KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 149. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์รวมหมู่


เริ่มจากการทดลองปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ ของคนหน้างานคนเดียวหรือกลุ่มเล็กๆ แล้วเอาผลและวิธีการมา ลปรร. กันภายใต้การจัดการให้มีจินตนาการร่วมที่ยิ่งใหญ่

         เมื่อเอ่ยถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คนมักคิดถึงความสามารถระดับปัจเจก (Individual Creativity)    และมักคิดถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ระดับก้าวกระโดด    ระดับที่คิดแหวกแนวไปไกล    และเป็นคุณสมบัติที่น้อยคน น้อยในระดับหนึ่งในร้อย ในพัน หรือในล้าน ที่จะมีคุณสมบัตินี้     ความคิดแนวนี้ไม่ผิด  แต่ไม่ครบ  

        ยังมีความคิดสร้างสรรค์อีกแบบหนึ่งที่ทรงคุณค่าไม่น้อยกว่าแบบแรก     และในชีวิตประจำวันมีผลมากกว่าความคิดสร้างสรรค์แบบแรกหลายสิบหลายร้อยเท่า      แต่เรามักนึกไม่ถึง     คือความคิดสร้างสรรค์รวมหมู่ (Collective Creativity)     ที่เริ่มจากการทดลองปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ ของคนหน้างานคนเดียวหรือกลุ่มเล็กๆ     แล้วเอาผลและวิธีการมา ลปรร. กันภายใต้การจัดการให้มีจินตนาการร่วมที่ยิ่งใหญ่     ความคิดเล็กๆ เหล่านี้สามารถประกอบกันเข้าเป็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ได้

        เงื่อนไขสำคัญของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์คือ (๑) ความเป็นอิสระ   (๒) การมีโอกาสที่จะทดลองทำจริงๆ    และ (๓) ความมีอิทธิบาท ๔ คือทำแบบกัดติดไม่ละลดท้อถอยแม้จะพบอุปสรรค

        คนไทยมีความเข้าใจผิดเรื่อง ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์     เข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องของการใช้ความคิดเป็นหลัก     จริงๆ แล้วความคิดเป็นเพียงส่วนเดียว     สิ่งที่สำคัญกว่าคือการทำ หรือปฏิบัติ หรือทดลอง     และส่วนใหญ่มักต้องลองแล้วลองอีก มีการปรับปรุงวิธีการ     จนในที่สุดเกิดผลงานสร้างสรรค์  

        ถ้าไม่มีผลเป็นรูปธรรมเขาเรียกว่าฝันเฟื่อง      ต้องมีผลเป็นรูปธรรมจึงจะเรียกว่าความริเริ่มสร้างสรรค์     ดังนั้นในการริเริ่มสร้างสรรค์ต้องมีทั้งคิดและทำประกอบอยู่ด้วยกัน

         การทำหรือทดลองแบบรวมกลุ่มกันทำ  ใช้ team learning    เอาความสำเร็จเล็กๆ มาต่อยอด    ไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่    คือการสร้างสรรค์รวมหมู่     ซึ่งก็คือ KM นั่นเอง

วิจารณ์ พานิช
๒๐ สค. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 48312เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2006 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ผมขอนำไปใช้ที่ทำงานบ้างนะครับ
  • บันทึกชิ้นนี้ของท่านอาจารย์ สร้างความเข้าใจให้กับคำถามที่ผมตั้งขึ้นมาในบันทึกเรื่อง ปัญญารวมหมู่ : Collective Intelligence ได้เป็นอย่างมาก

  • อย่างไรก็ตาม คำว่า Intelligence และ Creativity น่าจะมีความหมายที่ลุ่มลึกแตกต่างกันอยู่ในระดับหนึ่ง

  • ผมจะแสวงหาคำตอบด้วยการปฏิบัติตามที่ท่านอาจารย์แนะนำ...ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท