KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 110. วัฒนธรรมการฟัง


          การทำ KM นำไปสู่การเปลี่ยนวัฒนธรรมหลายด้าน    จะค่อยๆ กล่าวถึงทีละด้าน    ในวันนี้จะกล่าวถึงวัฒนธรรมการฟัง

         การฟังที่สำคัญที่สุดคือการฟังอย่างลึก (deep listening)    คนเราไม่ค่อยมีวัฒนธรรมการฟังอย่างลึก    ใครมีทักษะนี้ติดตัวก็เป็นคนโชคดี เพราะจะทำให้เรียนรู้ง่าย หรือมีทักษะในการเรียนรู้ 

        ในหลายกรณี คนจำนวนมากร่วมในการประชุม แต่ไม่ได้ฟัง    หรือฟังแต่ไม่ลึก เป็นการฟังแบบไม่มีคุณภาพ     เนื่องจากไม่ได้ฝึกการฟังอย่างลึก หรือไม่รู้จักการฟังอย่างลึก

        คนที่ฟังไปพร้อมๆ กับเถียงอยู่ในใจ จะฟังได้ไม่ลึก    ยิ่งฟังไปพร้อมกับปฏิเสธสิ่งที่ได้ยิน ก็จะยิ่งฟังได้ผิวเผินมาก

       คนที่ร่วมอยู่ในกระบวนการจัดการความรู้ ต้องฝึกทักษะในการฟังอย่างลึก     เพราะจะต้องฝึกรับความรู้ชนิดที่เราไม่คุ้นเคยในการรับ-ส่ง คือ ความรู้ฝังลึก (tacit knowledge)     ถ้าฟังอย่างลึกไม่เป็น ก็จะรับความรู้ฝังลึกไม่ได้ หรื   อได้น้อยมาก

        คนที่อยู่ในวัฒนธรรมอำนาจ  วัฒนธรรมลำดับชั้น หรือชั้นยศ ชั้นตำแหน่ง  จะไม่มีวัฒนธรรมการฟังอย่างลึก    ไม่มีวัฒนธรรมการฟังซึ่งกันและกันในกลุ่มผู้ร่วมงาน     คุ้นเคยแต่กับการแสดงท่าที "ฟัง" เจ้านาย แบบหงอ หรือเคารพ แบบปลอมๆ     ไม่ได้ "ฟัง" จริงๆ     เป็นเชนนี้ไปนานๆ จะเคยชินที่จะไม่ฟังใครอย่างลึกเลย     กลายเป็นคนที่เรียนรู้ความรู้จากการปฏิบัติได้ยาก

          หน่วยงานที่จะทำ KM ให้ได้ผลดีต้องฝึกทักษะการฟังอย่างลึก ให้แก่พนักงาน     ต้องสร้างวัฒนธรรมการฟังซึ่งกันและกัน   

        วัฒนธรรมนี้มากับวัฒนธรรมเคารพและเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน ในหมู่เพื่อนร่วมงานทุกระดับ

วิจารณ์ พานิช
๒๘ มิย. ๔๙         

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 38705เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2006 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท