คุณค่าของงานวิจัยและสถาบันอุดมศึกษา


สังคมต้องช่วยกันปกป้องให้นักวิชาการ/วิจัย สามารถเสนอภาพความจริงแก่สังคมได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพล

คุณค่าของงานวิจัยและสถาบันอุดมศึกษา

         ในโลกนี้สิ่งปิดกั้นปัญญา นอกจากความไม่รู้แล้ว     ยังมีมายาเป็นตัวปิดกั้นที่สำคัญ     ยิ่งในยุคข้อมูลข่าวสาร มายายิ่งเติบใหญ่และแฝงตัว ปลอมตัว      ปลอมเป็นปัญญา หรือความจริง     ทั้งที่เป็นความจริงชนิด "ทองชุบ" คือจริงเฉพาะเปลือกนอก     หากขุดลงไปลึกๆ ปลอม     ลองฟังหรือดูโฆษณาต่างๆ อย่างพินิจพิเคราะห์ จะเห็นว่าเขาใส่มายาไว้อย่างแยบยล     หลายๆ ศาสตร์กลายเป็นศาสตร์แห่งมายา     ไม่ต่างไปจากไสยศาสตร์แห่งพ่อมดหมอผีที่ชั่วร้าย     ชั่วร้ายเพราะมันกระตุ้นด้านลบของมนุษย์ คือกิเลสตัณหา

        ลองฟังหรืออ่านหรือดูที่นักการเมืองออกมาพูดทะเลาะกัน    เราจะเห็นว่าเขาพยายามเอาชนะกันด้วย partial fact     คือเสนอเฉพาะความจริงส่วนที่ตนได้เปรียบ

        ปัญญาที่แท้จริงคือการเข้าใจทั้งหมด เข้าใจภาพที่ครบถ้วน     ซึ่งในหลายกรณีต้องขุดลึกลงไปกว่าผิว  คือไม่ผิวเผิน     นี่คือคุณค่าของการวิจัย     การวิจัยทางสังคมจะช่วยนำเสนอความจริงในสังคมส่วนที่เราไม่เห็นด้วยสายตาหรือความรู้สึกโดยทั่วๆ ไป     ต้องอาศัยการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และอย่าง "ไม่มีอคติ"     รวมทั้งสังคมต้องช่วยกันปกป้องให้นักวิชาการ/วิจัย สามารถเสนอภาพความจริงแก่สังคมได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพล   

         คุณค่าของสถาบันอุดมศึกษาคือความเป็นกลาง น่าเชื่อถือ เพราะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเพื่ออำนาจหรือลาภสักการะส่วนตน     ในภาวะที่บ้านเมืองขาดความสามัคคี ระส่ำระสาย ทะเลาะกัน เช่นนี้     สถาบันอุดมศึกษายิ่งมีความสำคัญในการค้ำยันสังคม/บ้านเมือง     สถาบันอุดมศึกษาน่าจะรวมตัวกันทำงานวิจัยเพื่อเสนอความจริงให้ปรากฏ     ช่วยลดวาทกรรมอำพราง     สร้างวาทกรรมปัญญา

        ผมเขียนบันทึกนี้จากแรงบันดาลใจที่ได้อ่านรายงานผลการวิจัยของเมธีวิจัยอาวุโส สกว.  ศ. ดร. ผาสุก พงศ์ไพจิตร     ในชุดโครงการ "โครงสร้างพลวัตทุนไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ" ซึ่งประกอบด้วยโครงการวิจัยย่อยดังต่อไปนี้
         ๑. บทบาททางการเมืองของเจ้าพ่อท้องถิ่นในกระแสโลกาภิวัตน์ : กรณีศึกษาจังหวัดหนึ่งทางภาคตะวันออก
         ๒. พลวัตทุนข้ามชาติในตลาดหลักทรัพย์ไทยหลังวิกฤต ๒๕๔๐
         ๓. บริษัทข้ามชาติไทย หลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี ๒๕๔๐ : พลวัตการเปลี่ยนแปลงและข้อสรุป
         ๔. อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ : สู่ยุคทุนนิยมเสรีข้ามชาติ 
         ๕. สองนคราค้าปลีกไทย : เศรษฐศาสตร์สถาบันว่าด้วยพลวัตบรรษัทค้าปลีกข้ามชาติ
         ๖. โครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มทุนธุรกิจครอบครัวไทย
         ๗. การสะสมทุนในประเทศไทย : ศึกษากรณีธุรกิจสุรา
         ๘. สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ
         ๙. ธนาคารพาณิชย์ไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ : พลวัต การปรับตัว และการแข่งขันใหม่

        หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวและสาระของรายงานผลการวิจัยหลายตอน    แต่เขามักเลือกลงส่วนที่ค่อนข้าง sensational      ที่จริงมีส่วนที่ลุ่มลึกมากมาย ต้องค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ พิจารณา จะได้ความรู้มาก     สังคมต้องช่วยกันปกป้องให้นักวิจัยที่มีคุณภาพเช่นนี้ได้เสนอความจริงแก่บ้านเมือง    ต้องอย่ายอมให้ผู้มีอำนาจทางการเมือง หรืออำนาจอื่นๆ มาปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ


         ท่านที่อยากได้บทความวิจัยเหล่านี้ต้องติดต่อ ศ. ดร. ผาสุกเอาเองนะครับ    ท่านอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ

วิจารณ์ พานิช
๘ กค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 37762เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2006 07:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

   ขอบพระคุณครับ ...
   อุดมศึกษา ที่แท้ ต้องเป็นสถาบัน "บ่อนทำลาย อวิชชา" ให้ผู้คน ไม่ใช่เน้น "การค้า" จัดการศึกษา การฝึกอบรม แบบ " คุณได้ตั๋ว - ผมได้ตัง "(วาทกรรม คิดเอง) กันให้เกลื่อนเมือง อีกต่อไป.

ปัญญาที่แท้จริงคือการเข้าใจทั้งหมด เข้าใจภาพที่ครบถ้วน     ประโยคนี้ชอบมากค่ะ  ขอเป็นสมาชิกกลุ่มร่วมสร้างวาทกรรมปัญญาด้วยคนค่ะ
     ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ โดนใจมากครับ โดยเฉพาะประเด็นที่สังคมต้องช่วยกันปกป้องนักวิจัยที่เอาความจริงมานำเสนอ และมองว่าต้องช่วยกันสกัด/ปฏิเสธการทำวิจัยเพื่อหาความชอบธรรมในการกำหนดนโยบายที่ไม่เป็นธรรมด้วยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท