KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 157. การทำลายความรู้


KM เป็นกระบวนการที่มีการ "หลอมรวมและก้าวข้าม" ความรู้เดิมอยู่ตลอดเวลา

         บทความเรื่อง The knowledge - value chain : a conceptual framework for knowledge translation in health แต่งโดย Rejean Landry, Nobil Amara, Ariel Pablos-Mendes, Ramesh Shademani & Irving Gold   ตีพิมพ์ใน Bulletin WHO 2006; 84(8) : 597-602. (WHO Bulletin ฉบับนี้ตีพิมพ์เรื่อง Knowledge Translation ทั้งเล่ม) กล่าวถึง knowledge destruction    คือการทำลายความรู้หรือการปฏิบัติที่ทำต่อๆ กันมา     แล้วต่อมาพบว่าวิธีอื่นดีกว่า

         เมื่อมีการสร้าง ก็ต้องมีการทำลาย      การสร้างกับการทำลายเป็นของคู่กัน     ใน KM มีการสร้างความรู้ขึ้นใช้งาน    และในการทำงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็เกิดการยกระดับความรู้      ในกระบวนการเหล่านั้นความรู้ส่วนหนึ่งก็ต้องถูกทำลายหรือละทิ้งไป     เพื่อเปิดทางให้ความรู้ใหม่ได้เข้ามาแทนที่ เข้ามาเป็นความรู้สำหรับใช้งานใหม่

        ใน KM จึงมีวงจรของการสร้างและทำลายความรู้อยู่ตลอดเวลา    

        ในทางการศึกษา มีการกล่าวว่าการที่คนเราจะเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ต้องสามารถละจากความรู้เก่าได้    ที่เรียกว่า de-learn    learn ต้องคู่กับ delearn

        กล่าวตามถ้อยคำข้างต้นอาจจะผิดทั้งหมด     เพราะว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้ทำลายความรู้เดิมแบบทำลายล้างแบบไม่เหลือซากเดิม     จริงๆ แล้วความรู้เดิมยังคงอยู่  แต่มีความรู้ใหม่ที่ "หลอมรวมและก้าวข้าม" (transcend) ความรู้เดิม กลายเป็นความรู้ใหม่      คือจริงๆ แล้วมีการสั่งสมต่อยอดความรู้สืบเนื่องเรื่อยไป     จนถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดความรู้ใน "ภพภูมิ" (order) ใหม่ หรือกระบวนทัศน์ใหม่     ที่ยังคงมีเชื้อความรู้ใน "ภพภูมิ" เดิมอยู่ด้วย

        KM เป็นกระบวนการที่มีการ "หลอมรวมและก้าวข้าม" ความรู้เดิมอยู่ตลอดเวลา      โดยที่เรายังคงเคารพความรู้เดิม     เพราะถ้าไม่มีความรู้เดิม ความรู้ใหม่ก็ไม่เกิด หรือเกิดไม่ได้     เพราะไม่มีเชื้อความรู้เดิมให้ "หลอมรวมและก้าวข้าม"      การ "หลอมรวมและก้าวข้าม" ความรู้มีหลายวิธี      วิธีการแนว KM ทำโดยผ่านการปฏิบัติ     ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยการปฏิบัติ

วิจารณ์ พานิช
๒๘ สค. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 49888เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2006 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กำลังรู้สึกว่า ความรู้เก่าที่เรารู้ชักใช้ไม่ได้เหมือนกันค่ะ และกระบวนการ "ทำลาย" ความรู้เก่า ดูไม่ง่ายเลยค่ะ

อ่านบทความนี้แล้ว อยากไปกราบอาจารย์มากเลยค่ะ

รอเขียนรายงานสรุปการทำงานโครงการเด็กไร้รัฐ และโครงการเด็กและสื่อเสร็จ แล้วจะไปขอนัดค่ะ มีคำถามมากมาย อยากขอความเห็นและความรู้ คำถามหนึ่ง ก็คือ คำถามเกี่ยวกับการปรับความรู้เก่าในหัวทีมงานให้สนองตอบต่อสถานการณ์ใหม่ ซึ่งคิดว่า ส่วนหนึ่งได้จากบันทึกนี้แล้วค่ะ อีเมลล์อ่านกันไปทั่วประเทศไทยแล้วค่ะ

    การไม่ละเลยความรู้เก่าแบบ ทำลายทิ้ง มีข้อดีอีกหลายประการเช่น

  • เสริมสร้างการมีความกตัญญู รู้คุณคน
  • เรียนรู้ความเหนื่อยยาก และความอุตสาหะ ของคนรุ่นเก่า
  • เมื่อสถานการณ์บังคับ  เงื่อนไขเปลี่ยนไป มีบางครั้งที่ความรู้ใหม่ใช้ไม่ได้ .. ของเก่าก็จะช่วยได้ในยามนั้น
  • การแกล้งย้อนยุค ใช้ความรู้แบบเดิมในสถานการณ์บางอย่าง เช่นการฝึกคนให้มีความ ละเอียดรอบคอบ  ประณีต หรือ ใจเย็น วิธีปฏิบัติด้วยความรู้เก่าๆ ใช้เป็นเครื่องมือได้ดี
  •  ฯลฯ
หนูเห็นว่ามันจำเป็นค่ะอาจารย์แหวว เพราะความรู้บางอย่างเป็นอันตราย ยกตัวอย่าง เช่น จากรายงานของพี่ต้อง เรื่องคนสึนามิ เเละคนภาคใต้ เชื่อว่า ถ้าจดทะเบียนการเกิด จะถูกเกณฑ์ทหาร หรือ จะเป็นการเกี่ยวข้องกับรัฐ เเล้วจึงไม่นิยมจดทะเบียนการเกิด อันนี้หนูก็ถือว่าเป็นความรู้ที่จะต้อง delearn อย่างที่อาจารย์วิจารณ์เสนอ

อาจารย์เเหววอาจจะไม่เห็นว่าตัวอย่างที่พี่ต้องยกมาเป็น"ความรู้"  เพราะอาจารย์คิดว่ามันไม่ตรงกับความรู้กฎหมายของอาจารย์ เเต่นี่คือ"ความรู้"ของชาวบ้านที่เราต้องทำลายค่ะ  ถ้าเราเชื่อว่า ความรู้ คือความ (รับ) รู้ หรือคิดเเบบสัมมาทิษฐิ/ มิจฉาทิษฐิ ของบางอย่างก็ควรถูก decontruct ไปจนถึง destroy 

หรือความรู้บางอย่าง ไม่สามารถนำมาใช้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ ที่ไม่เคยมีมาก่อน (หนูใช้คำว่า "เกิดขึ้นใหม่" เเทน "ผุดบังเกิด" หรือ "emerge") เเล้วเราไม่สามารถใช้ชุดความรู้เดิมจัดการได้ เราก็ต้องยอมละความรู้เดิม เเล้วเริ่มที่ความรู้ใหม่ ถ้าเราไม่สามารถต่อยอดเเล้วออกผล

ทั้งหมดนี้ไม่เกียวกับการไม่กตัญญูต่อความรู้หรือ "ของเก่า" นะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท