KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 168. บ่างช่างยุยุค KM


         ในยุคอีสป บ่างช่างยุ เน้นที่การยุแยก  ทำให้เกิดการแตกสามัคคี      แต่ในยุค KM บ่างช่างยุ เน้นที่การยุให้รวมตัวกัน    

         ที่จริงนักยุแยก  และนักยุรวม มีอยู่ทั่วไปในสังคม     มีมาทุกยุคทุกสมัย     แต่นักยุรวมมักไม่เป็นข่าว     ต้องเป็นนักยุแยกจึงจะเป็นข่าว  แม้จะเป็นข่าวเสื่อมเสียก็ตาม     เพราะโลกเรานิยมข่าวร้าย  ไม่นิยมข่าวดี    แปลกแท้ๆ     มีคนกล่าวว่าในวงการสื่อนั้น "ข่าวร้ายลงฟรี  ข่าวดีเสียเงิน"

         นั่นเป็นโลกแห่งฝ่ายต่ำ     แต่ KM เป็นโลกแห่งฝ่ายสูง    การยุยงเป็นเรื่องของการจุดประกาย  ส่งเสริมให้คนรวมตัวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน     เกิดความสามัคคี เกิดการเคารพ เห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน   

         บ่างยุคอีสป เป็นนักจุดไฟนรก ไฟด้านร้ายหรือด้านชั่วของมนุษย์      แต่บ่างยุค KM เป็นนักจุดไฟสวรรค์ ไฟด้านดี ด้านที่เป็นกุศล ของความเป็นมนุษย์   

         บ่างยุค KM อาจเป็น "คุณเอื้อ" และหรือ "คุณอำนวย" ที่คอยยุยงส่งเสริมกระบวนการ ลปรร. ระหว่าง "คุณกิจ"     คอยตรวจจับผลลัพธ์ดีๆ การเรียนรู้/ความรู้ดีๆ ที่เกิดขึ้นจากกลุ่ม KM เอามากล่าวขวัญ ชื่นชม ยกย่อง หรือให้รางวัล     รวมทั้งคอยชี้ช่อง ว่าผลลัพธ์/ความรู้ดีๆ ของกลุ่มหนึ่ง อาจนำไปปรับใช้ในต่างบริบทของอีกกลุ่มหนึ่งได้     รวมทั้งคอยดูว่าความรู้ความเข้าใจในงานกำลังยกระดับขึ้นไปอย่างไร     แล้วนำมาตั้งคำถามต่อกลุ่ม    นำมาลองตีความยกระดับ และพูดคุยทำความเข้าใจในกลุ่มผู้ปฏิบัติ ("คุณกิจ") ตัวจริง

         บ่างยุค KM เป็นนักยุทธศาสตร์และยุทธวิธี     คือคอยยุยงส่งเสริมให้มีการทำงานขับเคลื่อนคุณภาพของผลสัมฤทธิ์ให้ตรงเป้าหมายขององค์กร     โดยที่ผู้ปฏิบัติ หรือ "คุณกิจ" ได้ทำงานในรูปแบบที่มีส่วนใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ร่วมกัน     ไม่ใช่ทำงานตามสูตรแบบเครื่องจักร     บ่างยุค KM เป็นนักกระตุ้นเอามิติของความเป็นมนุษย์ออกมาทำงาน    กระตุ้นเอามิติด้านดีของความเป็นมนุษย์ออกมาทำงานสร้างสรรค์ ทำงานที่มีคุณค่า

         บ่างยุค KM ทำให้ที่ทำงานเป็น "สวรรค์"  เป็นนักสร้าง "สวรรค์ในที่ทำงาน"     ตรงกันข้ามกับบ่างยุคอีสป ที่ทำให้ป่าเป็นนรกของความขัดแย้ง      ประเด็นสำคัญที่สุดที่แตกต่างกันระหว่างบ่าง ๒ ยุค     คือการจุดไฟ ใส่ฟืน เพื่อกระตุ้นด้านใดของความเป็นมนุษย์

วิจารณ์ พานิช
๑๐ กย. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 51862เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2006 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เห็นด้วยครับที่โลกเรานิยมคิดในแง่ร้ายไม่คิดในแง่ดีครับ
  • ลองไปสังเกตคน หลายๆ คน มักจะพูดกันในแง่ negative มากกว่า positive
  • แต่ถ้าให้พูดกันเฉพาะด้านบวก หรือคิดเฉพาะด้านบวก แบบ Positive thinking แล้วรู้สึกว่า "พลังสร้างสรรค์" จะเกิดขึ้น
  • ได้ฉาย CD "เสียงกู่จากครูใหญ่" ให้นิสิตที่เรียนวิชาผึ้งดู ตอนหนึ่ง ที่ครูใหญ่ไปซื้อลูกไก่มา บอกว่า "การเลี้ยงไก่เป็นงานที่ครูใหญ่คิดทำขึ้นเอง ถ้าถูกสั่งให้ทำละก้อ ไม่นานก็เลิก"
  • การยุให้ทำแบบ คิดเอง จะไม่เหมือนสั่งให้ทำ
  • การทำงานในภาคราชการมักรอคำสั่ง ไม่คิดงานเอง
  • แต่ในภาคเอกชน เขาส่งเสริมให้คิดงานเอง ให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัท
  • วิธีการยุให้คิด ยุให้ทำนี้ สคส. ทำค่อนข้างได้ผลเป็นที่ประจักษ์ครับ
  • ผมเห็นวิธีการนี้ใน "มหกรรม KM ครั้งที่ 3" ค่อนข้างจะเด่นชัดเลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท