มหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม



          ผมได้บันทึกเรื่อง มหกรรมพลังเยาวชน  พลังสังคม ไว้ที่นี่  และที่นี่   บัดนี้การเตรียมการณ์ใกล้เข้ามา    ทีมงานเขาขอให้ผมเขียนคำนิยม สำหรับลงในหนังสือ “ร้อยพลังเยาวชน  ร้อยพลังสังคม” ที่จะแจกในงาน

          จึงนำเอาคำนิยมของผมมาลงไว้ ดังนี้

 

           คำนิยม

          หนังสือ “ร้อยพลังเยาวชน...ร้อยพลังสังคม” เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการขับเคลื่อนพลังเยาวชน    เพื่อสื่อให้สังคมเห็นว่า เด็กและเยาวชนมี “พลัง” มหาศาลในตัวเอง ถ้าผู้ใหญ่ส่งเสริมเด็กและเยาวชนไปในทางเปิดโอกาส หรือส่งเสริมให้เขาลงมือฝึกฝน ทำสิ่งสร้างสรรค์    โดยลงมือทำด้วยตัวเอง คิดเอง และเรียนรู้จากประสบการณ์ที่พบเจอได้ด้วยตัวเอง    เยาวชนเหล่านี้ก็จะเติบโตเป็นคนที่กล้าคิด กล้าทำ    มีความสามารถทำกิจกรรมสร้างสรรค์    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำเพื่อผู้อื่น ทำเพื่อสังคม

          เพื่ออบรมบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นผู้ใหญ่ที่เป็นทั้งคนดี และคนเก่ง    สังคมไทยต้องไม่มองเยาวชนเป็นเพียง “ผู้เสพ” หรือ “ผู้บริโภค” เพียงอย่างเดียว    ต้องมองเยาวชนว่ามีพลังมาก สามารถเป็น “ผู้ให้” เป็น “ผู้ผลิต” “ ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์”  ให้แก่สังคมได้    ไม่ต้องรอจนเป็นผู้ใหญ่    และผู้ใหญ่ควรส่งเสริมให้เขาทำหน้าที่นี้ตั้งแต่ตอนนี้ ตั้งแต่ตอนที่เขายังเป็นเด็ก ให้เขามีความสุข มีความภูมิใจจากการเป็นผู้ให้ เป็นผู้สร้างสรรค์ให้แก่สังคม    ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคีเครือข่ายพูนพลังเยาวชน ต้องการสื่อสารให้สาธารณะชนได้รับรู้ด้วยตัวเอง  

          เด็กและเยาวชนจำนวนมากมายที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ จากทั่วประเทศ จะมารวมพลังกันใน มหกรรมพลังเยาวชน...พลังสังคม    ครั้งที่ 1    ด้วยความหวังว่า จะเกิดการถักทอกันเป็นเครือข่าย    เป็นเครือข่ายเยาวชนทำดี ทำเพื่อผู้อื่น ทำเพื่อชุมชนหรือบ้านเมือง     เพื่อในอนาคตเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขจากการ “ให้” มากกว่าการมีความสุขจากการ “รับ” เข้าสู่ตัวเอง ด้วยใจที่มี “จิตอาสา” เพราะการทำประโยชน์จะ “หล่อหลอม” ตัวผู้กระทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้นในภายภาคหน้า
 
          ประโยชน์และความคาดหวังข้อใหญ่ที่สุดของหนังสือเล่มนี้ คือต้องการ “สื่อ” ถึง “พลังของเด็กและเยาวชน” ให้สังคมรับรู้ว่า เด็กและเยาวชนสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ และเป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้นในสังคมได้    และเพื่อชักชวนภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ให้ช่วยกันสนับสนุนกิจกรรมเยาวชนจิตอาสา ที่เยาวชนคิดขึ้นเอง ทำกันเอง     ชักชวนผู้ใหญ่ร่วมกันชื่นชมกิจกรรมทำดีของเยาวชน    ให้กำลังใจให้ทำกิจกรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น    และเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับเยาวชนกลุ่มอื่น ในชุมชนหรือพื้นที่อื่น

          หนทางในการพัฒนาตนเองของเยาวชน คือ “เรียนรู้วิชาและเรียนรู้ชีวิต”    เรียนชีวิตคือการประยุกต์วิชาเข้ากับการทำประโยชน์ให้คนอื่น    รู้สึกมี “ความสุข” ที่จะทำประโยชน์ให้กับคนอื่น     ทำจนเป็นนิสัย และชักชวนเพื่อนๆ รวมกลุ่มกันทำ    โดยไม่จำเป็นต้องรอใครมาสนับสนุน    แล้วผลดีก็จะเกิดต่อชีวิตของตนเองในระยะยาว    เพราะกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยหล่อหลอมสมอง    สร้างเครือข่ายใยสมองของคนดี คนที่รู้จักเห็นแก่ผู้อื่น     คือมีความเห็นแก่ตัวน้อย    เป็นคุณต่อการดำรงชีวิตของตนเอง และต่อผู้อื่น ต่อสังคมส่วนรวม

          ผมขอแสดงความชื่นชมต่อองค์กรเครือข่ายทั้ง ๑๐๒ องค์กร ที่ร่วมกันคัดเลือกเรื่องราวเยาวชนสร้างสรรค์ดีๆ ทั้ง ๑๗๑ เรื่อง ออกเผยแพร่แก่สังคม    และขอตั้งความหวังว่า การดำเนินการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนเครือข่ายพูนพลังเยาวชนร่วมกัน    เกิดเป็นขบวนการพลังเยาวชนทำดีเพื่อผู้อื่นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

 

วิจารณ์ พานิช
๓๐ กันยายน ๒๕๕๒

 


        

หมายเลขบันทึก: 302160เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2009 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 06:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เยาวชนมักมีโลกส่วนตัวที่ผู้ใหญ่เข้าไม่ถึงและไม่เข้าใจ..กิจกรรมนำมาซึ่งความคิดของเขา ผู้ใหญ่จะได้รู้และเห็นความคิดดีดีของเยาวชน...ยินดีที่สนับสนุนคนเล็กคนน้อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท