KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 173. วิธีคิดเพื่ออดีตหรือเพื่ออนาคต


          เดิมผมจะตั้งชื่อเรื่องว่า "ชอบข้างหน้า หรือข้างหลัง" แต่นึกขึ้นได้ว่ามันฟังดูสองแง่สามง่ามเกินไป    คนอาจรู้สึกว่าไม่สุภาพ  เราจะ ลปรร. วิธีคิด (และวิธีทำงาน) แบบ "โปรอดีต" เทียบกับวิธีใหม่หรือวิธีแนว KM ซึ่งผมเรียกว่า "โปรอนาคต"  

         ที่จริงการขึ้นต้นความคิดแบบนี้ผิดนะครับ    เพราะเป็นวิธีคิดแบบแยกส่วน แยกขั้ว แยก ถูก-ผิด   ดำ-ขาว      วิธีคิดแบบ KM ต้องไม่ either-or แต่ต้องคิดแบบ both-and     ดังนั้น เราควรมีวิธีคิดทั้งแบบ "โปรอดีต" และ "โปรอนาคต" ไปพร้อมๆ กัน     ใช้วิธีคิดทั้งสองแบบให้สนธิพลังกัน (ในยุคปฏิรูปฯ เช่นนี้ คำว่าสนธิ ดูจะยิ่งมีพลังนะครับ)     ผมใช้คำว่าสนธิพลังในความหมายของ synergy  

          แต่ประสบการณ์ในการทำ KM สอนผมว่า    ยังมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งถ้ารู้จักนำมาใช้ จะสามารถส่งพลังขับเคลื่อนโครงการไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ง่ายขึ้น และทำให้บรรยากาศการทำงานมีความเครียดน้อยลง  มีความสุขมากขึ้น     ผมเรียกวิธีคิดแนวนี้ว่าแนว KM   

        วิธีคิดที่คนทั่วไปคุ้นเคยเวลานำเสนอผลงานของโครงการ    หรือเวลาฟังการนำเสนอ    คือวิธีคิดแบบ "โปรอดีต" หรือตรวจสอบผลงานที่มาจากการกระทำในอดีตโดยเราไม่รู้ตัว      เรามักจะมองภาพรวมว่าผลงานอยู่ในเกณฑ์ดีเลิศ  ดีมาก  ดี  พอใช้  หรือใช้ไม่ได้ (ผมไม่ชอบใช้คำว่าล้มเหลว เพราะแม้จะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็จะมีสิ่งดีๆ ให้เราได้เรียนรู้เสมอ)     การคิด/ประเมิน แบบนี้เป็นแนวของการตัดสินผลงาน     เป็นแนวของการประเมินเพื่อประเมิน    เป็นโลกทัศน์แบบประเมินเพื่อติดตามตรวจสอบว่าได้ผลงานตรงเป้าหรือตามแผนหรือไม่    นี่คือโลกทัศน์แบบกระแสหลักในปัจจุบัน

        ยังมีโลกทัศน์อีกแบบหนึ่ง     ที่เมื่อมีการนำเสนอผลงานหรือประเมินผลงาน     มีการตั้งคำถามว่าผลงานส่วนไหนที่ได้ผลดีน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้     ถ้าไม่มีผลงานใหญ่ๆ เข้าขั้นดังกล่าว  ยกผลงานเล็กๆ ขึ้นมาเสนอก็ได้     และขอให้นำเสนอด้วยว่าผลสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจเช่นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร     เกิดจากความคิดอย่างไร  ของใคร  มีใครบ้างร่วมกันทำงานนั้น  ได้ร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคอย่างไรบ้างจนประสบความสำเร็จ     ถ้าต้องการให้เกิดความสำเร็จในทำนองเดียวกัน ควรดำเนินการอย่างไรบ้าง     จะขยายความสำเร็จนั้นให้กว้างขวางขึ้นได้อย่างไร     จะทำให้ความสำเร็จนั้นยิ่งลึกซึ้งขึ้นอีกได้อย่างไร    

       เราอาจเรียกโลกทัศน์แบบหลังนี้ว่าโลกทัศน์แบบพุ่งเป้า มุ่งหาความสำเร็จมาทำความเข้าใจและขยายผล     เป็นโลกทัศน์ที่มุ่งเน้นการสร้างความสำเร็จในอนาคต  โดยขยายจากความสำเร็จเล็กๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

        อาจจะเรียกว่า โลกทัศน์ AI - Appreciative Inquiry ก็ได้

วิจารณ์ พานิช
๒๒ กย. ๔๙       

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 53055เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2006 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 12:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท