ชีวิตที่พอเพียง : ๘๙๐. ผู้ประกอบการทางสังคม (๒)


ตอนที่ ๑ 

          หนังสือ ผู้ประกอบการสังคม : พลังความคิดใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงโลก (อ่านเรื่องการเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ได้ที่นี่) และ  อี-เมล์ จาก ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย กระตุ้นให้ผมเขียนบันทึกนี้  

          อี-เมล์ จาก ศ. ธาดา รื้อฟื้นเรื่องราวที่ผมเคยบันทึกไว้เมื่อเกือบปีมาแล้ว ที่นี่    ว่าเราจะดำเนินการต่ออย่างไร   โดยมี นพ. ก้องเกียรติ เป็นตัวแสดงบท

          หนังสือ ผู้ประกอบการสังคม แปลมาจากหนังสือภาษาอังกฤษ ชื่อ How to Change the World : Social Entrepreneures and the Power of the New Ideas    ชื่อ How to Change the World มันปลุกใจดีจัง   เพราะผมมีความรู้สึกว่า ผมเกิดมาเพื่อ change the world แต่ผมมีความสามารถเพียงเปลี่ยน “โลกในกระลา” ซึ่งผมก็พอใจ   และมีความสุขอยู่กับการ change the micro world ของตน  

         ผมมีลูกสาวคนหนึ่งและลูกชายคนหนึ่งที่ดูจะได้พันธุกรรมนี้จากผม   แต่ในภาษาพันธุศาสตร์เขาเรียกว่า มี variable expressivity คือแสดงออกคนละแบบ   ลูกสาวเขาเล็กยิ่งกว่า micro เป็น nano world เน้นเฉพาะชนบท   ส่วนลูกชายชอบเรื่องจิตวิญญาณ   ผมว่าทั้งคู่กำลังฝักใฝ่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคม   สร้างความสุขใจแก่พ่อเป็นอย่างยิ่ง

          แต่เขาไม่เก่ง หรือไม่เอาใจใส่การดูดเอาทรัพยากรหรือสินทรัพย์ส่วนเกินของสังคม หรือของโลก มาใช้   ซึ่งก็เหมือนผมนั่นแหละ   และเขายังเอาใจใส่ด้านการจัดการสมัยใหม่น้อยเกินไป

          หนังสือ ผู้ประกอบการสังคม บอกว่า ผู้ประกอบการสังคม เป็นนักจัดการเอาสินทรัพย์ส่วนเกินของสังคมมาใช้   แบบเดียวกันกับนักประกอบการธุรกิจ   แต่ต่างกันที่นักประกอบการธุรกิจมุ่งกำไร   แต่นักประกอบการสังคมมุ่งผลดีต่อสังคม 

          หนังสือ ผู้ประกอบการสังคม ยกตัวอย่างคนที่ทำงานระดับโลกหรือระดับประเทศ   คงจะเป็นเพราะเขาไม่สามารถเข้าถึงคนเล็กคนน้อย   ผมจึงคิดว่าหนังสือเล่มนี้อาจมีส่วนสร้างความเข้าใจผิด   คิดว่า ผู้ประกอบการสังคม ต้องทำงานใน macro scale เท่านั้น จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบการสังคม  

          ผมมองว่า ผู้ประกอบการสังคม ส่วนใหญ่ทำงานใน micro หรือ nano scale แบบลูกสาวผม    ถ้าเรามีคนอย่างนี้มากๆ สังคมก็มีสันติสุข 

          สิ่งที่สังคมของเราต้องการคือ การมี start-up fund สำหรับผู้ประกอบการสังคม   ในลักษณะของ social venture fund   คล้ายกับ venture capital fund ของภาคธุรกิจ   แต่ใช้วิธีคิดต่างกันในส่วนของการวัดผล 

          ศ. ธาดา เชื่อว่า ผู้ประกอบการสังคม เป็นคนที่มีความพิเศษ   เป็นพรสวรรค์มากกว่าพรแสวง   และผู้สนับสนุนไม่ควรเข้าไปยุ่มย่ามมากนัก   รวมทั้งต้องปล่อยให้เขาเผชิญความยากลำบากเอาเอง จะได้เติบโตและแข็งแรง    แต่ให้เขารู้ว่าเขามีเพื่อนที่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เขาทำ และจะมาขอความเห็นหรือความช่วยเหลือได้เสมอ   ถ้าผมเข้าใจ ศ. ธาดา ถูกต้อง    หมอก้องเกียรติคือลูกชายของ ศ. ธาดา    เหมือนกับลูก ๒ คนเป็นลูกสาวและลูกชายผม  

          ศ. ธาดา มีความเห็นเรื่องหมอก้องเกียรติ ดังนี้  “ก้องเกียรติ คนนี้มีความสามารถเฉพาะตัวที่ใช้ความลำบาก ความอัตคัดเป็น stimulus.   ถ้าอยู่ในกรอบ ไม่ว่าจะ loose อย่างไร จะ inhibit roaming spirit ของเขา.  ให้เขารู้ว่าเขาร่วมกับ มสช. เมื่อไรที่เขาอยาก  ก็พอแล้ว”

 

          ผมมองว่า ผู้ประกอบการสังคม มีคุณลักษณะสำคัญ ๔ อย่าง  (๑) มองเห็นโอกาสทำงานสร้างสรรค์สังคมในแนวใหม่    (๒) หาทางลงมือทำ และฟันฝ่า ให้เกิดผล  (๓) เกิดผลดีต่อสังคมอย่างต่อเนื่องยั่งยืน เกิดมิติใหม่ในสังคม   (๔) การลงมือทำนั้น มีการใช้ทุนทรัพย์หรือการลงทุน แล้วกิจกรรมนั้นสามารถเลี้ยงตัวอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งการบริจาคอยู่เรื่อยไป   แต่ก็ไม่ปฏิเสธการบริจาค     

          ผู้ประกอบการทางธุรกิจจะต้องพัฒนา สร้างนวัตกรรมเล็กใหญ่ แก่ product & service ของตนอยู่เสมอ   เพื่อการแข่งขัน และเพื่อเอาใจลูกค้า    ผู้ประกอบการสังคมก็ต้องทำคล้ายๆ กัน เพื่อเอาชนะการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และของสังคม    ผมพยายามหาในหนังสือ ผู้ประกอบการสังคม ว่าเขียนถึงประเด็นนี้หรือไม่ 

          ทำให้ผมมองว่า สังคมไทยสามารถช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเอื้อให้ ผู้ประกอบการสังคม เกิด โต และขยายเครือข่ายได้   โดยทำ ๔ ประการ  (๑) มี social capital fund  (๒) สร้างกลไกจดทะเบียนและดูแลกิจกรรมประกอบการสังคม ให้ดีกว่าการดูแลมูลนิธิในปัจจุบัน  และ (๓) สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนากิจกรรมประกอบการสังคม  (๔) ตั้งวงคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มคนที่มีจริตแนวนี้ 

          ศ. ธาดา แนะว่า ให้ปล่อย “คนพันธุ์แปลก” เหล่านี้ ให้เขามีอิสระที่จะหาโอกาสของเขาเอง    ผู้ใหญ่ (คนแก่?) ที่หวังดี อย่างแสดงความรักโดยให้คำแนะนำมากเกินไปจนเขาขาดอิสระ

          ผมมองว่า มสช. (หมอสมศักดิ์) สามารถหาทุนวิจัย ทำความเข้าใจเรื่องนี้ในสังคมไทย   เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อ ๔ ประการข้างบน

 

มีต่อตอนที่ ๓

 

วิจารณ์ พานิช
๘ พ.ย. ๕๒
       
         
         
       

หมายเลขบันทึก: 316454เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2009 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 08:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณมากค่ะท่านอาจารย์สำหรับบันทึกนี้

เนื้อหาน่าสนใจมากค่ะ ได้ย้อนไปอ่านตอนที่ ๑ ด้วย

รออ่านตอนที่ ๓ ค่ะ

เป็นความหวังว่าจะเป็นแนวทางผ่าทางตันของงานด้านสังคมอีกทางหนึ่ง..^__^..

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท