KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 135. เครือข่าย KM เพื่อพัฒนาบัณฑิตอุดมคติ


         วันที่ ๗ - ๘ สค. ๔๙ มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การจัดการความรู้ของเครือข่ายการพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทยเขตภาคเหนือ ที่พิษณุโลก     โดยมีทีม มน. เป็นผู้จัดการประชุม

         เป็นการจัดการเรียนรู้แบบ ลปรร. ยกกำลังสอง      คือเรียนรู้ KM  และเรียนรู้วิธีจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ นศ. พัฒนาเป็นบัฑิตที่พึงประสงค์ มีผู้เข้าประชุมจาก ๒๔ สถาบันอุดมศึกษา  รวม ๑๓๐ คน

         ผมได้รับเชิญไปบรรยายพิเศษในหัวข้อเดียวกันกับการประชุม     โดยผมบอกที่ประชุมว่าเรื่องการพัฒนานิสิตนักศึกษาและบัณฑิตเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าเรื่อง KM     เพราะเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ มีคุณค่าสูงส่ง     ในขณะที่เรื่อง KM เป็นเพียงเรื่องทางเทคนิค     เป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย

         การพัฒนานิสิตนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตในอุดมคติ     หมายถึงการพัฒนาด้านบวก/ด้านดีของความเป็นมนุษย์     ส่งเสริมให้ นศ. ได้นำเอาจุดเด่นหรือความสามารถพิเศษของตน (ตามหลักการพหุปัญญา) มา ลปรร. กัน      ถ่ายทอดความรู้ความสามารถของตนแก่เพื่อน (และแก่ อาจารย์ ข้าราชการ และชาวบ้าน)     เป็นการเรียนรู้จากกันและกันผ่านกิจกรรม    โดยที่วงเรียนรู้ไม่จำกัดอยู่แค่วง นศ.  แต่ขยายสู่อาจารย์ ข้าราชการ พระ ผู้นำชุมชน ฯลฯ      ทำให้เกิดบรรยากาศของการ ลปรร. ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างกว้างขวาง  

         ผมเสนอให้ใช้เครื่องมือ ๓ ชิ้น     สำหรับใช้พัฒนาบัณฑิตอุดมคติ     ได้แก่ AI (Appreciative Inquiry), KM, และ MI (Multiple Intelligence)     โดยมีสมมติฐานว่า ตามภาพฝัน บัณฑิตอุดมคติ นั้น มี "สะเก็ดภาพ" เล็กๆ อยู่แล้ว     ในรูปของความสำเร็จเล็กๆ ในการช่วยส่งเสริมการพัฒนาตนเองให้เป็นคนดีแก่ นศ.     โดยที่สะเก็ดความสำเร็จที่มีอยู่แล้วอาจเป็นเรื่องราวของการพัฒนาอัจฉริยภาพหลากหลายด้าน     คือแตกต่างกัน     เมื่อนำมา ลปรร. ว่าผลสำเร็จของการพัฒนาอัจฉริยภาพ หรือพัฒนาคุณลักษณะ เกิดขึ้นได้อย่างไร     มีการดำเนินการและฟันฝ่าอุปสรรคมาอย่างไรบ้าง มีใครบ้างที่เป็นผู้แสดงบทบาท จึงบรรลุผล     ก็จะเกิดผลในการสร้างความคึกคัก ความมีชีวิตชีวาขึ้นในมหาวิทยาลัย

         นอกจากนั้น ยังควรทำงานวิชาการ  วิจัย  วิทยานิพนธ์ จากกิจกรรม ลปรร. นี้ด้วย

          หัวใจ คือการส่งเสริม (รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย) ให้หน่ออ่อนด้านดีที่มีอยู่แล้วในตัวมนุษย์ ได้เติบโตขยายพืชพันธุ์     และเบียดหน่ออ่อนด้านชั่ว ให้ลีบเฉาไป

         นั่นคือข้อคิดเห็นของผม

          แต่ที่ผมประทับใจที่สุด คือวิธีเตรียมการจัดการประชุมปฏิบัติการของทีม มน. นำโดย ผศ. ดร. วิบูลย์ วัฒนาธร (รองอธิการบดี), รศ. เทียมจันทร์ พานิชย์ผลินไชย  และ ดร. รุจโรจน์ แก้วอุไร (คณะศึกษาศาสตร์)     ที่มีทีมงานประมาณ ๒๐ คน จากหลากหลายหน่วยงานใน มน. มาร่วมกันจัด ในลักษณะของการเป็น "intern" วิทยากร KM ไปในตัว      และมีการ BAR กันไป ๒ ครั้ง ก่อนการประชุม 

          เป็นการจัดการประชุมปฏิบัติการที่เตรียมผู้เข้าร่วมไว้ล่วงหน้าอย่างดี    ในวันประชุมไม่มีการพูดถึง KM หรือพูดเพียงนิดหน่อย     เดินเรื่องด้วยความสำเร็จที่น่าชื่นชมในการช่วยเหลือส่งเสริมให้ นศ. ได้ฝ่ามรสุมระหว่างเป็น นศ. หรือแก้ปัญหาความประพฤติของ นศ.     ให้ผู้เข้าร่วมประชุมแยกกลุ่มทำ storytelling เรื่องที่ภาคภูมิใจเกี่ยวกับการช่วยเหลือ นศ.     มีคนบอกว่าบางกลุ่มเล่าไปร้องไห้ไป     แสดงว่าผู้มาร่วมประชุมเป็นกลุ่ม "คุณกิจ"  "คุณอำนวย" ตัวจริง     มีเรื่องราวของความสำเร็จมาเล่าอย่างทรงพลัง

        ผมชื่นใจในเครือข่ายนี้     หวังว่าการเรียนรู้ KM ผ่านกิจกรรมพัฒนาบัณฑิตอุดมคติ จะเป็นกลไกที่ได้ผลสองต่อ     คือได้ผลเชิงพัฒนาบัณฑิตอุดมคติ    และได้ผลเชิงพัฒนา KM ในระบบอุดมศึกษาด้วย     ในเรื่องนี้ น่าชื่นชมที่คุณมัทกานต์ โอฬารรัตนมณี (06 - 820 - 6567, 02 - 610 - 5500) ผู้รับผิดชอบ KM ของ สกอ. ได้มาร่วมการประชุมนี้ด้วย      สกอ. น่าจะเข้ามาสนับสนุน UKM และ KM เครือข่ายบัณฑิตอุดมคติ  โดยการเข้ามาชื่นชมยินดี และให้รางวัลกิจกรรมที่ได้ผลดีเป็นตัวอย่างได้     หรืออาจจะเข้ามาสนับสนุนการจัด "ตลาดนัดความรู้" ในด้านที่สำคัญต่อนโยบายพัฒนาอุดมศึกษาไทย

         มองในด้านการประยุกต์ใช้ KM     นี่คือการเอา KM เข้าไปในเครือข่ายที่มีอยู่แล้ว     คือ เครือข่ายการพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทยเขตภาคเหนือ    คล้ายกับเป็น CoP อยู่แล้ว     แต่เป็น CoP ที่ยังไม่ได้ใช้ KM     เมื่อนำเอา KM ไปประยุกต์ใช้ ก็น่าจะเป็น CoP ที่มีผลสัมฤทธิ์สูงยิ่งขึ้น     ที่จริงเครือข่ายบัณฑิตอุดมคติไทยทั่วประเทศมี ๖ เครือข่าย (สนับสนุนโดย สกอ.)     น่าจะใช้ KM ในการ ลปรร. ประสบการณ์ในเครือข่ายได้ทั้งสิ้น    และอาจ ลปรร. ข้ามเครือข่ายได้     ทำได้ง่ายๆ โดยผ่าน บล็อก gotoknow     ซึ่ง ดร. วิบูลย์ ได้เตรียมให้ อจ. Beeman แนะนำในวันที่ ๘ สค.

         มน. กำลังมือขึ้น    ได้รับการติดต่อให้เป็นวิทยากรจัดฝึกทักษะการทำ KM ให้อีก ๒ เครือข่าย    คือเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาในภาคเหนือตอนล่าง     และเครือข่ายผู้นำนิสิต มน.   

         ถ้าเครือข่าย KM ด้านต่างๆ ระหว่างมหาวิทยาลัยดำเนินไปได้ดี     ก็จะช่วยลบล้างคำพูดว่า KM ในมหาวิทยาลัยทำยาก     ยิ่งให้อาจารย์มีส่วนทำ KM ยิ่งยาก       

         ในตอนท้ายของวันแรก    ดร. วิบูลย์ ใช้ผมอีก     ท่านให้ผมสะท้อนความคิดส่วนตัวของผม     หลังจากฟังการประชุมกลุ่ม  และฟังรายงานการประชุมกลุ่มอยู่ตลอดวัน

          ผมสะท้อนว่า     ยังมีวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับตัว นศ. ว่า นศ. คือใครในองค์กรมหาวิทยาลัย     ผมมองว่าเวลานี้เราตกอยู่ในกระบวนทัศน์ที่มอง นศ. เป็นผู้เข้ามาให้ อจ. สอน หรือถ่ายทอดความรู้ให้    หรือกล่าวว่ามอง นศ. เป็น "ผู้รับ"   แต่ผมเห็นว่ามีมุมมองที่ต่างออกไปได้ ๔ แบบ  คือ (๑) นศ. ในฐานะ talent resource ในการสร้างสรรค์ความรู้หรือวิชาการ และกิจกรรมที่หลากหลาย   (๒) นศ. ในฐานะผู้กระตุ้น อจ.   (๓) นศ. ในฐานะผู้กระตุ้น อุดมศึกษา สร้างมิติใหม่แก่อุดมศึกษา   (๔) นศ. ในฐานะตัวเชื่อมกับสังคม/ชุมชน     ผมเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ในการมอง นศ. ในฐานะ "ผู้สร้างสรรค์"  

         ผมยังเสนอว่า  มหาวิทยาลัยไม่ควรรับความสัมพันธ์กับ สกอ. ในลักษณะผู้รับนโยบายมาดำเนินการ โดยที่นโยบายเป็นสูตรสำเร็จแนวเดียวกันหมด     แต่น่าจะสร้างความสัมพันธ์แบบร่วมกันกำหนดนโยบาย     มีการดำเนินการแล้ว feedback นโยบาย     มีการกำหนดภาพฝันที่แตกต่างกัน    แล้วบอก สกอ. ว่าควรมีการสร้างพลวัตเชิงนโยบาย (ไม่ว่าในเรื่องใด) ร่วมกัน 

        ตอน ๑๗ - ๑๘ น. ผมยังได้ร่วมกิจกรรม AAR ของทีม "คุณอำนวย" กระบวนการ ลปรร. ของ มน.     ทำให้ผมได้เห็นความเข้มแข็งของทีมนี้อย่างชัดเจน     แม้บางคนจะบอกว่เพิ่งขึ้นเวทีนี้เป็นเวทีแรก     ผมมีความสุขมากว่า KM ประเทศไทยเราก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว     ต่อไปทีม มน. น่าจะช่วยจัด KM Workshop ให้แก่หน่วยงานในภาคเหนือตอนล่างได้ทั้งหมด

                           

บรรยากาศในห้องประชุม ขณะ รศ. นพ. อำนาจ อยู่สุข (รองอธิการบดี มช.) ประธานเครือข่ายบัณฑิตอุดมคติเขตภาคเหนือกล่าวเปิดการประชุม

                          

วิทยากรหลักใน ๒ ห้องย่อย  รศ. เทียมจันทร์ พานิชย์ผลินไทย และ ดร. รุจโรจน์ แก้วอุไร แห่งคณะศึกษาศาสตร์ มน. และผึ้งหนุ่ม 

                          

ดร. จิตรลดา บุรพรัตน์ แห่งวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มช. ซึ่งเปิดหลักสูตรปริญญาเอกด้าน KM ก็มาร่วมด้วย

                          

คุณมัทกานต์ โอฬารรัตนมณี ผู้รับผิดชอบ KM ของ สกอ. มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

                           

ตารางสำหรับบันทึกเรื่องเล่า และขุมความรู้  มือที่เห็นเป็นของผึ้งหนุ่ม

                          

                           บัตรคำ  หนึ่งบัตร หนึ่งขุมความรู้

                          

ดร. พรเทพ รู้แผน รองอธิการบดี มรภ. นครสวรรค์กำลังอธิบายและจัดบัตรคำขุมความรู้เป็นกลุ่มแก่นความรู้เพื่อพัฒนาบัณฑิตอุดมคติ

                          

 ทีมวิทยากรทำ AAR ตอนเย็น  ดร. วิบูลย์สั่งแจกเสื้อสามารถทันที เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จ

วิจารณ์ พานิช
๗ สค. ๔๙
พิษณุโลก

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 45013เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2006 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 03:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ผมร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วยครับ
  • หลังจากอ่านบันทึกนี้แล้ว เห็นภาพของ synchronization ชัดเจนขึ้นครับ
  • ขออนุญาตยืมภาพที่เกี่ยวกับผึ้งหนุ่มไปใช้ประโยชน์บ้าง
  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์หมอวิจารณ์เป็นอย่างสูงสำหรับบันทึกนี้ค่ะ ทีมของเราทั้งฟาน้อย ฟาใหญ่  ตั้งหน้าตั้งตารอบันทึกนี้กันตั้งแต่วันที่อาจารย์หมอกลับไปอย่างใจจดใจจ่อ  (ทั้งไถ่ถาม และแอบทวงถามค่ะ)
  • เมื่อวาน QAU ได้มีโอกาสไปทำ KM Workshop ให้กับบุคลากรของกองกลาง มน. 
    (ตามคำเรียกร้องของผู้จัดเอง) บรรยากาศดีมากๆ ค่ะ หนูจะกลับมาเล่าอย่างละเอียดอีกครั้งในวันหน้าค่ะ  เนื่องจาก
  • วันนี้ 11.00 น. ทีมของเราจะต้องเดินทางไปจัด KM Workshop ให้กับผู้นำนิสิต มน. โดยจะต้องเดินทางไปจัดที่ ม.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ค่ะ  (สถานที่เปลี่ยนจากสุโขทัยที่เราวางแผนไว้  เป็นที่ ม.แม่โจ้ สืบเนื่องจากที่เราจัด KM Workshop ให้กับเครือข่ายการพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทยค่ะ  นอกจากนี้ยังมี observer จากม. เครือข่ายมาเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วยค่ะ) เมื่อกลับมาแล้วหนูจะรีบนำรายละเอียดทั้ง 2 งาน  มาถ่ายทอดใน blog ต่อไปค่ะ

    ด้วยความเคารพอย่างสูง
    เจนจิต.
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท