KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 147. ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่


KM เป็นเรื่องของการพลิกวัฒนธรรม จากวัฒนธรรมปัญหา เป็นวัฒนธรรมความสำเร็จ จากวัฒนธรรมพุ่งลบ (Negative-focussed) ไปสู่วัฒนธรรมพุ่งบวก (Positive-focussed) จากยุทธศาสตร์แก้ปัญหา สู่ยุทธศาสตร์ขยายความสำเร็จเล็กๆ จากวัฒนธรรม "จิตทุกข์" (เพราะหมกมุ่นปัญหา) สู่วัฒนธรรม "จิตสุข" (เพราะชื่นชมความสำเร็จเล็กๆ)

KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ  : 147. ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่

        ประโยคที่เราคุ้นเคยคือ "อย่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่"     เป็นคำที่ถูกต้องตามวัฒนธรรมปัญหานำ (Problem-based Culture)     แต่ในการทำ KM เราใช้วัฒนธรรมใหม่  คือ "วัฒนธรรมความสำเร็จนำ" (Success-based Culture)

        จริงๆ แล้ว ผู้ใหญ่เขาต้องการเตือนสติว่า  อย่าทำปัญหาเล็กๆ ให้กลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น     ซึ่งเป็นการเตือนที่ถูกต้อง

       แต่ใน KM เราหาความสำเร็จเล็กๆ มาขยายให้กลายเป็นความสำเร็จที่ใหญ่ขึ้น     เป็นการใช้ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนความสำเร็จ     โดยยึดถือหลักการว่า ในความสำเร็จมีความรู้ (ปฏิบัติ)   ที่สามารถนำมาต่อยอดผ่านการนำไปปรับใช้     แล้วนำมา ลปรร. กันอย่างต่อเนื่อง      ก็จะเกิดการหมุนเกลียวความรู้ผ่านการปฏิบัติ และการ ลปรร. ความรู้ปฏิบัติ     โดยนัยยะนี้ เรื่อง (ราวของความสำเร็จ) เล็กๆ ก็สามารถสร้างสรรค์ไปสู่เรื่อง (ความสำเร็จ) ใหญ่ ได้

        จะเห็นว่า KM เป็นเรื่องของการพลิกวัฒนธรรม    จากวัฒนธรรมปัญหา    เป็นวัฒนธรรมความสำเร็จ      จากวัฒนธรรมพุ่งลบ (Negative-focussed) ไปสู่วัฒนธรรมพุ่งบวก (Positive-focussed)    จากยุทธศาสตร์แก้ปัญหา  สู่ยุทธศาสตร์ขยายความสำเร็จเล็กๆ     จากวัฒนธรรม "จิตทุกข์"  (เพราะหมกมุ่นปัญหา)  สู่วัฒนธรรม "จิตสุข" (เพราะชื่นชมความสำเร็จเล็กๆ)

        เราอาจกล่าวได้ว่า KM เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ก็ได้     เปลี่ยนจากกระบวนทัศน์มุ่งหาความสำเร็จใหญ่ๆ  ความสำเร็จที่เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมตามแผนงาน     ไปสู่กระบวนทัศน์ที่มุ่งหาความสำเร็จเล็กๆ      สำหรับนำมาสร้างความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ผ่านกระบวนการแบบค่อยเป็นค่อยไป      ไม่มีแผนงานหรือรูปแบบตายตัว      กระบวนการค่อยเป็นค่อยไปนั้นคือ KM     หรือการ ลปรร. ผ่านการปฏิบัติ

       จะเห็นว่า การเปลี่ยนวัฒนธรรม  เปลี่ยนกระบวนทัศน์  ใน KM     ต้องมีการเปลี่ยนในหลายส่วนไปด้วยกัน     อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ และต้องเปลี่ยนแบบพลิกกลับเหมือนกัน     คือวัฒนธรรมการทำงาน และประเมินผลงาน     วัฒนธรรมการทำงานแบบกำหนดรูปแบบตายตัว เหมาะต่องานประจำ      แต่งานสร้างสรรค์ต้องไม่กำหนดเช่นนั้น     ต้องให้ผู้ปฏิบัติงานมีอิสรภาพในการทดลองทำงานในรูปแบบวิธีการใหม่ๆ     และการประเมินก็ต้องประเมินที่ผลลัพธ์  ไม่ใช่ประเมินที่การปฏิบัติตามแผนงาน 

วิจารณ์ พานิช
๓ กย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 47975เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2006 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท