KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 172. การบริหารการเปลี่ยนแปลงแนว KM


        การบริหารการเปลี่ยนแปลง (change management) มีได้หลายแนว      แนว KM น่าจะถือได้เป็นแนวนุ่มนวล แนวเคารพความเป็นมนุษย์      ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยเรื่องราวของความสำเร็จ     นำเอาความสำเร็จมาเล่าเรื่องราว  แสดงความชื่นชมยินดี     และหาทางต่อยอดการเปลี่ยนแปลงจากความสำเร็จนั้น

        จะเห็นว่าเคล็ดลับอยู่ที่การเลือกความสำเร็จเล็กๆ มาเล่าเรื่อง  สร้างการเล่าลือ  โจษจัน     ให้อยู่ในแนวทางที่ต้องการเปลี่ยนไปสู่การมีการ ลปรร. วิธีการสร้างความสำเร็จในแนวทางดังกล่าว     ให้เห็นว่าการสร้างความสำเร็จเล็กๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องยาก

        ต้องมีทีมแกนนำไปเสาะหาความสำเร็จเล็กๆ ตามแนวทางใหม่     แล้วนำมาเป็นเรื่องราวของการ ลปรร.     และทำให้เป็นเรื่องโจษจัน ชื่นชม ยกย่อง    มีการร่วมกันตั้งประเด็นว่าถ้ามีการปรับรูปแบบวิธีทำงานไปเป็นบางแบบ จะเกิดผลที่ดียิ่งขึ้นไปอีก หรือไม่     และเมื่อมีการจัดเวที ลปรร. ก็มีการจดบันทึกเรื่องเล่า และ ขุมความรู้     สำหรับนำไปเล่าต่อ ผ่านการตีความหลากหลายแบบ   และส่งเสริมให้มีทีมงานอื่นหยิบเอาวิธีการไปประยุกต์ใช้ในบริบทที่ต่างกัน

         เมื่อมีบุคคลหรือทีมงาน สร้างความสำเร็จในการทำงานตามแนวทางใหม่     ผู้บริหารต้องรีบเข้าไปแสดงความชื่นชม    และให้การยกย่องด้วยวิธีการต่างๆ    

         ควรดำเนินการเสาะหา "ผู้นำการเปลี่ยนแปลง" ที่มีอยู่แล้ว     ซึ่งหมายถึงผู้ที่ทำงานบางส่วนตามแนวทางที่เป็นเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลง     เชิญมาเล่าว่าการดำเนินการตามแนวนั้นให้ประโยชน์แก่ตัวเขาและหน่วยงานย่อยของเขาอย่างไรบ้าง     รวมทั้งให้แนะนำว่าถ้าจะให้การทำงานตามแนวใหม่นั้นก่อผลดียิ่งขึ้น  หรือทำได้ง่ายขึ้น  ควรปรับปรุงอย่างไร

         แนวทางที่สำคัญที่สุด คือแนว AI (Appreciative Inquiry)     ใช้การร่วมสร้างฝันเป็นจุดเริ่ม     แล้วร่วมกันหาประกายความสำเร็จเล็กๆ ตามภาพฝัน    เอามาชื่นชมและ ลปรร. วิธีการสร้างความสำเร็จเล็กๆ ที่มีอยู่แล้ว     และร่วมกันคิดขยายความสำเร็จนั้นให้ใหญ่ขึ้น  ลึกขึ้น     และเชื่อมโยงไปสู่ส่วนอื่นๆ ของงาน     รายละเอียดของเรื่องนี้ค้นได้โดย ชื่อป้าย (tag) ว่า AI หรือ Appreciative-Inquiry

วิจารณ์ พานิช
๑๑ กย. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 52892เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2006 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วย อย่างยิ่ง ถ้าทุกคนนำ Story Telling มาคุยกันแล้วจะได้พบตัวอย่างดี ๆ มากมายครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท