คนดีวันละคน : ๑๙๘. ศ. นพ. ขจรศักดิ์ ศิลปโภชากุล



          ศ. นพ. ขจรศักดิ์ ศิลปโภชากุล เป็นอาจารย์สาขาโรคติดเชื้อ  ภาควิชาอายุรศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    เป็นหมอผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้ออันดับต้นๆ ของประเทศไทย    แต่ท่านเป็นคนเก็บตัว และถ่อมตัว  ไม่ต้องการทำตัวเป็นข่าว    ช่วง ๒ เดือนก่อน ตอนโรคไข้ปวดข้อชิกุนกุนย่าระบาดหนักทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคใต้   ท่านได้ศึกษาระบาดวิทยาไว้น่าสนใจมาก   เราจะขอให้ นสพ. มาสัมภาษณ์ไปลงข่าว    ท่านไม่ยอม  


          โปรดสังเกตว่าประกาศเตือนของ อ. หมอขจรศักดิ์เรื่องการป้องกันการระบาดของไข้ปวดข้อชิคุนกุนย่าแก่บุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ นี้ ประกาศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๑ นะครับ


          นอกจากความอ่อนน้อมถ่อมตนแล้ว ท่านยังเป็นคนมีความเห็นแก่ตัวเองน้อยมาก   ไม่ยอมเอาผลประโยชน์ของส่วนรวมเข้าตนเอง    เช่นหลังจากรับราชการที่คณะแพทยศาสตร์ มอ. ได้ระยะหนึ่ง    ท่านต้องการไปฝึกอบรมด้านโรคติดเชื้อต่อที่สหรัฐอเมริกา    จึงลาออกจากราชการเพื่อไปฝึกอบรม โดยให้เหตุผลว่า ไม่อยากเอาผลประโยชน์จากราชการ


          เมื่อกลับมาเมืองไทย ท่านก็กลับเข้ารับราชการที่เดิมใหม่    และทำงานด้วยความเสียสละ และมีความสามารถสูงมาก    ตอนนั้นผมเป็นคณบดี ได้ร่วมกับ ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย พยายามให้เงินเพิ่มพิเศษแก่ท่าน ท่านก็ไม่ยอมรับ  


          หลายคนเรียกท่านว่า “หมอเท้าเปล่า” เพราะท่านชอบเตะฟุตบอลล์   และลงไปเตะเท้าเปล่า ไม่สวมรองเท้า    ท่านจบแพทยศาสตรบัณฑิต จากรามาธิบดี ร่วมกับหมอเก่งๆ อีกหลายคน เช่น ศ. นพ. ธีระ ศิริสันธนะ แห่ง มช., นพ. ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีหลายกรมในกระทรวงสาธารณสุข  เป็นต้น


          ประมาณปี ๒๕๓๒ ผมเป็นไข้เป็นๆ หายๆ อยู่ ๒ สัปดาห์    ปวดเมื่อยตามตัวมากกว่าไข้หวัด    เวลาเป็นไข้รู้สึกร้อนๆ หนาว   จึงไปให้ อ. หมอขจรศักดิ์ ตรวจ    หลังจากซักประวัติได้ว่าที่บ้านผม (อยู่ใน มอ. วิทยาเขตหาดใหญ่ ติดป่าเชิงเขคอหงษ์) มีหนูที่มาจากป่า    ท่านก็วินิจฉัยว่าเป็นไข้มิวรีน ไทฟัส    และให้ยากิน   ไข้หายภายในวันเดียว


          เป็นตัวอย่างของคนที่ เก่ง ดี และถ่อมตัว    เป็นพระในคราบของฆราวาส

วิจารณ์ พานิช
๒๘ มิ.ย. ๕๒

     
        

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 277339เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2009 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ภรรยาท่าน อ.หมอแกมกาญน์ หมอเด็ก

ก็มีวัตร ปฎิบัติเช่นเดียวกัน

ท่านมีบุตรี หนึ่งคน กำลังศึกษาแพทย์ รามาฯ

คาดว่าจะปฎิบัติเช่นเดียวกับ บุพการี

ช่างเป็นโชคดี ของคนสงขลาครับ ที่มีหมอดีๆ

ครอบครัวนี้ ในพื้นที่

ชอบคำของอาจารย์ "พระในคราบฆาราวาส" ครับ

ด้วยความเคารพครับ

คนดี กับ กระแสสังคม ช่างเป็นสิ่งสวนทางกัน

คนดี อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ต้องการชื่อเสียง ไม่ต้องการสร้างภาพพจน์

ขณะที่กระแสสังคม ชอบคนมีชื่อเสีย (ชื่อเสียงเสียๆ แต่โด่งดัง) คนฟุ่มเฟือย พวกสร้างภาพ

คนดีคิดว่าหาได้ยากแล้ว คนเก่งแและดียิ่งหาได้ยากขึ้นไปอีก

ปัจจุบันคนเก่งหาได้ง่าย คนเก่งแล้วไม่ดีก็เลยหาได้มากกว่าคนเก่งและดี

ความรู้ถ่ายทอดง่าย แต่คุณธรรมถ่ายทอดให้กันยาก

ดีใจที่อาจารย์หมอท่านมีบุตรที่ปฏิบัติเช่นเดียวกัน

ขอขยายว่า เป็นโชคดีของคนสงขลา เป็นคำกล่าวแบบถ่อมตัวไปครับ

อยากขอใช้คำว่า เป็นโชคดีของประเทศชาติ และสังคมโลกทั้งหมดเช่นกัน

ชอบใจคำว่า "พระในคราบฆราวาส" เช่นกันครับ

ถ้าเพียงน้องๆแพทย์รุ่นใหม่ ลอกเลียนจริยวัตรของอาจารย์สักครึ่งเดียว ก็จะทำให้เกิดความสุขแก่คนจำนวนมาก ทั้งคนไข้และตัวหมอเอง

ปูชนียบุคคลจริงๆครับ

เห็นดีด้วยครับ

ยิ่งตอนนี้อาจารย์ยิ่งเหนื่อยหนักกับปัญหา H1N1

เป็นกุศลที่ได้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ครับ

เห็นด้วยกับความเห็นทุกท่าน เนื่องจากเคยเชิญท่านมาเป็นวิทยากรของ ICN โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ท่านยินดีมาเป็นวิทยากรมาสอน พวกเรา โดยการเดินทางด้วยรถไฟจากหาดใหญ-กรุงเทพ และจากกรุงเทพ-เชียงใหม่ ไปและกลับ ด้วยความเสียสละ พวกเราได้รับความรู้จากอาจารย์มาก และอยากขอใช้คำว่า เป็นโชคดีของประเทศชาติ และสังคมโลกทั้งหมดเช่นกัน ชอบใจคำว่า "พระในคราบฆราวาส" เช่นกันค่ะ

อุบลรัตน์ (อดีต ICN มอ.)

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อเขียนของ อ.วิจารณ์ พานิช ที่กล่าวถึงคุณงามความดีของ อ.ขจรศักดิ์ เพราะเคยรับรู้และประจักษ์แก่สายตาตนเองมาแล้ว ซึ่งทึ่งกับพฤติกรรมของอาจารย์มาก และได้นำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตในบางโอกาส และคำว่า "พระในคราบฆราวาส" เป็นคำนิยามตัวตนทั้งหมดของอาจารย์ก็ว่าได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท