KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 133. การออกแบบการพัฒนาแนว KM


        เมื่อวันที่ ๒ สค. ๔๙ ผมไปร่วมประชุมเพื่อให้ความเห็นโครงการจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Studies)     ได้ให้ความเห็นว่า แนวทางที่คณะผู้ยกร่างโครงการเสนอไว้ ผมเรียกว่าแนวทางวิจัยและพัฒนา     แล้วต่อไปจึงขยายผล     เป็นแนวทางที่ใช้กันโดยทั่วไป     ใช้การวิจัยเป็นหลัก

        แต่ในประสบการณ์ของผม มีอีกแนวทางหนึ่งที่อาจจะดีกว่าในแง่ของการครอบคลุมทั่วทั้งสังคมโดยเร็ว      ผมเรียกว่า แนวทาง KM     ใช้ แนวคิดแบบ KM

        ต้องย้อนกลับไปที่เป้าหมายของโครงการจิตตปัญญาศึกษา     เป้าหมายใหญ่คือการพัฒนาการศึกษาของเราให้มีสมดุลของการเรียนรู้ภายนอกกับการเรียนรู้ภายใน     เวลานี้การศึกษาของเรา เราเรียนกันเฉพาะเรื่องภายนอก เพื่อการทำมาหากิน     เราไม่ได้เรียนรู้ด้านในเพื่อการรู้จักตัวเอง

        จิตตปัญญาศึกษาเป็นการเรียนรู้ด้านในเพื่อการรู้จักตัวเอง      ถ้าแพร่หลายไปทั่วทั้งสังคม     บ้านเมืองของเราก็จะไม่ถูกเผาด้วยไฟกิเลสตัณหาอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้

        การออกแบบโครงการเพื่อการพัฒนาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง     ผมมองว่ามีได้ ๒ แนว    คือแนววิจัย   กับแนว KM

         อย่างกรณีโครงการจิตตปัญญาศึกษา     ถ้ายึดแนววิจัย  เราจะถือว่าสังคมไทยยังไม่มีใครดำเนินการศึกษาที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ด้านใน     ต้องพัฒนาตัวแบบขึ้นมาก่อน     แล้วจึงถ่ายทอดตัวแบบที่เราพัฒนาขึ้น ออกไปกว้างขวาง

        แต่คิดแบบ KM ต่างกันในลักษณะตรงกันข้าม     คือคิดว่าการเรียนรู้ด้านใน มีอยู่แล้วในหลายที่หลายพื้นที่ในสังคมไทย     แต่อาจมีอยู่ในรูปแบบที่ไม่ครบถ้วน  ยังไม่เป็นระบบชัดเจน  หรือยังไม่ได้ผลนัก     แต่กิจกรรมของบางสำนักก็มีจุดแข็ง หรือความสำเร็จในบางจุด     และของอีกบางสำนักก็มีความสำเร็จในจุดที่แตกต่างออกไป     การออกแบบโครงการก็จะออกแบบให้ดำเนินการค้นหา    "สะเก็ดจิตตปัญญาศึกษา" ที่มีอยู่แล้ว     และเชิญผู้ปฏิบัติจริง มา ลปรร. กัน เพื่อสร้างรูปแบบหรือแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นระบบยิ่งขึ้น

        คิดแนววิจัย    ยังไม่มี    ต้องพัฒนาตัวแบบขึ้นมา
        คิดแนว KM  มีอยู่แล้วมากมาย  แต่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์    เชิญผู้ปฏิบัติจริงมา ลปรร. เพื่อยกระดับความรู้ (ปฏิบัติ)

       ออกแบบโครงการแนววิจัย    ทำในกลุ่มเล็กก่อน    ขยายผลทีหลัง
       ออกแบบแนว KM   ทำเป็นเครือข่ายตั้งแต่แรก    เป็นเครือข่ายของผู้ทำจริง    ผู้มีใจเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ

วิจารณ์ พานิช
๓ สค. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 44714เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2006 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจาย์ค่ะ ข้อความของอาจารย์นู๋อ่านแล้วรู้สึกมีความประทับมากจริงๆๆค่ะ

 นู๋อยากจะขอเรียนเชิญมาเป็นวิทยากรพูดในบริษัทได้รึเป่าค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท