ชีวิตที่พอเพียง : ๑๑๔๔. จินตนาการทักษะครูเพื่อศิษย์ ๑. ทักษะครูเพื่อศิษย์ไทยในศตวรรษที่ ๒๑



          ครูเพื่อศิษย์ต้องไม่ใช่แค่มีใจ เอาใจใส่ศิษย์เท่านั้น   ยังต้องมีทักษะในการ “จุดไฟ” ในใจศิษย์ ให้รักการเรียนรู้ ให้สนุกกับการเรียนรู้ หรือให้การเรียนรู้สนุก และกระตุ้นให้อยากเรียนรู้ต่อไปตลอดชีวิต

          ครูจึงต้องยึดหลัก “สอนน้อย เรียนมาก”   คือกิจกรรมต่างๆ ของเด็กต้องตอบได้ว่า ศิษย์ได้เรียนอะไร   และเพื่อให้ศิษย์ได้เรียนสิ่งเหล่านั้น ครูต้องทำอะไร ไม่ทำอะไร   ในสภาพเช่นนี้ ครูยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น และมีความท้าทายต่อครูมากขึ้น ที่จะไม่ทำหน้าที่ครูผิดทาง   ที่ทำให้ศิษย์เรียนไม่สนุก   หรือเรียนแบบขาดทักษะสำคัญ

          การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ต้อง “ก้าวข้ามสาระวิชา” ไปสู่การเรียนรู้ “ทักษะเพื่อชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑” (21st Century Skills) ที่ครูสอนไม่ได้ นักเรียนต้องเรียนเอง   หรือพูดใหม่ว่าครูต้องไม่สอน แต่ต้องออกแบบการเรียนรู้ และอำนวยความสะดวก (facilitate) การเรียนรู้ ให้นักเรียนเรียนรู้จากการเรียนแบบลงมือทำ หรือปฏิบัติ แล้วจึงเกิดการเรียนรู้จากภายในใจและสมองของตนเอง   การเรียนรู้แบบนี้เรียกว่า PBL (Project-Based Learning)

         ครูเพื่อศิษย์ต้องเรียนรู้ทักษะในการออกแบบการเรียนรู้แบบ PBL ของศิษย์ ให้เหมาะสมต่ออายุหรือพัฒนาการของศิษย์

          สาระวิชาก็มีความสำคัญ แต่ไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้เพื่อมีชีวิตในโลกยุคศตวรรษที่ ๒๑   ในยุคปัจจุบันการเรียนรู้สาระวิชา (content หรือ subject matter) ควรเป็นการเรียนจากการค้นคว้าเองของศิษย์ โดยครูช่วยแนะนำ   และช่วยออกแบบกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนแต่ละคนสามารถประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของตนเองได้

          ทักษะเพื่อชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ ได้แก่

สาระวิชาหลัก
     • ภาษาแม่ และภาษาโลก
     • ศิลปะ
     • คณิตศาสตร์
     • เศรษฐศาสตร์
     • วิทยาศาสตร์
     • ภูมิศาสตร์
     • ประวัติศาสตร์
     • รัฐ และความเป็นพลเมืองดี


หัวข้อสำหรับศตวรรษที่ ๒๑
     • ความรู้เกี่ยวกับโลก
     • ความรู้ด้านการเงิน เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ
     • ความรู้ด้านการเป็นพลเมืองดี
     • ความรู้ด้านสุขภาพ
     • ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม


ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม
     • ความริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม
     • การคิดอย่างลึกซึ้งและการแก้ปัญหา
     • การสื่อสารและการร่วมมือ


ทักษะด้านสารสนเทศ, สื่อ, และเทคโนโลยี
     • ความรู้ด้านสารสนเทศ
     • ความรู้เกี่ยวกับสื่อ
     • ความรู้ด้าน ICT


ทักษะชีวิตและอาชีพ
     • ความยืดหยุ่นและปรับตัว
     • การริเริ่มและเป็นตัวของตัวเอง
     • ทักษะสังคม และสังคมข้ามวัฒนธรรม
     • การเป็นผู้สร้างหรือผลิต (productivity) และความรับผิดรับชอบเชื่อถือได้ (accountability)
     • ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ (responsibility)


นอกจากนั้นโรงเรียนและครูต้องจัดระบบสนับสนุนการเรียนรู้ต่อไปนี้
     • มาตรฐานและการประเมิน ในยุคศตวรรษที่ ๒๑
     • หลักสูตรและการเรียนการสอนสำหรับศตวรรษที่ ๒๑
     • การพัฒนาครูในศตวรรษที่ ๒๑
     • สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนในศตวรรษที่ ๒๑

          รายละเอียดของกรอบแนวคิดของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ นี้ ได้มาจาก Figure 1.1 ของหนังสือ 21st Century Skills : Rethinking How Students Learn ที่มี James Bellanca & Ron Brant เป็นบรรณาธิการ   ที่ location 104 ใน e-book อ่านด้วย iPad 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๖ พ.ย. ๕๓
Four Seasons Hotel and Resort, เชียงใหม่

                     
          

หมายเลขบันทึก: 414362เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2010 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ได้รับรู้เรื่องราวของ "ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑" จากการอบรมจากทาง ศธ. และ Intel มาเหมือนกันครับอาจารย์หมอ ... น่าจะนำไปปรับอยู่ในหลักสูตรของการผลิตและการใช้ครูอย่างมาก

ขอบคุณครับ ;)

วรรณวไล อธิวาสน์พงศ์

เห็นด้วยกับที่ท่านอาจารย์เขียนไว้ จริงๆ และ คำว่าครูไทยนี้ต้องรวมไปถึงครูมหาวิทยาลัยด้วยนะคะ

อย่างไรก็ตามความยากที่สุดของครูไทย ที่จะทำPBLน่าจะอยู่ที่

(๑)ความคุ้นชินที่เคยถูกสอน ยิ่งกว่า ถูกจัดให้เรียนรู้ ทั้งในครอบครัวและในสถานศึกษา ตั้งแเริ่มเรียนจนอุดมศึกษา

(๒)บริบทของครูที่เน้นการทำงานไปสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ชนิดที่ส่งผลลัพท์ต่อผู้เรียนไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น อย่างเช่น มีเล่าว่า รร.บางแห่ง มีครู ชำนาญการระดับ ๘ เกือบหมดแต่ผลสัมฤทธิ์นักเรียน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเขตพื้นที่การศึกษา เป็นต้น

หากเริ่มที่ตัวครูเองได้ก่อน ลู่ทางที่จะเดินต่อไปคงง่ายขึ้น

ขอบพระคุณที่อาจารย์ได้นำสิ่งดีๆมาสู่สมองเสมอค่ะ

วรรณวไล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท