KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 146. KM กับนวัตกรรม


          เมื่อสังคมไทยรู้จัก KM ชัดเจนขึ้น     รู้จักในมิติของการปฏิบัติ    ไม่ใช่รู้จักเชิงทฤษฎีที่จำคำพูดหรือตำรามาแบบนกแก้วนกขุนทอง     เราควรขยายไปทำความเข้าใจการประยุกต์ใช้หลักการและวิธีการ KM ให้มากขึ้น

          ฟ้าประทานเภสัชกรนพดล เหลืองภิรมย์ ผู้ลุ่มหลงสังคมศาสตร์ มาให้คุยกับผม      ฟ้าในที่นี้คือ รศ. ดร. กำจัด มงคลกุล ผู้ที่ผมเคารพนับถือในความเป็นคนดี คนมีสายตายาวไกล     ใช้สายตายาวไกลเพื่อประโยชน์บ้านเมือง     และเคยรับหน้าที่ริเริ่มจัดระบบการจัดการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ของ สกว. ได้ผลในระดับ "สร้างนวัตกรรม" มาแล้ว

         เรานัดพบกันเย็นวันที่ ๑๘ สค. ๔๙ ที่ห้องประชุมคณบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี     หลังจากผมประชุมกับสภาวิชาการเสร็จแล้ว     คุณนพดล กำลังทำดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง "การจัดการนวัตกรรม : การพัฒนาตัวแบบความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของนักวิจัย"      ตอนแรกผมก็ไม่อยากคุยกับคุณนพดล     เพราะเบื่อ นศ. ปริญญาเอกของหลักสูตรที่ผมมองว่าด้อยคุณภาพ      คือเป็นหลักสูตรที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบไม่มีองค์ความรู้ด้านนั้นอยู่เลย     ซ้ำร้ายยังไม่ได้สนใจสร้างความรู้ (วิจัย) ด้านนั้นๆ ด้วย     เป็นหลักสูตรจับเสือมือเปล่า เอาสตางค์เป็นเป้าหมาย     ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสั่งสมและสร้างสรรค์องค์ความรู้

        แต่กรณีคุณนพดลเป็นข้อยกเว้น    พอคุยกันไปได้หน่อยผมก็ได้กลิ่นความเอาจริงเอาจังในลักษณะ "นักวิชาการนอกสถาบัน"        แต่ "หมัดน็อค" ที่ทำให้ผมเปลี่ยนใจอยากคุย ก็ตรงที่โมเดลการวิจัยเน้นที่ สินทรัพย์ที่มองไม่เห็น (intangible assets) หรือทุนทางสังคม (social capital)     ที่วัดได้ด้วย การวิเคราะห์เครือข่ายทางสังคม (Social Network Analysis)     แถมคุณนพดลคุยว่ามี ซอฟท์แวร์ ที่วัดเครือข่ายนี้ได้และยินดีมาเล่าให้ฟังหรือลองวิเคราะห์ให้ดู  ผมก็ตาลุกซีครับ 

        คุณนพดล ส่ง อีเมล์ บทความเรื่อง Innovation  Management : The new proposal of  researcher’s  innovative capacity  enhancement model มาให้อ่าน     ผมก็ยิ่งตาลุก    เพราะเป็นการเสนอให้เห็นว่าการจัดการนวัตกรรมในโมเดลเก่า ละเลยความสำคัญของความรู้ในคน (tacit knowledge)    ละเลยความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างคน  (มีต่อ)

วิจารณ์ พานิช
๒๐ สค. ๔๙ 

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 47527เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2006 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ขอบคุณค่ะอาจารย์ จะติดตามอ่านการวิเคราะห์เครือข่ายทางสังคม (Social Network Analysis) จากคุณนพพลค่ะ และอยากเชิญคุณนพพลมาให้ความรู้เรื่องนี้ในห้องเทคโนโลยี KM ในงานมหกรรมฯ ด้วยค่ะ โดยอยากให้ช่วยถ่ายทอดเรื่องความสำคัญของศาสตร์ด้านนี้ต่องานด้าน KM และทีมงานและสมาชิก GotoKnow ก็จะร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยค่ะ :)
ดร ยุพเยาว์ ดรุณ ม ราชมงคลล้านนา ลำปาง

ดิฉันเพิ่งจะเริ่มศึกษาว่า KM สามารถเป็น เครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างไร กำลังเริ่มต้นลงไปศึกษาวิจัยกับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับรถม้าของเมืองลำปาง ศึกษาวิถีชีวิตของเขาซึ่งมีอยู่ในสังคมไทยมากว่า 80 ปีค่ะ ตอนนี้ต้องการความช่วยเหลือค่ะอยากใช้ KM เข้ามาประยุกต์ในการวิจัยเพื่อการพัฒนาชีวิต พัฒนากลุ่มชาวบ้านรถม้า พัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตค่ะ ท่านสมาชิกใดต้องการเสนอแนะแง่มุมช่วยติดต่อดิฉันที่[email protected]นะคะ ขอบคุณค่ะ

ยุพเยาว์ ดรุณ

เรียนท่านอาจารย์วิจารณ์และท่านอาจารย์นภดลค่ะ

ดิฉันต้องการอ่าน paper ที่ท่านกล่าวถึงข้างต้น Innovation Management: The new proposal ....... ดิฉันขอความกรุณาจากท่านได้ไหมคะ

ขอขอบพระคุณค่ะ

ยุพเยาว์ ดรุณ

ดิฉันขออนุญาตแจ้งให้อาจารย์ไพฑูรย์ ช่วงฉ่ำ มาอ่านด้วย เพราะน่าจะเป็นประโยชน์ต่อวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเธอ

ดร.ยุพเยาว์คะ

ดิฉันได้สานต่อการทำวิจัยเรื่องการพัฒนาการพูดภาอังกฤษเพื่อการสื่อสารให้นักเรียนชั้น ม.5 ของโรงเรียนลำปางกัลยาณี และกำลังจะเข้าไปฝึกควาญช้างที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยให้สื่อสารกับนักท่องเที่ยวเป็นภาษาอังกฤษ  จึงใคร่ขอเรียนปรึกษาถึงแนวทางที่ดิฉันควรปฏิบัติในงานวิจัยในครั้งนี้ด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท