KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 122. KM กับทุนทางสังคม


KM อยู่กับพลังเชิงบวก และพลังเชิงบวกก็มีแสนยานุภาพที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อ

        ผมได้แรงบันดาลใจในการเขียนบันทึกนี้จากการอ่านหนังสือ "แนวคิดและทฤษฎี : สังคม การสื่อสาร กับการเปลี่ยนแปลงสังคม"    จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท  มหาวิทยาลัยมหิดล

        หนังสือนี้รวบรวมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ "ทุนทางสังคม" ไว้อย่างดีมาก ในหน้า ๓ - ๑๑     แต่ผมยังรู้สึกว่ายังเป็นการมองทุนทางสังคมในรูปแบบที่ "ดิ้นได้" น้อยไป     จากการทำงานส่งเสริม KM มาเกือบ ๔ ปี  ผมเชื่อว่าเราสามารถเพิ่มทุนทางสังคมของไทยขึ้นได้เป็นสิบเท่าภายในเวลาไม่กี่ปี     ถ้าเราเข้าใจ  พร้อมใจ  และพร้อมกันทำ

        มันยากตรงพร้อมใจ  และพร้อมกันทำ นี่แหละ    แต่ความยากไม่เป็นเหตุให้ท้อถอยนะครับ     มันคือความท้าทาย

        ผมมีฉันทาคติ ว่า KM สามารถดึงศักยภาพของคนแต่ละคนออกมาเป็นสิบเท่าของที่ใช้อยู่     และเมื่อดึงออกมาสนธิพลัง (synergy) กับเพื่อนร่วมงาน ร่วมสังคม ก็จะยิ่งเพิ่มพลัง  เพิ่ม "ทุนปัญญา"     ผมรู้สึกว่าหนังสือเล่มดังกล่าวไม่ได้รวมเอาทุนปัญญาไว้ในทุนทางสังคม

        ทุนปัญญาเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทุนทางสังคม     ทุนทางสังคมมีพลังได้เพราะ "กาวใจ" ระหว่างฝ่ายต่างๆ      ทุนปัญญาที่เป็นปัญญาปฏิบัติ  ที่ปฏิบัติอยู่บนฐานคิดเชิงบวก  ที่เคารพและเห็นคุณค่าของความรู้ในตัวคน    ทำหน้าที่เป็น "กาวใจ" สร้างการสนธิพลังแยกส่วนทั้งหลาย ให้สนธิกันเข้าเป็นพลังทางสังคม

        ดังนั้นถ้าเข้าใจ และปฏิบัติ KM อย่างลึก     ที่ว่ายากตรงพร้อมใจ  พร้อมกันทำ  ก็ไม่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้    KM อยู่กับพลังเชิงบวก และพลังเชิงบวกก็มีแสนยานุภาพที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อ

วิจารณ์ พานิช
๑๖ กค. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 41765เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2006 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 12:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท