม

1.       จากสถานการณ์โลกที่เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ มีหลายประเทศกลับมาเน้นที่จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการภายในประเทศ (domestic focus) เพิ่มขึ้น เช่น เปลี่ยนจากเน้นการส่งออกเป็นการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ หรือการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ

          ในมุมมองของท่านคิดว่าจะมีนโยบายอะไรที่จะช่วยผลักดันให้เกิดสิ่งเหล่านี้

2.        ท่านคิดว่าผู้ว่าราชการจังหวัดควรมีบทบาทสำคัญอย่างไรที่จะผลักดันนโยบายนี้

 

ระยะเวลาในการสัมภาษณ์

ประมาณ 20 นาที

 

ผมชอบเป้าหมายนี้ เพราะมองสังคมไทยเชิงบวก    มองเห็นการยกระดับเศรษฐกิจโดยพลังของ ตลาดภายใน    และเน้นการทำงานราชการแบบบูรณาการ แบบร่วมมือกัน ทั้งในราชการด้วยกัน และร่วมมือกับทุกภาคส่วนในจังหวัด   แถมยังเน้นการทำงานแบบ cluster ด้วย    ผมจึงยอมนัดให้สัมภาษณ์ ทั้งๆ ที่การมาขอสัมภาษณ์แบบกระทันหัน อีกไม่กี่วันก็ถึงวันงานแบบนี้มักโดนผมดูถูก    ว่าทำงานแบบลวกๆ หรือหาคนอื่นสัมภาษณ์ไม่ได้ จึงหันมาจับผม ที่เป็นคนใจง่าย เชิญง่าย

เรื่องแบบนี้ ผมใช้เวลาเตรียมมาก   คนที่มาสัมภาษณ์คงจะไม่รู้นะครับ ว่าคนแบบผมไม่สามารถตอบคำถามแบบเจื้อยแจ้วโดยไม่ต้องคิดมาก่อนได้   เพราะผมติดนิสัยของ ผู้ไม่รู้จะตอบคำถามใดๆ ต้องไตร่ตรองก่อน    ต้องตรวจสอบข้อมูลก่อน

 

นโยบาย domestic focus นี้แปลว่า เราหมุนวงจร supply – demand ภายในประเทศ   เอา demand ภายในประเทศไปกระตุ้น supply ภายในประเทศ    และหาทางทำให้วงจรนี้หมุนยกระดับขึ้นไป    ที่จริงพูดว่า วงจรเฉยๆ คงจะผิด    ต้องเป็น กลุ่มวงจรคือถ้าเป็นภาษาอังกฤษต้องเติม s   ความเห็นของผมก็คือ ต้องเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ ที่หลากหลายภายในประเทศเข้าด้วยกัน   ใช้ products และ services ต่างกลุ่มกระตุ้นซึ่งกันและกัน   ให้เกิดการแข่งขันและร่วมมือกัน   ใช้จุดแข็งหรือศักยภาพที่มีอยู่เป็น สินทรัพย์หรือ ต้นทุนในการยกระดับการผลิต และยกระดับวัฒนธรรมการบริโภคขึ้นไป   แล้วใช้จุดแข็งภายใน ดึงดูดนักท่องเที่ยวภายนอกประเทศเข้ามา

 

ดำเนินการระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว

คงต้องหาความรู้ ว่าตลาดภายในประเทศเป็นสัดส่วนเท่าไรในปัจจุบัน   และเรามีเป้าจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นไปสักเท่าไร    ตลาดภายในประเทศนี้ มีการแบ่ง segment อย่างไร   แต่ละ segment มีสัดส่วนอย่างไร    มีเป้าหมายลงน้ำหนักที่ segment ใดอย่างไร   คือต้องเข้าใจระบบที่ซับซ้อน และต้องมีสติว่าเรากำลังดำเนินการกระตุ้นระบบที่ซับซ้อน   ที่มีเหตุปัจจัยหลากหลายเชื่อมโยงกัน   ต้องหาจุดกระตุ้นที่เมื่อกระตุ้นแล้วจะส่งผลดี หรือผลสะเทือนไปทั้งระบบ  

 

มีการวิจัยหนุน

ในสายตาของผม ต้องเสริมด้วยการวิจัยระบบ    ต้องมีหน่วยงาน/นักจัดการงานวิจัยเชิงระบบ เข้ามาเสริม   สร้างการวิจัยเชิงระบบขึ้นมา    อาจเรียกว่า ชุดโครงการวิจัยระบบตลาดภายในประเทศ    เป็นการดำเนินการพัฒนาระบบตลาดภายในประเทศด้วยมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลคิดขึ้น    บวกกับการสร้างความรู้คู่ขนาน และความรู้เพื่อป้อนเข้ามาใช้จัดการแผนงานและมาตรการเหล่านั้น    อาจเรียกว่าเป็น Knowledge-Based Management ก็ได้    โดยควรกำหนดว่า ร้อยละ ๒ ของงบกระตุ้นตลาดภายใน จะใช้เพื่อการวิจัย    เช่นงบทั้งหมด ๑ หมื่นล้านบาท  จะเป็นงบวิจัย ๒๐๐ ล้านบาท    จุดสำคัญคือต้องเอาเงินวิจัยนี้ไปให้หน่วยงานที่จัดการงานวิจัยเก่งเป็นผู้จัดการ

 

ใช้วิกฤติเป็นโอกาส

ต้องเข้าใจว่าผลของนโยบาย domestic focus นี้ ไม่เกิดเร็ว   จะค่อยๆ ก่อผล จึงต้องวางรากฐานระบบเพื่อการทำงานระยะยาว   ไม่ใช่ทำแบบวูบวาบ   นี่คือโอกาสเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจสังคมของเรา    ที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศมากเกินไป    มาเป็นระบบที่สมดุล วางน้ำหนักพอดี ระหว่างตลาดต่างประเทศกับตลาดในประเทศ    และที่สำคัญ เป็นระบบที่เราคิดเองทำเอง ไม่ใช่ถูก MNC และรัฐบาลต่างประเทศจูงจมูก อย่างที่ผ่านมา

 

บทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด

ต้องทำงานแนวใหม่ ที่ไม่ใช้วัฒนธรรมอำนาจ ไม่เน้นการสั่งการ    แต่เน้นการเชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่หลากหลายเข้าด้วยกัน  

ที่จริงแต่ละจังหวัดต่างก็มีแผนพัฒนาจังหวัดอยู่แล้ว   น่าจะเริ่มที่นั่น   และน่าจะใช้เครื่องมือ SSS – Success Story Sharing ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง   โดยผมมองว่า ผวจ. ต้องมุ่งทำ Change Management   และทำโดยต่อยอดความสำเร็จ   และเรียนรู้ความสำเร็จจากจังหวัดอื่น   แต่ไม่มุ่ง copy มุ่งเอาแนวความคิด เทคนิค มาปรับใช้  

ยุทธศาสตร์น่าจะมีได้มากมาย เช่น การทำ market chain ร่วมกันหลายจังหวัด หรือหลายจุดหลายสินค้าในจังหวัด   การทำ market study, market development ร่วมกัน   การแลกเปลี่ยนการเป็น supplier และ customer ระหว่างจังหวัด  หรือระหว่างชุมชนในจังหวัด   การทำให้ consumer เป็น learner ไปในตัว   การร่วมกันพัฒนา สินค้าจากหลาย ชิ้นส่วนที่มีอยู่คนละจังหวัด ให้ได้สินค้าใหม่ที่ดึงดูด และคุณภาพสูง    เราสามารถใช้จินตนาการสร้างสรรค์ได้ไม่มีจบสิ้น   ยิ่งเมื่อลงมือทำ ก็จะยิ่งเกิดความคิดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

แต่ความสร้างสรรค์นี้จะไม่เกิด หรือเกิดยาก หากใช้วิธีทำงานแบบราชการปัจจุบัน คือเขียนโครงการแบบตายตัว แล้ววัดผลงานโดยการดูว่าได้ทำตามแผนหรือไม่   ต้องเปลี่ยนใหม่เป็นตั้งเป้า ตั้งคุณค่า/มูลค่า ที่ต้องการ   แล้วส่งเสริมให้เกิดการลงมือดำเนินการสร้างสรรค์ในจุดต่างๆ   ให้เขาเป็นเจ้าของกิจกรรม   ผวจ. จัดทีมหนุน/ช่วยเหลือ ไม่ใช่ทีมจัดการ/บงการ

เปลี่ยนวิธีทำงานของ ผวจ. และทีมงาน จาก power-intensive เป็น creativity-intensive   เน้น creativity ของผู้ปฏิบัติ ซึ่งส่วนใหญ่คือของชาวบ้าน ชุมชน ประชาชน ประชาคม นั่นเอง

เชื่อมั่นประเทศไทยของผม หมายถึงเชื่อมั่นในสติปัญญาความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยครับ   แต่ไม่เชื่อมั่นในวัฒนธรรมอำนาจ

ผมนัดให้คุณสุภาภรณ์ มาสัมภาษณ์พรุ่งนี้ ที่ศาลายา เวลา ๗.๓๐ น. ครับ   เอาเข้าจริงการสัมภาษณ์จะออกมาอย่างนี้หรือไม่ ก็ไม่ทราบ

วิจารณ์ พานิช

๒๖ เม.ย. ๕๒    

หมายเลขบันทึก: 257451เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2009 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบคุณครับท่าน

ชอบ  "แต่ความสร้างสรรค์นี้จะไม่เกิด หรือเกิดยาก หากใช้วิธีทำงานแบบราชการปัจจุบัน คือเขียนโครงการแบบตายตัว แล้ววัดผลงานโดยการดูว่าได้ทำตามแผนหรือไม่ "

"ต้องเปลี่ยนใหม่เป็นตั้งเป้า ตั้งคุณค่า/มูลค่า ที่ต้องการ   แล้วส่งเสริมให้เกิดการลงมือดำเนินการสร้างสรรค์ในจุดต่างๆ   ให้เขาเป็นเจ้าของกิจกรรม   ผวจ. จัดทีมหนุน/ช่วยเหลือ ไม่ใช่ทีมจัดการ/บงการ"

น่ายินดีที่ ก.พ.ร.ใช้โอกาสที่หน่วยงานมีเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงจากผู้ที่มีศักยภาพในหน้าที่ที่จะทำให้เกิดผลงานเป็นรูปธรรมนะคะอาจารย์ หากผู้บริหารในระดับจังหวัดได้รับแนวคิดดีๆ ได้มีการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติ ได้เห็นได้รับรู้มุมมองใหม่ๆ น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้เห็นการพัฒนาที่ใช้ทรัพยากรของแต่ละท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมอย่างบูรณาการและส่งเสริมสนับสนุนกันและกัน อย่างน้อยนี่ก็เป็นสิ่งที่เรียกความ "เชื่อมั่นประเทศไทย"ให้พลังเล็กๆอย่างเราได้แล้วค่ะ ขอบพระคุณอาจารย์ที่นำมาเล่าสู่กันฟัง จะได้คอยติดตามผลที่เกิดหลังจากนี้ต่อไปค่ะ

ชอบในมุมมองของอาจารย์ กลัวอย่างเดียวถ้าหากถูกนำไปสู่การปฏิบัติ อย่าอยู่ใต้อำนาจของนักการเมืองเพราะนักการเมืองมองแค่เรื่องของผลประโยชน์เฉพาะหน้าของตัวเองเท่านั้น

ชอบแนวคิดอาจารย์มากค่ะ ...

แต่ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องย้ายบ่อยๆ แล้วแต่ละท่านก็มีนโยบาย หรือเห็นความสำคัญของกิจกรรมแตกต่างกัน การปฏิบัติจะต่อเนื่องอย่างไรค่ะ ... บางครั้งผู้ว่าฯ ย้ายมา 4 เดือน แล้วก็ย้ายไป ... ผู้ว่าฯคนใหม่มาก็เปลี่ยนแปลงอีกแล้ว...

เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

เห็นด้วยกับคุณหมอครับ เพราะตอนนี้เป็น "จังหวะเหมาะสม" ที่จะเน้น "ตลาดภายใน"

แต่ที่ผ่านมา การเน้นตลาดภายในของไทย เช่น OTOP หรืออะไรต่างๆ สำเร็จผลน้อยเกินไป

เนื่องจากแต่ละชุมชนผลิตสินค้าที่ใกล้เคียงกัน โดยใส่ "ความริเริ่มสร้างสรรค์" น้อยเกินไป

ผมคิดว่า KM ของคุณหมอ น่าจะช่วยให้ "คนไทย" เกิดความริเริ่มสร้างสรรค์" ขึ้นมาได้

แต่การริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่เคยลอยจากบริบทสังคม การริเริ่มสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ สังคมจะต้องมีโครงสร้างและวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการริเริ่มสร้างสรรค์รองรับ

สังคมไทย ยึดถือวัฒนธรรม "อำนาจ" มาตลอดหลายสิบปี จึงยากจะเปลี่ยนแปลง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เปลี่ยน โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก บังคับให้ทุกประเทศต้องเปลี่ยนแปลง

เรื่องเศร้าอย่างหนึ่ง ของสังคมที่ตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมอำนาจมายาวนาน ก็คือ แม้วัฒนธรรมอำนาจจะหายไป และมีระบบใหม่ที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์มาแทน ผู้คนที่พึ่งได้รับอิสรภาพนี้ ก็อาจไม่เคยชินต่อระบบใหม่ จึงไม่ "กล้า" ที่จะสร้างสรรค์ เพราะความเคยชินเดิมที่ฝังลึกมีอิทธิพลมากกว่า

ถ้าเชื่อทฤษฏี Chaos คงต้องใส่ "ตัวริเริ่ม" เข้าไปกระตุ้นการจัดระเบียบตัวเอง (Self Organization) เพื่อเอาชนะ "แรงเฉื่อย" ที่ฝักลึกในระบบอย่างยาวนานนั้น

ไม่ต้องใช้มาก แต่ก็ต้องมี "ตัวป่วน" เหล่านี้ ไปช่วย "เขย่า" เพื่อให้เกิดการตกผลึก

ผมขอส่งแรงใจไปช่วยเชียร์ครับ

สวัสดีค่ะ ตลาดน้ำตลิ่งชัน เป็นการสร้างชุมชนค่ะ เมื่อก่อนที่นี้เคยปลูกข้าวค่ะ พื้นที่บางส่วนถูกตัดต้นกล้วยเอาไปทำสนามกอล์ฟ น่าเสียดายค่ะ มนุษย์เราได้ทำลายะรรมชาติค่ะ

มาให้กำลังใจอาจารย์ค่ะ

ความคิดเล็กๆอาจจะเปลี่ยนอะไรหลายอย่าง ดีใจที่อาจารย์มีโอกาสทำคุณให้ประเทศของเราค่ะ

เคยมีคนกล่าวว่าคนที่ดีๆมักจะมาร่วมกันทำงานค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท