KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 161. ทักษะที่ต้องฝึก


เราต้องเอาใจใส่การฝึกทักษะ KM ในระดับ "คุณภาพเชิงลึก เชิงละเมียดละไม" ของทักษะเหล่านั้น โดยเน้นการฝึกแบบทำไปเรียนไป และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไป

KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ  : 161. ทักษะที่ต้องฝึก

        หัวใจของ KM เป็นเรื่องของ ทักษะ  การให้โอกาส  และการจัดการ

         ทักษะเน้นที่ตัว "คุณกิจ"     การให้ (ส่งเสริม) โอกาส เน้นที่ตัว "คุณอำนวย"     ส่วนการจัดการ เน้นที่ตัว "คุณเอื้อ"      แต่จริงๆ แล้ว ส่วนของการให้โอกาส และการจัดการ ก็เป็นทักษะอีกนั่นแหละ

         แต่วันนี้ขอเน้นที่ทักษะสำหรับ "คุณกิจ" ก่อน     ผมคงจะเขียนได้ไม่ครบถ้วน    จึงขอเชิญช่วยกันระดมความคิดเพิ่มเติมด้วย

        ทักษะเหล่านี้เรามีกันอยู่แล้วทุกคน     แต่มีมากน้อยต่างกัน     คนหนึ่งอาจจะเก่งในบางทักษะ แต่อ่อนมากในบางทักษะ     ต้องสังเกตตัวเอง และหมั่นฝึกฝน     "คุณอำนวย" ก็ต้องสังเกต "คุณกิจ" ว่าแต่ละคนอ่อนแก่ในทักษะไหน     แล้วหาทางจัดประชุมปฏิบัติการเพื่อฝึกทักษะบางอย่างที่ "คุณกิจ" จำนวนมากยังย่อหย่อน     โดยใช้วิทยากรภายในเองนั่นแหละ    คือเอา "คุณกิจ" ที่เก่งทักษะนั้นจำนวนหนึ่งมาเป็นวิทยากร หรือพี่เลี้ยง หรือทำ "เพื่อนช่วยเพื่อน" (Peer Assist)  

        แต่การฝึกทักษะที่ดีและสะดวกที่สุดคือ ฝึกไปปฏิบัติไป หรือเรียนโดยการปฏิบัติ (Learning by Doing) ครับ     "คุณอำนวย" น่าจะมีวิธีส่งเสริมการฝึกทักษะของ "คุณกิจ" ไปพร้อมๆ กับการทำ KM ในชีวิตหรืองานประจำวันนั่นเอง     และหาทางทำให้การเรียนรู้ทักษะคุณกิจ เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง ที่มีการนำมายกย่องชื่นชม และ ลปรร. กัน     เป็นการทำ KM ซ้อน KM หลายๆ ชั้น     ใครมีประสบการณ์แนวนี้ เอามา ลปรร. กันบ้างนะครับ

        ผมมีความเชื่อว่าการฝึกทักษะเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าสนุกสนาน และมีคุณค่าสูงต่อชีวิตของเราทุกคน     เป็นเรื่องที่ต้องทำตลอดชีวิต     ถือเป็น "การเรียนรู้ตลอดชีวิต" อย่างหนึ่ง     สามรถเรียนรู้ให้ได้มิติที่ลึก  และได้มิติที่เชื่อมโยงกว้างออกไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด     และเมื่อเอาใจใส่เรียนรู้ทักษะเหล่านี้ จิตใจและสัมผัสของเราจะละเอียดอ่อน     มีความเข้าใจมนุษย์ ความสามารถของมนุษย์  ศักยภาพของความเป็นมนุษย์  ความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อ คุณค่า ความคิด ทักษะ พฤติกรรม ความสุข ฯลฯ ของมนุษย์ได้ดีขึ้น      ลองปฏิบัติดูเถิดครับ  แล้วจะสัมผัสและรับรู้ได้ถึงคุณประโยชน์เหล่านี้ด้วยตนเอง     ผมคิดว่านี่คือคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ต่อชีวิตของ "คุณอำนวย" และวิทยากร KM  

        ต่อไปนี้คือ รายการทักษะคุณกิจ เท่าที่ผมนึกออกในตอนนี้

   
          - การฟังอย่างตั้งใจ    ฟังให้ได้ "สาระ" ในหลายมิติ หลายระดับความลึก     ฟังให้ดื่มด่ำ แต่ก็มีสติในขณะเดียวกัน    ฟังให้ได้ "สาระ" ทั้งระดับกายภาพ   ระดับจิตใจ (Mental Model)  และระดับวิญญาณ ของเรื่องและของบุคคลผู้พูด     ฝึกฟังให้ระหว่างฟัง ปล่อย "รังสีแห่งมิตรภาพและความชื่นชม" ออกไปกระตุ้นผู้พูดให้เกิดความปิติ ความภูมิใจ ความมั่นใจ และความรับผิดชอบ ที่จะเล่าอย่างซื่อสัตย์ อย่างไม่ปิดบัง และอย่าง "เล่าจากใจ"    จะเห็นว่า เราต้องฝึกทักษะในลักษณะที่มองทักษะแบบที่ไม่ใช่ ทักษะ one way    แต่เป็นทักษะหลายทิศทาง     เป็นทักษะทั้งของผู้กระทำ หรือผู้ให้ และทักษะของผู้รับ อยู่ในขณะเดียวกัน หรือในตัวคนเดียวกัน     นี่เฉพาะเรื่องการฟังเรื่องเดียว เราก็สามารถฝึก และเรียนรู้ให้ลึกซึ้ง และแตกแขนงออกไปได้มากมาย     เฉพาะส่วนนี้ก็ยังเพิ่มเติมได้อีกมาก     เชิญช่วยกันเพิ่มเติมจากประสบการณ์ตรงของแต่ละท่านนะครับ

         - ทักษะในการเล่าเรื่อง ให้กระชับ มีพลัง  เร้าใจ  เร้าความชื่นชม  เร้าการปฏิบัติ     เล่าให้สื่อลึกเข้าไปถึงระดับคุณค่า  ระดับจิตวิญญาณที่ซ่อนอยู่     เล่าแบบไม่ใช่แค่สื่อด้วยคำพูด    แต่สื่อด้วยแววตา สีหน้า ท่าทาง ในขณะเดียวกันด้วย     เชิญช่วยกันเพิ่มเติมครับ

        - ทักษะในการสรุปประเด็น จากการพูดคุย ลปรร.   หรือจากการฟังเรื่องเล่า     สรุปให้ได้ประเด็นหลายชั้น  หลายมิติ     สรุปให้ได้ทั้งประเด็นที่สั้นกระชับ  และส่วนขยายความ     เชิญช่วยกันเพิ่มเติมครับ

       - ทักษะในการจดบันทึก ให้ทำได้ครบถ้วน  รวดเร็ว (ใช้เวลาน้อย)  กระชับ  กระจ่าง     ได้ทั้งประเด็นหลัก และรายละเอียดที่สำคัญ     ได้จุดเน้น     จดบันทึกได้ทั้งความรู้เกี่ยวกับการทำงาน    ความรู้เชิงกระบวนการ     ความรู้เชิงบริบท    ได้สาระเชิงบรรยากาศหรืออารมณ์ของผู้คนในระหว่างเหตุการณ์   ฯลฯ     เชิญช่วยกันเพิ่มเติมครับ

        - ยังมีทักษะอื่นๆ อีกมากมาย     เชิญช่วยกันเพิ่มเติมครับ

       ขอย้ำ hidden agenda ของบันทึกนี้     ผมต้องการสื่อว่า  เราต้องเอาใจใส่การฝึกทักษะ KM ในระดับ "คุณภาพเชิงลึก เชิงละเมียดละไม" ของทักษะเหล่านั้นครับ     โดยเน้นการฝึกแบบทำไปเรียนไป และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไป ครับ

วิจารณ์ พานิช
๑๗ กย. ๔๙   

หมายเลขบันทึก: 50456เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2006 08:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ฟังอย่างตั้งใจ  คือ

ฟังอย่างจิตที่เปิด...รับทุกคลื่นที่เลื่อนไหลเข้ามา  

ฟังอย่างร่วมรับรู้...เสมือนหนึ่งอยู่ในเหตุการณ์

ฟังให้รู้วิธีคิด และมองเห็นให้วิธีปฏิบัติของผู้พูด คือ อีกเสี้ยวหนึ่งของการฟังอย่างตั้งใจ

ที่มาจากประสบการณ์อันน้อยนิด และขออนุญาตร่วมต่อเติมตามคำเชิญของอาจารย์ค่ะ

เห็นด้วยกับอาจารย์อย่างยิ่งค่ะ  ทักษะการฟัง สรุปประเด็นและจดบันทึกเป็นสิ่งที่สำคัญที่คุณอำนวย คุณกิจ และคุณลิขิตต้องฝึกฝนอย่างมาก  ยิ่งเรามีเวทีลปรรบ่อยๆเราจะชำนาญขึ้น  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับบรรยากาศภายในกลุ่มด้วยค่ะ    ถ้ากลุ่มเอาแต่ฟังแล้วก็จดๆๆๆๆ ไม่ยอมพูด  คุณลิขิตจดสรุปประเด็นไม่ได้คุณอำนวยก็เหนื่อยเหมือนกันค่ะ    อาจารย์มีหลักสูตรอบรมคุณอำนวยและคุณลิขิตไหมคะ             ขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยชี้ทางสว่างค่ะ

           คุณอำนวย(มือใหม่)

ร่วมต่อเติมด้วยคนคะ
ในทักษะการฟังอย่างเปิดใจและจริงใจ แสดงออกได้โดยภาษากายเช่น การสัมผัสมือ สบตา การฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ตัดสินจากประสบการณ์หรือความคิดของเรา และการแสดงออกด้วยภาษาใจคือการแสดงความชื่นชมอย่างจริงใจ ตรงไปตรงมาขณะนั้น...ซึ่งเข้าใจว่าหลากคนอาจจะไม่คุ้นเคย แต่ตนเองก็เริ่มทำและนำมาใช้ในการทำงานและใช้ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่ได้กลับมาคือ...มิตรภาพจากเพื่อนร่วมงาน เพื่อนระหว่างหน่วยงาน เกิดความสุขและความทุ่มเท พร้อมที่จะสนับสนุนช่วยเหลือกัน

ขอขอบคุณค่ะอาจารย์ที่ให้คำแนะนำ ตนเองได้พยายามฝึกทักษะการฟังอย่างตั้งใจและคิดตาม แต่บางช่วงที่เรากำลังคิดตามอยู่อาจจะไม่ได้ฟังอย่างปะติดปะต่อ เนื่องจากตัดความคิดของตนเองไม่ได้ดั่งตั้งใจจะทำอย่างไรดี เพราะความคิดของเราไปไกลกว่าการฟัง ดังนั้นการรู้จักตัดความคิดหรือควบคุมความคิดก็น่าจะมีความสำคัญไม่แพ้กันไช่ไม่ค่ะ

                                              ขอบคุณค่ะ

หนูจะพยายามต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท