ชีวิตที่พอเพียง : ๙๗๘. นำผู้ได้รับพระราชทานทุนเยาวชน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เข้าเฝ้า


          เย็นวันที่ ๙ มี.ค. ๕๓ เป็นวันที่สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะผู้ดำเนินการทุนเยาวชนฯ นำผู้ได้รับทุนรุ่นแรก ปี ๒๕๕๓ เข้าเฝ้าถวายลังคมลาไปต่างประเทศ ๑ ปี  

          ผมเป็นผู้อ่านคำถวายรายงานดังต่อไปนี้

 

คำกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี
ของศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์  พานิช  ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชน
นำผู้รับพระราชทานทุนเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552
เข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมทูลลาก่อนเดินทางไปดูงาน / ศึกษาในต่างประเทศ

ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา
วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2553 เวลา 16.45 น.
************************

ขอพระราชทานกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาท

          ข้าพระพุทธเจ้า  ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์  พานิช  ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชน มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น   ที่ใต้ฝ่าละอองพระบาททรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชวโรกาส ให้นำผู้รับทุนเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552  เข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมทูลลาก่อนเดินทางไปดูงาน / ศึกษาในต่างประเทศ  ในวันนี้

          โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่  20  พฤศจิกายน  พ.ศ.2550 ตามมติที่ประชุมกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ครั้งที่ 2/2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพด้านการแพทย์  ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก ดำเนินการคัดเลือกโดยคณะกรรมการอำนวยการ  คณะกรรมการดำเนินการ  และคณะกรรมการคัดเลือกจากผู้สมัครซึ่งเป็นนักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ  และตัดสินขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ในปี ๒๕๕๒ ซึ่งเป็นปีแรกมีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกรับพระราชทานทุนเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ทั้งสิ้น  22 ราย  จาก  10  สถาบัน  คณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณากลั่นกรอง คัดเลือกและนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่  27  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2552


     ในวาระอันเป็นมงคลยิ่งนี้  ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระวโรกาสเบิก  ผู้ได้รับพระราชทานทุนเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552  ดังนี้


              1. นางสาวกนกวรุณ  วัฒนนิรันตร์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล  จะไปศึกษาและดูงานด้านการป้องกันการตั้งครรภ์โดยยังไม่พร้อมในวัยรุ่น (Unplanned Teenage Pregnancy Prevention) โดยจะไปในฐานะอาสาสมัครปฏิบัติงานที่ องค์การอนามัยโลก เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซ็อร์แลนด์ ภายใต้การดูแลของ Dr. Katerine Ba-Thike, RHR’s Area Manager for the South East Asia and Western Pacific Regions และ Dr.Daisy Mafebelu (ADG on Family Health of WHO) ร่วมกับ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ และ รองศาสตราจารย์ ดร.นพ. ดิฐกานต์  บริบูณณ์หิรัญสาร

          2. นางสาวจุฑาภรณ์  อัศวชนานนท์  คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะไปศึกษาวิจัยด้าน Regenerative Medicine โดยศึกษาเกี่ยวกับ การนำ Stem Cell มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์  โดยจะไปศึกษากับ Professor  Masayo Takahashi ที่ Riken Center for Development Biology, เมืองโกเบ  ประเทศญี่ปุ่น  ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพ. นิพัญญ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา

          3.นางสาวเพ็ญนภา  กวีวงศ์ประเสริฐ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล  จะไปศึกษาและดูงานด้านการป้องกันการติดเชื้อ HIV/ AIDS เน้นการป้องกันในกลุ่มวัยรุ่น  โดยจะไปในฐานะอาสาสมัครปฏิบัติงานที่ UNAIDs เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซ็อร์แลนด์ ภายใต้การดูแลของ Dr. Schwartlander Bernhard และ Dr.Paul Delay (Deputy ED of UNAIDs) ร่วมกับ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ

 

          ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานทุนไปศึกษาวิจัย ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ  หรือทำงานด้านการพัฒนาชุมชน ในต่างประเทศหรือในประเทศเป็นเวลา 1 ปี   โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ  และให้นับเวลาการไปครั้งนี้  รวมเป็นเวลาของการใช้ทุนหลังจากศึกษาแพทย์จบ 

     ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

 

          หลังจากผู้ได้รับทุนถวายพานพุ่มดอกไม้ธูปเทียนแล้ว   ทรงรับสั่งให้ผู้เข้าเฝ้านั่ง    และได้มีรับสั่งเล่าว่าเพิ่งทรงมีประสบการณ์ตรงกับการตั้งครรภ์โดยยังไม่พร้อมในวัยรุ่น   เกิดขึ้นกับนักเรียนทุนที่ทรงส่งไปเรียนที่อินเดีย   ตั้งครรภ์ก่อนจะออกเดินทาง ไปคลอดที่นั่นและทารกน้ำหนักน้อย   เวลานี้ยังอยู่ในโรงพยาบาล   และอีกกรณีหนึ่งเด็กทารกถูกทิ้งไว้ให้โรงพยาบาล (จุฬา) เลี้ยง   เพราะเกิดจากแม่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์โดยอ้างว่าไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ใดๆ เลย   จึงสันนิษฐานว่าโดนข่มขืนตอนไปค่ายจริยธรรม   โดยที่เจ้าตัวหลับ

          ทรงไต่ถามเรื่องที่จะไปศึกษา และทรงเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นประสบการณ์ส่วนพระองค์ ที่เกี่ยวข้องกัยเรื่องการแพทย์ สาธารณสุข และโรงพยาบาล   รวมทั้งการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับสถาบันวิชาการต่างๆ ในต่างประเทศ เพื่อหาโอกาสส่งนักเรียนนักศึกษา นักวิชาการไทย ไปเรียนหรือร่วมงาน   เช่นที่ CERN  ที่เยอรมัน เป็นต้น   และทรงรับสั่งว่าจะไปเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่นในเดือนตุลาคม   ซึ่ง Riken Center for Development Biology ที่คุณหมอจุฑาภรณ์ไปฝึกวิจัย อยู่ที่นั่น   ผมจึงยุให้คุณหมอไปเรียนอาจารย์ที่ปรึกษาให้กราบบังคมทูญเชิญเสด็จเยี่ยม   ทรงรับสั่งว่า “ดีเหมือนกัน”   ผมนึกในใจว่าทรงสนใจเรื่องวิชาการเสียจริงๆ 

          ทรงบ่นยาวเรื่อการบำรุงรักษาอาคารสถานที่และเครื่องมือในโรงพยาบาล ซึ่งน่าจะเป็น รพ. จุฬา   ทรงรับสั่งว่าน่าจะจ้างวิศวกรที่เก่งๆ มาดูแลด้านการบำรุงรักษา   ทำให้หลังการเข้าเฝ้าผมได้เรียน รศ. นพ. อดิศร ภัทราดูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เรื่องแนวคิดใช้ biomed engineer ในการลด risk ของโรงพยาบาล  

          ทรงรับสั่งเรื่องเดือนหน้าจะเสด็จสวิส  ไปที่เมืองลูเซิร์น เป็นการเสด็จแทนพระองค์   ไปเปิดหรือทำอะไรสักอย่างที่โรงเรียนที่ในหลวงเคยเรียน 

          ทรงปฏิสันถารอยู่เป็นเวลา ๑ ชั่วโมงเต็ม ด้วยพระอิริยาบถที่ผมตีความว่าทรงพอพระราชหฤทัยในการดำเนินงานของทุนเยาวชน   ทรงรับสั่งกับผู้ได้รับทุนว่าการคัดเลือกโปร่งใสมาก   แม้แต่พระองค์ท่านก็ไม่ทรงทราบชื่อ ได้แต่เบอร์

          หลังจากนั้นทรงพระราชทานเข็มทองตรามูลนิธิฯ แก่ผู้ได้รับทุน   แล้วเสด็จออก

 

วิจารณ์ พานิช
๙ มี.ค. ๕๓
            
 

หมายเลขบันทึก: 348992เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2010 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 01:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท