KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๖๙๖. คำนิยมหนังสือสุนทรียเสวนา


คำนิยม
หนังสือ สุนทรียสนทนา : มหัศจรรย์แห่งสติปัญญาร่วมของมนุษย์
โดย ดร. มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร

วิจารณ์ พานิช

 


          ยิ่งรู้จัก ดร. มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร ใกล้ชิดและนานขึ้น ผมก็ยิ่งชื่นชมในความละเอียดอ่อน ความประณีตในการคิด การตีความ และการทำงาน ของท่าน   ดังนั้น ท่านผู้อ่านหนังสือ “สุนทรียสนทนา : มหัศจรรย์แห่งสติปัญญาร่วมของมนุษย์” เล่มนี้ จะสัมผัสคุณภาพในระดับดังกล่าว จากสาระในหนังสือเล่มนี้

          เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นจากการทำความเข้าใจ “สุนทรียสนทนา” จากประสบการณ์ตรงของตนเอง ในหลากหลายบริบท   ทำความเข้าใจโดยการตีความด้วยทฤษฎีในหนังสือเล่มก่อนๆ ทั้งที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย   โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนคอเดียวกัน หรือมีความสนใจร่วมกัน   ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นมีผมอยู่ด้วย   และมีทุกคนใน สคส. อยู่ด้วย   ในหลากหลายสถานการณ์    และโดยการใคร่ครวญอย่างละเอียดประณีต    ผมเพิ่งอ่านพบในคำนำ ว่าท่านใคร่ครวญผ่านสมาธิด้วย 

          หนังสือสุนทรียสนทนาเล่มนี้จึงไม่เหมือนเล่มอื่นๆ    มีสาระ รายละเอียด มุมมอง การตีความ และตัวอย่าง ที่สดใหม่ ไม่เหมือนใคร    โดยขอย้ำว่าคุณค่าสูงสุดของหนังสือเล่มนี้คือ การเขียนจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน   หรือเขียนจากข้อมูลและการตีความที่ได้จากการปฏิบัติ  


          สุนทรียสนทนา เป็นเรื่องที่มีมิติที่ลึก มีหลากหลายมิติ ที่ผู้ไม่ได้สัมผัสเองโดยตรงจะไม่สามารถเขียนออกมาได้   การคัดลอก ตีความ เขียนมาจากตำรา ได้ความลึกความชัดเจนแตกต่างจากการเขียนจากประสบการณ์โดยสิ้นเชิง  

          สุนทรียสนทนาในมิติที่ลึกจริงๆ จะมีพลังในลักษณะ “ประสานใจ” ผู้ร่วมวง   ทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ในลักษณะที่คล้ายพลังลึกลับ   ทำให้เกิดการสร้างสรรค์สุดคณา ที่ ดร. มนต์ชัยเรียกว่า พลังสร้างสรรค์รวมหมู่ (collective creativity)   ที่แตกต่างจากพลังสร้างสรรค์ของปัจเจกชน   โดยพลังของสุนทรียสนทนา คนในวงที่เข้าสู่พลังนี้ร่วมกัน จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าคนธรรมดาๆ เหล่านั้นจะร่วมกันสร้างสรรค์ได้ 

          โปรดอย่าเข้าใจผิด “สุนทรียสนทนา” ในลักษณะของพิธีกรรม   ที่เกิดสุนทรียสนทนาเฉพาะในวงที่มีวิทยากรหรือ facilitator จัดให้    เมื่อสมาชิกของหน่วยงานฝึกสุนทรียสนทนาจนมีทักษะดีแล้ว    กระบวนการสุนทรียสนทนาสามารถเกิดขึ้นในทุกสถานการณ์   เกิดขึ้นในชีวิตการทำงานตามปกติ   เพราะสุนทรียสนทนาได้สร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างสมาชิก   ที่สมาชิกรู้ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบที่ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง (independent)   และในขณะเดียวกัน ทุกคนเชื่อมต่อสู่กันผ่าน “คลื่นไร้สาย” คือความสัมพันธ์แบบใจถึงใจ (inter-dependent)   

          มองจากมุมของการจัดการความรู้ (KM – Knowledge Management) สุนทรียสนทนา เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของการจัดการความรู้    ที่จะช่วยให้ความรู้ในคน (tacit knowledge) สามารถถูกถ่ายทอดออกมาสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น    หรือกล่าวอีกมุมหนึ่ง ช่วยให้เรารับความรู้ในคนได้ง่ายขึ้น   เพราะเมื่อรู้จักการจัดการความรู้มากขึ้น    ผมพบว่าคนโดยทั่วไปมีปัญหาของการเรียนรู้  ขาดทักษะที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เรียนรู้จากผู้อื่นได้ง่าย    และเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยเพิ่มทักษะในการเรียนรู้  คือ สุนทรียสนทนา    กล่าวง่ายๆ สุนทรียสนทนาคือ learning tool อย่างหนึ่งนั่นเอง

          หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้การปฏิบัติ สุนทรียสนทนา ของท่านสนุกขึ้น และให้ผลชัดเจนขึ้น   ได้เข้าใจสุนทรียสนทนาในมิติที่ลึก และพลังสูง ความสร้างสรรค์สูง   ได้เข้าใจวิธีฝึกฝนการใช้สมองซีกขวา และการใช้พลังสร้างสร้างสรรค์รวมหมู่    ขอให้ท่านผู้อ่านได้สนุกสนานกับการลงมือปฏิบัติดังกล่าวเทอญ

วิจารณ์ พานิช
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒ 

                                

หมายเลขบันทึก: 290790เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2009 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ กราบขอบพระคุณครับ

  • สุนทรียสนทนา สานสายใย ใจสร้างสรรค์ ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท