KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 108. “คุณเอื้อ” กับ “ลูกบอล”


• วันนี้เราจะคุยกันด้วยภาษานามธรรม (abstract) สุดๆ เลยนะครับ   เพื่อจะทำความเข้าใจเรื่อง เคล็ดลับของการเป็น “คุณเอื้อในดวงใจ” ของลูกน้อง คือ “คุณอำนวย” “คุณลิขิต” “คุณกิจ” และอีกหลายๆ “คุณ”
• ผมคิดว่า “คาถา” หรือ “อาวุธวิเศษ” ของ “คุณเอื้อ” คือ “ลูกบอล”    “คุณเอื้อ” ต้องเป็น “นักบอล”    แต่ไม่ใช่นักเตะฟุตบอลนะครับ   ต้องเป็น “นักโยนบอล”
• ในภาษาของโตโยต้า (ซึ่งผมเอามาใช้ด้วยความชื่นชม) “โยนบอล” หมายถึงทดลองเสนอสิ่งที่ท้าทายมากๆ ในระดับที่ไม่คิดว่าจะทำได้ ให้ทีมงานลองช่วยกันคิด    ว่า “หัวปลา” นี้น่าจะคุ้มกับการปลุกปล้ำไหม   การ “โยนบอล” ในความหมายของผมเป็น Future Management หรือการจัดการอนาคต   ก่อนที่อนาคตจะมาจัดการเรา (องค์กร)
• “ลูกบอล” คือสิ่งที่ท้าทาย ความท้าทาย (challenge) ที่ในมุมมองหนึ่งจะเป็นต้นเหตุของความเครียด   แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง จะเป็นเส้นทางสู่ปิติสุข – ความสุขจากการได้บรรลุความสำเร็จ
• “คุณเอื้อ” มีหน้าที่ทำให้ผู้ร่วมงานทุกคนมีความสุข หรือรู้สึกตื่นเต้นว่าความสุขกำลังรออยู่ข้างหน้า   ไม่ใช่มีความทุกข์เพราะเครียด
• เมื่อตกลงรับ “ลูกบอล” มาแล้ว ศิลปะของ “การจัดการอนาคต” ก็คือ ให้ผ่า “อนาคต” ออกเป็นหลายๆ ส่วน เพื่อไม่ให้ “อนาคต” หนักเกินกำลัง
• “คุณเอื้อ” จึงต้องจัดกระบวนการ “แบ่งลูกบอล” ออกเป็น “ลูกบอล” เล็กๆ หลายๆ ลูก    แบ่งหน่วยย่อย / ทีมงาน ไปรับผิดชอบ   และอาจมีการแบ่ง “ลูกบอล” ย่อยลงไปอีก จนในที่สุดทุกคนมี “ลูกบอล” อยู่ในมือ
• “ลูกบอล” อาจเป็นของร้อนก็ได้ เป็นของเย็นก็ได้    เย็นในที่นี้น่าจะหมายความว่าอุ่นนะครับ   เพราะความท้าทายที่เย็นเฉียบคงจะไม่มี   คือร้อนพอทนที่จะถืออยู่ในมือ
• ทีนี้ก็มาถึงเคล็ดลับของ “คุณเอื้อ” ละครับ   “คุณเอื้อ” ต้องแสดงความเอาใจใส่ การ “เลี้ยงลูกบอล” ของเพื่อนร่วมงาน    และคอยแนะ “วิธีชู๊ตลูกบอล” สู่ความสำเร็จของเพื่อนร่วมงานแต่ละคน   นี่คือรูปธรรมหนึ่งของ empowerment
• ย้ำอีกที  เคล็ดลับของ คุณเอื้อ คือการมีกุศโลบายให้เพื่อนร่วมงานทุกคนมีความท้าทายในการทำงานอยู่ตลอดเวลา   และเป็นเจ้าของความท้าทายนั้น   คุณเอื้อเข้าไปช่วยให้เพื่อนร่วมงานได้บรรลุความสำเร็จต่อความท้ายนั้น   โดยที่เพื่อนร่วมงานเป็นเจ้าของความสำเร็จ   และทุกคนในหน่วยงาน/องค์กร ร่วมกันชื่นชมเฉลิมฉลองความสำเร็จนั้น 


 
วิจารณ์ พานิช
๙ พค. ๔๙
ระหว่างนั่งรถไปบ้านผู้หว่าน

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 38384เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2006 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พยายามอยู่ค่ะ  พอเราโยนไปให้แล้วก็ถูกโยนกลับ  ก็ถือครองอยู่ครู่หนึ่ง  แล้วโยนกลับไปใหม่ บางคนไม่อยากถือ อ้างว่าไม่มีเวลาหรือเสียเวลา บางคนก็ยินดี เราในฐานะคนเชียร์บอลต้องคอยให้กำล้งใจ หรือพูดอย่างไรให้เขาอยากเล่นค่ะ  หรือปล่อยเขาไปถ้าเราโยนไปหลายๆครั้ง แล้วเขาไม่เล่นค่ะ

ต้องมีกุศโลบายครับ     อย่าโยนบอลที่ใหญ่หรือหนักจนเขารับไม่ไหว     ผู้บริหารต้องรู้จัก "แบ่งลูกบอล" ให้เป็นลูกเล็กๆ ที่เขาพอรับไหว     และต้องทำให้สีของลูกบอลเป็นสีที่ท้าทาย และมีคุณค่าในมุมมองของเขา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท