KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 65. โมเดลปลาทู


• โมเดลปลาทูมีประโยชน์สำหรับใช้เป็นสติ   ว่าการทำ KM เดินมาถูกทางแล้วหรือยัง    ไม่ใช่สำหรับใช้เป็นกฎเกณฑ์ให้ต้องปฏิบัติตาม    ไม่ใช่สำหรับเอาไว้ถกเถียงกันว่า KM ของใครสังกัดค่ายไหน
• เมื่อทำ KM จนเข้าใจดีแล้ว  มั่นใจในหลักการดีแล้ว  แต่ละองค์กรควรมีโมเดลของตนเอง    ตัวอย่างเช่น LKASA Egg Model ของ นพ. พิเชฐ บัญญัติ แห่ง รพ. บ้านตาก,  The Toyota Way ของบริษัทโตโยต้า  เป็นต้น
• โมเดลปลาทู ช่วยเตือนว่าการทำ KM ต้องนึกถึงองค์ประกอบหลัก ๓ ส่วน   คือส่วนเป้าหมาย (หัวปลา)   ส่วนกิจกรรม (ตัวปลา)   และส่วนการจดบันทึก (หางปลา)    ทั้ง ๓ ส่วนมีความสำคัญ   ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้   มิฉะนั้นก็ไม่ใช่ “ปลา”
• “หัวปลา” ช่วยเตือนเราว่า KM มีไว้บรรลุเป้าหมายของงาน หรือของหน่วยงาน    เราต้องหมั่นสำรวจ ว่า KM กำลังดำเนินไปเพื่อหนุนการบรรลุเป้าหมาย / ปณิธานความมุ่งมั่น / วิสัยทัศน์ ขององค์กรหรือไม่
• มองอีกมุมหนึ่ง “หัวปลา” หมายถึงความรู้หลัก หรือความรู้สำคัญๆ ที่ต้องการ   สำหรับใช้เพื่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กร ก่อนทำ KM ต้องตั้งสติ ช่วยกันตรวจสอบประเด็นนี้เสียก่อน   แต่อย่ามัวเสียเวลานานเกินไป   เมื่อได้ภาพคร่าวๆ ของความรู้หลักเพื่อการบรรลุเป้าหมายแล้ว    ก็ให้เข้าสู่ “ตัวปลา”
• “ตัวปลา” ช่วยเตือนเราว่า เนื้อแท้ หรือ ๘๐ – ๙๐% ของกิจกรรม KM คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้    หรือที่วงการภาคี สคส. / gotoknow ใช้เป็นตัวย่อว่า ลปรร.    “ตัวปลา” คือ ลปรร.   โดยที่เป็นการ ลปรร. ที่มีการปฏิบัติ หรือการทดลองปรับปรุงงานเป็นศูนย์กลาง   ไม่ใช่การ ลปรร. บนฐานของทฤษฎี    ย้ำว่า “ตัวปลา” ต้องว่ายวนอยู่กับการปฏิบัติเป็นหลัก   ต้องไม่ว่ายวนอยู่กับทฤษฎีเป็นหลัก   กล่าวอย่างนี้หมายความว่าเราใช้ทั้งความรู้ปฏิบัติและความรู้ทฤษฎี   แต่เวลาเอามา ลปรร. เรายกความรู้จากประสบการณ์การทำงานเป็นตัวตั้ง ความรู้เชิงทฤษฎีเป็นตัวเสริม
• “หางปลา” ช่วยเตือนเราว่าต้องจดบันทึก  ความรู้ / เทคนิค / เคล็ดลับ ในการทำงาน ที่ได้มาจากการ ลปรร.   โดยต้อง “บันทึกสดๆ เดี๋ยวนั้น”    ถ้ารอช้าหลายๆ วัน “ความรู้ฝังลึก” ที่ออกมาในช่วงที่กำลัง ลปรร. กันอย่างกำลังมีอารมณ์เชิงบวก ก็จะ “ระเหย” ไป    และควรบันทึกไว้หลายๆ แบบ   ทั้งที่เป็นตัวอักษร  ภาพนิ่ง  ภาพเคลื่อนไหว  mindmap  และรูปแบบอื่นๆ 
• ที่กล่าวมานี้เป็นการตีความ “โมเดลปลาทู” ใน “ระดับประถม” เท่านั้น    เมื่อมีการดำเนินการ KM ด้วยตนเอง ประสบการณ์จะช่วยให้ตีความได้เพิ่มขึ้น มีความเข้าใจแตกฉานขึ้น  ดำเนินการอย่างมีคุณประโยชน์ยิ่งขึ้น  ไฮเทคยิ่งขึ้น ฯลฯ   เช่นกรณี “หางปลา” ก็จะสามารถจัดระบบ “ขุมความรู้” (Knowledge Assets) สังเคราะห์เป็น “แก่นความรู้” (Core Competence) ในการปฏิบัติงานแต่ละด้าน    มีการจัดเก็บให้สมาชิกขององค์กร เข้าถึง และเอาไปปรับใช้ได้ตลอดเวลา   และวนกลับมาพัฒนา “หางปลา” ให้มีพลัง มีคุณภาพมากขึ้น   ที่สำคัญต้องไม่ใช่แค่เพิ่มในเชิงปริมาณ   แต่ต้องให้ความสำคัญต่อการเพิ่มคุณภาพมากกว่า   
• การทำ KM ใช้ “โมเดลปลาทู” อย่างเดียวไม่พอ   ต้องใช้โมเดลอื่น หรือทฤษฎีอื่นไปพร้อมๆ กันอย่างเหมาะสม   นี่คือ “ศาสตร์และศิลป์” ในการทำ KM

วิจารณ์ พานิช
๘ พค. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือ#km
หมายเลขบันทึก: 28692เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2006 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท